ยูดีดีนิวส์ : 1 มี.ค. 62 วันนี้ในการทำ Facebook Live ของอ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่ถึง 30 วัน (ถ้ามีการเลือกตั้ง) อ.ธิดาระบุว่าก็จะเป็นการชี้อนาคตประเทศไทยระดับหนึ่ง
ถ้ามองให้ดีจะเห็นว่าการถืออำนาจของคสช.และรัฐบาลในเวลานี้ซึ่งผ่านมาร่วม 5 ปี เป็นการถืออำนาจรัฐที่มีการตระเตรียมอย่างมุ่งมั่น แข็งแรงและแน่วแน่
เอาว่าเฉพาะตัวของพล.อ.ประยุทธ์ก็เตรียม 6 เดือน แต่ในส่วนของฝ่ายอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมมีการวางแผนเอาไว้ทันทีที่คุณยิ่งลักษณ์ขึ้นเป็นรัฐบาลตั้งแต่ปี 54 ซึ่งกระบวนการบางส่วนก็เรียกว่า "ทฤษฎีสมคบคิด" มีการแบ่งงานกันทำ
กองทัพจะดำเนินการอย่างไร?
ฝ่ายกระบวนการทางกฎหมายจะทำอย่างไร?
ฝ่ายกระบวนการทางมวลชนจะทำอย่างไร? อะไรต่าง ๆ
เพื่อให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมสามารถจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่พึงประสงค์ได้ ทั้งหมดนี้นำมาสู่ประเด็น พ.ร.บ.ไซเบอร์ ซึ่งในทัศนะอ.ธิดาก็คือกลไกของรัฐเผด็จการอนุรักษ์นิยม
โดยเฉพาะพ.ร.บ.ไซเบอร์ อ.ธิดากล่าวว่า นี่เป็นสิ่งเดียวที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมควบคุมได้ยาก หรือจะเรียกว่าควบคุมไม่ได้เลย การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอะไรที่ควบคุมไม่ได้ แต่โลกไซเบอร์ยิ่งหนักกว่า!!!
คนทั่วไปอาจจะคิดแค่ว่านี่เป็นการคุกคามและควบคุมสิทธิของประชาชน สิ่งที่อ.ธิดาอยากให้ตั้งข้อสังเกตุก็คือมีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ
1) คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) มีนายกฯ เป็นประธาน
2) คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.)
มีรัฐมนตรีดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่ปฏิบัติงานจริง
ในทัศนะอ.ธิดานั้น ปรากฎการณ์ของการเกิดพ.ร.บ.ไซเบอร์, เนื้อหาและคณะกรรมการควบคุม ทั้งหมดนี้อยากให้พิจารณาว่านอกจากเราจะดูเนื้อหาแล้ว สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเนื้อหาก็คือคณะกรรมการที่กำกับดูแล
แล้วว่าไป คณะนี้ก็สามารถรู้เรื่องราวหมดแม้กระทั่งของพรรคการเมือง, นักการเมืองก็ได้ จึงเป็นสิ่งที่อ.ธิดาพูดให้เชื่อไว้ว่าพ.ร.บ.ไซเบอร์นี้ก็คือกลไกรัฐเผด็จการอนุรักษ์นิยม
อ.ธิดากล่าวว่า รัฐที่พยายามจะออกพ.ร.บ.แบบนี้ขึ้นมานั้น ลักษณะพ.ร.บ.ก็จะเป็นกลไกของรัฐเผด็จการอนุรักษ์นิยม เหตุเพราะล้าหลัง จึงต้องใช้การควบคุมและคุกคาม ถ้าเป็นรัฐแบบเสรีนิยม เขาก็จะให้อิสระในการสร้างสรรค์มากขึ้น
แต่นี่ไม่มีความลับอะไรเลย จะประมูลงานหรือคิดค้นอะไรก็มีโอกาสถูกเจาะเอาข้อมูลไปได้ ดังนั้น รัฐอนุรักษ์นิยมก็จะเป็นรัฐที่ไม่มีความสามารถในการจะสร้างสิ่งใหม่ ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับโลกได้ จึงใช้วิธีพยายามหยุด หรือควบคุม
และลักษณะเผด็จการก็คือลักษณะที่ใช้อำนาจสูงมาก
ถ้าไม่เผด็จการจริง ๆ ทำไม่ได้!!!
และถ้าไม่ใช่อนุรักษ์นิยมจริง ๆ ก็ทำแบบนี้ไม่ได้เหมือนกัน
สรุปได้ว่าพ.ร.บ.ไซเบอร์นี้สะท้อนทั้งเนื้อหา ทั้งการจัดตั้งของความพยายามที่แสดงให้เห็นถึงกลไกรัฐที่เป็นเผด็จการ เพราะเข้าไปโดยไม่ต้องใช้คำสั่งศาลเลย
อ.ธิดาชี้ว่า การทำรัฐประหารครั้งนี้ประสงค์จะไม่ให้เสียของ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้พรรคการเมืองที่ไม่พึงประสงค์กลับมามีอำนาจรัฐอีก จึงมีการตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ พรรคเดิมทำอะไรก็ก็อบปี้มาหมดและทำให้มากกว่า ทำทุกอย่างเพื่อจะให้ได้คะแนนเสียง
นอกจากจะชนะการเลือกตั้งแล้ว ยังต้องการควบคุมประชาชน ควบคุมผู้เห็นต่าง และควบคุมประเทศให้อยู่ในมือของรัฐที่มีลักษณะอำนาจนิยมอนุรักษ์นิยมด้วย ในขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง (24 มี.ค.) มันสะท้อนว่าเขาจะต้องออกพ.ร.บ.นี้ให้ได้ เพราะพ.ร.บ.นี้จะสามารถใช้เป็นกลไกได้ นี่เป็นการวางแผนทั้งระยะปานกลางและระยะยาว
ในระยะปัจจุบันคือรัฐแบบอนุรักษ์นิยมและการสืบทอดอำนาจต้องชนะเลือกตั้ง ระยะปานกลางและระยะยาวก็คือต้องตั้งรัฐบาลได้ ควบคุมประชาชนได้ ส่วนที่ยากที่สุดก็คือควบคุมโลกไซเบอร์นี่แหละ
อ.ธิดาระบุว่า ดิฉันไม่ได้มองเพียงแค่ว่ามันคุกคาม ควบคุมประชาชน แต่จริง ๆ ต้องการคุกคาม ควบคุมประเทศไทยให้อยู่ในมือของฝ่ายอำนาจนิยมอนุรักษ์นิยม โดยที่ฝ่ายเสรีนิยมทำอะไรเขาจะรู้หมดและจัดการได้
นี่จึงเป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญและอยากให้พวกเราได้มองเห็นว่า การวางแผนครั้งนี้ประชาชนไทยประมาทไม่ได้ กลไกต่าง ๆ อยู่ในมือของเขา ด้วยความคิดที่ว่า 1) เราถูกต้อง 2) ประชาชนก้าวหน้า วิธีคิดของเราก็คืออยากจะออกอะไรมาก็ออกไป เดี๋ยวประชาชนก็จัดการ เอ้า...รอ 5 ปีนานไปหน่อย แต่จะใช้ปากกาจัดการรัฐหารกับเผด็จการ
แต่จริง ๆ แล้วช่วงเวลาที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจเขาได้สร้างกลไกเพื่อควบคุมทั้งระยะปานกลางและระยะยาวไว้ด้วย ดังนั้นภารกิจก็คือฝ่ายประชาธิปไตยต้องชนะเลือกตั้ง และต้องจัดการกับกลไกของรัฐอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมเหล่านี้ให้ได้