พรรคประชาชนเปิดเวทีปราศรัยใหญ่เลือกตั้ง นายก อบจ.อุบลราชธานี ขนแกนนำ-สส.-ผู้ช่วยหาเสียง ปลุกพลังชาวอุบลร่วมเปลี่ยนแปลง ธนาธร อ้อนขอให้โอกาสสักครั้งจะไม่ทำให้ผิดหวัง
วันที่ 13 ธันวาคม 2567 ที่ลานขวัญเมือง ศาลากลาง จ.อุบลราชธานี พรรคประชาชนเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ สำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี ในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 ซึ่งพรรคประชาชนส่ง สิทธิพล เลาหะวนิช เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.อุบลราชธานี พรรคประชาชน (หมายเลข 2) ในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยมีทั้งแกนนำ สส. และผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชนร่วมการปราศรัยอย่างคับคั่ง อาทิ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน, คำพอง เทพาคำ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน, พรรณิการ์ วานิช และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน เป็นต้น
โดยศิริกัญญา กล่าวช่วงหนึ่งว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่น หลายคนมักบอกให้เลือกผู้สมัครที่มาจากพรรครัฐบาล จะได้ทำงานไร้รอยต่อ สานต่อนโยบาย เอาโครงการมาลงพื้นที่ได้ แต่วันนี้มองไปที่ฟากฝั่งผลงานรัฐบาล ลำพังสิ่งที่ตัวเองสัญญาตอนหาเสียงยังทำไม่ได้เลย แล้วจะมาช่วยนายก อบจ. ได้อย่างไร
ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ตอนหาเสียงบอกว่า 600 บาทภายในปี 2570 ปีแรกทำทันที 400 บาท วันนี้ผ่านมาเกือบ 2 ปีเมื่อไรจะได้ เท่าที่ประกาศออกมาเป็น 400 บาทแบบมีดอกจัน ไม่ได้เท่ากันทุกคนทุกที่ทั่วประเทศ หรือนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มีคนบอกว่าที่ไม่ได้เงินสักทีเพราะฝ่ายค้านคนนี้ขวางทาง จะเป็นไปได้อย่างไร ตนเป็นฝ่ายค้านไม่มีอำนาจ ไม่ได้เป็นเพราะตนแน่ๆ น่าจะเพราะรัฐบาลสะดุดขาตัวเองเลยไม่ได้แจกสักที
ดังนั้นพี่น้องไม่จำเป็นต้องคิดว่าเราต้องเลือกนายก อบจ. ที่มาจากฟากฝั่งเดียวกับรัฐบาลหรือไม่ สิ่งสำคัญคือพี่น้องเลือกคนที่จะทำให้นโยบายที่หาเสียงไว้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นอุบลสุขภาพดี โครงสร้างพื้นฐานดี ปากท้องดี การเมืองดี อนาคตดี สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จากคุณสิทธิพล เลาหะวนิช ผู้สมัครนายก อบจ.อุบลราชธานี จากพรรคประชาชน
จากนั้นสิทธิพล ระบุว่าเหตุผลที่ตนมาลงสมัครในครั้งนี้ มาจากการเหลืออดในสิ่งที่ อบจ.อุบลราชธานีไม่เคยทำมาก่อน ทั้งที่มีงบประมาณถึงปีละ 1,700 ล้านบาท สี่ปีเกือบ 7 พันล้านบาท ที่ผ่านมาได้เห็นแต่การทำถนนเพียงอย่างเดียว และจากกระบวนการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนชาวอุบลราชธานี ได้กลายมาเป็นนโยบาย 5 ข้อที่ตนต้องการส่งมอบให้ชาวอุบลราชธานี คือ
1) เศรษฐกิจปากท้อง สร้างงานสร้างเงินให้คนอุบลราชธานี รายได้เฉลี่ยของคนอุบลราชธานีอยู่ที่ 6,600 บาทต่อเดือน อยู่อันดับที่ 67 ของประเทศไทย อุบลราชธานีมีพื้นที่การเกษตรถึง 10 ล้านไร่ เป็นการทำนาถึง 5.8 ล้านไร่ เป็นคนส่วนใหญ่ของอุบลราชธานี นโยบายของตนจึงมุ่งไปที่เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นโครงการชลประทานระบบท่อพาน้ำไปหานาประชาชน รวมทั้ง 1 ตำบล 1 โดรนการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการทำนาของเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีทั้งสนามบินและรถไฟแต่กลับไม่มีคนมาเที่ยว ด้วยการทำระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ 6 สาย เดิตทางสะดวกทั่วถึงทั้งจังหวัด
2) นโยบายสาธารณสุขเพื่อสุขภาพของคนอุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต.ก้าวหน้า นำระบบการแพทย์ทางไกลมาใช้ ให้ประชาชนอยู่ที่ไหนก็ใกล้หมอ พบหมอผ่านระบบออนไลน์ได้ ลดการแออัดที่โรงพยาบาลในจังหวัดที่มีหมอและพยาบาลน้อยไม่เพียงพอ
3) 1669 ครอบคลุมทั้งจังหวัด เนื่องจากอุบลราชธานีปัจจุบันยังมีปัญหารถกู้ชีพไม่เพียงพอ เหลือรถกู้ชีพไม่ถึง 10 คันจาก 300 กว่าคันในอดีต อัตราการเสียชีวิตอยู่กับที่สูงถึง 162 คนต่อปีเพราะไปช่วยไม่ทัน ถ้าตนได้เป็นนายก อบจ. ภายใน 2 ปีตนจะทำให้รถกู้ชีพ 1669 ต้องครอบคลุมทั้งจังหวัด
4) โครงสร้างพื้นฐานดี ที่ผ่านมา อบจ.อุบลราชธานีใช้งบประมาณไปกับการซ่อมถนนหลายพันล้านบาท แต่ที่ผ่านมาก็มีแต่การซ่อมแล้วซ่อมอีก และซอยโครงการเป็นโครงการละ 499,900 บาท จนคนวิจารณ์ว่าเป็น “ถนนซอยจุ๊” ถ้าตนได้เป็นนายก อบจ. จะสร้างการมีส่วนร่วมของทั้งองค์กรอิสระและภาคประชาสังคม มาเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบในการทำถนน ให้ประชาชนทุกตำบลมีส่วนร่วมตรวจสอบกับการสร้างถนนของ อบจ.
นอกจากนี้ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ตนจะติดตั้งกล้อง CCTV ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม เนื่องจากปัจจุบันยาเสพติดเข้าหาลูกหลานมากจนนำไปสู่อาชญากรรมประเภทอื่นๆ ตามมา อบจ. ไม่สามารถทำโดยตรงได้แต่สามารถอุดหนุนให้สถานีตำรวจและ ตชด. ได้ ทำงานร่วมกัน
5) การเมืองโปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบงบประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี และจะนำระบบร้องเรียนทราฟฟี่ฟองดูว์ เข้ามาให้ประชาชนแจ้งและร้องเรียนปัญหาต่างๆ
ทางด้านธนาธร ได้ขึ้นปราศรัยเป็นลำดับสุดท้าย โดยระบุว่าเหลือเวลาอีก 9 วัน อนาคตอุบลราชธานีจะเป็นอย่างไร ลูกหลานจะอยู่อย่างไรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทุกคนในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ อุบลราชธานีดีกว่านี้ได้ ขอให้ทุกคนอย่าหมดหวัง อย่าหมดกำลังใจ อย่าคิดว่าเมื่อวานเป็นอย่างนี้แล้วจะต้องเป็นอย่างนี้ตลอดไป เราสามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือนำการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายมาให้ลูกหลานของเรา เพื่อลูกหลานเกิดมาไม่ต้องพบกับความยากลำบากและการเอารัดเอาเปรียบ เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้
อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของภาคอีสาน และเป็นอันดับสามของประเทศ แต่รายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่อันดับที่ 67 ของประเทศ แต่ตนเชื่อว่าอุบลราชธานีมีศักยภาพที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้ให้กับลูกหลานได้ อุบลราชธานีมีสถานที่สำคัญในด้านการท่องเที่ยวมากมาย รวมถึงการค้าชายแดนที่สร้างเม็ดเงินได้ถึงปีละหลายหมื่นล้าน ทั้งหมดนี้เป็นศักยภาพของอุบลราชธานี เป็นสิ่งที่เราอยากจะบอกคนไทยและชาวโลกว่าเรามีของดีที่นี่ และนโยบายของสิทธิพลคือการเชื่อมสถานที่เหล่านี้เข้าด้วยกันด้วยรถเมล์ 6 สาย นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติในอุบลราชธานีต้องเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1 ล้านคน และมีการใช้จ่ายต่อหัวในจังหวัดเพิ่มขึ้น 4 พันบาทต่อคน เอาเงินเข้าจังหวัดได้อีก 4 พันล้านบาทภายใน 4 ปี
ธนาธรกล่าวต่อไปว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่าความเจริญและความก้าวหน้า เราสามารถสร้างอุบลราชธานีที่ดีกว่านี้ได้ สร้างประเทศไทยที่ดีกว่านี้ได้ เมื่อเทียบกับสิ่งที่ตนได้เจอมาเมื่อวานคือน้ำประปาที่ยังคงมีปัญหาคุณภาพอยู่ทั้งจังหวัด ทั้งที่นี่คือศตวรรษที่ 21 แล้ว ทุกคนทนกับน้ำประปาแบบนี้มากี่ปีแล้ว แล้วจะให้ลูกหลานอยู่อย่างนี้ต่อไปหรือ อบจ.อุบลราชธานี มีโรงเรียนในสังกัดกว่าสิบโรง หนึ่งในความฝันของสิทธิพลคือการทำให้โรงเรียนในสังกัด อบจ. เป็นโรงเรียนระดับประเทศให้ได้
ดังนั้น ทุกคนเลือกได้ว่าจะอยู่กับอนาคตแบบไหน และจะส่งอนาคตแบบไหนให้คนรุ่นต่อไป ขอให้ทุกคนกล้าฝัน กล้าทะเยอทะยาน กล้าคิดอย่างท้าทาย อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง ถ้ากลัวการเปลี่ยนแปลงทุกคนก็ต้องอยู่แบบเดิมต่อไป ถ้าอยากเห็นอนาคตและสังคมแบบใหม่แต่แรงไม่พอเราก็ไปไม่ถึง โค้งสุดท้ายแล้วเราขอให้ทุกคนช่วยออกแรง บอกคนในชุมชน บอกคนในตลาด บอกเพื่อนที่ทำงาน บอกลูกหลานบอกพ่อแม่พี่น้อง ให้ออกไปเลือกตั้งเพื่ออนาคตของเราเอง ตัดสินอนาคตของท่านเอง ลงแรงเพื่อความก้าวหน้าของจังหวัด เพื่ออนาคตของลูกหลานของเรา และเพื่อตอบแทนการลงแรงของทุกคน เราสัญญาได้ว่าเราจะใช้เงินภาษีทุกบาทอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการทุจริตเด็ดขาด
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อบจอุบล