วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

จากพฤษภา'35 ถึงพฤษภา'53 สังคมไทยได้อะไร? และเรียนรู้อะไร?

Facebook Live อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ  16 พ.ค. 60
 ประเด็น : จากพฤษภา'35 ถึงพฤษภา'53 สังคมไทยได้อะไร? 
และเรียนรู้อะไร?



อ.ธิดาได้กล่าวใน Facebook Live ก่อนเข้ารายการ "เหลียวหลังฯ" ว่า

จุดมุ่งหมายที่พูดประเด็นนี้ก็คือ  ให้ทุกฝ่ายทั้งสังคมไทยได้เรียนรู้และยอมรับความจริง

ทำอย่างไรเราจะไม่มีการสูญเสีย!
ทำอย่างไรที่จะหารากเหง้าปัญหา!
ทำอย่างไรไม่ให้มันผิดซ้ำ!
ทำอย่างไรไม่ให้มีคนตายกลางถนน แล้วเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างนี้!

สังคมจะอยู่ได้และดำเนินไปได้  คือคุณต้องยอมรับความจริง  แล้วเรียนรู้กับมันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น  แม้คุณจะไม่ชอบแต่คุณจะให้มันหายไปเฉย ๆ ไม่ได้  ถ้าไม่อยากให้เกิดขึ้นซ้ำอีก  คุณก็ต้องศึกษาว่าทำอย่างไรไม่ให้มันเกิด

คนเราถ้าหากว่ามีความผิดพลาดแบบเดิม  เท่ากับว่าเราไม่ได้พัฒนาอะไรเลย!



อ.ธิดาได้สรุปเอาไว้ว่า  “การต่อสู้ของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภา’35 เป็นมรดกตกทอดที่ประชาชนรับต่อมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลา’16 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้โดยมีขบวนการนักศึกษาเป็นกองหน้า เป็นผู้นำขบวน  แต่ถูกทำลายด้วยความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์และถูกทำให้แยกสลายเพราะมองว่าปัญญาชนเป็นฝ่ายซ้ายเป็นพวกคอมมิวนิสต์”

ถามว่ามรดกอันนี้หายไปไหม?  ไม่หาย....เพราะองค์ประกอบของประชาชนที่ลุกขึ้นมาในพฤษภา’35 นั้นมีคนจนเมือง, คนชั้นกลาง โดยเฉพาะคนที่เคยต่อสู้ใน 14 ตุลา’16 เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญคือชนชั้นนำไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพรรคการเมือง กลุ่มธุรกิจ ซึ่งสังคมโลกาภิวัตน์ได้สร้างนายทุนนักธุรกิจขึ้นมา  แล้วเขาพังพินาศด้วยการทำรัฐประหาร องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้พัฒนาการของการต่อสู้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เอานักศึกษามาเป็นตัวหลัก  ก็กลายเป็นประชาชนทั้งคนจนเมือง คนชั้นกลาง แต่ที่สำคัญด้านหลักกลับเป็นนายทุน

สุดท้ายจบลงด้วยชัยชนะชั่วคราว  ผลที่ได้คือได้รัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า  ได้มีการแก้ไขกรณีนายกรัฐมนตรีไม่สามารถมาจากคนกลางคนนอกได้ ประธานรัฐสภาต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร นี่เป็นจุดสำคัญของการต่อสู้เรียกร้อง  แปลว่ายกระดับจาก 14 ตุลา’16 ดังนั้นพฤษภา’35 จึงเป็นแม่บทของการต่อสู้ของประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  แต่ว่ายังไม่สามารถนำพาให้ประเทศนี้ไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง  ยังไม่ถึงจุดหมาย  ดังนั้นมรดกนี้จึงยังสืบทอดอยู่และจึงเป็นภารกิจมรดกที่ประชาชนต้องสืบทอดต่อไปแม้เวลาจะยาวนาน

สุดท้าย อ.ธิดา อยากจะบอกว่า

“มันเป็นความจริงนะ  เจ็บปวดก็ต้องเจ็บปวด
และจะต้องเรียนรู้กับมัน
ทหารหรือกองทัพก็ต้องเรียนรู้!
ประชาชนก็ต้องเรียนรู้!
ไม่ใช่ทำเป็นลืม ๆ 
ไม่ใช่ทำเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นในประเทศนี้!
ถ้าอย่างนั้นเขาเรียกว่าเราจะเป็นมนุษย์ที่ไม่พัฒนา
ไม่ว่าเราจะอยู่ในเครื่องแบบหรือนอกเครื่องแบบก็ตาม”