ยูดีดีนิวส์ : 10 ก.ค. 62 การทำเฟสบุ๊คไลฟ์ของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ วันนี้ ได้กล่าวถึงการมรณกรรมของลุงธง แจ่มศรี ในฐานะที่เป็นเลขาธิการพรรคการเมืองที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ในประเทศไทยมายาวนาน ในประเด็น "ชีวิตนักต่อสู้ในอดีต"
"ลุงธง แจ่มศรี" ถือเป็นนักต่อสู้ในอดีต บางคนอาจจะบอกว่าเขาเป็นนักต่อสู้ของพรรคที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ เขาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ในทัศนะของอ.ธิดานั้น นี่ก็คือนักต่อสู้ซึ่งสามารถนำมาเทียบเคียงและศึกษาชีวิตได้
เนื่องจากคนเรามีความเชื่อที่หลากหลาย "ลุงธง แจ่มศรี" ได้เลือกเอาความเชื่อของตัวเองและดำเนินการจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ทำให้เราได้กลับมาคิดถึงเรื่องราวของนักต่อสู้ประเทศไทยในอดีตซึ่งไม่ได้มีแต่เฉพาะลุงธงที่ได้เสียสละชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ในสนามรบ หรือการถูกลอบฆ่า หรือเสียชีวิตโดยธรรมชาติแบบลุงธง ก็เป็นเรื่องที่คนรุ่นหลังควรจะเรียนรู้แม้จะมีความเชื่อแตกต่างกัน
"ลุงธง แจ่มศรี" เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อันเนื่องมาจากการประชุมสมัชชา 4 ครั้งสุดท้าย (ระหว่าง 2524-2525) ประวัติศาสตร์การต่อสู้ประเทศไทย คนหนีจากการฆ่าอย่างโหดร้ายในเมือง ช่วงนั้นมีพรรคคอมมิวนิสต์และมีการต่อสู้ด้วยอาวุธ ซึ่งเกิดขึ้นจากที่มีระบอบเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ระบอบเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้การต่อสู้ของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ในเมือง ซึ่งตอนนั้นสามารถอยู่ได้อย่างถูกกฎหมาย มีผู้แทนราษฎรเช่น นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เป็นต้น แต่การทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการปราบคนของพรรคคอมมิวนิสต์ ประชาชน ปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ เป็นจำนวนมาก
ตอนนั้นเป็นการปราบจับ ปราบปราม เข่นฆ่า และใช้มาตรา 17 อย่างรุนแรง ซึ่งก็มีคำถามว่าปัจจุบันนี้กำลังเลียนแบบหรือเปล่า เพราะปัจจุบันแม้นจะมีการเลือกตั้งและดูเหมือนกำลังจะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่การเข่นฆ่า การปราบปราบ การจับกุมคุมขัง การติดตาม มันดูละม้ายคล้ายคลึงกันกับยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่โจทย์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในยุคนั้นคืออยู่ในยุคสงครามเย็นระหว่างค่ายเสรีประชาธิปไตยกับค่ายสังคมนิยม
ดังนั้นเผด็จการทหารของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในยุคนั้น นั่นคือมีเป้าหมายในการต่อสู้กับค่ายสังคมนิยมและชาวพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหมด ซึ่งเป็นโจทย์คนละอย่างกับปัจจุบันที่ต่อสู้กับนายทุนบางคนที่ถูกป้ายสีและใส่ชื่อว่าเป็นนายทุนสามานย์ แม้กระทั่งนายทุนที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรแบบคุณธนาธร (นายทุนตัวน้อย) ก็ทำท่าว่าจะถูกจัดการ
ในช่วงนั้นโจทย์เป็นเรื่องราวสงครามเย็นซึ่งมีลักษณะเป็นสากล เป็นสงครามเย็นทั่วโลก ประเทศเสรีประชาธิปไตยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวเอ้ใหญ่ที่สนับสนุนแต่ละประเทศให้ปราบปรามคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งได้ตั้งรัฐบาลหุ่นในบางประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น
มาดูประเทศไทยจาก พ.ศ. 2500 อันนั้นมีการปราบปรามรุนแรง ดูประหนึ่งตอนนี้ถ้าเราดูจะเห็นมีการจัดการ มีการฆ่าถ่วงแม่น้ำและอื่น ๆ แต่ตอนนั้นมีการต่อสู้ด้วยอาวุธ จาก พ.ศ. 2500 มาพ.ศ. 2519 เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ปรากฎว่ามีประชาชนและปัญญาชนจำนวนหนึ่งไปก็สมทบ อย่าลืมว่าช่วง พ.ศ. 2516 - 2517 ประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา ต่างก็ปลดปล่อย ดังนั้นจึงทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศไทยหวาดกลัวว่าเราจะเป็นโดมิโน
การปราบปรามพี่น้องประชาชนตั้งแต่ปี 2516 - 2519 จึงมีส่วนทำให้กองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศไทยเติบโตและขยายตัวขึ้นสูงโดยมีปัญญาชนเข้าไปร่วมมากในปี 2519 แต่หลังจากนั้นปัญหาทางทฤษฎีของสังคมนิยม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหภาพโซเวียตกับจีน ปัญหาของประเทศที่ปลดปล่อยแล้วเช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา เลือกค่ายสังคมนิยมประเทศหนึ่ง แต่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์แบบประเทศพม่า ไทย มาเลเซีย ก็เลือกค่าย (ลูกพี่) เป็นประเทศจีน ทั้งหมดเป็นความขัดแย้งมัน
ดังนั้นโดยทฤษฎีโดยความขัดแย้งของประเทศสังคมนิยมและนโยบายของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือรัฐบาลไทยสามัคคีกับรัฐบาลจีน เพราะในขณะนั้นประเทศจีนต้องการสนับสนุนเขมรแดง ขณะที่เวียดนามก็สนับสนุนอีกข้างหนึ่ง
ลุงธง และป้าน้ำ (คู่ชีวิต) |
สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ต้องผ่านการทดสอบทั้งทางทฤษฎีและการพึ่งตัวเอง รวมทั้งการที่คนเข้าไปอยู่มาก จนกระทั่งสมัชชา 4 แต่ว่าเลขาธิการของพรรคฯ ส่วนใหญ่คนจะไม่รู้จักเพราะมีการใช้นามแฝงและไม่แสดงตัว สำหรับ "ลุงธง แจ่มศรี" เป็นที่รู้จักจากการปรากฎตัวหลังการกลับเข้าสู่เมือง
ความแตกต่างของนักต่อสู้ในอดีตกับปัจจุบันนั้น ถ้าในฐานะผู้ถูกกระทำก็เกิดขึ้นจาก "ผู้ปกครอง"
ถ้า "ผู้ปกครอง" เป็น "เผด็จการ" ก็จะคล้ายกัน ซึ่งขณะนี้เราจะเห็นการคล้ายกันของการที่มีการจับกุมคุมขัง การใช้มาตราบางมาตรามาบังคับใช้ หรือการตายไม่ว่าจะเป็น "ภูชนะ - กาสะลอง" หรือบางคนที่หายตัวไป มีความละม้ายคล้ายคลึงกันอันเนื่องมาจาก "ผู้ปกครอง"
แต่สิ่งที่แตกต่างของนักต่อสู้ในอดีตและปัจจุบันก็คือ นักต่อสู้ในอดีตนั้นจะมีอุดมการณ์ มีทฤษฎีเป็นหลัก โดยทั่วไปในช่วงนั้นแนวคิดแบบสังคมนิยมเป็นแนวคิดที่เป็นคำตอบของนักต่อสู้ที่ก้าวหน้าทั้งโลก นั่นหมายถึงประเทศไทยด้วย พูดง่าย ๆ ว่า นักต่อสู้ต้องมีอุดมการณ์ มีการศึกษาทฤษฎี
ถามว่าทำไมมีชาวไร่ชาวนาจำนวนมากเป็นนักต่อสู้ ยกตัวอย่างเช่น ลุงธง ซึ่งจะบอกว่าลุงธงเป็นปัญญาชนซะทีเดียวก็ไม่ได้ ลุงธงถูกจับตั้งแต่อายุยังน้อยและทำงานภาคปฏิบัติมาตลอด เพราะในการต่อสู้ของนักต่อสู้ในอดีตถูกบ่มเพาะด้วยทฤษฎีและตำราที่เป็นสากล นอกจากนั้นในแต่ละพรรคเขาก็มีการบ่มเพาะผู้ปฏิบัติงาน คือต้องมีอุดมการณ์จุดยืนที่สำคัญว่า...คุณทำเพื่ออะไร? ดังนั้นฝ่ายซ้ายในอดีตที่เป็นนักต่อสู้ส่วนใหญ่มีเป้าหมายเป็นประชาชนโดยหลัก
ถ้าถามว่าในส่วนนี้นักต่อสู้ปัจจุบันของเรา จะว่าไม่มีทฤษฎีเลยทีเดียวก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าเป็นการต่อสู้ในระดับที่ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากล แต่คุณต้องมีจุดยืนและมีทัศนะที่ก้าวหน้า ดังที่ดิฉันพูดถึง "ลุงธง แจ่มศรี" จุดยืน ทัศนะ รวมทั้งวิธีการที่เป็นมวลชน คือมีมวลชนเป็นหลัก
ถ้าจุดยืนคุณเป็นชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อตัวเอง ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อหวังว่าจะได้เป็น ส.ก., ส.ข., ส.จ., ส.ส., รมต. หรืออะไรก็ตาม เขาต้องการต่อสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้ประเทศนี้ไม่ใช่แต่เพียงว่ามีอำนาจตอนเลือกตั้งเป็นของประชาชน แต่อำนาจที่แท้จริงนั่นก็คือพรรคการเมืองและรัฐบาลนั้นต้องเป็นรัฐบาลของประชาชนจริง ๆ และนี่เป็นเรื่องราวที่ประเทศจีนยังสามารถประสบความสำเร็จมาได้!
"หลักคิดของประเทศเสรีประชาธิปไตยก็คือประเทศและผลประโยชน์ของประเทศต้องเป็นของมวลชน จุดยืนต้องอยู่ที่มวลชน ทัศนะก็ต้องเป็นทัศนะมวลชน พูดง่าย ๆ ก็คือฟังประชาชน อำนาจต้องจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่จากบนลงล่าง นักต่อสู้ต้องเป็นเช่นนั้น" อ.ธิดากล่าว
นักต่อสู้นั้นนอกจากมีทฤษฎีแล้ว จะต้องแน่วแน่ในจุดยืน ทัศนะ และวิธีการ ถ้าคุณคิดแต่เพียงจุดยืนหรือมีทัศนะได้ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะพรรคการเมืองของตัวเอง อย่าว่าแต่เป็นนักต่อสู้เลย เป็นนักการเมืองที่ดียังไม่ได้!
เพราะฉะนั้นถ้าเป็นนักต่อสู้ในอดีตนั้นนอกจากมีทฤษฎี มีอุดมการณ์ ต้องมีจุดยืน มีทัศนะ มีวิธีการ ทั้งหมดนี้สามารถบ่มเพาะและศึกษาได้ พูดง่าย ๆ ว่าผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ นักต่อสู้เหล่านี้ ถูกเรียกร้องมากกว่าปกติ ยกตัวอย่าง ลุงธงก็ติดคุกตั้งแต่วัยรุ่นแล้วก็ต้องเสียสละทั้งชีวิต
ถามถึงชะตากรรมของนักต่อสู้ในอดีตกับปัจจุบันนั้น อ.ธิดากล่าวว่าถ้าอยู่ในระบอบเผด็จการหรือระบอบที่ล้าหลังมาก ๆ มันก็ไม่ต่างกัน ในประเทศไทยขณะนี้ดิฉันมองว่าขนาดนักต่อสู้ธรรมดา ๆ ไม่ได้เรียกร้องเปลี่ยนแปลงประเทศในลักษณะฝ่ายซ้ายก็ยังลำบาก บางส่วนก็โดนหนัก ซึ่งตรงนี้ทำให้มองว่าเรามีการเลือกตั้งแล้ว เรามีนายกฯ คนใหม่แล้ว เรามีสภาฯ แล้ว แต่บรรยากาศมันเหมือนเดิม มันเหมือนการเมืองการปกครองในระบอบเผด็จการตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ส่วนชีวิตความเป็นอยู่ของ "ลุงธง แจ่มศรี" หลังจากที่กลับเข้าสู่เมืองแล้วเท่าที่ทราบ "ลุงธง แจ่มศรี" เป็นนักภววิสัย หมายความว่า รู้ว่าในความเป็นจริงนั้นจะทำแบบเก่าไม่ได้ โลกมีการเปลี่ยน ผู้คนมีการเปลี่ยน จะทำแบบพคท.เก่า มีกองกำลังอาวุธหรือมีการเรียกร้องแบบในอดีตไม่ได้ "ลุงธง แจ่มศรี" มีการปรับตัวในการสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย จุดยืนทัศนะของ "ลุงธง แจ่มศรี" ยังเป็นจุดยืนทัศนะมวลชน สิ่งที่ลุงธงทำเท่าที่ดิฉันทราบก็มีการพูดคุยให้แง่คิดและมีการโต้แย้ง
ประหลาดที่อดีตกรรมการกลาง อดีตสมาชิกพคท. ก็เหมือนประชาชนทั่วไป คือแบ่งเป็นแดง เป็นเหลือง เหมือนกัน มันก็ตลกนะ เป็นไปได้อย่างไร เพราะว่าคนที่อยู่ในจุดยืนของพรรคชนชั้นกรรมาชีพมันต้องก้าวหน้าที่สุด ต้องมีทัศนะมวลชน ต้องมีจุดยืนมวลชน
คุณจะมีจุดยืนอยู่บนชนชั้นนำผู้ปกครองซึ่งปกครองประชาชนในลักษณะไม่คำนึงถึงความเท่าเทียม มันเป็นไปไม่ได้ แต่มันก็เป็นไปแล้วในประเทศนี้
สำหรับ "ลุงธง แจ่มศรี" ก็เป็นคนที่ดิฉันยกย่องว่า ถึงแม้ลุงอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในการทำเรื่องของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่สิ่งที่ไม่สำเร็จนั้นมันเป็นความจำต้องเป็นตามภววิสัยของประเทศนี้และของโลกที่ฝืนไม่ได้ นี่ไม่ใช่เรื่องน่าตำหนิ
แต่จะน่าตำหนิที่สุดถ้าหากว่าเขาย้ายจุดยืน ไม่มีทัศนะประชาชน กลับไปยืนอยู่ข้างชนชั้นนำที่ล้าหลังหรือยืนอยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยม อย่างนั้นแหละดิฉันก็จะไม่สรรเสริญ
ดิฉันก็ถือว่า "ลุงธง แจ่มศรี" ก็เป็นบุคคลากรนักต่อสู้ที่เราคารวะได้ และเป็นแบบอย่างสำหรับคนที่สละชีวิตทั้งชีวิตให้กับการต่อสู้ ถึงแม้จะล้มเหลวในการทำพคท. แต่ลุงได้มีการต่อสู้ภายในฝ่ายซ้ายที่เป็นอดีตชาวพรรคฯ ด้วยกัน ต่อสู้เพื่อให้เห็นว่าเส้นทางของเสรีประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนนั้นเป็นเส้นทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่เส้นทางที่ไปสนับสนุนอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยม แม้กระทั่งรัฐประหาร เป็นการต่อสู้ที่ไม่ได้ออกมาภายนอก แต่เป็นการต่อสู้รุนแรง ดุเดือด จนกระทั่งลุงไม่มีความสามารถที่จะพูดออกมาได้