“จุลพงศ์” อัด รฟท.-กรมที่ดินต่างคนต่างยื้อกรณี “เขากระโดง”
ให้ยืดยาวทั้งที่มีช่องทางที่สั้นและเร็วกว่านี้แถมประชาชนไม่ต้องเดือดร้อน
จี้ถามใช้เป็นเกมต่อรองการเมืองระหว่างสองพรรคใหญ่ร่วมรัฐบาลหรือไม่?
วันที่
6 ธันวาคม 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ จุลพงศ์ อยู่เกษ
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน แถลงข่าวกรณีข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง อ.เมือง
จ.บุรีรัมย์ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม และกรมที่ดิน
กระทรวงมหาดไทย โดยจุลพงศ์ระบุว่ากรณีข้อพิพาทดังกล่าวสะท้อนให้เห็นในทางที่ว่ากำลังมีการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
หรือกำลังมีการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองของสองพรรคใหญ่ในรัฐบาลขณะนี้
ซึ่งความเป็นมาที่ดินเขากระโดงเริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
6 ที่ประเทศไทยกำลังขยายเส้นทางรถไฟไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีการออก
พ.ร.ฎ.กำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี 2462 และต่อมาได้มีการออก
พ.ร.ฎ.จัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ
2463 มีการเวนคืนที่ดินตาม พ.ร.ฎ.
ฉบับนี้และกำหนดแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟ (รฟท. ในปัจจุบัน)
ที่มีพื้นที่รวมกัน 5,083 ไร่
และที่มีการเวนคืนที่ดินที่ย่อยศิลาเพราะเป็นบริเวณที่มีแหล่งภูเขาหิน
คือเขากระโดง ที่กรมรถไฟจะได้ใช้วัตถุดิบหินเพื่อเอามาใช้ปูฐานในการสร้างทางรถไฟ
อย่างไรก็ตาม
หลังจากนั้นมีคนมารุกล้ำอยู่อาศัยในที่ดินบริเวณดังกล่าว
มีการออกโฉนดและเอกสารสิทธิ์ จนถึงปี 2539 รฟท.
จึงมาเริ่มตรวจสอบและเพิกถอนโฉนดที่ดินบริเวณเขากระโดง
จนเป็นเหตุให้เกิดกรณีข้อพิพาท มีการฟ้องร้องถึงศาลฎีกา ศาลปกครอง
มีการตั้งคณะกรรมตรวจสอบการออกโฉนดและเอกสารสิทธิ์ ตามมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดิน จนล่าสุดมีการออกคำสั่งจากอธิบดีกรมที่ดินในปี 2567
ที่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการตรวจสอบที่ดิน
ไม่เพิกถอนโฉนดและเอกสารสิทธิ์ที่ดินหลายแปลง ซึ่งล่าสุด รฟท.
ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินต่อกรมที่ดินไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567
จุลพงศ์กล่าวต่อไปว่าคำถามที่สังคมสงสัยกันมากคือเมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่
842-876/2560
ที่ชาวบ้าน 35 รายบนที่ดิน 170 ไร่ ซึ่ง 2 ใน 3 มีกระแสข่าวว่าอาจเป็นนอมินีนักการเมือง
ได้ยื่นฟ้อง รฟท. และกรมที่ดินเพื่อขอให้ออกโฉนด
จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ไปแล้ว
แล้วทำไมอธิบดีกรมที่ดินจึงมีคำสั่งในปี 2567 ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินตามมติคณะกรรมการสอบสวนที่อ้างว่า
รฟท. ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีกรรมสิทธิ์ที่ดิน และทั้งที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาในปี 2561,
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในปี 2563 ในคดีที่ รฟท. ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน และคำพิพากษาศาลปกครองในปี 2566 ยืนยันว่าที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. แล้ว
ผู้คนสงสัยว่ามติคณะกรรมการที่อธิบดีกรมที่ดินตั้งขึ้น
และคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินนั้นใหญ่กว่าคำพิพากษาของศาลหรืออย่างไร
กรมที่ดินยกข้ออ้างขึ้น 3
ข้อ ว่า 1) กรมที่ดินได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฎีกา
และการตั้งคณะกรรมการเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครอง 2566 แล้ว
2) คำพิพากษามีผลเฉพาะพื้นที่ที่โจทก์ฟ้อง รฟท. เท่านั้น
ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 5,083 ไร่แต่อย่างใด และ 3)
คำพิพากษาของศาลที่มีมาทั้งหมดไม่ผูกพันคนภายนอกรวมทั้งกรมที่ดิน
จุลพงศ์กล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตามข้ออ้างของกรมที่ดินนั้นฟังไม่ขึ้น
เพราะหากอ่านคำสั่งศาลฎีกาที่ 842-876/2560 โดยละเอียด
มีการวินิจฉัยว่าที่ดินทั้ง 5,083 ไร่เป็นของ รฟท.
เพราะการสำรวจที่ดินเพื่อกำหนดเขตที่ดินในการสร้างทางรถไฟในปี 2464 ได้ดำเนินการโดยครบถ้วน
กรมรถไฟได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟโดยชัดแจ้ง
และโดยที่ที่ดินบริเวณเขตที่ดินของกรมรถไฟนั้นมีสภาพเป็นป่า
ยังไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์
เมื่อกรมรถไฟในขณะนั้นได้เข้าไปทำประโยชน์บนที่ดินเป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟ
จึงถือว่าเป็นการหวงห้ามที่ดินว่างเปล่าไว้ในราชการตามกฎหมายแล้ว
ที่ดินจึงเป็นลักษณะที่ดินของกรมรถไฟและได้รับความคุ้มครอง
ดังนั้นข้ออ้างกรมที่ดินที่ระบุว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วถูกเพียงครึ่งเดียว
คือมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามคำสั่งของศาลปกครอง แต่กลับไม่นำเอาคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีต่างๆ
มาปฏิบัติตามด้วย
ส่วนข้ออ้างที่ว่าคำพิพากษามีผลเฉพาะพื้นที่โจทก์ฟ้องการรถไฟเท่านั้นก็ฟังไม่ขึ้น
เพราะในเนื้อหาคำพิพากษาข้างต้นศาลวินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้วว่าการสำรวจเพื่อการกำหนดเขตที่ดินทั้งหมดมีการดำเนินการโดยครบถ้วนถูกต้องแล้ว
กรมที่ดินกลับมาอ้างว่าเป็นคำวินิจฉัยเฉพาะที่ดินพิพาทในแต่ละคดีได้อย่างไร
ส่วนที่อ้างว่าคำพิพากษาของศาลที่มีทั้งหมดไม่ผูกพันบุคคลภายนอก ตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น
เป็นการอ้างหลักกฎหมายตามวรรคแรกเท่านั้น
จงใจละเลยไม่อ้างข้อยกเว้นหลักที่มีอยู่ในวรรค 2 อนุมาตรา 2
ที่บัญญัติว่าคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แแห่งทรัพย์สินใดๆ
เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดอาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้
เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า
นอกจากนี้คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่
582/2566 ที่ รฟท. ยื่นฟ้องกรมที่ดิน
ศาลได้พิพากษาในประเด็นนี้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีหรือ
รฟท. แล้ว จึงสามารถใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้
หาได้มีผลผูกพันเแต่เฉพาะคู่ความตามที่กรมที่ดินกล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่
จุลพงศ์กล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตาม
คดีที่ปัจจุบัน รฟท. ยื่นอุทธรณ์คำสั่งกรมที่ดินอยู่นั้น
หากอธิบดีกรมที่ดินไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์ดังกล่าว รฟท.
ก็ต้องไปฟ้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน
ซึ่งต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 5 ปีจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา
และหากศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดเห็นด้วยกับอุทธรณ์ของ รฟท.
และเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ผลทางกฎหมายจะย้อนกลับไปเช่นเดิม
คืออธิบดีกรมที่ดินต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้
คำถามคือทั้ง
รฟท.
และกรมที่ดินย่อมทราบดีว่าต้องวนอยู่เช่นนี้จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง
และ รฟท.
เองก็มีช่องทางทางกฎหมายที่เร็วกว่านี้ที่ประชาชนจะไม่ต้องเดือดร้อนถูกฟ้องขับไล่ด้วย
แต่เหตุใด รฟท. กลับเลือกวิธีทางปกครองที่ช้ากว่า
ตนจึงขอตั้งคำถามถึง
รฟท. ดังนี้
1)
เหตุใด รฟท.
จึงไม่ยื่นเอกสารแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินชุดเดียวกับที่ยื่นต่อศาลฎีกา
ซึ่งแสดงถึงเขตที่ดินของ รฟท. ที่ครบถ้วนและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.
ทำไมไม่ยื่นเอกสารชุดเดียวกันนั้นต่อคณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดิน
จนมติของคณะกรรมการสอบสวนอ้างได้ว่า รฟท. ไม่มีเอกสารแนวเขตที่ถูกต้องมาแสดง
2)
หาก รฟท. หาเอกสารดังกล่าวไม่พบจริงตามที่เจ้าหน้าที่ รฟท.
ได้ตอบในที่ประชุมคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ของสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อน แล้วเอกสารที่อ้างในศาลนั้นหายไปไหน หายไปเมื่อไหร่
สมัยใครเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
3)
ทำไม รฟท. จึงไม่เลือกวิธียื่นฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครอง
เพื่อให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดในพื้นที่ 5,083
ไร่ เมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษาตามคำขอแล้ว
กรมที่ดินก็ย่อมทำได้แต่เพียงเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินเหล่านั้น
ไม่มีอำนาจมาตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นอีก รฟท.
ก็ไม่ต้องฟ้องขับไล่คนในพื้นที่ดังกล่าว และจะให้เช่าหรืออย่างไรก็ว่ากันไป ทำไม
รฟท. จึงเลือกใช้วิธีที่นานและวนเวียนเช่นนี้ หรือ รฟท.
ดึงเรื่องไว้เพื่อวัตถุประสงค์ใดหรือไม่
นอกจากนี้
ตนยังมีคำถามถึงกรมที่ดิน
ว่าทำไมจึงมีการเพิกถอนโฉนดและกรรมสิทธิ์ที่ดินของชาวบ้านบางแปลงโดยใช้อำนาจอธิบดีกรมที่ดิน
แต่บางแปลงกลับใช้วิธีตั้งคณะกรรมการสอบสวน ทำไมถึงมีการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน
และจริงหรือไม่ที่ที่ดินตามโฉนดที่ระบุในคำสั่งคณะกรรมการสอบสวนล่าสุด
ที่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งตามมติคณะกรรมการไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์นั้น
ส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งของสนามแข่งรถใน อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
ที่เจ้าของที่ดินเกี่ยวข้องกับนักการเมืองระดับชาติ
“นี่เป็นคำถามที่ทั้งสองหน่วยงานต้องตอบให้ชัดเจน
กรณีที่ดินเขากระโดงเป็นตัวอย่างของการใช้ช่องว่างทางกฎหมายและการเลือกปฏิบัติ
ซึ่งไม่ว่าท่านจะถูกสั่งให้ทำหรือจงใจทำเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจ
แต่หากการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อใด คนที่จะได้รับผลร้ายคือข้าราชการกรมที่ดินและเจ้าหน้าที่ของการรถไฟอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และในฐานะสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน เราจะติดตาม ตรวจสอบ และตั้งคำถามกับฝ่ายบริหารต่อไป”
จุลพงศ์กล่าว