วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ย้อนรอย “คดีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสา” ในวันที่ 22 ก.ค. 2550


ย้อนรอย “คดีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสา” ในวันที่ 22 ก.ค. 2550 ที่กำลังรอพิจารณาพิพากษาจากศาลฎีกาอยู่นั้น จะเป็นคดีแรกของแกนนำ นปก. ที่ถึงขั้นศาลฎีกา

ถือเป็นโอกาสที่ผู้เขียนจะได้ทบทวนการเกิด นปก. ที่ยังมีคนพยายามบิดเบือน

ประการแรก

นปก. เกิดขึ้นจากการต่อต้านรัฐประหาร 2549 ของกลุ่มต่าง ๆ ร่วมกัน โดยใช้เวทีสนามหลวง แรก ๆ ก็แยกกัน ต่อมาก็ค่อย ๆ รวมตัวกัน และเริ่มขยับเดินออกจากสนามหลวงโดยขบวนสันติวิธีนำ มีการแบกรูปปั้น “มหาตม คานธี” ไปด้วยโดยไม่มีปัญหา มามีปัญหาคือเมื่อมาถึงหน้าบ้านสี่เสาและมีกำหนดว่าจะกลับไปสนามหลวง โดยไม่มีรายการชุมนุมยาวแต่อย่างใด แต่ก็มีความพยายามปราบปรามโดยผบ.ตร.ยุคนั้น คือ พล.ต.อ.เสรี เตมียเวส โดยใช้แก๊สน้ำตา แก๊สพริกไทย และพยายามจะปืนรถขึ้นมาจับแกนนำ จึงเกิดความชุลมุนวุ่นวายและการต่อสู้ตามมีตามเกิดเฉพาะหน้าของประชาชน สุดท้ายประชาชนก็ล่าถอยพร้อมรถแกนนำกลับออกไปตามกำหนดที่เคยแจ้งตำรวจไว้


ในเวลานั้นตั้ง นปก. ขึ้นมาจากกลุ่มต่าง ๆ  มีนายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตผู้พิพากษา เป็นประธานกลุ่ม แต่หัวเรี่ยวหัวแรงยังเป็นนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายจตุพร พรหมพันธุ์ พร้อมทั้งนายจักรภพ เพ็ญแข, นพ.เหวง โตจิราการ จากสมาพันธ์ประชาธิปไตย, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย จากคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ฯลฯ

ยังไม่มีสัญลักษณ์สีแดงเกิดขึ้น ทุกคนใส่เสื้อเหลือง เพราะเวลาใกล้เคียงก่อนหน้านี้ที่มีพระราชพิธี ส่วนนายนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล ก็เป็นกลุ่มพิราบขาว เป็นกลุ่มอิสระ ไม่ร่วมกับ นปก. แต่วันนั้นร่วมเดินทางไปหน้าบ้านสี่เสาด้วย


หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ยังสามารถมีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงได้ เพราะถือว่าชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ การเคลื่อนไหวของ นปก. จึงเริ่มจากการขับเคลื่อนขบวนสันติวิธีเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร แต่ก็พบการปราบปรามรุนแรงเมื่อไปหยุดหน้าบ้านสี่เสา นี่เป็นครั้งแรกของความรุนแรงฉบับย่อม ๆ ที่ นปก. ได้เผชิญในวันที่ 22 ก.ค. 2550


จากนั้นมีการจับกุม ฟ้องร้อง ประกันตัว แต่ว่าอัยการได้ยกเลิกการส่งฟ้องศาล น่าจะเป็นเพราะคดีเล็กน้อย ไม่มีการบาดเจ็บสาหัส แต่ต่อมาทางตำรวจในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้โต้แย้งและอัยการสูงสุดในยุคนั้นคือ นายชัยเกษม นิติสิริ ได้ส่งฟ้อง จนถูกดำเนินคดีสืบเนื่องมาถึงศาลฎีกาที่เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2562 จำเลย 4 คน คือนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทยและนพ.เหวง โตจิราการได้ขอเปลี่ยนให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

เริ่มต้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 - 7 คนละ 4 ปี 4 เดือน
ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 - 7 คนละ 2 ปี 8 เดือน

เรื่องราวตอนต้นของแกนนำ นปก. ยุคแรก ก็มาถึงศาลฎีกาด้วยประการฉะนี้

ธิดา ถาวรเศรษฐ
25 ก.ย. 62