เกียร์ว่างหรือเปล่า
เอื้อผู้ต้องหาหรือไม่?
'ทนายวิญญัติ' จี้ตำรวจอัยการตอบสังคม เหตุไม่คุมตัว
'แรมโบ้อีสาน' ตามหมายจับ
ขณะปรากฏตัวหาเสียงสังกัด 'พลังประชารัฐ' ก่อนคดีล้มประชุมอาเซียน 'ขาดอายุความ' - หวั่นกระบวนการยุติธรรมถูกมองเป็นเครื่องฟอกกองหนุน 'ประยุทธ์' หลังนักการเมือง 'ย้ายค่าย'
หลุดคดี
ทั้งนี้ พนักงานอัยการสำนักงานจังหวัดพัทยาไม่สามารถนำตัวนายสุภรณ์มาฟ้องต่อศาล 'คดีขาดอายุความ' เนื่องจากนายสุภรณ์ขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งเพื่อนำตัวยื่นฟ้องต่อศาลแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนนัด จึงมีการออกหมายจับเมื่อวันที่ 4 เม.ย.62 จากนั้น ไม่ได้ตัวมาฟ้องจนขาดอายุความวันที่ 11 เม.ย.62
ขณะที่จำเลยอีก 5 คน ในคดีเดียวกันเดินทางไปตามนัดฟังคำสั่ง จึงถูกส่งฟ้องศาลจังหวัดพัทยา
นายวิญญัติ กล่าวว่า 'เรื่องนี้เป็นคดีอาญา อัยการมีอำนาจสั่งฟ้องบรรดาผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด จากเหตุการณ์บุกเข้าไปที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 52 ซึ่งครบ 10 ปี ขาดอายุความเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 62
ดังนั้น ก่อนขาดอายุความ ต้องนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาส่งฟ้องต่อศาลให้ทันก่อน 11 เม.ย. 62
เรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า ทำไมคุณสุภรณ์ไม่ถูกฟ้อง เพราะย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐหรือเปล่า หรือเป็นนักการเมืองที่ถูกนำไปรวมตัวเป็นกองหนุนหรือกองกำลังสำรองของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนต้องจับตามองและตรวจสอบครับ เพราะไม่ใช่คุณสุภรณ์คนเดียว
กรณีพรรคพลังประชารัฐ หลายเรื่องนักการเมืองที่เกี่ยวข้องหลายคน บางคดีมีข้อพิรุธว่าทำไมคดีหลุดไป หรือมีการสั่งไม่ฟ้อง หรือคดีบางคนเกี่ยวข้องกับนักการเมืองภาคอีสาน ก็กลายเป็นว่า ป.ป.ช.ไม่สั่งฟ้องซะงั้น
นี่คือข้อสังเกตว่า กำลังทำให้กระบวนการเครือข่ายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพรรคพลังประชารัฐเข้มแข็งหรือไม่ เป็นคำถามนะครับ
ดังนั้น คำถามเหล่านี้ ประชาชนต้องเอาไปคิดต่อว่า สิ่งที่อำนาจรัฐกำลังใช้อยู่ เที่ยงธรรมจริงไหม หรือมีหลักนิติรัฐจริงหรือเปล่า เรื่องนี้อัยการจะต้องตอบ
ต้องมาตรวจสอบที่มาที่ไปว่าอัยการตามคดีจริงหรือเปล่า หรือทำไมปล่อยให้คดีหลุดไป หรือมีใครส่งสัญญาณให้คุณสุภรณ์หลบหนีไปหรือไม่
องค์กรอัยการเองโดยเฉพาะท่านอัยการสูงสุด หรือ ผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรอัยการจะต้องทำเรื่องนี้ให้ปรากฏต่อสังคม'
สำหรับปรากฏการณ์ 'ย้ายค่าย' หลุดคดี จะกระทบต่อภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมอย่างไร นายวิญญัติ กล่าวว่า 'กรณีตั้งข้อกล่าวหาว่าบุคคลกระทำความผิด แล้วอยู่ๆ ก็หลุดไป โดยปรากฏว่าบุคคลนั้นมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคที่สนับสนุนและยกมือโหวตให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้อยู่ในอำนาจเป็นรัฐมนตรีต่อ แม้นายกฯ อาจจะอ้างว่า มาจากการเลือกตั้ง
แต่สิ่งสำคัญคือ ประชาชนได้เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อมีบุคคลมาเกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์อะไร
ผลประโยชน์ไม่ได้มีเรื่องทรัพย์สินอย่างเดียวนะครับ ผลประโยชน์ในที่นี้ อาจจะมองเรื่องการต่อรอง เรื่องการไม่ต้องถูกดำเนินคดี หรือเรื่องการได้รับสิทธิพิเศษ เป็นอภิสิทธิ์ชนมากกว่าบุคคลอื่น
ฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมอาจถูกมองว่า เป็นเครื่องฟอกให้บุคคลที่ได้รับการเชื้อเชิญ หรือเป็นกำลังสำรอง หรือเป็นกองหนุน
พล.อ.ประยุทธ์ได้หรือไม่ เรื่องนี้ คือ ข้อสังเกตครับ
ส่วนการนำตัวนายสุภรณ์มาดำเนินคดีก่อนขาดอายุความ มีความเป็นไปได้แค่ไหน นายวิญญัติ กล่าวว่า อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อนที่คดีจะขาดอายุความ ช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง คุณสุภรณ์ ก็ยังเป็นผู้สมัครส.ส.อยู่
ในวันเลือกตั้ง เขาก็ยังอยู่ในพื้นที่และหาเสียง
นั่นหมายความว่า 24 มี.ค.62 วันเลือกตั้งทั่วไป ก่อนขาดอายุความในวันที่ 11 เม.ย.62 ตำรวจที่ออกหมายจับทำอะไรอยู่ หมายจับมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว ใช่หรือไม่
ถ้ามี ตำรวจในพื้นที่ หรือตำรวจทั่วประเทศ จะต้องนำตัวคุณแรมโบ้อีสานมาฟ้องคดีหรือมาส่งให้อัยการ ทำไมไม่ทำ
ไปจับขณะหาเสียงก็ได้ หรือ ถ้ากลัวกฎหมายเลือกตั้งว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งก็มีวิธีการเยอะแยะ อันนี้ผมไม่ชี้นำแล้วกัน สิ่งเหล่านี้ต้องตรวจสอบไปที่ตำรวจและอัยการ
ไม่ว่าจะเป็นการออกไปหาเสียงในพื้นที่ หรือออกรายการทีวี ถามว่า พนักงานอัยการที่ทราบเรื่องนี้กำชับตำรวจ หรือตำรวจที่ทราบเรื่องนี้ใส่เกียร์ว่างหรือเปล่า หรือ เพิกเฉยต่อหน้าที่ ละเลยไม่ติดตามนำตัวมาหรือเปล่า
แล้วการที่อัยการบอกว่า ไม่สามารถนำตัวมาฟ้องจึงไม่ฟ้อง เป็นการเอื้อต่อผู้ต้องหารายนี้หรือไม่ ถ้าเอื้อหมายความว่า อัยการกำลังทำผิดกฎหมายอาญาต่อตำแหน่งหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเสียเองนะครับ ต้องตรวจสอบกัน
ดังนั้น วิงวอนไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรอัยการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องให้คำตอบตรงนี้ต่อสังคม' นายวิญญัติกล่าว
(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)