ยูดีดีนิวส์ : 31 มี.ค. 63 ความเคลื่อนไหวในเฟสบุ๊คแฟนเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) ได้มีการสนทนาผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์ ซึ่ง อ.ธิดา ได้ติดตามการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะขณะนี้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ซึ่งประเด็นการสนทนาคือ
"ความขัดแย้งในเชิงยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ของรัฐไทย ในการสู้รับกับเชื้อ COVID-19"
อ.ธิดาได้กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันดังที่เราเข้าใจว่านี่คือการสู้รบ และตัวข้าศึกศัตรูจริง ๆ แล้วมันมาจากภายนอกประเทศ มันไม่เป็นสิ่งที่ควรทำเลยที่คนอย่างเราประชาชนคนธรรมดาจะต้องมาพูดเรื่องยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี กับนายทหารใหญ่
คือเรามีนายทหารใหญ่ที่มาจากการทำรัฐประหาร สืบทอดอำนาจต่อมาแล้วก็มาเป็นรัฐบาล เขาต้องรู้จักคำว่ายุทธศาสตร์ ยุทธวิธี หรือเปล่า? ตรง ๆ ในกรณีนี้ก็คือคุณจะวางแผนใหญ่และวางแผนย่อยในการสู้รบกับเชื้อ COVID-19 อย่างไร?
นี่คือสงคราม...และมันเป็นสงครามภายนอก แต่ว่าคุณปล่อยจนกระทั่งกลายเป็นว่าเข้ามาอยู่ภายในประเทศ พูดง่าย ๆ เหมือนกับว่าเราเปิดประตูป้อมค่าย ปล่อยให้ข้าศึกเข้ามา แล้วเราก็คิดว่าไม่เป็นไร เข้ามาเดี๋ยวเราก็เอาไปดวลดาบตัวต่อตัว แต่นี่ข้าศึกไม่ได้เป็นคน ฟันแล้วก็ตายไป มันไม่ใช่!
มันเป็นจุลินทรีย์ซึ่งมากับคน แล้วคนนั้นสามารถที่จะกระจายเชื้อประมาณ 3 คน ตอนนี้ก็เป็นที่ชัดเจนว่าการแพร่กระจายนั้นทำให้คนสงสัยว่ามันอยู่ในอากาศหรือเปล่า? จริง ๆ แล้ว COVID เป็นเชื้อซึ่งอยู่ในละอองสิ่งที่ออกมาจากร่างกาย (น้ำลาย, เสมหะ, น้ำมูก) อาจจะตกอยู่ที่พื้น, ราวบันได, ลูกบิดประตู ฯลฯ
บางกรณีอย่างเช่นสนามมวย เราก็จะพบว่าผู้ติดเชื้อขยายตัวมากมายที่เรียกว่าเป็น Super spreader หรือว่าการแพร่กระจายที่มีพลานุภาพมีพลังอย่างยิ่ง ก็จะทำให้ยอดผู้ป่วยสูง
ดังนั้นดิฉันไม่เข้าใจตั้งแต่ต้นว่าท่านรู้หรือเปล่าว่า ท่านกำลังเผชิญกับสถานการณ์อะไร? มันคือสงครามโลก...นี่คือสิ่งที่ดิฉันเคยพูดมาแล้ว ดิฉันไม่อยากซ้ำเติม แต่ว่ามาถึงขั้นนี้ดิฉันก็อยากจะรู้ว่าคุณเปิดประตูปล่อยให้ข้าศึกศัตรูเข้ามา ระบบคัดกรองคุณก็ไม่ได้เรื่อง มิหนำซ้ำก็ยังไปไล่ตามคนที่พูดว่าไม่ดีด้วย
ดิฉันอยากให้ไปดูระบบคัดกรองของไต้หวัน ใน Facebook ก็มีคนได้อธิบายว่าที่ไต้หวันเขามีวิธีคัดกรองผ่านด่านตั้งกี่ด่าน มีระบบคัดกรอง ควบคุม ติดตาม ค้นหา และควบคุมตลอดเวลา ตั้งแต่กรอกข้อมูล กรอกประวัติ ตรวจสอบผ่าน 5 ด่าน กระเป๋าเดินทางก็พ่นเชื้อ คือเขาดูแลทั้งหมด
ตรงนี้แปลว่าไต้หวันมียุทธศาสตร์ตั้งรับในเชิงรุก คือป้องกันอย่างแน่นหนา เขารู้ว่าข้าศึกอยู่ภายนอก ดังนั้นคนจะเป็นพาข้าศึกเข้ามา แต่ของเรานี่เปิด เราบอกว่า Visa on arrival หรือ Free Visa น่าจะหยุด ก็ไม่เชื่อ
ดิฉันไม่เข้าใจว่าท่านเป็นนายทหาร ท่านอาจจะถนัดกับการสู้รบภายใน มนุษย์ที่ไม่มีอานุภาพอะไรอย่างประชาชนไทย ไม่มีอาวุธ ไม่มีอะไร มันง่าย มันหมู แต่ COVID นี่ไม่หมู!!!
ส่วนเกาหลีเขาไม่ได้ปิดประเทศ เขามียุทธศาสตร์ตั้งรับในเชิงรุก ก็คือมีการใช้ชุดตรวจทำการตรวจเป็นจำนวนมาก วันหนึ่งเป็นหมื่น ๆ ของเราขณะนี้ชุดตรวจ Rapid Test ยังตกลงกันไม่ได้หรือเปล่า ระหว่างที่มีทั้ง อย., องค์การเภสัช และกระทรวงสาธารณสุข คุณจะอนุญาตให้บริษัทไหนเอา Rapid Test เข้ามา...เข้ามาช่วย เพราะนี่ก็คือเป็นการตั้งรับในเชิงรุก อย่างน้อยที่สุดก็คือสามารถกวาดหาข้าศึกได้ในวงกว้าง
ดิฉันดูค่าเฉลี่ยแล้วการตรวจสอบของเราประมาณ 200 ชุด/วัน ของประเทศอื่นเขาตรวจสอบเป็นหมื่น โดยเราเริ่มตรวจตั้งแต่ 3 ม.ค. 63 ค่าเฉลี่ยประมาณ 200 เคส
นับถึงวันที่ 27 มี.ค. 63 พบเชื้อประมาณ 100 คนจากการตรวจต่อวัน 303 (ประมาณ 1ใน 3) ดังนั้นถ้ารอผลตรวจสะสม 6,719 ก็จะพบเชื้อประมาณ 2,000 ตายแน่!!!
คือเรามีนิยามว่าฉันจะตรวจเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ไม่เช่นนั้นคุณต้องจ่ายเงิน ภาษาคนโบราณเขาบอก "เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" เวลารักษาคนค่าใช้จ่ายเป็นล้าน ๆ หมดทรัพยากรไปเท่าไหร่ แล้วคุณเสี่ยงเท่าไหร่ กับความพยายามที่จะตรวจให้ได้มากขึ้น ทำอย่างไรจะตรวจให้ได้มากขึ้น คุณมี Rapid Test เข้ามาช่วยด้วยไหม? เพราะบางคนเขาอยากรู้ แต่ว่าค่าใช้จ่ายมันสูงมาก
ในเมื่อคุณปล่อยข้าศึกเข้ามาแล้ว ถ้าคุณมีลักษณะยุทธศาสตร์รับในเชิงรุก คือยังเป็นเพื่อป้องกัน อย่างไต้หวันเขาคัดกรองไม่ให้เข้ามาได้ง่าย ๆ ดิฉันยกตัวอย่างไต้หวันเพราะเรามีตัวอย่างเป็นรูปธรรม และประเทศอื่น ๆ ที่ล็อคประเทศอย่างรวดเร็วก็เป็นเช่นนี้ เขาไม่ได้คิดหรอกว่าเป็นเพื่อนดีกันนะ เราไปปิดประตูใส่หน้าเขาได้อย่างไร ดิฉันถามว่าอย่างประเทศจีนเขาล็อคไหมประเทศอื่น ๆ ที่จะเข้าไป เราก็บอกเขาได้ว่าปิดไว้ก่อนนะ ไว้ทุกอย่างดีขึ้นเราค่อยมาสังสรรค์กันใหม่ มันพูดได้
ถ้าคุณเอาอย่างเกาหลีคุณต้องตรวจให้มาก ทั้งไต้หวันและเกาหลีเขามีเทคโนโลยีสูงด้วย อันนี้ดิฉันมองว่าเขาคิดในเชิงป้องกัน ดังนั้นถ้าคุณเข้าไปดูเฟสบุ๊คของ อ.ธิดา (29 มี.ค.) ที่มีภาพ Mapping ลองกดเข้าไปที่แผนที่เราจะเห็นเส้นกราฟของเกาหลีขึ้นแล้วก็ลง ในขณะที่ประเทศอื่นขึ้น ตอนนี้ก็อาจจะมีตัวเลขขึ้นลงนิดหน่อย อันนี้แปลว่าเขามียุทธศาสตร์
ดิฉันจึงตั้งคำถามว่าแล้วเราล่ะ มีหรือเปล่า?
แล้วมันมีลักษณะขัดแย้ง คือถ้าคุณเปิดอ้าซ่า คุณก็ต้องตั้งรับแบบรุก ก็คือตรวจให้เยอะ แต่นี่คุณไม่ทำ!!! คุณตรวจน้อย ดิฉันดูแล้วนะ ตัว
27 มี.ค. ตรวจได้ต่อวัน 303 ติดเชื้อ 91
26 มี.ค. ตรวจมากหน่อย 714 ติดเชื้อ 111
25 มี.ค. ตรวจได้ต่อวัน 464 ติดเชื้อ 107
24 มี.ค. ตรวจได้ต่อวัน 591 ติดเชื้อ 106
พอมาเฉลี่ยทั้งหมดแล้วประมาณ 200 กว่าถ้านับตั้งแต่ต้น แล้วดิฉันก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมวันที่ 26 มี.ค. ตรวจ 714 แล้ววันที่ 27 มี.ค. ตรวจเหลือ 303 เหนื่อยหรืออย่างไร? มันลดลงครึ่งต่อครึ่ง แต่ตามความเข้าใจก็คือเขามีนิยามผู้ป่วย
เพราะฉะนั้นดิฉันมองแล้วว่า วิธีคิดของสาธารณสุขเป็นวิธีคิดแบบตั้งรับ ไม่มีลักษณะป้องกันนะ คือเขาอาจจะมองว่ามีหน้าที่เช่น คัดกรอง, วางแผนในการปิดชัตดาวน์เมืองหรือประเทศเป็นหน้าที่ของรัฐ หน้าที่ของสาธารณสุขก็คือให้นิยามของคนที่จะต้องเข้ามาตรวจ (ตรวจฟรี) แล้วก็ถือเป็นผู้ป่วย
นิยามนั้นมีทั้ง 1) อาการและอาการแสดง 2) ปัจจัยเสี่ยง เช่น มีประวัติเดินทางหรือไปสัมผัสกับผู้ป่วย 3) พื้นที่เสี่ยง ถ้าผู้ป่วยไม่อธิบายให้ชัดเจน หรือหมออาจจะไม่ได้ถาม ก็อาจจะไม่ได้รับการตรวจหรืออยู่ในนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถ้าคุณจะตรวจ คุณต้องจ่ายเงินเองถ้าไม่เข้าเกณฑ์
ดิฉันก็จะตั้งคำถามอยู่ตลอดว่าที่เราพบคนติดเชื้อน้อยเพราะเราตรวจน้อยหรือเปล่า แต่มาดูจริง ๆ สาเหตุก็คือนิยาม นิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต้องมีอาการแสดง, มีปัจจัยเสี่ยง, มีพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจริง ๆ ในทัศนะของดิฉันก็คือตรงนี้ต้องไปอยู่ตั้งแต่การคัดกรอง
นี่ไม่ใช่รับแบบรุก แต่มันมีลักษณะมายันเพื่อสู่ถอย...หรือเปล่า?
มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาชนะ นี่คือการสู้รบ และการสู้่รบต้องสู้รบเพื่อเอาชนะ หรือคิดยอมแพ้ตั้งแต่ต้น ในทัศนะดิฉันที่ทำอย่างนี้คืออาจจะไม่ได้คิดว่ายอมแพ้ แต่มันก็เหมือนยอมแพ้ คือไม่ได้คิดป้องกันเลย ไม่ได้คิดรับในเชิงรุก ไปค้นหา ไปติดตามแบบที่ประเทศอื่นเขาทำ อันนั้นเขาเรียกว่าสู้รบและรับในเชิงรุก
เมื่อคุณทำไม่ได้ คุณปล่อยมา แล้วคุณก็ไม่สามารถที่จะไปควานหา ไปติดตาม นั่งรอ ยกตัวอย่าง ถ้าดูรายงานวันที่ 28 ผู้ป่วยเข้านิยามรวมแล้วสะสม 17,140 พบที่สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ 391 คัดกรองที่ท่าเรือ 2 อันนี้ที่สะสมมานะ เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยตัวเอง 16,659 ราย รพ.เอกชน 6,088 รพ.รัฐ 10,000 แปลว่าคนเกือบ 90 กว่าเปอร์เซ็นที่เข้ามาตรวจก็คือมาเอง เข้าข่ายนิยามของผู้ป่วย แล้วจึงจะได้รับการ Test ฟรี ดังนั้นเราจึง Test ผู้ป่วยในระดับ 100 ต่อวัน ในขณะที่ประเทศอื่นเขาในระดับ 10,000 ต่อวัน
อย่างจีน เขาใช้ยุทธศาสตร์เริ่มต้นที่อู่ฮั่น เขาล็อคเลยล็อคเมืองอู่ฮั่น เพื่อไม่ให้คนอู่ฮั่นไปทำให้เมืองอื่น ๆ ในจีนติดเชื้อ นั่นเขาคิดในเชิงสู้รบ
เพราะฉะนั้นดิฉันมองว่าเป็นความขัดแย้ง คือคุณปล่อยให้เข้ามา แต่คุณไร้ความสามารถ หรือคุณไม่มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ในการติดตาม ตรวจสอบ ค้นหา นั่นก็แปลว่ายอมแพ้ แปลว่าละความคิดป้องกันในเชิงยุทธศาสตร์ ในเรื่องราวประเทศและรัฐนั้นกระทรวงสาธารณสุขยอมให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรืออย่างไร หรือรัฐบาลไม่เชื่อ
สิ่งที่สาธารณสุขทำก็เหลือเพียงแต่จะ Test ฟรี รักษาฟรี ต้องเข้าเกณฑ์อย่างนั้นอย่างนี้ ดิฉันมองว่านี่เราไม่มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี หรืออย่างไร หรือยอมแพ้ หรือประมาทว่าข้าศึกไม่เท่าไหร่ จนกระทั่งมีอาจารย์แพทย์มาบอกว่าถ้าเขาตีเส้นอัตราเร่ง 33% ซึ่งดิฉันก็ว่ามันเกินไป ก็จะมีผู้ติดเชื้อระดับแสน แต่ถ้าลดลงมาก็จะมีผู้ติดเชื้อระดับหมื่น ตอนนี้ก็จะต้องมาทำนายอีกว่าวันที่ 15 เม.ย. จะมีผู้ติดเชื้อระดับใด
ดิฉันคิดว่าทางรัฐบาลไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องรุนแรง จนกระทั่งอาจารย์แพทย์มาอธิบายว่าคุณอาจจะมีคนติดเชื้อเป็นแสน หรือเป็นระดับหลายหมื่น ถามว่าเอาไหวไหม?
ดังนั้นขณะนี้ยุทธศาสตร์มันไม่ใช่รุก มันไม่ใช่รับ แต่ยันอย่างเดียวก็ไม่พอ นี่ก็คือถอย!!! ถ้าเป็นอิตาลี สเปน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ในทัศนะดิฉันถือว่าเป็นความพ่ายแพ้แล้ว ส่วนของไทยเรายังไม่ถึงกับพ่ายแพ้ (หมอไทยเก่ง) แต่จะพยายามยันให้อยู่ แต่ถ้ารัฐไม่ทำอะไรเลย เขาก็เอาไม่ไหวเหมือนกัน จึงเกิดภาวะที่มีการมาล็อคดาวน์ มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งไม่รู้ว่าจะช่วยได้แค่ไหน เพราะมันสายไปแล้ว เพราะไม่มีทัศนะที่ถูกต้องต่อปัญหาโรคติดเชื้อแบบนี้ ประมาท และความที่เป็นรัฐบาลที่มาจากสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงมีต้นทุนต่ำ เวลาคิดอะไรก็กลัวประเทศอื่นจะโกรธ แล้วก็ไม่รู้ว่ารักประชาชนน้อยไปหรือเปล่า จึงทำให้สถานการณ์มาถึงขั้นนี้
ถ้าเราเปรียบเทียบกับประเทศอื่นก็ดูเหมือนว่าประเทศเรายังดี และหมอเราก็ยังเก่ง อัตราการตายก็น้อย แต่ดิฉันมองว่าเราควรจะทำได้ดีกว่านี้ ไม่ใช่ว่าปล่อยให้หมอเป็นด่านหน้า แต่รัฐบาลไม่มียุทธศาสตร์ยุทธวิธีอะไรเลย
อ.ธิดากล่าวว่า สิ่งที่เราต้องป้องกันที่สุดก็คือป้องกัน Super spreader วันนี้ดิฉันทราบว่ามีเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขคนหนึ่งติดเชื้อในศูนย์แถลงข่าวด้วย หวังว่าคงไม่ใช่ Super spreader นะ เพราะถ้ามี Super spreader วันที่ 15 เม.ย. เราก็จะถึงหลักหมื่นแน่นอน ถ้าเราพยายามทำได้ดี ดิฉันคิดว่าตัวเลขติดเชื้ออาจจะอยู่ในระหว่าง 5,000 - 8,000 น่าจะเป็นไปได้ แต่มันไม่แน่ก็อาจจะถึงหมื่น
ดิฉันต้องขอชมต่างจังหวัด คิดว่าเขาทำได้ดีนะ ผู้ว่าฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เขาทำได้ดีกว่าในระดับประเทศ อยากให้รัฐบาลดูจังหวัดต่าง ๆ เป็นตัวอย่างในการติดตาม เพราะเขาคิดยุทธศาสตร์เป็นว่าเขาจะป้องกัน เหมือนอย่างผู้ว่าฯ ลำปาง เขาจะป้องกันลำปางอย่างไร มันมาจากที่อื่น เขาก็ต้องไปคอยดักหมดเลย สถานีขนส่งหรืออะไรต่าง ๆ มันลอยไม่ได้ มันมากับคน ดังนั้นต้องป้องกันคนที่มาจากที่อื่นจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นระบบคัดกรองดิฉันดูแล้วว่าไม่มี นี่เป็นความย้อนแย้ง ท่านไม่ทำในระดับประเทศ แต่ต่างจังหวัดยังทำได้
อีกอันหนึ่งก็คือเรื่องชุดตรวจ Rapid Test ยังไงก็ต้องมี ควรจะปล่อยออกมา ในเมื่อรัฐจะเก็บเงิน คนที่ตรงกับนิยามเท่านั้นถึงจะตรวจฟรี แล้วประชาชนคนอื่น ๆ ซึ่งเขาอยู่ในจุดเสี่ยง แต่เขาก็ไม่มีเงินที่จะต้องไปตรวจเสียเงินตั้ง 7,000 หรือ 8,000 และบางโรงพยาบาลก็บอกว่า "ไม่มีน้ำยาตรวจ" มันก็ต้องอาศัย Rapid Test แม้มันจะไม่แน่นอน แต่อย่างน้อยที่สุดเขาสามารถตรวจซ้ำได้
สิ่งที่สรุปได้ก็คือ รัฐไทยประมาท ไม่คาดว่านี่เป็นเรื่องเลวร้าย ไม่คิดว่านี่คือการสู้รบ และไม่คิดว่านี่คือสงครามโลก ความที่มีต้นทุนต่ำทางการเมือง ก็เลยกลัวมิตรประเทศ ไม่กล้าปิดประเทศ ไม่กล้าที่จะล็อคดาวน์ ที่สำคัญคือไม่มียุทธศาสตร์และยุทธวิธี ในขณะที่สาธารณสุขก็ถือว่ายุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เป็นเรื่องของรัฐ หน้าที่ของสาธารณสุขก็คือทำในพื้นที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แล้วก็มีอาจารย์แพทย์จำนวนหนึ่งไปกระตุ้นว่าคุณอยู่อย่างนี้ไม่ได้นะ พวกผมรับไม่ไหว พวกผมตายแน่
ดังนั้นภารกิจของรัฐในขณะนี้อย่างที่บอก เป็นนายกฯ ไม่หมูนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกฯ ที่ต้นทุนต่ำ ทำให้เกรง ไม่กล้า ดิฉันก็เสียใจว่าเราควรจะทำได้ดีกว่านี้เพราะว่าที่ผ่านมาสาธารณสุขไทยเป็นระดับที่ 6 ของโลก แต่ระดับ 6 ของโลกต้องอยู่ภายใต้การนำที่ถูกต้อง ต้องอยู่ภายใต้การตำของรัฐบาลและนายกฯ ที่มีภาวะผู้นำ มีวิสัยทัศน์และมีองค์ความรู้ อย่างที่ได้เคยพูดไปแล้ว
มาถึงตอนนี้ยังไม่รู้หมู่หรือจ่า ประชาชนก็ยังไม่มีความเชื่อมั่น คนในขบวนการสาธารณสุขก็ยังไม่แน่ใจ ไม่เชื่อมั่น ตัวนายกฯ เองก็ไม่เชื่อมั่น ไม่รู้ว่าจะเป็นทางไหน แต่ดิฉันบอกได้ว่า ถ้าเราทำเต็มที่วันที่ 15 เม.ย. ตัวเลขอาจจะไม่ถึงหมื่น อันนี้ก็ให้กำลังใจ ประชาชนก็ต้องให้ความร่วมมือ
ขณะนี้ถ้าท่านไม่มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ก็ขอให้มีเสีย วิชาการทหารเอามาใช้ อย่าใช้กับประชาชน ให้ใช้กับข้าศึกศัตรูภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันนี้คุณต้องใช้เลย คุณจะวางแผนอย่างไร อันนี่มันเหมือนทำตามยถากรรม เขามาบอกให้ซ้ายก็ไปทางซ้าย เขามาบอกให้ขวาก็ไปทางขวา ความเป็นแม่ทัพไม่รู้หายไปไหน
แต่ก็ให้กำลังใจนะว่าประชาชนขอให้ร่วมมือและก็คิดว่าเราไม่ควรจะตื่นตกใจจนเกินไป แต่ก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ นั่นก็คืออยู่ห่าง ไม่ไปพัวพันกับชุมชน อย่างของเรากลายเป็นชุมนุมบ่อนพนัน ชุมชนมวย และสถานบันเทิง ก็น่าเสียใจอยู่นิดหนึ่ง ในบางประเทศเขาไปชุมนุมในโบสถ์ นี่คือความแตกต่างของประเทศไทยกับประเทศอื่น
ดิฉันก็หวังว่าเราคงจะไม่ติดเชื้อถึงหมื่น แต่ตรวจให้มาก แล้วใช้ Rapid Test ด้วย และขอให้มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี วางแผน อย่าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ต่อให้การแพทย์สาธารณสุขไทยเก่งเพียงไร ต่อให้ประชาชนร่วมมืออย่างไร ถ้าไร้ซึ่งการวางแผนและยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ถ้าเป็นเครื่องบิน แทนที่จะเชิดขึ้น มันก็ตกได้! อ.ธิดากล่าวในที่สุด