ยูดีดีนิวส์ : 28 ต.ค. 62 การทำเฟสบุ๊คไลฟ์ของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ในวันนี้จะมาสนทนาในประเด็น : นายกฯ ประยุทธ์และรัฐบาล จะนำพาเศรษฐกิจไทยไปรอด...หรือไม่?
อ.ธิดากล่าวว่า ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาวิกฤตเศรษฐกิจ ในภาพรวมใหญ่ GDP ของเราขับเคลื่อนด้วยการส่งออกเป็น 70% ของ GDP ทั้งหมด ถ้าการส่งออกดี GDP ก็จะมีการขยายตัว แต่ที่แล้วมาในประเทศกลุ่มอาเซียน การเติบโจ GDP ของเราอยู่ท้ายสุด
ในขณะที่เงินบาทแข็งค่า การส่งออกย่ำแย่ เพราะฉะนั้น GDP ต้องทรุดแน่นอน เงินบาทที่แข็งนั้นมันจะแข็งไปนานเลย แล้วมาผูกโยงกับตลาดหุ้น ดัชนีตลาดหุ้นขณะนี้ซึ่ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยคุยในช่วงหนึ่งตอนปี 60 ที่บอกว่าจะมีการเลือกตั้ง ดัชนีหุ้นก็ขึ้นพรวด ๆ ตอนนั้นนายสมคิดภาคภูมิใจมาก
ที่ดัชนีตลาดหุ้นขึ้นก็เพราะเขาหวังว่าจะมีการเลือกตั้ง แล้วประเทศไทยจะพัฒนา
แต่หลังจากนั้นมาดูเหมือนไม่มีความหวัง จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ตอนนี้ดัชนีหุ้นตกฮวบ หุ้นใหญ่ไม่ว่าจะเป็นปูน ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ มูลค่าหุ้นหายไปร่วม 30% ยังมีบริษัทขนาดใหญ่ก็ประกาศตัวทวงหนี้กันเป็นหมื่นล้าน
ที่พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าทำแอร์พอร์ตลิ้งต่อจากสนามบินจะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย อ.ธิดากล่าวว่า ตอนนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย แต่ไม่ได้เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น!
ถามว่า EEC มีการตอบสนองที่ดีไหม? ดิฉันเคยถามคนต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่นเขาบอกว่าการลงทุนใหม่คงไม่น่าจะมาลงทุน แต่ที่มีอยู่เดิมก็จะรักษาไว้ เขาไม่อยากไปจากประเทศไทย เขาชอบประเทศไทย คนไทยน่ารัก อาหาร ดินฟ้าอากาศ ภูมิประเทศ ดีทุกอย่าง มีแต่การเมืองไทยไร้เสถียรภาพ และนี่คือจุดเปลี่ยนประเทศไทยในทัศนะของดิฉัน อ.ธิดากล่าว
ไม่ใช่ว่าทำแอร์พอร์ลิ้งค์ต่อจากสนามบิน มีที่ซีพีมารับ ดิฉันว่านั่นไม่ใช่จุดเปลี่ยนนะ คุณยังจะเจออะไรต่าง ๆ มากมาย คุณให้ผลประโยชน์ที่ดินตรงมักกะสัน และรัฐก็ลงทุนไปเยอะแยะมาก นี่เป็นจุดเปลี่ยนของความเสี่ยงด้วย แต่ที่สำคัญคือรัฐลงทุนไปถึงขนาดนี้และจะมีการลงทุนจากต่างประเทศใหม่ การที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์หล่นลงขนาดนี้แปลว่าต่างชาติมีแต่ขายหุ้น...ขาย...ขาย... ดังที่กล่าวไม่ว่าจะเป็นหุ้นปูน หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเรียกว่าเป็นหุ้นมาตรฐานที่มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นหุ้นใหญ่ ซึ่งขณะนี้ก็ลดลงมาก นี่ก็คือภาพรวมในเรื่องทั่วไป
แต่พอมาเจอเรื่อง GSP ถามว่าทำไมทรัมป์ต้องมาพูดตอนนี้ ในเวลาที่เราเพิ่งประกาศแบนสารเคมี 3 ชนิด สำหรับอ.ธิดาคิดว่าเรื่องการแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่การดำเนินการนั้น ผิด!!!
คือรัฐต้องดำเนินการตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ในการเตรียมที่จะลดสารพิษในประเทศให้ได้ดีกว่านี้ ไม่ใช่พอถึงเวลาก็ประกาศแบนเปรี้ยงเลย ไม่ได้สนใจว่าเกษตรกรจะเป็นอย่างไร คุณมีการตระเตรียมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่จะให้คนในประเทศรู้ ให้คนต่างประเทศรู้ แล้วมีการเตรียมกระบวนการในการรับมือกับการที่ไม่ใช้สารพิษอย่างไร แล้วจะรับมือกับผักของจีนหรือสินค้าของประเทศอื่นอย่างไรที่เขายังใช้สารพิษอยู่ แต่เกษตรกรไทยใช้ไม่ได้
กระบวนการต้องแต่เป็นคสช.มาในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในทัศนะของดิฉัน ท่านอาจจะทำบางอย่างได้โอเค แต่พูดตรง ๆ ว่า 70% ไม่โอเค ท่านคิดแต่จะทำให้ GDP เพิ่มเพื่อจะทำให้การลงทุนเพิ่ม แต่ท่านไม่ได้คิดว่าการเมืองไร้เสถียรภาพแบบนี้ (เลวแบบนี้) มันเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะทำให้เศรษฐกิจยกขึ้นมาก้าวหน้าบนการเมืองพื้นฐานที่เลว การเมืองพื้นฐานที่ประเทศไม่มีประชาธิปไตย
อ.ธิดากล่าวว่า การที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ์ GSP ของไทยทั้ง ๆ ที่ไทยมีรายได้ต่อหัวอยู่ในเกณฑ์ที่ได้สิทธิ์ GSP นั้น สหรัฐฯ เขาเรียกร้องมาตลอด ประเด็นที่เขาเรียกร้องนั้น ดิฉันอยากจะถามว่า เป็นประเด็นที่เราต้องปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO แล้วแรงงานไทยเรียกร้องมาตลอดอย่างยาวนานแล้ว คำถามก็คือ 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้รัฐไทยทำอะไรบ้าง? คุณก็กลัวเรื่องความมั่นคงนั่นแหละ
ไทยเป็นหนึ่งใน 45 ประเทศที่เข้าร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2462 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 รวมเป็นเวลา 94 ปีแล้ว ขณะนี้เราถูกฟ้องโดยสมาพันธ์แรงงานสหรัฐ (AFL-CIO) ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ขอให้ถอดถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุกากร (GSP) ที่สหรัฐฯ ให้ไทย เนื่องจากเห็นว่าไทยไม่ได้มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแรงงาน ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างด้าวตามมาตรฐานสากล
ตรงนี้เราอาจจะบอกว่าสหรัฐฯ เป็นคนเกเร พอดูว่าเราแบนสารเคมี 3 ชนิดนี้ก็จะทำให้สหรัฐฯ ขายของมาประเทศไทยไม่ได้ ขายข้าวสาลีไม่ได้ ขายถั่วเหลืองไม่ได้ เพราะว่าสหรัฐฯ ยังใช้สารเคมี "ไกลโซเฟต" ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สารพิษที่ไทยประกาศแบน เขาก็โวยวายมาว่าคุณไม่เห็นอธิบายเลยเพราะใคร ๆ เขาก็ยังใช้ "ไกลโซเฟต" อยู่ตั้งหลายร้อยประเทศ
ดิฉันถึงได้บอกว่า คุณจะแบน คุณต้องมีการตระเตรียมในคำอธิบายต่อโลกและคำอธิบายต่อประชาชน และตระเตรียมสำหรับผู้ที่เสียประโยชน์ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ใช้สารเคมีชนิดนั้น ๆ มันอาจจะดีต่อผู้บริโภค แต่มันดีจริงหรือเปล่า สามารถตรวจสอบได้จริงหรือเปล่าสำหรับสิ่งที่นำมา
แน่นอน! เรื่อง GSP เรื่องแรงงาน มีการฟ้องร้องมานานแล้ว รัฐบาลทำอะไรอยู่ ดิฉันมองว่ามันก็เกี่ยวข้องกันทั้งหมด ทั้งการเมือง ทั้งปัญหาข้อเรียกร้องของแรงงาน (ผู้ใช้แรงงานไทย, ผู้ใช้แรงงานสากล) ที่เราไม่ปฏิบัติตามพันธะสัญญา
ภาพจากฐานเศรษฐกิจ |
รัฐมนตรีไทยไปบอกว่าทรัมป์เป็นนักธุรกิจ แถมด้วยรัฐมนตรีจากบางพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลตอนนี้นะ ก็คือรมต.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ก็บอกว่าจิ๊บจ๊อย แค่นิดเดียวพันกว่าล้าน ไม่ใช่สี่หมื่นล้าน สี่หมื่นล้านนี่คือการแข่งขันนะ ถ้าสิ่งที่เรานำไปขายสี่หมื่นล้านถูกเรียกภาษี 5% แปลว่าอะไร เงินบาทไทยตอนนี้ก็แข็งอยู่แล้วทำให้ราคาสินค้าเราแพงอยู่แล้ว พอมาเจอเรียกเก็บภาษีเข้าไปอีก ก็ยิ่งทำให้ราคาสินค้าของเราแพงขึ้นไปอีก เราก็แข่งขันสู้เขาไม่ได้!!!
เพราะฉะนั้นคุณอย่ามาพูดว่าเสียนิดเดียว
ขอโทษ...สี่หมื่นล้านอาจจะขายไม่ได้เลย...และนี่คือมูลค่าการแข่งขัน
ไม่ใช่นับเป็นตัวเงินว่าเราเสียแค่นี้
ดิฉันถามว่าเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ได้อย่างไร? เพราะคุณต้องรู้ว่าการแข่งขันนั้นต้องแข่งขันทั้ง "ราคา" และ "คุณภาพ"
ในขณะที่รัฐมนตรีแรงงานของเราก็ไม่ได้พูดถึงข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ซึ่งมีข้อสรุปจากกลุ่มแรงงานสมานฉันท์และกลุ่มแรงงานที่มองว่า รัฐไทยไม่ต้องการแก้อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ซึ่งแรงงานไทยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่สมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 185 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 ไปแล้ว 152 ประเทศ และให้สัยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 98 ไปแล้ว 163 ประเทศ ส่วนประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักทั้ง 2 ฉบับมีเฉพาะประเทศไทย, เวียดนาม, ลาว และบรูไน เท่านั้น เหตุผลก็คือเกรงปัญหาความมั่นคง
อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว อนุสัญญาฉบับนี้มุ่งเน้นให้คนงาน, นายจ้าง มีสิทธิรวมตัวกัน ปราศจากการเลือกปฏิบัติและการแทรกแซงใด ๆ จากทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายรัฐด้วย คนงานมีสิทธิเลือกที่จะรวมตัวและเป็นสมาชิกองค์กรที่ตนพอใจโดยสมัครใจ ทั้งองค์กรในประเทศและระหว่างประเทศ การรวมตัวดังกล่าวมิได้มีกำหนดอายุ เพศ เชื้อชาติ และศาสนา
อนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง อนุสัญญาฉบับนี้มุ่งเน้นให้การคุ้มครององค์กรลูกจ้างและนายจ้างมิให้ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกกระทำอย่างเป็นธรรมจากการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง การเป็นกรรมกรและสมาชิกขององค์กร และส่งเสริมการเจรจาต่อรองร่วมโดยสมัครใจ และยังกำหนดให้คนงานต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอจากการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสมาชิกและกรรมการขององค์กรด้วย
ทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นอนุสัญญาที่ให้สิทธิเสรีภาพที่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งและการรวมตัวเป็นสหภาพ และการต่อสู้ของแรงงานตามหลักการสากลที่เขายอมรับทั่วไป นี่ผ่านมาร่วมร้อยปีแล้วนะ เราก็ยังไม่ให้สัตยาบันกับเขาเสียที เพราะเราห่วงเรื่องความมั่นคงและความพร้อม
ดังนั้น ปัญหาความมั่นคงของไทยมีปัญหามาก ต่อให้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าหน่วยงานความมั่นคงไม่ยอม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ยากที่จะต้องมาสู้กับหน่วยงานความมั่นคงไทย ไป ๆ มา ๆ เรื่องเศรษฐกิจก็มาเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคง คือกลัวแรงงาน กลัวการรวมตัว กลัวการตั้งสหภาพแรงงาน
เรามีสหภาพแรงงานอยู่แล้วระดับหนึ่ง แต่การจะเกิดขึ้นมานั้นยาก เพราะว่าอันนี้เป็นอุปสรรคที่กลุ่มแรงงานเรียกร้องมานานเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว รัฐไทยก็ยังไม่ยอมให้สัตยาบัน
ดังนั้น ทุกอย่างมันสัมพันธ์กันหมด ปัญหาเศรษฐกิจไทยมันไปไม่รอดก็คือเสถียรภาพทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การลงทุนใหม่ หรือว่าการที่ดัชนีตลาดหุ้นลดลง หรือการแบน เรื่อง GSP เรื่องข้อเรียกร้อง เพราะการเมือง ความมั่นคง ก็มาเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ
ข้อสรุปของดิฉันก็คือ เศรษฐกิจจะก้าวหน้าและยกระดับได้ก็ต่อเมื่อการเมืองก้าวหน้า มีเสถียรภาพ และประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม
เพราะฉะนั้นดิฉันตอบได้เลยว่า รัฐบาลนี้ ดูคำพูดของรัฐมนตรีพาณิชย์รัฐมนตรีแรงงาน และฝ่ายงานความมั่นคง รัฐบาลนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีทางที่จะยกระดับเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าได้ ทั้งภาพรวม ทั้งปัญหาการแก้ความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจมหภาคทั้งหมด ดิฉันมองว่าไปไม่รอดค่ะ ถ้าหากว่าการเมืองและหน่วยงานความมั่นคง เรายังเป็นอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม แบบนี้ค่ะ อ.ธิดากล่าวในที่สุด