ยูดีดีนิวส์ : 10 ต.ค. 62 ประเด็นการสนทนาของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ในการทำเฟสบุ๊คไลฟ์วันนี้คือ
กอ.รมน. องค์กรซ้อนในรัฐไทย!
อ.ธิดากล่าวว่า วันนี้เรามาพูดเรื่องซึ่งสำคัญและน่าเป็นห่วงมากของประเทศไทย จากปรากฎการณ์ที่มี กอ.รมน. ไปฟ้องร้องผู้นำฝ่ายค้านและอาจารย์มหาวิทยาลัย ในการสัมนาในเวทีอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จริง ๆ ดูเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่น่าจะมีเรื่องอะไร เพราะเวทีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็มีการจัดมาหลายเวที นี่อาจจะเป็นเพราะไปในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ อาจจะมองว่าสุ่มเสี่ยงหรือเปล่า แต่ที่สำคัญโจทก์ก็คือ กอ.รมน.
อ.ธิดากล่าวต่อไปว่า ดิฉันไม่ได้ห่วงใยประเด็นนี้อยากมากนัก เพราะเชื่อว่าในที่สุดก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ที่ดิฉันเป็นห่วงมากกว่าและนำมาเป็นประเด็นก็คือ กอ.รมน. องค์กรซ้อนในรัฐไทย!
เพราะปรากฎการณ์นี้เป็นปรากฎการณ์ที่บอกให้รู้ว่า กอ.รมน. มีเขี้ยวเล็บและสยายปีกบทบาทโดยปรากฎ แต่ที่ไม่ปรากฎนั้นน่าเป็นห่วง และเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทย
ทำไมใช้คำว่า กอ.รมน. เป็นองค์กรซ้อนในรัฐไทย?
เพราะโครงสร้างและอำนาจเรียกได้ว่าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีอำนาจ มีพละกำลัง รัฐไทยในขณะนี้เป็นรัฐที่สืบทอดจากการทำรัฐประหาร โดยแสดงอยู่ในโรงละครที่ติดป้ายว่า "ประชาธิปไตย" (มีการเลือกตั้ง) แต่สคริปและเรื่องราวในการเล่นก็มาจากการสืบทอดของคณะรัฐประหาร
ดังนั้นรัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งเขียนโดยบุคคลที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ดังที่เราได้พูดไปแล้วว่า
"ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย (แล้วไซร์) ย่อมเป็นไปเพื่อชนชั้นนั้น"
และวาทะกรรมต่อมาซึ่งท่านผู้พิพากษาที่ได้ทำอัตวินิบาตกรรมท่านได้บอกว่า
"คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน"
นี่เป็นวาทะกรรมที่มาควบคู่กัน วาทะกรรมแรกก็คือตัวกติกา กฎหมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญ ชนชั้นใด กลุ่มคนใด เป็นผู้เขียน (แล้วไซร์) ย่อมเป็นไปเพื่อกลุ่มคนและชนชั้นนั้น เหตุผลในการเปลี่ยนขอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คือ มาจากวาทะอันนี้ เพราะฉะนั้นชนชั้นที่อาจจะเรียกว่าชนชั้นล่างหรือประชาชนทั่วไปก็อยากจะเขียนรัฐธรรมนูญเอง
ดังนั้นการรับฟังว่าน่าจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอะไรบ้าง หรือการรับฟังเสียงสะท้อนว่ากลุ่มคนต่าง ๆ อยากจะเขียนรัฐธรรมนูญแบบไหน ต้องเปิดใจให้มาก นี่เป็นจิตวิทยาธรรมดา ต่อให้คุณเป็นคนขวาจัด ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่โง่ คุณก็ต้องรับฟังว่าคนที่เขาไม่ได้ยืนอยู่ข้างคุณเขาคิดอย่างไร? เพราะถ้ารู้ว่าคิดอย่างไรก็จะสามารถแก้ไขให้เป็นไปตามความต้องการของตัวเองและความต้องการของคนส่วนอื่นได้ นี่คือคนไม่โง่
แต่ถ้าคนโง่ก็คือคนที่ปิดปากคนอื่น ปิดหูตัวเอง ไม่อยากฟัง และเมื่อกลายมาเป็นการจับกุมฟ้องร้องเพื่อปิดปาก (หรืออย่างไร) ในทัศนะดิฉัน...ไม่ใช่ความฉลาดเพียงพอ และก็น่าเสียดายที่องค์กร กอ.รมน. ซึ่งถูกฝากความหวังไว้มากว่าเป็นองค์กรซ้อนในรัฐไทยเพื่อควบคุมประเทศให้มั่นคงตามวิธีคิดของรัฐทหารไทย
ดิฉันอยากจะเรียนว่ามีเรื่องอะไรดี ๆ ที่ควรจะต้องคิดมากในประเด็นนี้ แน่นอน ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กในการฟ้องร้องอาจารย์ชลิตาและผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งดิฉันเข้าไปอ่านดูที่อาจารย์ชลิตาพูดตอนใกล้จะจบในสองย่อหน้าที่เขาถ่ายทอดมา
อาจารย์ชลิตาพูดในลักษณะที่ว่าเวลาเราจะแก้รัฐธรรมนูญประเภทที่ว่าต้องใจกว้าง ๆ ไว้ และรัฐอาจจะต้องมีความยืดหยุ่น อะไรทำนองนี้ อาจจะต้องพิจารณาหมดทุกมาตราหรือตั้งแต่มาตรา 1 สมมุติอาจารย์ชลิตาพูด แล้วไม่เข้าหู ท่านอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ท่านพูดตอนจบ ถ้าท่านตั้งใจจะเล่นประเด็นนี้จริง ๆ ท่านต้องพูดตั้งแต่ตอนต้น แล้วก็อธิบายเหตุผลว่าท่านคิดว่าต้องแก้มาตรา 1 เพราะอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้นคนในที่ประชุมที่เขาไม่เห็นด้วย เขาก็อาจจะช่วยพูด แต่นี่อาจารย์ชลิตาท่านพูดเรื่องอื่น แล้วลงท้ายเพียงแต่ฝากเอาไว้ว่า รัฐต้องยืดหยุ่นเพื่อแก้ปัญหา และก็น่าจะพิจารณาหมดทุกมาตราอะไรประมาณนั้น
แต่ในส่วนของคนที่อยู่บนเวทีเขาจะไปห้ามอะไร เพราะสิ่งที่อาจารย์ชลิตาพูดนั้น เขาใช้คำว่า "ซึ่งอาจจะ" ท่านไม่ได้ไปปลุกระดมให้ใครบอกไปแก้มาตรา 1ซึ่งในมุมมองของดิฉันว่ามันเป็นเรื่องเล็ก แต่ถูกทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมากระทบถึง กอ.รมน. ซึ่งยิ่งใหญ่
ดิฉันขอพูดถึงเรื่อง กอ.รมน. สั้น ๆ ว่า การทำรัฐประหารสองครั้ง ได้สร้าง กอ.รมน. ซึ่งมันควรจะจบไปตั้งแต่ปีที่ฝ่ายความมั่นคงมีการสู้กับคอมมิวนิสต์ การยกเลิกพ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี 2543 กอ.รมน. ควรจะจบบทบาท แต่หลังจากนั้นก็เป็นส่วนย่อย ๆ และหลังการทำรัฐประหารปี 2549 ได้สร้าง กอ.รมน. ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมา แล้วรัฐประหารปี 2557 ก็มีคำสั่งที่มาทำให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีกก็คือคำสั่ง คสช. ที่ 51/2560
มี กอ.รมน. ภาค คือมี กอ.รมน. ใหญ่รวมศูนย์ มีงบประมาณเยอะแยะ ใน กอ.รมน. ใหญ่ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่องค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งหมดซึ่งมีผบ.เหล่าทัพต่าง ๆ เป็นสำคัญ รวมทั้งกระทรวงที่มีความเกี่ยวข้อง
มี กอ.รมน. ภาค
มี กอ.รมน. จังหวัด
และ กอ.รมน. จังหวัดก็คุมทั้งอำเภอ ตำบลหมด
แปลว่าหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหมดในแต่ละจังหวัดขึ้นกับ กอ.รมน. ภาค ขึ้นกับแม่ทัพภาค
ความเป็นรัฐไทยที่เป็นรัฐอนุรักษ์นิยม เป็นรัฐข้าราชการพลเรือนและทหารซึ่งมีอำนาจมาก อาจจะถือว่ามากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ปรากฎว่าโครงสร้างอันนี้คุณต้องไปอยู่ภายใต้แม่ทัพภาค คุณต้องไปอยู่ภายใต้ กอ.รมน. ภาค นั่นก็แปลว่ารัฐข้าราชการพลเรือนก็ต้องไปขึ้นกับ กอ.รมน. ขึ้นกับรัฐทหาร
เราอาจจะพูดได้ว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยก็เป็นประชาธิปไตยแบบทหารไทย โดยที่มี กอ.รมน. เป็นองค์กรซ้อนอยู่ภายในรัฐนี้ เพราะฉะนั้นเราก็มีทหารใหญ่เบอเริ่มเทิ่มที่มาจากการทำรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีกลาโหม แล้วก็เป็นประธานของ กอ.รมน.
จริงที่ท่านไม่มี คสช. แล้ว ท่านไม่มีมาตรา 44 แต่ท่านมีอำนาจในฐานะรัฐบาลที่มาจากมีพรรคการเมืองมาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจในการควบคุมข้าราชการพลเรือน ทหาร และกอ.รมน. ทั้งหมด สามารถออกพระราชกำหนดประหนึ่งเหมือนการใช้มาตรา 44
เพราะฉะนั้นเวลานี้ดิฉันไม่คิดว่ารัฐไทยเหมือนเดิม แม้รัฐประหารครั้งแรกปี 2549 ดูเหมือนว่าเสียของ ในความเป็นจริงเขาได้ปูพื้นให้เป็นรัฐทหาร มีอำนาจอยู่แล้วโดยองค์กร กอ.รมน. กลับมามีอำนาจและขยาย แล้วมาซ้ำที่รัฐประหารครั้งนี 2557 คือยิ่งมีอำนาจมาก เป็นลักษณะองค์กรถาวร ทั้ง ๆ ที่ควรต้องยุบไปแล้ว
นั่นแปลว่าทางทหารไทยได้สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อก่อนมีความขัดแย้งระหว่างลัทธิ ก็คิดว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็เป็นตัวแทนประชาธิปไตย หรืออย่างไร? และอีกฝ่ายก็เป็นพรรคคอมมิวนิสต์ พอจบสงครามเย็นก็จบ แต่ กอ.รมน. ไม่จบ
นอกจากไม่จบแล้ว กอ.รมน. ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือสำคัญของกองทัพในการเข้าไปขยายบทบาทในส่วนที่เป็นความเกี่ยวข้องกับการเมือง การปกครองไทย กลไกกอ.รมน. จึงสามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนในฐานะ กอ.รมน. ไม่ใช่ในฐานะทหาร ใช่หรือไม่?
ยกตัวอย่างเช่นการฟ้องครั้งนี้ก็ฟ้องโดย กอ.รมน. แล้วตำรวจหรือผู้ทำการสืบสวนสอบสวนก็กลายเป็นเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ดังนั้นถ้าเรามองให้ดี ดิฉันคิดว่ามีข้อเขียนหนึ่งของอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ ได้วิเคราะห์ได้ตรง ให้ตามเข้าไปดูที่ https://prachatai.com/journal/2018/02/75615
และคำแถลงของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ก็มีการไปยื่นหนังสือ และมีคณาจารย์ 200 กว่าท่านที่เซ็นชื่อร่วมก็เขียนได้ตรง โดยเฉพาะข้อ 4 บอกว่า
"คนส. เห็นว่าในกรณีนี้ กอ.รมน. ได้ขยายบทบาทของตนเข้าสู่พื้นที่ของพลเรือน โดยทำให้การอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ปขรัฐธรรมนูญกลายเป็นประเด็นความมั่นคง และเปิดโอกาสให้กองทัพสามารถเข้ามาแทรกแซงในประเด็นที่ต้องการได้ สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของกองทัพที่มีเหนือการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง"
ซึ่งความจริงนี่เขาเตรียมมาแล้ว เป็นการวางแผนมาแล้วตั้งแต่ตอนทำรัฐประหาร 2549 แล้วมารัฐประหาร 2557 มันจึงออกมาในแบบที่เราเห็น ซึ่งเราไม่น่าจะคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย เมื่อโลกและพัฒนาการมาถึงขั้นนี้ เหมือนในเอกสารที่ดิฉันได้ตั้งคำถามว่า ในปี พ.ศ. 2575 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 100 ปี ประเทศนี้จะสามารถมีระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้จริงหรือ?
แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องที่ก้าวไปข้างหน้า เป็นเรื่องที่วางโครงสร้างรัฐให้ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมและกลุ่มคนซึ่งไต่เต้าอยู่ในระบบอุปถัมถ์ ที่ไม่ได้มาจากในฐานะตัวแทนประชาชน มีอำนาจเสถียรสถาพร...หรือเปล่า ไม่ใช่อำนาจประชาชน
ดิฉันจึงมองว่าปรากฎการณ์ในการฟ้องร้องครั้งนี้มันเป็นการแสดงออกอาจจะเล็ก ๆ แต่อยากให้ประชาชนไทยมองเห็นภาพจริงว่า โครงสร้างประเทศไทยนั้น ลองเข้าไปเจาะดูว่า การทำรัฐประหารแต่ละครั้งที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม มีการตั้งบอร์ดต่าง ๆ เต็มไปหมด เกรงว่านักการเมืองจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและก้าวก่ายต่าง ๆ
เพราะฉะนั้นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกตั้ง ดูประหนึ่งเป็นศัตรูหรือเป็นปฏิปักษ์กับรัฐไทยที่มีข้าราชการทหาร พลเรือน เป็นใหญ่...หรือเปล่า? ดิฉันว่าท่านคิดผิดนะ
ถ้ารัฐไทย นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และประชาชนมีอำนาจ เกียรติภูมิของข้าราชการ ทหาร พลเรือน จะสูงเด่น จะต้องได้รับการยกย่อง มันไม่ใช่เป็นคนละพวกกันนะคะ เข้าใจเสียใหม่ ไม่รู้ว่าใครหลอกใคร ไม่รู้ว่าใครใช้ใครเป็นเครื่องมือ
แต่ดิฉันคิดว่าประชาชนไม่หลอกฝ่ายรัฐแน่นอน
แต่ฝ่ายรัฐและผู้กุมอำนาจรัฐในเวลานี้จะหลอกประชาชนหรือเปล่า? ดิฉันก็ไม่ทราบ
จับตาดู กอ.รมน. องค์กรซ้อนของรัฐไทย ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบทหารไทยค่ะ อ.ธิดา กล่าวในที่สุด