วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : 'ธิดา' ตั้งข้อสังเกตต่อการบรรยายของ ผบ.ทบ.


ยูดีดีนิวส์ : ในเฟสบุ๊คแฟนเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้มีการโพสต์ข้อความ โดย อ.ธิดา ได้แสดงความคิดเห็นต่อการบรรยายของท่าน ผบ.ทบ. ซึ่งล้วนเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ที่สำคัญทั้งสิ้น โดยในเบื้องต้นทางทีมงานยูดีดีนิวส์ ได้นำมาเสนอต่อทุกท่านใน 3 ประเด็น โดยอ.ธิดาได้โพสต์ว่า

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ บรรยายยืดยาวหลายประเด็นที่น่าสนใจ ดิฉันแปลกใจที่ท่านกล้าหาญออกมาพูดเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ซึ่งคงจะเกิดจากความเชื่อมั่นของท่านว่าท่านมีความรู้จริงในเรื่องเหล่านี้ และต้องการแสดงออกถึงความรู้เพื่อถ่ายทอดให้กับสังคม ท่านพูดเรื่องใหญ่ ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ไทย การให้ความหมายคำว่า ชาติ, ความมั่นคง, ศัตรูของความมั่นคงของชาติไทยคือใครบ้าง วีธีการทำสงครามในยุคนี้ และความเห็นต่อพรรคการเมือง นักการเมือง คอมมิวนิสต์ ฝ่ายซ้าย นักวิชาการ การสื่อสาร ฯลฯ  ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น  ดิฉันของตั้งข้อสังเกตในประเด็นเหล่านี้บางประเด็น อันเนื่องมาจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวที่ท่านพูดแตกต่างกัน

เรื่องที่เกิดขึ้นให้ถือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนจะได้รับรู้แนวคิดของท่านและคณะของท่าน ที่สนับสนุนท่าน และแนวคิดของคณะอื่นที่ต่อต้านเผด็จการทหารและการสืบทอดอำนาจ หรือหมายถึงคณะที่สนับสนุนการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตบางประเด็นดังนี้

ปัญหาการพูดถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย

ขอเริ่มต้นว่า “คนไทยไม่ได้มาจากเทือกเขาอัลไต”  แว่นแคว้นในดินแดนแถบนี้มีเจ้าผู้ครองนครมากมาย ลำปาง, แพร่, น่าน, เชียงใหม่, ลำพูน, เชียงราย ล้วนมีเจ้าผู้ครองนครกันทั้งสิ้น

ภาคใต้ก็เช่นกัน มีเจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ เช่น ปัตตานี ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส ฯลฯ  ถ้าเราพิจารณาในช่วงปลายอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ หลายจังหวัดทางภาคอีสาน ลาว เขมร ล้วนมีเจ้าผู้ครองนครทั้งสิ้น

ยังดีนะที่ท่านไม่พูดว่า คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต แต่ท่านมาเริ่มพูดในยุครัตนโกสินทร์ที่มีการเสียดินแดนให้แก่อังกฤษ, ฝรั่งเศส ซึ่งรายละเอียดของท่านดิฉันไม่จับผิดหรอกค่ะว่าตรงบ้างไม่ตรงบ้าง เมื่อท่านพูดถึงการเสียดินแดน ก็มีประเด็นที่ดิฉันคิดว่าท่านน่าจะหาข้อมูลประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะที่ยุครัตนโกสินทร์เรามีฐานะเป็นเจ้าอาณานิคมย่อยในภูมิภาค อันเกิดต่อเนื่องมาจากยุคกรุงธนบุรีที่เราขยายดินแดนไปตีเอาลาว, เขมร, ล้านนา และภาคใต้ ซึ่งต่างก็มีเจ้าผู้ครองนครกันอยู่แล้ว

ฐานะประเทศไทยก็ประมาณเจ้าอาณานิคมย่อย ๆ ในภูมิภาคนี้ เจ้าอาณานิคมตะวันตกจึงใช้วิธีและเล็มและฮุบเอาดินแดงแถบนี้ โดยการปรับความสัมพันธ์กับเจ้าผู้ครองนครเหล่านั้นให้หันไปยอมรับเป็นอาณานิคมของอังกฤษ, ฝรั่งเศส แทนที่ไทย แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทย ทำให้รักษาดินแดนที่ส่วนใหญ่เป็นชนชาติไทยครอบครองอาศัยอยู่ยาวนาน และทำให้เป็นเชื้อเดียวกันได้โดยศึกษาวิธีปกครองอาณานิยมของอังกฤษเป็นแบบอย่าง และความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไทย ความเป็นพุทธศาสนิก และค่อย ๆ สร้างรัฐชาติไทยขึ้นมา ดังนั้นพื้นฐานประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจก่อนที่จะคิดว่าต้องใช้การทหารปราบปราม


ประเด็นคำว่าชาติ

ประเด็นคำว่า “ชาติ” ดิฉันเคยไปปราศรัยหน้าราบ 11 เพราะเห็นคำขวัญ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เขียนไว้ว่า เราเข้าใจตรงกันหรือไม่ว่า ชาติ ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญที่สุดคือประชาชน พร้อมทั้งอาณาบริเวณเขตพื้นที่ที่ประชาชนอันมีรากเหง้า สังคม วัฒนธรรม ภาษา ศาสนาหลักร่วมกันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งมีฐานะทางประวัติศาสตร์มายาวนาน ดังนั้นกล่าวได้ว่า ชาติ คือ ประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ใช่แผ่นดินเป็นสำคัญ ดังที่กลุ่มจารีตนิยมมักพูดอยู่เสมอ คำหนึ่งก็แผ่นดิน สองคำก็แผ่นดิน แล้วแผ่นดินถ้าไม่มีประชาชนมันจะเป็นชาติได้อย่างไร

วิธีคิดแบบจารีตนี้มาจากคติโบราณของนักรบผู้เอาชนะในการศึก ก็กวาดต้อนผู้คนมาเป็นไพร่ทาส ทาสเชลย

“เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง”

คนเหล่านี้ก็จะเน้นการชนะศึก ปล้นทรัพย์สิน จับเชลย มายังแว่นแคว้นตน และตั้งเจ้าเมืองปกครองใหม่ที่สวามิภักดิ์กับตน คติเช่นนี้เมื่อมาในยุคที่มีการล่าอาณานิคม ทำให้อาณาเขตประเทศและรัฐชาติจึงเพิ่งมาชัดเจนขึ้น เพราะทรัพยากรและรายได้ที่ต้องเป็นของเจ้าอาณานิคม ต้องการพื้นที่อาณาเขตชัดเจนเพื่อวางแผน ขูดรีดทรัพยากรจากแผ่นดิน จากการผลิต ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว แทนที่จะเป็นการปล้นฆ่าครั้งเดียวแบบเจ้าอาณานิคมท้องถิ่น

ดังนั้นขอบเขตประเทศไทยจึงมีคนหลายเชื้อชาติ หลายภาษา หลายศาสนา แต่โชคดีที่มีปัญหาน้อย อันเนื่องมาจากการสวามิภักดิ์ กษัตริย์ไทยนับถือศาสนาพุทธ หินยาน ภาษาใกล้เคียงกัน การเกิดรัฐชาติไทยในยุคอาณานิคมจึงเหลือแผ่นดินเท่าที่มีอยู่ และสูญเสียอาณานิคมไปมาก แต่แม้จะดำรงความเป็นเอกราชไว้ได้ ก็ไม่ใช่เอกราชสมบูรณ์ เพราะเราสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับประเทศชาติตะวันตกทั้งหมด

เราเพิ่งได้รับเอกราชสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2482 (แก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้หมด) อันเป็นที่มาของการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรื่องเช่นนี้ไม่เห็นท่าน ผบ.ทบ. พูดถึงเลย (หรือไม่รู้)


ประเด็นคำว่า “ความมั่นคง”

ถ้าเข้าใจคำว่า “ชาติ” มีประชาชนเป็นสำคัญ ความมั่นคงของชาติ คือความมั่นคงของประชาชนเป็นสำคัญนั่นเอง และประกอบด้วยการรักษาดินแดนของประเทศเป็นอย่างที่สอง

ความมั่นคงของชาติ คือความมั่นคงของประชาชน ในการใช้ชีวิต มีความปลอดภัย มีสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกัน ในฐานะประชาชนผู้มีอำนาจเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์และขุนศึกขุนนาง ทหารที่ทำการรัฐประหาร เป็นเจ้าของประเทศ เช่นในอดีตกาลหรือความมั่นคงของรัฐเผด็จการ และนี่คือความแตกต่างระหว่างความมั่นคงของชาติในระบอบประชาธิปไตย กับความมั่นคงของชาติในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือระบอบเผด็จการทหารและชนชั้นในในสังคม

การมองประชาชนเป็นปฏิปักษ์ของการปกครอง สะท้อนวิธีคิดของชนชั้นนำที่ยังยึดมั่นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบอำมาตยาธิปไตย คณาธิปไตย หรือระบอบเผด็จการ

ผู้นำในระบอบประชาธิปไตยและข้าราชการระดับสูงในระบอบประชาธิปไตยต้องถือว่าตนเองทำหน้าที่รับใช้ประชาชน ไม่ใช่เจ้านายประชาชน ต้องฟังเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชน สนใจทุกข์ของประชาชน ถ้าแก้ปัญหาไม่ถูกใจประชาชนก็ต้องลาออกจากหน้าที่ให้ผู้ทำหน้าที่คนใหม่มาทำแทนตน

ธิดา ถาวรเศรษฐ
15 ต.ค. 62