วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2567

“กัณวีร์” แถลงข่าวประเด็นการค้ามนุษย์ในประเทศไทย

 


“กัณวีร์” แถลงข่าวประเด็นการค้ามนุษย์ในประเทศไทย


วันนี้ (18 ธันวาคม 2567) เวลา 11.45 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม แถลงข่าวประเด็นการค้ามนุษย์ในประเทศไทยว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและต้องมีกลไกในการบริหารจัดการป้องกันและปราบปราม รวมทั้งเยียวยาเหยื่อของการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และรวมถึงสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีแต่การดูแลที่ปลายน้ำ นั้นคือพอมีเรื่องเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เกิดขึ้น ประเทศไทยมีกลไกในการป้องกันคือ กลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism) หรือ NRM หรือกลไกการคัดกรองเหยื่อการค้ามนุษย์กับคนที่ทำขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีมานานแล้วและได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง


นายกัณวีร์ กล่าวว่า แต่ครั้งนี้ตนได้รับการประสานงานจากสถานเอกอัครราชทูตหลายประเทศประจำประเทศไทย รวมถึงกับภาคประชาชนและภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือเหยื่อที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งยังมีประเภทออนไลน์ คาสิโนต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชา ตนได้รับเรื่องดังกล่าวจากภาคประชาสังคมและรวมถึงเอกอัครราชทูต 14 ประเทศ 361 คน ซึ่งทั้ง 14 ประเทศจะมีกี่ประเทศที่ได้รับผลกระทบและได้มีการประสานงานกับภาคประชาชน และภาคประชาสังคมเพื่อให้มีการช่วยเหลือเหยื่อต่าง ๆ ให้ออกมาให้ได้ที่อยู่ในประเทศเมียนมาที่ติดกับพื้นที่ในจังหวัดตากและจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจะมีคนสัญชาติลาว อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน บังกลาเทศ ไต้หวัน และบราซิล แต่พื้นที่บริเวณนี้อยู่ในการดูแลของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ


ดังนั้น การเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อค่อนข้างยาก ต้องมีการประสานงานติดต่อกับกองกำลังต่าง ๆ เพราะทุกคนถูกทรมานทารุณกรรม แต่ต้องขอเรียนว่าขบวนการค้ามนุษย์ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการค้ามนุษย์ แต่เริ่มต้นจากขบวนการนำพาหลอกลวงพวกเขาว่าจะมาทำงานที่ประเทศไทย หลอกลวงว่าจะได้ทำงานบางอย่างแต่เมื่อเดินทางมาถึงแล้วก็เป็นการทำงานที่ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพราะขบวนการนำพาหลอกว่าจะมาทำงานที่ประเทศไทยมีการทำวีซ่าอย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่จะเป็นวีซ่านักท่องเที่ยวพอเข้ามาถึงประเทศไทยก็พาไปส่งตามชายแดนต่าง ๆ แล้วพาข้ามแดนไปอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะถูกบังคับขู่เข็ญว่าหากออกไปจะต้องจ่ายค่าไถ่ประมาณ 2-3 แสนบาท แต่หากไม่สามารถจ่ายเงินได้ก็จะถูกทารุณกรรม สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการทำร้ายร่างกายไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับทางสิทธิมนุษยชน แต่เป็นการเอามนุษย์มาเป็นโล่มนุษย์ที่มีการต่อรองกัน และทราบมาว่าวันที่ 19 - 21 ธันวาคม 2567 จะมีการเชิญประเทศไทยพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหาสันติภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา และขอให้รัฐบาลของไทยช่วยพูดเรื่องดังกล่าวด้วย


นายกัณวีร์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นได้หารือกับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดคนสัญชาติต่าง ๆ เดินทางไปยังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นจำนวน 1 แสนคน ทั้งที่อำเภอแม่สอดไม่ใช่อำเภอท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับจังหวัดภูเก็ตแต่จำนวนคนเข้าไปเป็นจำนวนมาก ปัญหาคือจะต้องมีกลไกการทำงานทั้งระบบและจะต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลจีน


ทั้งนี้ ในวันนี้ เวลา 17.00 นาฬิกา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญประธานคณะ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ มาหารือเพื่อหาแนวทางในการดำเนินงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของฝ่ายนิติบัญญัติไปยังฝ่ายบริหารในการดูแลปัญหาต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #การค้ามนุษย์

“พรรคประชาชน” ชงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 3 ฉบับ ชูแรงงานต้องมีความมั่นคงในการทำงาน-มีเวลาพักผ่อน-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย้ำข้อเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำอัตโนมัติตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ จบปัญหาปรับค่าแรงแบบมีดอกจันของรัฐบาล

 


พรรคประชาชน” ชงกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 3 ฉบับ ชูแรงงานต้องมีความมั่นคงในการทำงาน-มีเวลาพักผ่อน-ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย้ำข้อเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำอัตโนมัติตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ จบปัญหาปรับค่าแรงแบบมีดอกจันของรัฐบาล

 

วันที่ 18 ธันวาคม 2567 พรรคประชาชน นำโดย เซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วย วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ และ จรัส คุ้มไข่น้ำ สส.ชลบุรี เขต 6 นำทีมเครือข่ายผู้ใช้แรงงานและเครือข่ายสนับสนุนกฎหมายคุ้มครองคนทำงานกว่า 50 ชีวิต ประกอบด้วยแรงงานจากหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม แรงงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แรงงานนอกระบบ แรงงานบนอุตสาหกรรมแพลตฟอร์มหรือกลุ่มไรเดอร์ ร่วมเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 3 ฉบับ โดยมีการปรับปรุงเนื้อหากฎหมายให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่มและเหมาะสมกับยุคสมัย

 

เซียระบุว่า กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ เคยยื่นต่อสภาฯ มาแล้วตั้งแต่ปี 2566 ขณะนั้นเป็นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่เรียกว่า "ทำงาน พักผ่อน ใช้ชีวิต" แต่ถูกปัดตกไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เจตจำนงของเราที่ต้องการทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานดีขึ้น ทำให้มีความตั้งใจจะยื่นร่างกฎหมายกลับเข้าสภาฯ อีกครั้ง โดยปรับเนื้อหาเพิ่มเติมและแยกกฎหมายออกเป็น 3 ฉบับ กลายเป็น "ความมั่นคงในการทำงาน" "มีเวลาพักผ่อน" และ "มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"

 

โดยสิ่งที่ปรับเพิ่มเพื่อให้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์คนทำงานมากยิ่งขึ้น เช่น แรงงานมีสิทธิลาหยุดช่วงเป็นประจำเดือน ไม่เกิน 3 วัน/เดือน รวมถึงประเด็นที่เคยเสนอต่อสภาฯ มาแล้ว เช่น การลดชั่วโมงการทำงาน การเพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็น 10 วัน หรือสิทธิการลาไปดูแลคนใกล้ชิดหรือคนสำคัญในครอบครัว ปีละไม่เกิน 15 วัน ซึ่งพี่น้องแรงงานเรียกร้องกันมานานตั้งแต่เป็นอดีตพรรคอนาคตใหม่ พร้อมทั้งปรับพนักงานรายวันเป็นรายเดือนผ่านการนิยามความหมายลูกจ้าง ปรับความคุ้มครองของลูกจ้างที่ทำงานบนธุรกิจแพลตฟอร์ม ให้ได้รับการดูแลและคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 

พร้อมกันนี้เซียย้ำว่าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานจากพรรคประชาชน จะมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตโนมัติตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยังคงเป็นประเด็นถกเถียงและคลุมเครือ เนื่องจากไม่มีความชัดเจนจากฟากรัฐบาลว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศหรือไม่อย่างไร

 

ดังนั้นตนจึงเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ของพรรคประชาชน ที่เขียนไว้ชัดเจนว่าให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรืออัตราเงินเฟ้อ จะไม่ทำให้เกิดปัญหาเหมือนปัจจุบัน เพราะจะเป็นการปรับขึ้นอัตโนมัติตามความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ

 

"วันนี้เราจึงนำกฎหมาย 3 ฉบับที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องแรงงานยื่นต่อสภาฯ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาและออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป หวังว่าทุกพรรคการเมืองจะร่วมสนับสนุนเพื่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน" เซียกล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #กฎหมายคุ้มครองแรงงาน #พรบคุ้มครองแรงงาน




ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง กรณี “แพทองธาร-เพื่อไทย” แจกเงินหมื่นไม่ตรงปก

 


ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง กรณี “แพทองธาร-เพื่อไทย” แจกเงินหมื่นไม่ตรงปก


วันนี้ (18 ธันวาคม 2567) ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา กรณีที่ นายสนธิญา สวัสดี (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้อง) ใช้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ซึ่งต่อมาเมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และกลุ่มเป้าหมายของนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเดิม เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 257(1) และมาตรา 258 ก. ด้านการเมือง (2) และ (3) และไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 73 วรรรคหนึ่ง (1) และ (5)


ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมและเอกสารประกอบคำร้อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องโต้แย้งนโยบายพรรคของผู้ถูกร้อง และไม่ปรากฏว่าผู้ร้องถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง กรณีไม่เป็นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา


ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 233 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ศาลรัฐธรรมนูญ #พรรคเพื่อไทย #แพทองธาร


“พริษฐ์” ย้ำ ดินเนอร์พรรคร่วมฝ่ายค้าน ปัดเช็กตัวเลข สส. พรรคร่วม บอกแค่ ปชน. กว่า 140 สส.ก็พอตรวจสอบรัฐบาลแล้ว ยันซักฟอกรัฐบาลเข้มข้นแน่

 


พริษฐ์” ย้ำ ดินเนอร์พรรคร่วมฝ่ายค้าน ปัดเช็กตัวเลข สส. พรรคร่วม บอกแค่ ปชน. กว่า 140 สส.ก็พอตรวจสอบรัฐบาลแล้ว ยันซักฟอกรัฐบาลเข้มข้นแน่


วันที่ 18 ธันวาคม 2567 เวลา 10.30 น.ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน กล่าวถึงการนัดดินเนอร์พรรคร่วมฝ่ายค้านช่วงเย็นวันนี้(18ธ.ค.)ว่า การทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านอาจมีความแตกต่างกับพรรคร่วมรัฐบาล ที่ความคาดหวังเรื่องเอกภาพความสอดคล้องของนโยบายมีลักษณะที่ค่อนข้างสูงแต่พอเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ได้มีความคาดหวังว่าแต่ละพรรคจะมีจุดยืน ขอร่างกฎหมายต่อนโยบาย หรือแนวทางการทำงานที่เหมือนกัน และที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันจำกัดอยู่ในส่วนของขั้นตอนงานธุรการ เช่น แบ่งสัดส่วนเวลาในการ อภิปราย ดังนั้นวันนี้คงจะมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ และในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านจะแจ้ง ถึงความประสงค์ในการเปิดอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 151 เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล


เมื่อถามถึงบทบาทของฝ่ายค้านที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเบาลง จะมีการหารือปรับยุทธศาสตร์อย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคประชาชนทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านอย่างเต็มที่เข้มข้นคู่ขนาน ทั้งการตรวจสอบรัฐบาล ผ่านกลไกของกรรมาธิการ การตั้งกระทู้ถาม แต่เข้าใจว่าคนอยากเห็นบทบาทของการอภิปรายทั่วไปซึ่งในสมัยประชุมนี้จะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ยืนยันได้ว่าเข้มข้นเหมือนเดิม สำหรับบทบาทในการเสนอร่างกฎหมาย ที่เราเสนอไปแล้วกว่า 80 ฉบับ จะเป็นกลไกที่จะทำให้ฝ่ายค้านสามารถกำหนดวาระของสังคมได้ และจะเป็นการดึงให้รัฐบาลมาพูดคุยในประเด็นดังกล่าว เช่นการยื่นร่างพ.ร.บ.กลาโหมที่พรรคเพื่อไทยก็มีการยื่นมาประกบแม้จะถอนออกไปในภายหลัง แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าเป็นการกระตุก ให้รัฐบาลกลับมาคิด


เมื่อถามถึงสส.พรรคไทยสร้างไทยจะยังอยู่ในสถานะฝ่ายค้านอีกจำนวนเท่าใดนายพริษฐ์ กล่าวว่า คงต้องไปสอบถามกับพรรคไทยสร้างไทยเอง แต่เห็นว่าจากการลงมติในบางครั้ง ไม่มีความเป็นเอกภาพ ส่วนเสียงของฝ่ายค้านปัจจุบัน พรรคประชาชนมีสส.อยู่กว่า 140 คน เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับการใช้กลไกต่างๆ ของสภาในการตรวจสอบรัฐบาลได้ ไม่ได้เป็นปัญหา


จากนั้น“พริษฐ์”ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับพิจารณาคดีเจ้าที่รัฐเอื้อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ารักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ว่าเรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่พรรคประชาชนให้ความสนใจ และหวังว่าจะมีการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาเที่ยงธรรมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งในส่วนที่พรรคประชาชนทำได้คือกลไกของกรรมาธิการและอาจจะมีกลไกอื่น ๆ ในการตรวจสอบเรื่องนี้เพิ่มเติมด้วย


เมื่อถามว่ามองการทำงานของป.ป.ช.ในฐานะองค์กรอิสระอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า ด้วยองค์ประกอบและขอบเขตอำนาจตามกฎหมายที่มี สิ่งที่ต้องการเห็นคือองค์กรอิสระทำงานตรงไปตรงมาเที่ยงธรรม เป็นทำกับทุกฝ่าย ต้องคอยตรวจสอบเป็นกรณีไป และหากพูดถึงภาพใหญ่ของการออกแบบองค์กรอิสระ อีกโจทย์ที่สำคัญหากมีการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคประชาชนได้มองในมุมที่จะทำอย่างไรให้องค์กรอิสระทุกองค์กร มีขอบเขตอำนาจที่ชัดเจน ได้สัดส่วน ทำอย่างไรให้มีกระบวนการได้มา ของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ยึดโยงกับประชาชนในระดับหนึ่ง และมั่นใจได้ว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม เช่น ป.ป.ช.จะทำอย่างไรให้มั่นใจว่าจะตรวจสอบเรื่องประเด็นทุจริตอย่างเข้มข้น เท่าเทียมกันโดยไม่มีการอ่อนข้อ ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และมีกลไกให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบ องค์กรอิสระได้มากขึ้นด้วย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน

นายกฯแพทองธาร ลงพื้นที่อุทกภัย ณ ที่ว่าการอำเภอท่าฉาง พร้อมมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย


นายกฯแพทองธาร ลงพื้นที่อุทกภัย ณ ที่ว่าการอำเภอท่าฉาง พร้อมมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย


วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 17.00 น. ณ ที่ว่าการอำเภอท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง และนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าร่วม โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ อ. ท่าฉาง อสม. และประชาชนกว่า 1,000 คน มาให้การต้อนรับ พร้อมถ่ายรูปและจับมือทักทายนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด


นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้เดินทางมาพร้อมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรีที่อยู่ที่กรุงเทพ ทุกคนมีความเป็นห่วงพี่น้องภาคใต้ในทุกๆ จังหวัด และส่งตนเองเป็นผู้แทน เพื่อมาให้กำลังใจทุกๆ คน และขอขอบคุณจากใจของรัฐบาลที่ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมมีความอดทนและยังยิ้มสู้ ดังนั้น รัฐบาลยิ่งจะต้องดูแลให้เต็มที่ โดยเฉพาะการจ่ายเงินเยียวยา 9,000 บาท จะต้องถึงพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมแน่นอน ซึ่งรัฐบาลได้มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือน จึงอยากให้พี่น้องประชาชนที่ได้ผลกระทบไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาด้วย 


นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมจะต้องมีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำซาก วันนี้ตนมาให้กำลังใจ อยากเห็นทุกคนมีรอยยิ้มที่สดใสและเมื่อน้ำเริ่มลดลงก็สามารถกลับมาทำมาค้าขายและดำเนินชีวิตตามปกติโดยเร็ว ขอส่งกำลังใจอีกครั้งให้ทุกๆ คนที่อยู่ที่นี่และคนที่ไม่ได้มาด้วย


จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ทักทายประชาชน มอบถุงยังชีพและเยี่ยมชมบูธส่วนราชการ ที่มาให้บริการประชาชน อาทิ สำนักงานแรงงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยการอาชีพไชยา ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอไชยา หน่วยปฐมพยาบาลเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอท่าฉาง เป็นต้น เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ จึงเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นายกฯแพทองธาร #น้ำท่วม67 #น้ำท่วมภาคใต้





วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2567

“อนุทิน” เชื่อสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้จะดีขึ้นในวันนี้ พร้อมลงพื้นที่กับนายกฯ ในการช่วยเหลือและเยียวยา

 


“อนุทิน” เชื่อสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้จะดีขึ้นในวันนี้  พร้อมลงพื้นที่กับนายกฯ ในการช่วยเหลือและเยียวยา


วันที่ 17 ธันวาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคภูมิใจไทยจะลงไปช่วยประชาชนในภาคใต้ที่ประสบอุทกภัยพื้นที่น้ำท่วมว่า วันนี้ตนจะลงพื้นที่ และนายกฯ จะลงพื้นที่ด้วยเช่นกัน  แต่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยได้มีอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าไปอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 ธ.ค.)


ผู้สื่อข่าวถามว่าเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยจะให้เป็นจำนวน 9,000 บาท เหมือนจังหวัดเชียงใหม่ใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เกณฑ์จะต้องเท่าเทียมกันหมด คนที่ได้แล้วก็จะไม่ได้รับอีก ส่วนกรณีที่บ้านเสียหายทั้งหลังก็ดูเป็นกรณีไป ถ้าบ้านเรือนเสียหายจากดินโคลนถล่มหรือน้ำพัดพังไปทั้งหลัง ก็จะมีระเบียบในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรีอีกระเบียบหนึ่ง 


ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เบื้องต้นมีการคำนวณตัวเลขความเสียหายหรือไม่ว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ นายอนุทินกล่าวว่า ตามสำรวจเลย เราไม่ได้สุ่ม เราให้ตามจริง เพราะสำรวจตั้งแต่ระดับตำบล ระดับอำเภอ และได้มีคณะกรรมการมาตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีการสุ่ม ให้ได้ไปหมด หรือเรียกได้ว่าไม่ได้เหมาทั้งอำเภอ ไม่ได้เป็นการปูพรหม เพราะจำนวนเงินมันเยอะ เราต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง


ส่วนในพื้นที่ที่ประสบน้ำท่วมเป็นพื้นที่ที่เป็นปัญหาเดิมอยู่แล้ว ในอนาคตจะมีการแก้ไขอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า น้ำมันหลากและมีในที่เรียกกันว่า “เรนบอมบ์” หรือเรียกว่าก้อนน้ำที่ยิ่งกว่ามวลน้ำ ซึ่งมีปริมาณที่มาก ปกติจะตกอยู่ที่ 50 -100 มิลลิเมตร แต่ในปัจจุบันจังหวัดนครศรีธรรมราชท่วมไปถึง 500 มิลลิเมตร ก็ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการชลประทานไม่ดี ตนคิดว่าวันนี้น่าจะดีขึ้น


ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า สถานการณ์จะคลี่คลายได้เมื่อไหร่ เพราะที่จังหวัดชุมพรน้ำได้ไปแล้วแต่ยังมีซากที่ต้องฟื้นฟู นายอนุทินกล่าวว่า จากที่ตนได้รับรายงานมันเป็นทางไหลผ่านของน้ำ พอน้ำจะมาก็มาอย่างเต็มที่ พอจะไปก็ไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งน้ำไม่ได้อยู่นานจนประชาชนจะต้องอพยพออกไปจากพื้นที่เป็นเดือน ๆ ทั้งนี้เราได้เตรียมทุกอย่างไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พักพิงและเครื่องมือเครื่องจักร รวมไปถึงเรื่องของการฟื้นฟู โดยเข้าไปช่วยชาวบ้านในการซ่อมแซมทรัพย์สินทรัพย์สินของพวกเขา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #น้ำท่วม67 #น้ำท่วมภาคใต้

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2567

“รอมฎอน” ชี้มาเลเซียตั้ง “ทักษิณ” เป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียนเป็นโอกาสไทยผลักดันวาระสันติภาพ เสียดาย “แพทองธาร” พบผู้นำมาเลทั้งทีกลับไร้ท่าทีแข็งขันตอบรับกระบวนการสันติภาพ

 


“รอมฎอน” ชี้มาเลเซียตั้ง “ทักษิณ” เป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียนเป็นโอกาสไทยผลักดันวาระสันติภาพ เสียดาย “แพทองธาร” พบผู้นำมาเลทั้งทีกลับไร้ท่าทีแข็งขันตอบรับกระบวนการสันติภาพ


วันที่ 16 ธันวาคม 2567 รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้ความเห็นต่อกรณีการเยือนและพบปะกับผู้นำมาเลเซียของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ระหว่างวันที่ 15-16 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา


รอมฎอนระบุว่าการเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีเป็นกรณีที่ประชาชนในพื้นที่มีการติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการพูดคุยหารือเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ แม้ว่าวาระหลักจะเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการหลังเข้ารับตำแหน่ง และการสานต่อความร่วมมือในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ แต่ความร่วมมือในมิติด้านความมั่นคงและสันติภาพ ซึ่งทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมาอย่างต่อเนื่องก็ไม่อาจเป็นที่ละเลยได้


แม้ข่าวประชาสัมพันธ์ที่มีการแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนไทยจะเน้นหนักไปที่ความร่วมมือในทางเศรษฐกิจ แต่ในการแถลงข่าวและในคำแถลงที่เป็นทางการนั้น ก็ปรากฎว่ามีประเด็นการพูดคุยเพื่อสันติภาพในฐานะที่เป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงสำคัญของทั้งสองประเทศด้วย และยังเห็นได้ชัดจากภาพที่ปรากฎระหว่างการแถลงข่าว ว่านายกรัฐมนตรีมาเลซีย อันวาร์ อิบราฮิม ได้ไล่เรียงความสำคัญของประเด็นความร่วมมืออย่างน่าสนใจ โดยกล่าวถึงความสำคัญของการพูดคุยสันติภาพเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งสนับสนุนการแสวงหาข้อตกลงเกี่ยวกับแผนสันติภาพ หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) อีกทั้งยังระบุในการแถลงข่าวร่วมกันว่าตัวเขาเองได้เน้นย้ำกับผู้นำของประเทศไทยหลายคนก่อนหน้านี้ โดยเชื่อว่าสันติภาพและการพัฒนานั้นจะนำพาทั้งชายแดนใต้ของไทยและรัฐทางเหนือของมาเลเซียให้พัฒนาไปร่วมกันได้


รอมฎอนกล่าวต่อไปว่าจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ในระหว่างการแถลงข่าว นายกรัฐมนตรีไทยกลับไม่ได้กล่าวตอบรับถึงประเด็นนี้เท่าไหร่ ทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเป็นเจ้าของปัญหาและความท้าทายนี้โดยตรง อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงภาวะผู้นำให้รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านมั่นใจได้ว่าความไม่สงบที่เกิดขึ้นจะได้รับความใส่ใจที่มากพอ เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน อันถือเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ


ในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนของทางการมาเลเซียยังได้ระบุสาระสำคัญข้างต้นเอาไว้ พร้อมทั้งให้รายละเอียดด้วยว่าผู้นำของทั้งสองประเทศได้มีการหารือกันถึงพัฒนาการในเชิงบวกของกระบวนการสันติภาพ และร่วมแสดงความยินดีในการเข้าทำหน้าที่ของ ดาโต๊ะ ฮัจญี มูฮัมหมัดรอบิน บิน บาชีร ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพคนใหม่ ซึ่งเริ่มงานมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 


อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของทางการไทยเอง กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแต่งตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดใหม่ เพื่อทำหน้าที่สานต่องานพูดคุยเพื่อสันติภาพ ทำให้การเยือนในครั้งนี้รัฐบาลไทยไม่อาจส่งสัญญาณที่เป็นบวกให้กับความร่วมมือในมิตินี้ได้


รอมฎอนกล่าวต่อไปว่าการเดินทางเยือนเพื่อแนะนำตัวหลังเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไทยอย่างน้อยสองคนก่อนหน้านี้ เป็นการเดินทางไปพร้อมกับการยืนยันหนักแน่นต่อมาเลเซียว่ารัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยด้วยแนวทางสันติวิธี และเน้นไปที่การพูดคุยและเจรจา 


ในรัฐบาลหลังการรัฐประหาร การเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ก็มาพร้อมกับการแนะนำหัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนใหม่ในขณะนั้น คือ พล.อ.อักษรา เกิดผล ซึ่งเพิ่งแต่งตั้งก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ในขณะที่การเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 แม้จะไม่มีความคืบหน้าในการสานต่อการพูดคุย แต่อดีตนายกรัฐมนตรีก็ได้ลงนามแต่งตั้งคณะพูดคุยฯ ชุดใหม่ในวันเดียวกันกับการพบปะกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอย่างเป็นทางการอีกครั้งที่ด่านชายแดนสะเดาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566


รอมฎอนกล่าวว่าทั้งสองกรณีถือเป็นตัวอย่างของผู้นำประเทศที่จะส่งสัญญาณทางการเมืองสำคัญให้กับทางการมาเลเซีย อีกทั้งยังเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลไทยใส่ใจและทรงอำนาจในการริเริ่มในการแก้ไขปัญหาของตัวเอง แต่ท่าทีและท่วงทำนองที่เกิดขึ้นในวันนี้กลับกลายเป็นว่าบทบาทในการผลักดันสำคัญกลับอยู่ที่ผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านอย่างน่าเสียดาย


นายกรัฐมนตรีปล่อยให้โอกาสในการแสดงภาวะผู้นำและแสดงความมั่นใจต่อความร่วมมือของสองประเทศในประเด็นสำคัญต้องหายไป ทั้งที่การพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลางที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกนั้น ถือเป็นมรดกทางการเมืองสำคัญของร้ฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการประสานงานและทำให้ช่องทางการพูดคุยด้วยแนวทางสันตินี้เป็นไปได้ ก็คืออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร


รอมฎอนกล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตาม การประกาศแต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณและอดีตผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของประธานอาเซียนในวันนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณของมาเลเซียว่าในฐานะประธานอาเซียนปีหน้า รัฐบาลมาเลเซียอยากเห็นความร่วมมือและการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านในการบรรลุถึงปัญหาความท้าทายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอนาคตของเมียนมา วิกฤตการณ์ในทะเลจีนใต้ การเข้าเป็นสมาชิกของติมอร์เลสเต้ และสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย 


ซึ่งประเทศไทยก็ควรที่จะได้ใช้โอกาสที่อดีตนายกรัฐมนตรีกำลังจะมีบทบาทสำคัญนี้ ในการผลักดันวาระสันติภาพร่วมกับประเทศอาเซียนในประเด็นต่างๆ ต่อไปในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตามการที่นายกรัฐมนตรีไทยในการเยือนมาเลเซียครั้งนี้กลับไม่ได้แสดงท่าทีอย่างหนักแน่นที่จะตอบรับหรือสานต่อความคืบหน้าในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ปล่อยให้เป็นเวทีการแสดงท่าทีของผู้นำมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่นั้น นับเป็นการสูญเสียโอกาสที่สวนทางกับโอกาสที่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้รับในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง


“การเงียบเสียงและไม่ใส่ใจในประเด็นของตัวเองเป็นการสูญเสียโอกาสอย่างสำคัญของผู้นำประเทศ แต่ภายในเวลาที่พอจะมีอยู่นี้ รัฐบาลแพทองธารควรแสดงความใส่ใจต่อปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ การปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายหลากหลายนั้นเกิดขึ้นแล้วจากประเทศเพื่อนบ้านของเรา ประเทศไทยควรมีความพร้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้” รอมฎอนกล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #สันติภาพ #มาเลเซีย

วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2567

“เผ่าภูมิ” ชี้ “เงิน 10,000” ดันดัชนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค-SME-อุตสาหกรรม พุ่ง 3 ตัว พร้อมกัน


“เผ่าภูมิ” ชี้ “เงิน 10,000” ดันดัชนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค-SME-อุตสาหกรรม พุ่ง 3 ตัว พร้อมกัน


วันที่ 15 ธันวาคม 2567 ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงสถานการณ์ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2567 และพฤศจิกายน 2567 ดีขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือนติด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ 14.55 ล้านคน ที่ดำเนินตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา สะท้อนผ่านดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 ดัชนี ดังนี้


1) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confident Index: CCI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 เดือน จาก 55.3 จุด ในเดือนกันยายน 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 56.0 จุด ในเดือนตุลาคม 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 56.9 จุด ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้มีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น


2) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises Sentiment Index: SMESI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน จาก 49.6 จุด เพิ่มขึ้นเป็น 52.2 จุด ในเดือนตุลาคม 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 53.0 จุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการเพิ่มกำลังซื้อในตลาด


3) ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industrial Sentiment Index: TISI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 87.1 จุด เป็น 89.1 จุด ในเดือนตุลาคม 2567 จากการผลิตและยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ในบ้าน และอุปกรณ์การเกษตร และปุ๋ยเคมี ที่เพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัวและตอบสนองต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าจำเป็นที่ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันและภาคการเกษตร


ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวขึ้นทั้ง 3 ดัชนี ข้างต้น สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภค ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการตอบสนองที่ดีต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสะท้อนถึงความคาดหวังในทิศทางเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะการปรับตัวดีขึ้นในกลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งส่งผลดีต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศในระยะต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

จับตา! ศาลจังหวัดปัตตานี นัดพิพากษา “อัสมาดี” นักข่าวพลเมืองชายแดนใต้ถูกฟ้องต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงาน ขณะที่ลงไปเก็บข้อมูลทำข่าวการวิสามัญฆาตกรรม 24 ก.พ. 68 เจ้าตัวย้ำสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อยืนยันสิทธิในฐานะนักข่าวพลเมือง

 


จับตา! ศาลจังหวัดปัตตานี นัดพิพากษา “อัสมาดี” นักข่าวพลเมืองชายแดนใต้ถูกฟ้องต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงาน ขณะที่ลงไปเก็บข้อมูลทำข่าวการวิสามัญฆาตกรรม 24 ก.พ. 68 เจ้าตัวย้ำสู้คดีจนถึงที่สุด เพื่อยืนยันสิทธิในฐานะนักข่าวพลเมือง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 - 13 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย กรณีที่รัฐฟ้องข้อหาร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ตามมาตรา 83, 138, 140 ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 พ.ศ. 2519 กับ นางแมะดะ สะนิ เป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย เพื่อจะไปรับศพลูกชายที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมในคดีความมั่นคง นำไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม และนายอัสมาดี บือเฮง เป็นจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนักข่าวพลเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมสังเกตุการณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลของบุคคลที่ถูกวิสามัญฆาตรกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้จัดทำเป็นบทความในหนังสือหรือรายงานข่าวต่อไป


​โดยคดีนี้จำเลยทั้งสองถูกฟ้องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 นางแมะดะ สะนิ มาดาของผู้ตายที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม และนายอัสมาดี บือเฮง ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน กรณีการนำศพของผู้ตายออกจากโรงพยาบาลปัตตานี โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ยังไม่ได้ดำเนินการพิมพ์ลายนิ้วมือ และลายมือ เป็นขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย เพื่อพิสูจน์ให้รู้ว่าผู้ตายคือใคร ซึ่งเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่


ด้าน อัสมาดี บือเฮง นักปกป้องสิทธิมนุษยชและนักข่าวพลเมือง ที่ติดตามประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อม สิทธิทางการเมือง รวมทั้งการวิสามัญฆาตกรรม ให้สัมภาษณ์หลังการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้วว่า ตนได้ให้การกับศาลโดยยืนยันว่าที่เกิดเหตุนั้นตนได้ลงพื้นที่เพื่อเข้าไปสังเกตุการณ์และเก็บข้อมูลบุคคลที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปจัดทำเป็นบทความข่าว หรือหนังสือที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งตนทำหน้าที่ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถูกกล่าวหาและฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้และจะต่อสู้คดีจนถึงที่สุดเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ ว่าตนไม่ได้กระทำผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใดตามที่ถูกฟ้อง นอกจากนี้ยังขอย้ำว่าการสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งตนได้ให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนในทุกข้อกล่าวหาและวันที่เบิกความต่อศาลก็ยังยืนยันข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่เคยให้การในฐานะพยานและผู้ต้องหาในชั้นพนักงานสอบสวน โดยหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะคืนว่ายุติธรรมให้กับตน


ผมเลือกสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ทั้งในแง่เจตนาและพฤติกรรม ผมเข้าไปในพื้นที่เพียงเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับงานเขียน ไม่ได้มีเจตนาอื่นใด การสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสำคัญมาก เพราะที่นี่ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนและแม้อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีผมก็ยังยืนยันว่าจะยังคงทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองต่อไป โดยเขียนรายงานเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ เช่น โครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน การนำเสนอข้อมูลข่าวสารยังเป็นสิ่งที่ผมยึดมั่น แม้ต้องเผชิญกับราคาที่ต้องจ่ายก็ตามการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อพิสูจน์ตัวเอง แต่เพื่อยืนยันว่าการสื่อสารของนักข่าวพลเมืองและประชาชนทั่วไปเป็นสิทธิพื้นฐานที่ควรได้รับการคุ้มครองในระบอบประชาธิปไตย” อัสมาดีระบุ


ขณะที่ เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภาอดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท ได้เดินทางมาเบิกความในฐานะพยานของอัสมาดีเพื่อยืนยันการทำงานของอัสมาดี ที่ทำหน้าที่นักข่าวพลเมืองให้กับสำนักข่าวประชาไทยมาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิทางการเมือง ในพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยืนยันความสำคัญของนักข่าวพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย


เทวฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมหลังเบิกความเสร็จสิ้นแล้วว่า อัสมาดีได้อ้างตนเป็นพยานมาตั้งแต่ชั้นพนักงานอัยการเพื่อให้สอบตนในฐานะพยาน แต่ก็ไม่มีการเรียกตนไปให้การในฐานะพยานแต่อย่างใด ก็เลยต้องเดินทางมาเบิกความต่อศาลในวันนี้ ซึ่งนอกจากการเบิกความในชั้นศาลที่เกี่ยวข้องกับคดีแล้วตนยังอยากเน้นย้ำถึงความสำคัญในความหมายของ คำว่า นักข่าวพลเมือง ซึ่งหลายคนอาจไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ‘นักข่าวพลเมือง’ จนกว่าจะได้เผชิญปัญหาโดยตรง เช่น โครงการพัฒนาที่รุกล้ำพื้นที่ชุมชนหรือการเวนคืนที่ดิน เมื่อปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำเสนอโดยสื่อกระแสหลัก ประชาชนในพื้นที่ก็จะลุกขึ้นมาสื่อสารเองผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ แต่ปัญหาคือคนเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง หากเกิดผลกระทบจากการสื่อสารของพวกเขา”


​เทวฤทธิ์ชี้ว่า แม้กระทั่ง อัสมาดี ผู้ถูกดำเนินคดีในประเด็นการสื่อสาร ก็ไม่ได้เป็นเพียงประชาชนธรรมดา แต่มีทักษะด้านการเขียนและการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม สิทธิในการแสดงออกและการสื่อสารไม่ควรถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ทุกคนควรมีสิทธิ์ในการสื่อสารโดยไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เราต้องพึ่งพานักข่าวพลเมืองเหล่านี้ในการดึงประเด็นจากพื้นที่จริงเข้าสู่การรับรู้ของสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการสื่อสาร แต่ปัจจุบันวัฒนธรรมไทยยังยึดติดกับความคิดที่ว่านักข่าวต้องมีบัตรประจำตัว ต้องสังกัดองค์กร ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง


​เทวฤทธิ์ยังมีความกังวล ว่า การฟ้องคดีกับนักข่าว หรือ นักข่าวพลเมือง จะส่งผลให้พื้นที่ของนักข่าวพลเมืองในการรายงานประเด็นร้อนหรือพื้นที่ความขัดแย้งหดเล็กลง เป็นการปิดกั้นการสื่อสารของประชาชน ทำให้หูตาของสังคมลดน้อยลง


เทวฤทธิ์ยังกล่าวถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการรับรองในระดับสากล โดยชี้ว่า องค์การยูเนสโกได้ยืนยันสิทธินี้เพราะมันคือรากฐานของความก้าวหน้าในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม นอกจากนี้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 19 ยืนยันสิทธิในการพูดและแสดงความคิดเห็น และรัฐธรรมนูญไทยปี 2560 มาตรา 34 ก็รองรับสิทธิในการสื่อสาร แต่ในทางปฏิบัติ คนที่ทำหน้าที่รายงานข่าวกลับต้องเผชิญคดีความ การไม่รับรองสิทธิเหล่านี้จะส่งผลต่อความโปร่งใส และการตรวจสอบอำนาจในสังคม”


การดำรงอยู่ของนักข่าวพลเมืองเป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตย และหากพื้นที่นี้ถูกทำให้แคบลง จะกระทบต่อศักยภาพของสังคมในการมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการตัดสินใจอย่างสมดุล ข้อมูลข่าวสารเป็นน้ำทิพย์ที่ช่วยหล่อเลี้ยงประชาธิปไตย หากสังคมไทยละเลยสิ่งนี้ เราจะสูญเสียความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการใช้อำนาจ“ เทวฤทธิ์ระบุ


ด้านปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International ซึ่งได้ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด กล่าวว่า"นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักข่าวพลเมืองอย่างอัสมาดีมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบอำนาจรัฐและนำเสนอความจริงในพื้นที่ความขัดแย้ง สิทธิของพวกเขาได้รับการรับรองตามปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนปี 2541 ซึ่งกำหนดให้รัฐมีหน้าที่คุ้มครองผู้ที่ทำงานเพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีของทุกคน


เหตุการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เช่น กรณีตากใบ ได้สร้างคำถามต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม หลังเกิดการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิตยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคดีนี้จะเป็นโอกาสเล็กๆในการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมผ่านการพิจารณาอย่างรอบด้าน


ทั้งนี้ เราขอย้ำว่าการพิจารณาคดีควรยึดหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในกระบวนการยุติธรรม และเป็นการตอกย้ำถึงสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง"


ด้านอธิวัฒน์ เส้งคุ่ย ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและทนายความของอัสมาดีกล่าวสรุปคดีหลังสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วว่า คดีนี้มีการสืบพยานฝ่ายจำเลย 2 ปาก คือ คุณอัสมาดี และคุณ เทวฤทธิ์ มณีฉาย อดีตบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท และปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ว่าการกระทำของคุณอัสมาดีว่า ปฏิบัติหน้าที่นักข่าวพลเมืองในวันดังกล่าวซึ่งย่อมไม่เป็นความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด โดยที่ในคดีดังกล่าวนี้ คุณอัสมาดีได้ แสดงความบริสุทธิ์มาตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวนที่เรียกไปให้การในฐานะพยาน จนกระทั่งพนักงานสอบสวนมีหมายเรียกให้ตกเป็นผู้ต้องหาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามที่ฟ้องในคดีนี้ โดยที่คุณอัสมาดียังยืนยันและให้การเหมือนเดิมถึงเจตนาที่ต้องเดินทางไปในวันกล่าวเพื่อทำหน้าที่ของนักข่าวพลเมือง


​ทั้งนี้พยานโจทก์ที่กล่าวหาคุณอัสมาดีเงื้อมมือจะตบเธอในชั้นพนักงานสอบสวนแต่เมื่อมาเบิกความต่อศาลกลับได้ข้อเท็จจริงว่าบุคคลที่เงื้อมมือจะตบเธอไม่ใช่อัสมาดีเธอจำผิดคน รวมทั้งพยานที่นำส่งศพผู้ตายไปยังที่โรงพยาบาลจังหวัดปัตตานีไม่ได้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ชัดเจนเป็นคลิปวิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์วันเกิดเหตุไว้ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอัสมาดี ไม่ได้กระทำการใดๆที่เข้าข่ายตามพฤติการณ์ที่ถูกฟ้องแต่อย่างใด


ท้ายสุดนี้ คดีนี้อัสมาดี ยังเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะคืนความบริสุทธิ์ให้กับเขา และคดีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ และกระบวนการยุติธรรม ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมต่อไป โดยคดีนี้ศาลจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 น.

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นักข่าวพลเมือง




วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ปชน. ลุยหาเสียง อบจ.อุบล “เท้ง -ไหม” นำทีมขอคะแนน ชูนโยบาย “5 ดี เปลี่ยนอุบล” ดัน "สิทธิพล เบอร์2" นั่งนายก อบจ.

 


ปชน. ลุยหาเสียง อบจ.อุบล “เท้ง -ไหม” นำทีมขอคะแนน ชูนโยบาย “5 ดี เปลี่ยนอุบล” ดัน "สิทธิพล เบอร์2" นั่งนายก อบจ.


วันที่ 14 ธันวาคม 2567 ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน, ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค, รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ เขต 28 พรรคประชาชน พร้อมด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ พรรณิการ์ วานิช ผู้ช่วยหาเสียง เดินสายหาเสียงสนับสนุน "สิทธิพล เลาหะวนิช" หรือ “น้อย” ผู้สมัครนายก อบจ.อุบลราชธานี เบอร์ 2 จากพรรคประชาชน ในการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี ที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคมนี้  


โดยรูปแบบการหาเสียงวันนี้ แกนนำและผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชนได้กระจายไปพบประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วจังหวัดอุบลราชธานี บรรยากาศแต่ละจุดเป็นไปอย่างคึกคัก ณัฐพงษ์และสิทธิพลหาเสียงในพื้นที่อำเภอม่วงสามสิบ ด้วยการเดินตลาดและปราศรัยเวทีย่อย ประชาสัมพันธ์นโยบาย “5 ดี” ที่จะใช้งบประมาณทุกบาทของ อบจ. อย่างคุ้มค่า สร้างการเปลี่ยนแปลงให้จังหวัดขนาดใหญ่อย่างอุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสุขภาพดี โครงสร้างพื้นฐานดี ปากท้องดี อนาคตดี และการเมืองดี


ด้านศิริกัญญาและรักชนก เดิขนทางไปหาเสียงในพื้นที่ตอนเหนือของจังหวัด ได้แก่ อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอเขมราฐ อำเภอนาตาล รวมถึงได้ปราศรัยย่อยเกี่ยวกับปัญหาของเกษตรกร ที่บ้านเกาะแกด อำเภอโพธิ์ไทร ขณะที่ธนาธรเดินทางไปรณรงค์ในพื้นที่ทางใต้ของจังหวัด ได้แก่ อำเภอนาจะหลวย อำเภอน้ำยืน ส่วนพรรณิการ์หาเสียงในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ 


ทั้งนี้ในช่วงเย็น ณัฐพงษ์พร้อมด้วยสิทธิพล ธนาธร และพรรณิการ์ จะเดินทางไปหาเสียงที่ถนนคนเดิน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นายกอบจ #อบจอุบล #พรรคประชาชน







วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2567

พรรคประชาชนเปิดเวทีปราศรัยใหญ่เลือกตั้ง นายก อบจ.อุบลราชธานี ขนแกนนำ-สส.-ผู้ช่วยหาเสียง ปลุกพลังชาวอุบลร่วมเปลี่ยนแปลง ธนาธร อ้อนขอให้โอกาสสักครั้งจะไม่ทำให้ผิดหวัง

 


พรรคประชาชนเปิดเวทีปราศรัยใหญ่เลือกตั้ง นายก อบจ.อุบลราชธานี ขนแกนนำ-สส.-ผู้ช่วยหาเสียง ปลุกพลังชาวอุบลร่วมเปลี่ยนแปลง ธนาธร อ้อนขอให้โอกาสสักครั้งจะไม่ทำให้ผิดหวัง


วันที่ 13 ธันวาคม 2567 ที่ลานขวัญเมือง ศาลากลาง จ.อุบลราชธานี พรรคประชาชนเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ สำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี ในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 ซึ่งพรรคประชาชนส่ง สิทธิพล เลาหะวนิช เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.อุบลราชธานี พรรคประชาชน (หมายเลข 2) ในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยมีทั้งแกนนำ สส. และผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชนร่วมการปราศรัยอย่างคับคั่ง อาทิ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน, คำพอง เทพาคำ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน, พรรณิการ์ วานิช และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน เป็นต้น


โดยศิริกัญญา กล่าวช่วงหนึ่งว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่น หลายคนมักบอกให้เลือกผู้สมัครที่มาจากพรรครัฐบาล จะได้ทำงานไร้รอยต่อ สานต่อนโยบาย เอาโครงการมาลงพื้นที่ได้ แต่วันนี้มองไปที่ฟากฝั่งผลงานรัฐบาล ลำพังสิ่งที่ตัวเองสัญญาตอนหาเสียงยังทำไม่ได้เลย แล้วจะมาช่วยนายก อบจ. ได้อย่างไร 


ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ตอนหาเสียงบอกว่า 600 บาทภายในปี 2570 ปีแรกทำทันที 400 บาท วันนี้ผ่านมาเกือบ 2 ปีเมื่อไรจะได้ เท่าที่ประกาศออกมาเป็น 400 บาทแบบมีดอกจัน ไม่ได้เท่ากันทุกคนทุกที่ทั่วประเทศ หรือนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มีคนบอกว่าที่ไม่ได้เงินสักทีเพราะฝ่ายค้านคนนี้ขวางทาง จะเป็นไปได้อย่างไร ตนเป็นฝ่ายค้านไม่มีอำนาจ ไม่ได้เป็นเพราะตนแน่ๆ น่าจะเพราะรัฐบาลสะดุดขาตัวเองเลยไม่ได้แจกสักที 


ดังนั้นพี่น้องไม่จำเป็นต้องคิดว่าเราต้องเลือกนายก อบจ. ที่มาจากฟากฝั่งเดียวกับรัฐบาลหรือไม่ สิ่งสำคัญคือพี่น้องเลือกคนที่จะทำให้นโยบายที่หาเสียงไว้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นอุบลสุขภาพดี โครงสร้างพื้นฐานดี ปากท้องดี การเมืองดี อนาคตดี สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จากคุณสิทธิพล เลาหะวนิช ผู้สมัครนายก อบจ.อุบลราชธานี จากพรรคประชาชน


จากนั้นสิทธิพล ระบุว่าเหตุผลที่ตนมาลงสมัครในครั้งนี้ มาจากการเหลืออดในสิ่งที่ อบจ.อุบลราชธานีไม่เคยทำมาก่อน ทั้งที่มีงบประมาณถึงปีละ 1,700 ล้านบาท สี่ปีเกือบ 7 พันล้านบาท ที่ผ่านมาได้เห็นแต่การทำถนนเพียงอย่างเดียว และจากกระบวนการรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนชาวอุบลราชธานี ได้กลายมาเป็นนโยบาย 5 ข้อที่ตนต้องการส่งมอบให้ชาวอุบลราชธานี คือ


1) เศรษฐกิจปากท้อง สร้างงานสร้างเงินให้คนอุบลราชธานี รายได้เฉลี่ยของคนอุบลราชธานีอยู่ที่ 6,600 บาทต่อเดือน อยู่อันดับที่ 67 ของประเทศไทย อุบลราชธานีมีพื้นที่การเกษตรถึง 10 ล้านไร่ เป็นการทำนาถึง 5.8 ล้านไร่ เป็นคนส่วนใหญ่ของอุบลราชธานี นโยบายของตนจึงมุ่งไปที่เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นโครงการชลประทานระบบท่อพาน้ำไปหานาประชาชน รวมทั้ง 1 ตำบล 1 โดรนการเกษตรเพื่อลดต้นทุนการทำนาของเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีทั้งสนามบินและรถไฟแต่กลับไม่มีคนมาเที่ยว ด้วยการทำระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ 6 สาย เดิตทางสะดวกทั่วถึงทั้งจังหวัด


2) นโยบายสาธารณสุขเพื่อสุขภาพของคนอุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต.ก้าวหน้า นำระบบการแพทย์ทางไกลมาใช้ ให้ประชาชนอยู่ที่ไหนก็ใกล้หมอ พบหมอผ่านระบบออนไลน์ได้ ลดการแออัดที่โรงพยาบาลในจังหวัดที่มีหมอและพยาบาลน้อยไม่เพียงพอ


3) 1669 ครอบคลุมทั้งจังหวัด เนื่องจากอุบลราชธานีปัจจุบันยังมีปัญหารถกู้ชีพไม่เพียงพอ เหลือรถกู้ชีพไม่ถึง 10 คันจาก 300 กว่าคันในอดีต อัตราการเสียชีวิตอยู่กับที่สูงถึง 162 คนต่อปีเพราะไปช่วยไม่ทัน ถ้าตนได้เป็นนายก อบจ. ภายใน 2 ปีตนจะทำให้รถกู้ชีพ 1669 ต้องครอบคลุมทั้งจังหวัด


4) โครงสร้างพื้นฐานดี ที่ผ่านมา อบจ.อุบลราชธานีใช้งบประมาณไปกับการซ่อมถนนหลายพันล้านบาท แต่ที่ผ่านมาก็มีแต่การซ่อมแล้วซ่อมอีก และซอยโครงการเป็นโครงการละ 499,900 บาท จนคนวิจารณ์ว่าเป็น “ถนนซอยจุ๊” ถ้าตนได้เป็นนายก อบจ. จะสร้างการมีส่วนร่วมของทั้งองค์กรอิสระและภาคประชาสังคม มาเป็นกรรมการร่วมตรวจสอบในการทำถนน ให้ประชาชนทุกตำบลมีส่วนร่วมตรวจสอบกับการสร้างถนนของ อบจ.


นอกจากนี้ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ตนจะติดตั้งกล้อง CCTV ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม เนื่องจากปัจจุบันยาเสพติดเข้าหาลูกหลานมากจนนำไปสู่อาชญากรรมประเภทอื่นๆ ตามมา อบจ. ไม่สามารถทำโดยตรงได้แต่สามารถอุดหนุนให้สถานีตำรวจและ ตชด. ได้ ทำงานร่วมกัน


5) การเมืองโปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบงบประมาณ 1,700 ล้านบาทต่อปี และจะนำระบบร้องเรียนทราฟฟี่ฟองดูว์ เข้ามาให้ประชาชนแจ้งและร้องเรียนปัญหาต่างๆ


ทางด้านธนาธร ได้ขึ้นปราศรัยเป็นลำดับสุดท้าย โดยระบุว่าเหลือเวลาอีก 9 วัน อนาคตอุบลราชธานีจะเป็นอย่างไร ลูกหลานจะอยู่อย่างไรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทุกคนในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ อุบลราชธานีดีกว่านี้ได้ ขอให้ทุกคนอย่าหมดหวัง อย่าหมดกำลังใจ อย่าคิดว่าเมื่อวานเป็นอย่างนี้แล้วจะต้องเป็นอย่างนี้ตลอดไป เราสามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือนำการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายมาให้ลูกหลานของเรา เพื่อลูกหลานเกิดมาไม่ต้องพบกับความยากลำบากและการเอารัดเอาเปรียบ เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้


อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสองของภาคอีสาน และเป็นอันดับสามของประเทศ แต่รายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่อันดับที่ 67 ของประเทศ แต่ตนเชื่อว่าอุบลราชธานีมีศักยภาพที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้ให้กับลูกหลานได้ อุบลราชธานีมีสถานที่สำคัญในด้านการท่องเที่ยวมากมาย รวมถึงการค้าชายแดนที่สร้างเม็ดเงินได้ถึงปีละหลายหมื่นล้าน ทั้งหมดนี้เป็นศักยภาพของอุบลราชธานี เป็นสิ่งที่เราอยากจะบอกคนไทยและชาวโลกว่าเรามีของดีที่นี่ และนโยบายของสิทธิพลคือการเชื่อมสถานที่เหล่านี้เข้าด้วยกันด้วยรถเมล์ 6 สาย นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติในอุบลราชธานีต้องเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1 ล้านคน และมีการใช้จ่ายต่อหัวในจังหวัดเพิ่มขึ้น 4 พันบาทต่อคน เอาเงินเข้าจังหวัดได้อีก 4 พันล้านบาทภายใน 4 ปี


ธนาธรกล่าวต่อไปว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่าความเจริญและความก้าวหน้า เราสามารถสร้างอุบลราชธานีที่ดีกว่านี้ได้ สร้างประเทศไทยที่ดีกว่านี้ได้ เมื่อเทียบกับสิ่งที่ตนได้เจอมาเมื่อวานคือน้ำประปาที่ยังคงมีปัญหาคุณภาพอยู่ทั้งจังหวัด ทั้งที่นี่คือศตวรรษที่ 21 แล้ว ทุกคนทนกับน้ำประปาแบบนี้มากี่ปีแล้ว แล้วจะให้ลูกหลานอยู่อย่างนี้ต่อไปหรือ อบจ.อุบลราชธานี มีโรงเรียนในสังกัดกว่าสิบโรง หนึ่งในความฝันของสิทธิพลคือการทำให้โรงเรียนในสังกัด อบจ. เป็นโรงเรียนระดับประเทศให้ได้ 


ดังนั้น ทุกคนเลือกได้ว่าจะอยู่กับอนาคตแบบไหน และจะส่งอนาคตแบบไหนให้คนรุ่นต่อไป ขอให้ทุกคนกล้าฝัน กล้าทะเยอทะยาน กล้าคิดอย่างท้าทาย อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง ถ้ากลัวการเปลี่ยนแปลงทุกคนก็ต้องอยู่แบบเดิมต่อไป ถ้าอยากเห็นอนาคตและสังคมแบบใหม่แต่แรงไม่พอเราก็ไปไม่ถึง โค้งสุดท้ายแล้วเราขอให้ทุกคนช่วยออกแรง บอกคนในชุมชน บอกคนในตลาด บอกเพื่อนที่ทำงาน บอกลูกหลานบอกพ่อแม่พี่น้อง ให้ออกไปเลือกตั้งเพื่ออนาคตของเราเอง ตัดสินอนาคตของท่านเอง ลงแรงเพื่อความก้าวหน้าของจังหวัด เพื่ออนาคตของลูกหลานของเรา และเพื่อตอบแทนการลงแรงของทุกคน เราสัญญาได้ว่าเราจะใช้เงินภาษีทุกบาทอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการทุจริตเด็ดขาด


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อบจอุบล








จม.จากเรือนจำ “อานนท์” เขียนถึงลูก การพูดความจริงทำให้ตอนนี้โทษของพ่อเพิ่มขึ้นเป็น 16 ปีเศษ และซากปรักหักพังที่ถูกสร้างด้วยมือของ “นิติบริกร”

 


จม.จากเรือนจำ “อานนท์” เขียนถึงลูก การพูดความจริงทำให้ตอนนี้โทษของพ่อเพิ่มขึ้นเป็น 16 ปีเศษ และซากปรักหักพังที่ถูกสร้างด้วยมือของ “นิติบริกร”


วันที่ 13 ธ.ค. 2567 เพจ “อานนท์ นำภา” โพสต์จดหมายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และข้อความในจดหมายฉบับวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ระบุว่า


จดหมายฉบับลงวันที่ 12 ธ.ค. 2567

เป็นค่ำในฤดูหนาวที่ร้อนอบอ้าว เสียงพัดลมในห้องขังหมายเลข 17 ของแดน 4 ดังอื้ออึงเหมือนเสียงเครื่องบินใบพัดขนาดเล็กที่ทำการบินระหว่างจังหวัด ลมย่อมพัดพาความร้อนให้ทุเลาและย่อมนำพาความเย็นมาบรรเทาความโอบอ้าวให้เบาบาง กระนั้นบรรดาเพื่อนผู้ต้องขังเกือบ 40 คน ก็เริ่มหลับกันแล้ว มี 3 คนนั่งสมาธิ 2 คนอ่านหนังสือ 1 คน กำลังเขียนจดหมาย


เข็มนาฬิกาบอกเวลาว่าเกือบ 4 ทุ่มของคืนวันที่ 12 ธันวาคม 2567 โทรทัศน์ส่วนกลางเพิ่งเงียบเสียงลง หลังจากกลับจากศาลแล้วเข้าห้องขังราว 2 ทุ่ม น้าบูมซึ่งได้รับการประกันตัวตะโกนผ่านลูกกรงมาร่ำลาพวกเรา หลังจากยื่นประกันตัวแล้วหลายครั้ง วานนี้ศาลฎีกาให้ประกันตัวแล้วต้องติดกำไล EM และได้ออกจากเรือนจำค่ำวันนี้ นี่ถือเป็นข่าวดีและเป็นสัญญาณที่ดีกว่าหลายๆเรื่อง หลายๆคดี กำลังทะยอยเข้าสู่ความเป็นปกติ ยกเว้นคดีของพ่อซึ่งยังคงดำรงความไม่ปกติอย่างเสมอต้นเสมอปลาย


คดี 112 ของพ่อหลายคดีถูกพิสูจน์แล้วว่าทุกถ้อยคำที่พ่อปราศรัย ทุกข้อความที่พ่อโพสต์แสดงความคิดเห็นล้วนเป็นความจริง ความจริงที่หลายคนกระอักกระอ่วนใจที่จะพูดถึงและด้วยความที่มันเป็นความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจจึงทำให้บางคนต้องทำให้มันเป็นความลับ เป็นเรื่องลับเพื่อมิให้ความจริงนั้นถูกได้ยิน ซึ่งเขาหลงลืมไปว่าตอนนี้โลกมีอินเตอร์เน็ต มีgoogle ที่บันทึกข้อมูลไว้และสามารถสืบค้นได้ง่ายดายเพียงกดปุ่มไม่กี่ครั้ง


การพูดความจริงทำให้ตอนนี้โทษของพ่อเพิ่มขึ้นอีกเป็น 16 ปีเศษ เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมากที่ถึงตอนนี้คดีของพ่อหลายคดีกำลังถูกปิดกั้นในทุกช่องทางเพื่อมิให้รับรู้ในที่สาธารณะ เป็นความเงียบเหงาทางสติปัญญาของคนที่อยู่ในกระบวนการหลายคนที่กำลังป่วยไข้จนเกินเยียวยา


ห้ามดอกไม้ไม่ให้บาน ห้ามนกไม่ให้บิน ห้ามคนไม่ให้พูดความจริง อาการชุลมุนเช่นนี้ อาจมีให้เห็นอีกสักพักกว่าคลื่นลมจะสงบ แล้วเราจะมองย้อนกลับมาดูซากปรักหักพังที่ถูกสร้างขึ้นด้วยมือของคนที่เรียกว่า “นิติบริกร”


อานนท์ นำภา

12/12/2024


สำหรับ อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ภายหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา ในคดี #มาตรา112 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เหตุจากการขึ้นปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63


จากนั้น 17 ม.ค. 67 ศาลอาญาสั่งจำคุก "อานนท์ นำภา" เพิ่มอีก 4 ปี จากคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กปี 2564 โดยให้บวกโทษเก่าอีก 4 ทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวมแล้ว 8 ปี


ต่อมา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา หลังถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุมาจากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564


โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง พิพากษาจำคุกรวม 3 ปี 1 เดือน ปรับ 150 บาท ก่อนลดเพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท


ทำให้ปัจจุบันนี้ อานนท์ถูกลงโทษจำคุกรวมทั้งสิ้น 10 ปี 20 วัน เมื่อรวมกับสองคดีในข้อหามาตรา 112 ที่ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกคดีละ 4 ปี ไปเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 และ 17 ม.ค. 2567


ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 นี้ อานนท์ นำภา มีนัดฟังคำสั่งที่ศาลอาญา รัชดา คดีเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ โดยศาลอาญาพิพากษาจำเลยผิดตาม #มาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ลงโทษจำคุก 3 ปี มีเหตุลดโทษตามมาตรา 78 ลดโทษ 1/3 คงจำคุก 2 ปี นับโทษต่อจากคดีอื่น ทำให้รวมโทษจำคุกอานนท์เป็น 16 ปี 2 เดือน 20 วัน ใน 5 คดี


และวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่ศาลอาญา รัชดา มีนัดฟังคำสั่ง ม.112 นับเป็นคดีที่ 6 #แฮรี่พอร์ตเตอร์1 กรณีปราศรัยที่หน้าร้านแมคโดนัล อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ด้วย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #อานนท์นำภา  #มาตรา112

“แพทองธาร” เปิดสัมมนา "เพื่อไทย" ขอสส.ร่วมมือ ไม่แบ่งขั้ว-อายุ สัญญาจะปรับปรุงแบ่งเวลาให้ “สส.-สภา”

 


แพทองธาร” เปิดสัมมนา "เพื่อไทย" ขอสส.ร่วมมือ ไม่แบ่งขั้ว-อายุ สัญญาจะปรับปรุงแบ่งเวลาให้ “สส.-สภา”


วันที่ 13 ธันวาคม 2567 ที่หัวหิน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำ สส.นั่งรถไฟจากสถานีหัวลำโพงมาถึงหัวหิน ในช่วงบ่ายเป็นการเปิดสัมมนา ตามโครงการเสริมศักยภาพ สส. และบุคลากรทางการเมือง ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีของพรรค และ สส. รวมถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาร่วมบรรยายในฐานะนักวิชาการ


โดย น.ส.แพทองธาร ​กล่าวเปิดและบรรยายในหัวข้อ “การสื่อสาร Branding และ 1 ปี ในฐานะหัวหน้าพรรค” ว่า วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ได้มาเจอกัน ถือเป็นวันที่พิเศษมากๆ เพราะมีนายกรัฐมนตรีถึง 3 คนในห้องนี้ แต่วันนี้ตนขอยึดตำแหน่งหัวหน้าพรรคไว้ก่อน ซึ่งตอนออกจากสถานีรถไฟ รู้สึกอบอุ่นเหมือนมากับครอบครัว ดีใจที่เราได้มากันอย่างพร้อมหน้า และต้องขอขอบคุณทีมหลังบ้านของพรรคเพื่อไทยที่เตรียมงานอย่างเข้มแข็งทุกครั้งที่มีงานแบบนี้


น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวว่า ตนเป็นนายกรัฐมนตรีมา 90 วัน เมื่อวานนี้ได้มีการแถลงผลงานและนโยบายไปแล้ว แต่ตนเป็นหัวหน้าพรรคมาแล้ว 400 กว่าวัน คือ 1 ปี กับ 1 เดือน มีความผูกพันกับพรรคเพื่อไทยอย่างมาก และเห็นแล้วว่ามี สส.หลายคนพัฒนาตัวเองขึ้นมาก ทำให้อยู่ในสายตาของคนทั่วประเทศได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดาวสภาใหม่ๆ และผลงานในสภา รวมถึงการอภิปราย ตนรู้สึกว่าเป็นผลงานที่น่าชื่นชม อย่างไรก็ตาม การก่อตั้งอะคาเดมีขึ้นมา ถือเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยขาดไปช่วงหนึ่ง คือ การทำข้อมูล รีเซตข้อมูลต่างๆ


น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวว่า ตนเป็นนายกรัฐมนตรีมา 90 วัน เมื่อวานนี้ได้มีการแถลงผลงานและนโยบายไปแล้ว แต่ตนเป็นหัวหน้าพรรคมาแล้ว 400 กว่าวัน คือ 1 ปี กับ 1 เดือน มีความผูกพันกับพรรคเพื่อไทยอย่างมาก และเห็นแล้วว่ามี สส.หลายคนพัฒนาตัวเองขึ้นมาก ทำให้อยู่ในสายตาของคนทั่วประเทศได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดาวสภาใหม่ๆ และผลงานในสภา รวมถึงการอภิปราย ตนรู้สึกว่าเป็นผลงานที่น่าชื่นชม อย่างไรก็ตาม การก่อตั้งอะคาเดมีขึ้นมา ถือเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยขาดไปช่วงหนึ่ง คือ การทำข้อมูล รีเซตข้อมูลต่างๆ


สิ่งที่อยากจะบอก คือ ไม่ว่าจะเป็น สส.รุ่นไหน อย่าคิดว่าเราเป็นคนฝั่ง คนละขั้ว คนละอายุ ซึ่งไม่ใช่เลย และไม่ใช่ความตั้งใจของตนเอง ตนอยากให้ทุกคนเข้าหาการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ถ่ายทอดประสบการณ์ดีๆ ให้กัน หากเรามีพลัง คือเราจะต้องรวมกัน และสู้ด้วยกัน จะเกิดผลดีที่สุด ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ขอให้ทำงานร่วมกัน ให้คำปรึกษาซึ่งกันและกัน นั่นคือสิ่งที่อยากเห็นในอนาคต” น.ส.แพทองธาร กล่าว


น.ส.แพทองธาร กล่าวอีกว่า ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ขอยืนยันว่า สส.ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทุกคนมีความสำคัญทั้งหมด เพราะเป็นคนที่ติดต่อสื่อสารกับประชาชนโดยตรง เพราะฉะนั้นอยากให้เก็บหน้าที่ตรงนี้ไว้ เรามีพื้นที่ก็ขอให้ทำพื้นที่ให้ดีที่สุด ขอให้ช่วยกันทำให้เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ การเป็นพรรคเพื่อไทยในวันนี้ก็เพราะว่าเราช่วยกัน ซึ่งวันนี้เราได้รับเกียรติจากนายกฯ เศรษฐา และนายกฯ ทักษิณ ผู้ก่อตั้งพรรค ซึ่งจะได้ฟังวิสัยทัศน์จากทั้งสองท่านด้วย ยืนยันว่า ต่อไปนี้จะพยายามพัฒนาพรรคต่อไป เพราะ 3 เดือนที่ผ่านมา โฟกัสแต่เรื่องของรัฐบาล แต่หลังจากนี้ขอปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นและจัดสรรเวลา สัญญาว่าเราจะเจอกันบ่อยขึ้น ทั้งในที่ประชุมพรรค และในสภา


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคเพื่อไทย