ยูดีดีนิวส์
: 14 ก.ค. 62 วันนี้ในเวลา 16.00 น.
จะมีการฌาปณกิจศพ "ลุงธง แจ่มศรี"
เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ณ เมรูวัดพระประโทณเจดีย์ อ.เมืองนครปฐม
จ.นครปฐม นั้น
อ.ธิดา
ถาวรเศรษฐ ได้โพสต์ไว้อาลัยและคารวะ 'ธง แจ่มศรี' ในเพจเฟสบุ๊ค โดยมีความว่า
คารวะ
“ธง แจ่มศรี” เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ธิดา
ถาวรเศรษฐ
11 ก.ค. 62
11 ก.ค. 62
-
ลุงธง ในฐานะ สหาย
- ลุงธง ในฐานะ เลขาธิการพรรคฯ
- ลุงธง ในฐานะ เลขาธิการพรรคฯ
ศึกษาประวัติชีวิต
“ลุงธง แจ่มศรี” ก็เหมือนกับการศึกษาประวัติพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ประวัติชีวิตโดยทั่วไปท่านผู้อ่านคงได้ทราบจากหนังสือเล่มนี้และเล่มอื่น
ๆ สำหรับดิฉันได้มีโอกาสรู้จักกับท่านในห้วงเวลาที่ท่านได้รับการเลือกตั้งจากการประชุมสมัชชา 4 เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในปี
2525 จากนั้นเมื่อมีการประชุมแลกเปลี่ยน ผลการประชุมสมัชชา 4
ในเรื่องการวิเคราะห์สังคมไทยและการเขียนนโยบายมีโอกาสแลกเปลี่ยนสนทนาเป็นช่วงเวลา
3-4 เดือน และระยะหลังจากที่ท่านออกมาใช้ชีวิตปกติ
แต่ไม่ว่าจะอยู่ในเขตป่าเขาหรือในช่วงที่สังคมไทยมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมกับทุน (สามานย์)
และประชาชนผู้ใช้สิทธิทางการเมือง อันเป็นความขัดแย้งในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เราก็ยังต้องสนทนาถึงสถานการณ์ความเป็นจริงในสังคมไทยและการวิเคราะห์ความขัดแย้งในสังคมไทยยังเป็นหัวข้อเดิม
ๆ ซึ่งต้องใช้ทั้งทฤษฎีและข้อมูล
ดิฉันได้พบว่าลุงธง
ท่านพูดน้อยมาก แต่รับฟังเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมหลังสมัชชา 4 ซึ่งมีคณะกรรมการบริหารกลางเต็มคณะ
และมีนักทฤษฎีของพรรคเด่น ๆ อยู่หลายท่าน
ทำให้ผลการวิเคราะห์สังคมไทยไม่ชัดเจนเพียงพอ ไม่เป็นที่พอใจของสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมาก
จึงเกิดแตกแยกและคืนเมือง เพราะขาดความเชื่อมั่นในการนำพาของคณะนำ
รวมทั้งมีปัจจัยอื่น ๆ ประกอบ แน่นอนว่าท่านต้องรับผิดชอบปัญหานี้ แต่ทว่าองค์กรนำโดยกรมการเมืองและคณะนำทางทฤษฎีซึ่งมีบทบาทสูงเด่น
โดยหลักการแล้วมีส่วนรับผิดชอบสูงกว่าเลขาธิการพรรค (ในทัศนะของดิฉันเอง)
ปัจจัยภายนอก, ปัจจัยทางสากล,
ปัจจัยจากรัฐบาลไทย มีส่วนทำให้เกิดความสั่นไหวกระทบกระเทือน แต่ปัจจัยภายในอันเกิดจากการวิเคราะห์สังคมไทยและกำหนดยุทธศาสตร์ที่ต่างกัน
และความไม่เชื่อมั่นการนำของคณะนำสูงสุดเป็นตัวชี้ขาดการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ซึ่งภาวะการนำไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ภาพลุงธงซึ่งพูดน้อย
ฟังมาก ใช้การนำผ่านองค์กรได้เปลี่ยนไปเมื่อคืนเมือง เราได้เปิดการสนทนาในประเด็นเดิม
ๆ ในสถานการณ์ใหม่ก่อนและหลังรัฐประหาร 2549 เมื่อเหล่าอดีตสหายและสหายนำมีความคิดแตกต่างกันในเรื่องความขัดแย้งในสังคมไทย
และเรื่องนี้ก็สัมพันธ์กับการวิเคราะห์สังคมไทยเช่นเดียวกับในปี 2524 –
2525
เมื่ออดีตสหายและอดีตสหายนำจำนวนมาก
(เป็นเสียงส่วนใหญ่) เลือกยืนข้างชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยม ถึงขนาดสนับสนุนการทำรัฐประหารเพื่อจัดการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ดิฉันได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนกับลุงธงพอสมควร และมีความเห็นไปทางเดียวกันว่า เราไม่ควรและไม่อาจสนับสนุนกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่เป็นปฏิปักษ์กับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ที่อำนาจเป็นของประชาชนจริง)
การไปร่วมขบวนกับกลุ่มมวลชนจัดตั้งของฝ่ายอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยม
จึงเป็นสิ่งที่สหายและผู้ก้าวหน้าไม่ควรทำ ลุงธงยืนยันเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงวาระสุดท้าย
เมื่อมาถึงการวิเคราะห์สังคมไทย
ลุงธงก็มีความยืดหยุ่นมากกว่าฝ่ายนักทฤษฎีแบบกลไก แบบเก่าเดิม ๆ ที่ทุ่มเถียงกันในเรื่องพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญอย่างเดียว
และยิ่งกว่านั้นข้อมูลก็ยังไม่เพียงพอ องค์ความรู้ก็ไม่เพียงพอ ซ้ำยังละเลยการวิเคราะห์โครงสร้างชั้นบนของสังคม
ทั้งการศึกษา,
วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี, ศาสนา, อุดมการณ์และการกล่อมเกลาของประเทศไทยที่ยังล้าหลัง ขัดแย้งกับพัฒนาการพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เป็นเหตุที่ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมปลุกปั่นมวลชนให้แตกแยกเป็นฝักฝ่ายได้ง่าย
ถ้าอ่านคำแถลงของลุงธงต่ออดีตกรรมการบริหารกลางพรรค (ปี 49 – 50) ด้วยทัศนะที่คล้ายคลึงกันจนมีสหายนำจำนวนมากเข้าใจว่าดิฉันเขียนคำแถลงให้ลุงธง
จริง ๆ แล้วลุงธงเขียนเองทั้งหมด ถ้าจะอ่านทัศนะลุงธงทางสังคมในเวลาต่อมา ให้อ่านที่คำแถลงของลุงปี
2551 ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างในการวิเคราะห์สังคมทางเศรษฐกิจ
แต่หลักใหญ่ทางการเมืองยังตรงกันเหมือนเดิม ส่วนหลังจากนั้นจะมีคนอ้างความคิดต่าง
ๆ ของลุง ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง ให้ฟังคำสัมภาษณ์จากปากจะดีที่สุด กล่าวได้ว่าเมื่อคืนเมืองและเมื่อมีความขัดแย้งชุดใหม่ในสังคมไทย
ลุงธงในตอนนี้แสดงความคิดเห็นเต็มที่ และโต้แย้งสหายที่หันไปสนับสนุนชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยม
ตรงไปตรงมา ด้วยจุดยืน ทัศนะ วิธีการ และปรัชญาลัทธิมาร์กซ์เต็มเปี่ยม
ในส่วนตัวดิฉันได้เลิกรายุติการพบปะกับสหายนำต่าง
ๆ ตั้งแต่หลังปี 50
และได้พบปะกับลุงธงนาน ๆ ครั้งเท่านั้น ดิฉันเห็นว่าเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ควรบันทึกไว้ให้ประจักษ์ในวาระที่
ลุงธง แจ่มศรี จากไป คน ๆ หนึ่งได้อุทิศชีวิตทั้งชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์จนหมดลมหายใจให้กับการต่อสู้เพื่อประเทศชาติประชาชนตามความเชื่อและทัศนะทางการเมืองโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนแม้แต่น้อย
ภาวะการนำขององค์กรจัดตั้งที่มีการรวมศูนย์อำนาจที่ขาดองค์ความรู้และข้อมูลเพียงพอในสถานการณ์ภววิสัยที่เปลี่ยนไป
มีผลต่อองค์กรจัดตั้งทางการเมืองนั้น ลุงธงยอมรับความบกพร่องผิดพลาดนี้อย่างหน้าชื่นตาบาน
ทั้ง ๆ ที่ภาวะการนำจริงเวลานั้นอยู่ที่คณะผู้นำทางทฤษฎี แต่เวลาที่เหลืออยู่ลุงธงก็ได้ต่อสู้ทางหลักการเต็มที่
แม้จะไม่ได้มีผลต่อสังคมเปิดมากนัก แต่ลุงก็หวังให้อดีตสหายและผู้ที่มารับฟังความคิดเห็นได้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง
จนลุงไม่สามารถเปล่งเสียงเจรจาได้อีกต่อไป ดิฉันไม่รับรู้ว่าลุงจะไปเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งใด
ๆ อีก ดิฉันไม่อาจรับรองในเรื่องนั้นได้ ถ้าจะมีใครนำชื่อลุงไปใช้ในทางผิด ๆ หรือไม่สอดคล้องความเป็นจริง
ลุงธงก็ไม่ต้องตามมารับผิดชอบ ก็เป็นเรื่องของคนอื่น และเท่าที่ทราบลุงเองไม่มีความคิดจะไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด
ๆ ในระบบทุนนิยม
ในฐานะสหาย
ลุงเป็นสหายที่เป็นแบบอย่างผู้อ่อนน้อมถ่อมตน อุทิศชีวิตเพื่อการต่อสู้ในฐานะตัวแทนผลประโยชน์ชนชั้นล่าง
ชนชั้นกรรมาชีพอย่างสุดจิตสุดใจ เป็นแบบอย่างแก่นักต่อสู้ที่นำปรัชญาลัทธิมาร์กซ์มาใช้ในการทำความเข้าใจสังคมไทยและความขัดแย้ง
แม้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและภาวะการนำจะล่มสลายไปก็ยอมรับความจริง และยังใช้ชีวิตให้มีคุณค่าด้วยการศึกษาตลอดเวลา
และมีความหวังตลอดเวลาว่า นักต่อสู้รุ่นต่อไปจะสามารถกอบกู้การต่อสู้ของประชาชนให้เดินหน้าต่อไปจนกว่าชัยชนะจะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนไปจากยุคสมัยการต่อสู้ของลุง ขอให้อำนาจเป็นของประชาชนและประชาชนเป็นผู้ตัดสินอนาคตเอง
น่าจะเป็นเป้าหมายร่วมกันของนักต่อสู้ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต.