วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สดศรี สัตยธรรม : ไขปมคสช.แจก 500 บาท ซื้อเสียงหรือไม่? 13 ธ.ค. 61


‘สดศรี สัตยธรรม’ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้สัมภาษณ์แฟนเพจ ‘ยูดีดีนิวส์ - UDD News’ ถึงกรณีการแจกเงินผู้มีรายได้น้อย 500 บาทและมาตรการอื่นๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่วงใกล้เลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลคสช.ถูกตั้งคำถามว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการซื้อเสียงหรือไม่  โดยอดีตกกต. มองว่า หากมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็จะชัดเจนว่าไม่สามารถทำได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีผู้ร้อง ซึ่งกกต.มีฐานะที่จะเป็นผู้ร้องได้

อดีตกกต.สดศรี กล่าวว่า ‘เรื่องนี้จริงๆ แล้วก็ควรจะเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะวินิจฉัยว่า รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เป็นรัฐบาลรักษาการหรือไม่ ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง ถ้ามีข้อกฎหมายหรือคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนก็คงจบเรื่องกันไป จะได้ไม่ต้องพูดกันว่า ท่านมาแจกจ่ายเงินให้ใครตอนนี้ทำได้ไหมหรือไม่ได้

เพราะสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้อ้าง ก็คือว่าตัวเองไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ เพราะฉะนั้น เป็นรัฐบาลที่สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับในภาวะปกติทุกอย่าง

ผู้ที่จะชี้ขาดก็คือศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีใครเสนอเรื่องนี้กับศาลรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาล ณ ขณะนี้ถือว่าเป็นรัฐบาลในภาวะปกติ หมายถึงไม่ใช่รัฐบาลรักษาการหรือเปล่า

เมื่อยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาล ข้อที่ได้เปรียบเสียเปรียบกันก็คงเป็นเรื่องธรรมดาของกระบวนการในการทำงาน เพราะว่าพรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ต้องบอกว่าเขาเสียเปรียบ เพราะนี่เหมือนกับการหาเสียง ก็คงจะต้องถือว่า เป็นเรื่องที่ยังต้องเป็นปัญหาต่อไป ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องนี้’ อดีตกกต.กล่าว

อดีตกกต.สดศรี กล่าวด้วยว่า จริงๆ แล้ว กกต. ก็มีสิทธิที่จะร้องได้ เพราะหากเป็นรัฐบาลรักษาการ กกต.จะทำหน้าที่แทนเกือบทุกอย่าง ทั้งการโยกย้ายข้าราชการต่างๆ ก็ต้องอยู่ที่ กกต.

การใช้งบประมาณต่างๆ กกต. ก็จะเป็นผู้พิจารณา กกต. จะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย หลังมีการยุบสภาก็ดี มีการลาออกของรัฐบาลก็ดี ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถทำงาน ก็คือรัฐบาลชั่วคราวนั่นเอง ไม่สามารถที่จะทำงานในเรื่องสำคัญนอกจากงานรูทีน

ส่วนการใช้งบประมาณและการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับงบประมาณต้องขออนุญาตจากกกต. ฉะนั้น ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าตราบใดเขายังไม่มีการชี้ขาดในเรื่องนี้ รัฐบาลชุดนี้ก็ยังทำได้ในส่วนการให้สวัสดิการแห่งรัฐ และรัฐบาลที่ผ่านมาทุกรัฐบาลก็เคยทำแบบนี้ เว้นแต่ยุบสภา หรือลาออก ก็เป็นอีกประเด็น

‘ถึงแม้ว่าตอนนี้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. แต่เนื่องจากขณะนี้ ยังไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง รัฐบาลจึงอยู่ในฐานะรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายของรัฐซึ่งสามารถที่จะดำเนินการตามมติครม. เรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการของประชาชนได้ โดยใช้คำว่าสวัสดิการแห่งรัฐ หรือประชารัฐนั่นเอง สิ่งเหล่านี้ก็คงเป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถที่จะดำเนินการได้ก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง

ถ้ามีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง เราจะเห็นได้ว่าครม.ในคณะนี้มีอยู่ 4 รัฐมนตรีซึ่งเป็นนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ เมื่ออยู่ในพรรคการเมือง สิ่งที่จะถูกโยงมาก็คือ ท่านไปดำเนินการอะไร ถือว่าเป็นการหาเสียงทันทีเมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งแล้ว

เมื่อเป็นการหาเสียง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็จะถูกเอามารวมคำนวณในการใช้จ่ายหาเสียงของพรรคนั้น เพราะฉะนั้น ในช่วงที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถทำได้

จะเห็นได้ว่า ตอนนี้มีอะไรขึ้นมาอีกเยอะแยะ ก็คงต้องรอวันที่จะมีพระราชกฤษฎีกาวันเลือกตั้ง ทุกอย่างก็จะจบและรัฐบาลก็คงดำเนินการเกี่ยวกับ ประชารัฐหรือให้ประชาชนได้โน่นได้นี่ ไม่ได้อีกแล้ว

ถ้ามองเรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบก็ได้ แต่เขาอยู่ในฐานะรัฐบาล งบประมาณต่างๆ มันจะอยู่ในมือเขา

คือจริงๆ แล้วรัฐบาลในช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง น่าจะเป็นลักษณะรัฐบาลรักษาการ จะดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดินไม่ได้ ไม่ว่าจะยุบสภาหรือลาออก ถือว่ารัฐบาลในช่วงนั้นเป็นรัฐบาลรักษาการ แม้จะยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งก็ตาม

แต่ในกรณีเหล่านี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีในชุดนี้ บอกว่า ตัวเองไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่เป็นรัฐบาลมีอำนาจเต็มในการทำงาน’ อดีตกกต.สดศรีกล่าว

(สัมภาษณ์โดย : ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)