อ.ธิดา
ขอให้ทำความเข้าใจต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์และนโยบายนปช. เพื่อการประชุมสมัชชาออนไลน์ที่สมบูรณ์
ยกระดับความเข้าใจและมีเหตุผลว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ยูดีดีนิวส์
: 6 ม.ค. 64 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กล่าวในการทำเฟซบุ๊คไลฟ์ โดยมีความประสงค์เพื่อต้องการทำความเข้าใจต่อ
“เป้าหมายยุทธศาสตร์และนโยบายของนปช.” ที่มีการปรับปรุงและประกาศในปี 2561 ทั้งนี้เป็นการยกระดับความเข้าใจและมีเหตุผลว่าจะทำอย่างไรต่อไปสำหรับสมาชิกนปช.และคนเสื้อแดง
อ.ธิดากล่าวว่า
ถ้าได้ติดตามเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ และเพจยูดีดีนิวส์ จะเห็นว่ามีการโพสต์นโยบายนปช.
ซึ่งการพยายามที่จะฟื้นฟูและปรับปรุงโครงสร้างองค์กรมีมาตั้งแต่หลังการทำรัฐประหารเพราะเราขยับทำอะไรต่าง
ๆ ไม่ได้ (ด้วยเหตุผลหลายประการ)
ฉะนั้นกิจกรรมสุดท้ายที่ผ่านมาหลังรัฐประหารจึงมีน้อยมาก เช่นมีการตั้งศูนย์ปราบโกงแล้วก็เดือดร้อนกันทั่วหน้า
ถูกดำเนินคดีกันทุกจังหวัดเลย
ตัวดิฉันเองก็มองว่าอย่างน้อยที่สุดจะต้องมีการปรับโครงสร้าง ปรับนโยบาย และทำจุดอ่อนจุดแข็งขององค์กรนปช. ซึ่งเราได้มีความพยายามทำและมีการประชุมเป็นระยะตั้งแต่ปลายปี 2559 และใช้เวลาในการประชุมแต่ละเรื่องในปี 2560 ทั้งปี สุดท้ายที่ผลักดันมาได้คือ นโยบาย 7 ประการ ที่ทุกท่านเห็นตามที่โพสต์ (แต่ท่านประธานนปช.คงจะลืม ส่วนใหญ่จำ 6 ข้อได้ แต่นโยบาย 7 ข้อนี้มีการปรับปรุงในปี 2559-2560 ซึ่งยังอยู่พร้อมหน้ากัน) มีการเพิ่มเติมและปรับปรุง หลายอย่างยังไม่ได้เปลี่ยนทั้งหมด เพียงแต่มีการเพิ่ม เช่น เกี่ยวกับเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนและปัญหาที่จะต้องปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง อ.ธิดากล่าว
ดังนั้น
ดิฉันก็คิดว่าไหน ๆ เราก็จะมีการจัดประชุมสมัชชาออนไลน์ และหลายส่วนทางบ้านพี่น้องประชาชนมวลสมาชิกนปช.
(ด้วยหัวใจ) ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกันด้วยอำนาจการจัดตั้งหรือผูกพันด้วยเรื่องอื่น
และได้ผ่านเหตุการณ์มาด้วยกัน (ร่วมทุกข์มากกว่าร่วมสุข) ได้มีการแสดงความคิดเห็นผ่านหลายช่องทางและคณะทำงานก็กำลังรวบรวมกันอยู่
แต่เราเห็นทิศทางบรรยากาศว่าส่วนมากไปทางไหน
เพื่อที่จะให้เป็นลักษณะการประชุมสมัชชาจริง
ๆ ดิฉันก็คิดว่าปัญหาหลักการบางอย่าง เช่น ปัญหานโยบายที่ได้ผ่านการประชุมมาแล้ว
รวมทั้งเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ จึงอยากนำมาเสนอด้วย เพื่อให้เป็นการลักษณะการประชุมสมัชชาออนไลน์ที่สมบูรณ์
ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่า “ยุบ” หรือ “ไม่ยุบ” องค์กร แต่ควรจะมีเนื้อหาเรื่องราวเพื่อยกระดับ
ทำความเข้าใจ และมีเหตุผลว่าแล้วจะทำอย่างไรต่อไป
ดิฉันก็เอาสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในระหว่างปี
2559–2561 มารายงานจำนวนหนึ่ง ก็ยอมรับตรง ๆ ว่าตัวโครงสร้างกับเนื้อหายุทธศาสตร์
ยุทธวิธี ก็ยังไม่ได้ผ่านทั้งหมด เราก็เลยเอาเรื่องหลักคือ
เรื่องหลักนโยบายและเป้าหมายยุทธศาสตร์มาพูด
ถ้าท่านดูที่โพสต์ในเพจก็จะมีนโยบาย
7 ข้อ ในนโยบาย 7 ข้อนั้น ข้อที่สำคัญที่สุดก็คือข้อ 1
ซึ่งก็กลายเป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ในลักษณะสร้างสรรค์ เป้าหมายยุทธศาสตร์เราจะมี 2
ส่วน ส่วนหนึ่งคือเป้าหมายในการต่อสู้
อีกส่วนหนึ่งคือเป้าหมายที่เราจะสร้างมันขึ้นมา (ประมาณเดียวกับ “ความฝัน”
ในภาษาที่เยาวชนใช้) แต่ของเราใช้คำว่า เรามุ่งหวังที่จะทำให้เกิดขึ้น และถ้าเราบอกว่าเรามีความมุ่งหวังที่จะให้อะไรเกิดขึ้น
ถ้าใครเห็นด้วยกับเราก็สามารถมาร่วมกับเราได้ แต่เป้าหมายในการที่เราไม่เห็นด้วย
เราต่อต้านนั้น คนเห็นด้วยกับเราหรือเปล่า
ถ้าเห็นด้วยก็มาร่วมคัดค้านต่อต้านกับเรา
ดิฉันพูดย่อ
ๆ ใน “เป้าหมายยุทธศาสตร์” ก่อน
ในด้านการต่อสู้
(โค่นล้มหรือทำลาย) ก็คือ ระบอบเผด็จการทหาร (อันนี้เราผ่านมาแล้ว) และระบอบอำมาตยาธิปไตย
แต่ถามว่าจะปรับปรุงอีกได้ไหม? ก็มีความเห็นเพิ่มเติมมาได้
เป้าหมายยุทธศาสตร์ควรจะปรับอย่างไร นี่จะเป็นการประชุมสมัชชาจริง
ที่มีเนื้อหายกระดับขึ้นมาอีกขึ้นหนึ่ง
เป้าหมายที่เราถือว่าเป็นปฏิปักษ์ก็คือ
“ระบอบ” ขอให้เข้าใจว่าไม่ใช่
“บุคคล” คนที่ผ่านโรงเรียนนปช.จะรู้หมดว่าอุดมการณ์และการต่อสู้ของเรา
เราต้องการระบอบหนึ่งและไม่เอาระบอบหนึ่ง ระบอบที่เราไม่เอาก็คือระบอบเผด็จการทหาร
ระบอบอำมาตยาธิปไตย และระบอบที่ล้าหลังทั้งปวง (อันนี้ อ.ธิดา เติมไปอีกที)
เพราะว่าคำว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่เราได้ใช้มาตั้งแต่ 2475 อ.ปรีดี
พนมยงค์ เคยพูดว่า “ถ้ารัฐธรรมนูญใดที่มีวุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง
บอกได้เลยว่าขณะนั้นเป็นรัฐธรรมนูญและการเมืองการปกครองในระบอบอำมาตยาธิปไตย”
ฉะนั้นคำว่า
“อำมาตยาธิปไตย” นั้น
ใช้ได้ในความหมายของการที่กลุ่มจารีตนิยมจะเข้ามามีบทบาทเหนืออำนาจของประชาชนหรือประชาธิปไตย
ขอให้เข้าใจว่าจะบอกว่าโค่นอำมาตย์ก็ไม่ใช่! เพราะว่าเราเป็นปฏิปักษ์กับระบอบอำมาตยาธิปไตย
เผด็จการ และระบอบล้าหลังทั้งปวง อันนี้ในเชิงการต่อสู้
นี่จึงเป็นเหตุผลที่หลายคนแสดงความคิดเห็นมาบอกว่า
“ก็ยังมีเผด็จการอยู่
แล้วจะเลิกไปได้ยังไง” คือแต่ละคนไม่เลิกการต่อสู้ แต่องค์กรเลิกหรือไม่เลิกก็คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
หรือเป็นธรรมชาติขององค์กรที่ไม่มีกิจกรรม
ขณะนี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นยังต้องการให้มีองค์กรนปช.อยู่
แต่ว่าดิฉันจะทำให้มันเป็นระบบอีกครั้งหนึ่ง
และพยายามจะนำเสนออย่างมีประโยชน์กับนปช. คนเสื้อแดง และกับประเทศด้วย
เพราะมันจะเป็นความเห็นที่เป็นอิสระ ไม่มีใครครอบงำ ไม่มีใครชักจูงได้
เป็นความเป็นโดยบริสุทธิ์ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ตรงนี้ก็ให้ทำความเข้าใจว่า...นี่เป็นเรื่องของระบอบ ไม่ใช่เรื่องบุคคล
สมมุติถ้าเราพูดถึง “โค่นอำมาตย์” หลายคนบอกว่าเอ้า...แล้วถ้าอำมาตย์ใหญ่ สมมุติอีกที ถ้าคิดว่า พล.อ.เปรม เป็นอำมาตย์ใหญ่ ตอนนี้ พล.อ.เปรม ก็ไม่อยู่แล้ว อีกฝั่งบอกว่า “โค่นทักษิณ” คุณทักษิณก็ไม่อยู่ในประเทศแล้ว แล้วคำว่าระบอบทักษิณก็ไม่มีค่ะ แต่ระบอบอำมาตยาธิปไตยมีค่ะ อ.ธิดากล่าว
ฉะนั้นก็ทำความเข้าใจตรงเป้าหมายยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ว่า
เป้าหมายยุทธศาสตร์ของนปช.มี 2 แบบ
เป้าหมายยุทธศาสตร์ในการต่อสู้และเป้าหมายยุทธศาสตร์ในการสร้างสรรค์ เพราะฉะนั้นในการต่อสู้ก็คือทุกระบอบที่ล้าหลัง
เพียงแต่ว่าที่ผ่านที่ประชุมมาก็คือ ระบอบเผด็จการทหารกับระบอบอำมาตยาธิปไตย
ส่วนเป้าหมายยุทธศาสตร์ในด้านสร้างสรรค์
ก็คือ การเมืองการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
อันนี้มันก็เหมือนข้อ 1 ในนโยบาย
ในนโยบายนั้นเราเขียนเต็ม
ก็คือ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายทางการเมืองการปกครอง
คือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง นั่นก็คือเป้าหมายที่สร้างสรรค์ของเรา
คำถามว่า
เป้าหมายยุทธศาสตร์ของเราและนโยบาย 7 ข้อ “เหมือน” หรือ “ไม่เหมือน”
กับเขาเยาวชนที่นำเสนอ
ข้อเรียกร้องของเยาวชนเป็นข้อเรียกร้องในการประท้วง
ส่วนของเราเป็นหลักนโยบาย ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงเป็นระยะ ๆ เราทำครั้งแรกปี 2552
หลังจากผ่านการต่อสู้ในปี 2552 และใช้เวลาการฟื้นฟูทำให้องค์กรมีความเป็นเอกภาพด้านความคิด
ไม่ใช่ประชุมทีไรก็ต้องทะเลาะกันว่ามีใครพูดอย่างนั้นอย่างนี้ มันจึงเกิดหลักนโยบายเพื่อความเป็นนปช.ต้องเหมือนกันที่หลักนโยบาย
ถ้าใครไม่ทำเหมือนในเรื่องสำคัญก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องขององค์กร เป็นเรื่องส่วนบุคคล
และจะต้องระมัดระวังว่าจะทำให้เกิดปัญหากับองค์กรและประชาชนหรือเปล่า? ยกตัวอย่างเช่น
ข้อ 3 ก็คือ ในการเคลื่อนไหวและปฏิบัติการใช้ “หนทางสันติวิธี” ถ้าไม่ได้ใช้สันติวิธีก็ไม่ใช่นปช.
แต่เราก็ยังถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง
ซึ่งที่จริงเราตีกรอบไว้แล้ว
กลับมาสู่หลักนโยบายกับข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา
ในการประท้วงนั้นข้อเรียกร้องจะเปลี่ยนไปเป็นวันต่อวันเลยได้ แต่นโยบายนั้นเปลี่ยนไปวันต่อวันไม่ได้!
มันจะต้องเป็นในระดับเป็นปี ต้องเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ต้องเป็นเรื่องหลัก เราใช้คำว่าหลักนโยบาย
ซึ่งจะตีกรอบ ในขณะเดียวกันก็บอกเป้าหมายที่พึงประสงค์และวิธีการที่จะนำไปสู่อันนั้น
แต่ข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนเขาจะเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ จากสามข้อหนึ่งความฝัน
จากหยุดคุกคามประชาชน ไม่ได้ผล ก็ตัดไป ก็กลายเป็นไล่พล.อ.ประยุทธ์
ยังมีการจัดการเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็มีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ได้
เพราะนั่นคือข้อเรียกร้อง
แต่หลักนโยบายนั้นจะต้องเป็นหลักใหญ่
โครงใหญ่ ถ้ามีการประท้วงหรือเรียกร้อง ยกตัวอย่างเช่นในปี 2553
เรียกร้องคุณอภิสิทธิ์จะต้องออกไป จะต้องมีการเลือกตั้งภายใน 3 เดือน 6 เดือน
อันนั้นเป็นข้อเรียกร้อง ไม่ใช่นโยบาย
เพราะฉะนั้น
อันนี้ต้องทำความเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปบังคับใครได้
กลุ่มเยาวชนเขาจะเห็นด้วยหรือเปล่ากับนโยบาย อย่างเป้าหมายของเราในทางสร้างสรรค์ก็คือ
“เป็นระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนไทยอย่างแท้จริง”
ในทัศนะอาจารย์มันก้าวหน้าที่สุดแล้วนะ
คำว่า
“Constitutional
Monarchy” คือ พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ก็เป็นศัพท์ซึ่งควรจะปฏิบัติตาม แต่บางครั้งรัฐธรรมนูญเราก็ต้องถูกฉีก
แล้วเป็นรัฐธรรมนูญแบบภาษาชาวบ้านก็คือ “เฮงซวย” เป็นรัฐธรรมนูญของกลุ่มชนชั้นนำ
ของคณะรัฐประหาร ของกลุ่มจารีต ซึ่งกระทั่งประชาชนก็ไม่ควรจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบที่ขณะนี้เรากำลังเรียกร้องสำหรับรัฐธรรมนูญปี
2560
แก่นของมันก็คือระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่สากลแบบไทย
ๆ
(ไม่มีระบอบประชาธิปไตยแบบไทย
ๆ) ระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ที่แท้คือระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นนำจารีตนิยมไทย
ที่หวงอำนาจไว้กับตัวเอง
เพราะฉะนั้น
ระบอบประชาธิปไตยในความมุ่งหวังของเราก็คือสร้างประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง
แน่นอนยังเป็นราชอาณาจักร
มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเหมือนกับประเทศอื่นอารยะทั้งหลาย
แต่อำนาจที่แท้จริงต้องอยู่ในมือประชาชน ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนแบบไหนก็ตาม
ในขณะนี้มันเป็นระบอบประชาธิปไตยจอมปลอมที่มีรัฐธรรมนูญ
และเป็นรัฐธรรมนูญของชนชั้นนำจารีตนิยมที่มีลักษณะทั้งล้าหลัง ทั้งเผด็จการ
สืบทอดอำนาจ ลักษณะอำมาตยาธิปไตย ไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชน และสถาบันต่าง ๆ
ก็ไม่ขึ้นกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ตุลาการ ข้าราชการ
ทั้งหมดนี้กลายเป็นนายประชาชน
เหมือนกับเราย้อนมิติกลับไปอยู่ในระบอบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์
แล้วมีกองทัพมีข้าราชการเป็นนายของประชาชนอีกทีหนึ่ง หรือจะบอกว่าเป็นเจ้านาย ประชาชนก็มีลักษณะปฏิบัติตามเป็นไพร่เป็นทาสประมาณนั้น
ดังนั้นมันจึงไม่ใช่
แม้เราจะอยู่ในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์แล้วก็ตาม
แต่ว่าระบอบการเมืองการปกครองของเรายังล้าหลังมาก
จึงเป็นเหตุให้สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เราจึงยังต้องมีการต่อสู้อยู่ตลอด
นี่เป็นส่วนหนึ่งที่พี่น้องประชาชนเขียนมาบอกว่าเพราะยังมีเผด็จการ
อันนี้ก็เหมือนที่เราพูดเอาไว้ก่อนในโรงเรียนการเมืองนปช.
ก็คือ การต่อสู้ประชาชนจะไม่มีวันยกเลิกล้มเหลว อาจจะชะลอบ้างในบางเวลา
เหนื่อยมากหรือประชาชนยังลำบากมาก กองหน้าอาจจะสลับ แต่ประชาชนก็ยังสู้
อาจจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกัน
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเรื่องที่เราควรจะมีความคิดเห็นกันต่อไป อยากให้แชร์นโยบาย
เป้าหมายยุทธศาสตร์
เพื่อที่จะเพิ่มเติมทำให้ลักษณะการประชุมสมัชชาออนไลน์ซึ่งดูเหมือนว่าพูดไม่จริงให้มันเป็นจริง
ก็คือเพิ่มเนื้อหาขึ้นมา และอาจารย์อยากจะให้พวกเราส่งความคิดเห็นเข้ามาอีก
ความคิดเห็นที่พี่น้องประชาชนส่งมาโดยตรงแล้ว
ถือว่าเป็นเฟสแรกก็ได้ เฟสที่สองให้มีลักษณะที่ว่าผู้ประสานงานภูมิภาคและแกนนำกลุ่มใช้การประชุมออนไลน์
ไลน์กลุ่มต่าง ๆ ของตัวเอง แล้วรายงานเข้ามายัง Line Official ของยูดีดีนิวส์
หรือเข้ามาโดยตรงทาง Messenger ของยูดีดีนิวส์
หรือแม้กระทั่งเพจของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ เพราะว่าอ.ธิดาจะทำหน้าที่เป็นสื่อ
เพื่อให้กระบวนการประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้สำหรับนปช. ซึ่งเป็นขบวนการประชาธิปไตย
ต้องใช้วิธีการประชาธิปไตยกับขบวนการประชาธิปไตย
และทำทั้งหมดไม่ใช่เพื่อบุคคลใด แต่ทำทั้งหมดเพื่อทำให้การต่อสู้ที่ผ่านมาของเราและบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ยังภาคภูมิใจในตัวเอง ยังมีบทบาทที่เหมาะสม เราอาจจะไม่ใช่กองหน้าก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะไปมอบมรดกอะไรให้ใคร เพราะว่าการต่อสู้ไม่ใช่เรื่องที่จะหยิบยื่น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของผู้ที่เป็นกองหน้า เขาก็จะมาขับเคลื่อน เขาอาจจะไม่เห็นด้วย อาจจะมองเห็นด้านลบของการต่อสู้ที่ผ่านมาก็ได้ หรือสืบทอดด้านบวก เก็บบทเรียนด้านลบ แต่เราจะไม่บอกว่ามันเป็นมรดกอะไรที่จะมอบให้ ในทัศนะอาจารย์นะ อาจจะเห็นแตกต่างกัน ก็คือว่า เป็นบทเรียนก็คือบทเรียน
สมัย
รศ.130 ก็ไม่จำเป็นต้องมอบมรดกให้กับ 2475
2475
ก็ไม่จำเป็นต้องมอบมรดกให้กับ 2516 หรือ 2535
คนเสื้อแดงที่ต่อสู้มา
ก็ไม่มีคนรุ่นก่อนมาบอกให้ทำ
คนรุ่นใหม่ที่เขามาสู้
บางคนก็ไม่รู้เรื่องของคนเสื้อแดงด้วยซ้ำ
แต่มันเป็นกระแสน้ำที่กลายเป็นเนื้อเดียวกัน
และเรายังมีชีวิตอยู่ หลายคนสู้ในปี 2553 และยังมีบทบาทที่คนยังมองเห็นกันอยู่ในช่วงนี้ก็มี
แต่ก็มีจำนวนมากที่ไม่แสดงตัวแต่ออกมาในฐานะมวลชน หลายคนก็สนับสนุนในเรื่องอื่น ๆ
ไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพย์ ยานพาหนะ แต่ไม่มีใครแสดงตัว เพราะถ้าคนที่มีอุดมการณ์ไม่จำเป็นต้องแสดงตัว
ไม่จำเป็นต้องขึ้นเวทีปราศรัย แต่ทำอย่างไรให้การต่อสู้นั้นสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีพลานุภาพ
เราอาจจะเป็นเม็ดทรายหรืออะไรก็ได้ แล้วอาจารย์ก็คิดอย่างนั้นมาโดยตลอด
สำหรับอาจารย์เองเวทีที่มักจะใช้ประจำก็คือเวทีโรงเรียนการเมืองนปช.และในฐานะนักวิชาการอิสระ
จำเป็นที่เป็นเวทีปราศรัยเมื่อเป็นประธานนปช.เท่านั้น
และอาจารย์ก็เชื่อมั่นว่าพี่น้องทั้งหลายที่ให้ความไว้วางใจแสดงความคิดเห็นมาในการติดต่อกับยูดีดีนิวส์และอาจารย์ทั้งหมดนั้นเขาไม่ใช่เป็นคนน้ำเต็มแก้ว
จึงได้ประโยชน์จากการพูดคุยของเราและของโรงเรียนนปช.จำนวนหนึ่ง
เพราะในการต่อสู้มันต้องมีทั้งบทเรียน, หลักการ และทฤษฎี
อาจารย์ก็ขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่งและขอเพิ่มเติมว่า ความคิดที่สร้างสรรค์ต่าง ๆ ขอให้ส่งมาด้วย ไม่จำเป็นที่เป็นความคิดแบบโจมตีหรือต่อต้านอย่างเดียว ยุบ/ไม่ยุบ ออก/ไม่ออก ฉะนั้นเฟสที่หนึ่งคือประชาชน เฟสที่สองก็คือแกนนำ อย่าลืมส่งข้อมูลกันมานะคะ อ.ธิดากล่าวในที่สุด