วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562

'ดร.ชาญวิทย์' ชี้ เสี่ยงนองเลือด!!! หากฝ่ายรัฐใช้อำนาจดิบๆ อย่างปัจจุบัน


'ดร.ชาญวิทย์' ชี้ เสี่ยงนองเลือด!!! หากฝ่ายรัฐใช้อำนาจดิบ ๆ อย่างปัจจุบัน - ชวนรำลึก 24 มิถุนา 2475 อย่างเข้าใจ เหตุไปไม่ถึง 'ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ' ในฝันของ 'ปรีดี' - รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติสะท้อน 'ระบอบใหม่' กับ 'ระบอบเก่า' ตกลงกันไม่ได้ ไม่ประนีประนอม ไม่เกี้ยเซี๊ย

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ที่สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซอยงามดูพลี กรุงเทพฯ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายระหว่างเป็น 1 ในวิทยากรงาน Pridi Talk ครั้งที่ 2 'แนวคิดภราดรภาพนิยมของปรีดี พนมยงค์ : ทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองไทย' เนื่องในวาระครบรอบ 87 ปี อภิวัฒน์สยาม โดยมีการถ่ายทอด facebook live ทางแฟนเพจ สถาบันปรีดี พนมยงค์ - Pridi Banomyong Institute สถาบันปรีดี พนมยงค์ - Pridi Banomyong Institute

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวตอนหนึ่งถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ว่า แม้จะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงระบอบภายใน 5 วัน แต่ถ้าดูถัดมาอีก 2 ปี 9 เดือนเมื่อถึงเดือนมีนาคม 2477 (นับแบบปฏิทินเก่า) มีการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 แปลว่า 'ระบอบใหม่' กับ 'ระบอบเก่า' ตกลงกันไม่ได้ ไม่สามารถเป็น 'ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ' อย่างที่ปรีดี พนมยงค์วาดฝันไว้

ปัจจุบันควรตั้งคำถามว่าอยากได้ประชาธิปไตยแบบไหนแล้วผลักดันไปจุดนั้น แต่ถ้าฝ่ายผู้มีอำนาจใช้อำนาจอย่างดิบ ๆ อย่างที่เห็นอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการนองเลือ

ส่วนตัวเชื่อว่า ถ้ามีการเลือกตั้งที่สะอาด บริสุทธิ์ ยุติธรรม ผลอาจจะออกมาในโมเดลของมาเลเซียหรือสิงคโปร์หรือพม่า แต่ถ้าออกมาอย่างกัมพูชาก็ดูจะหนักไป

วันที่ 24 มิถุนา 2475 เกิดการยึดอำนาจที่ฉับพลันมากๆ ประสบความสำเร็จมาก ๆ ภายในเวลา 5 วัน สามารถเปลี่ยนระบอบเก่าเป็นระบอบใหม่ ผมมองว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ไม่น้อย

การปฏิวัติของคณะราษฎร นำโดยนายพันเอกพจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลพลพยุหเสนา) อายุ 45 ปี ซึ่งเป็นคนที่อายุมากสุดใน
ลุ่มนายทหารที่ยึดอำนาจขณะนั้น โดยหลายคนมีอายุใกล้เคียงกัน ส่วนหลวงพิบูลสงครามอายุ 35 ปี

ขณะที่ท่านปรีดี อายุ 32 ปีทั้งหมดอยู่ในวัยฉกรรจ์ เมื่อขึ้นมามีอำนาจก็เป็นกลุ่มคณะรัฐมนตรีที่อายุอ่อนที่สุด นับแต่มีคณะรัฐมนตรียุค
รัชกาลที่ 5 เมื่อปฏิรูปปี 2435

ส่วนคณะรัฐมนตรีชุดที่แก่มากๆ คือ ชุดที่ตั้งหลังการยึดอำนาจ 19 กันยา 2549 ชุดท่านสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นเพื่อนสวนกุหลาบของผมเอง

สำหรับการยึดอำนาจภายใน 5 วัน คือ

วันที่ 24 มิถุนา ยึดอำนาจได้ เปลี่ยนระบอบเก่า เป็นระบอบใหม่

วันที่ 25 มิถุนา มีการเจรจากันโดยส่งคนไปพระราชวังไกลกังวล ที่หัวหิน

วันที่ 26 มิถุนา ผู้ก่อการคณะราษฎรเข้าเฝ้า แล้วดำเนินการให้มีกฎหมายนิรโทษกรรม

วันที่ 27 มิถุนา มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก

วันที่ 28 มิถุนา ดำเนินการให้มีส.ส.ประเภท 2 คือการแต่งตั้ง และเปิดสภา เลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี

แปลว่าใช้เวลา 5 วัน เป็นการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนระบอบ และเอาเข้าจริง ในแง่ประวัติศาสตร์ ถ้าทำเร็วก็แปลว่า ไม่อยากสืบทอดอำนาจ ถ้าทำช้า ๆ มันชัดเจนมาก นี่คือการกระทำที่ส่อเจตนาอันชัดเจน
 
เพราะฉะนั้น แปลว่า พระยาพหล เป็นนายทหารประชาธิปไตย ซึ่งควรจะเป็นตัวอย่างของทหารทั้งหลายในประเทศนี้

คือเราไม่ต้องการให้ยกเลิกทหารเหมือนอย่างที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระบอก เพียงแต่เราต้องถามว่าเราอยากได้ทหารแบบไหน เราอยากได้ทหารแบบพระยาพหลพลพยุหเสนา อันนี้ชัดเจนมาก ๆ

ผมว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมากๆ ในการเปลี่ยนระบอบของสยามประเทศไทย เกือบจะไม่มีประเทศไหนเป็นอย่างนี้

นำมาสู่ระบอบที่ท่านปรีดี เรียกว่า 'ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ'

แต่แน่นอน ก็ไม่สำเร็จอย่างที่ท่านวาดฝันเอาไว้ เพราะเวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราไม่ควรดูเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์เดียว เราต้องดูเหตุการณ์ที่มันตามมาด้วย

เราไม่ควรจะศึกษาในฐานะว่า นี่เป็นปรากฏการณ์พิเศษไม่มีที่ไหนในโลก ประเทศไทยแสนจะยูนีค พิเศษไม่เหมือนใครในโลกนี้ ผมคิดว่าต้องมองโดยเปรียบเทียบ 


เพื่อเตือนความจำการรำลึก 24 มิถุนา 2475 เราต้องอย่าลืมว่า ประสบความสำเร็จภายใน 5 วันก็จริง แต่ถ้าท่านนับดู เหตุการณ์ซึ่งตามมาในตอนหลัง ดูแค่ 5 วันไม่พอ

ต้องดูนับแต่ 24 มิถุนา 2475 มาบรรจบการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 เดือนมีนาคม 2477 (นับแบบปฏิทินเก่า) คือถัดมาอีก 2 ปี 9 เดือน

แปลว่า 'ระบอบใหม่' กับ 'ระบอบเก่า' ตกลงกันไม่ได้

จึงนำมาซึ่งการสละราชสมบัติ มีพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ คือ รัชกาลที่ 8

ฉะนั้น ในแง่นี้ ถ้าดูแล้วเราจะเห็นว่า หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน ก็เกิดเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในที่สุดก็เกิดการกล่าวหากัน การแตกแยกของกลุ่มคณะราษฎร

มีหนังสือ '2475 เส้นทางคนแพ้' ของ 'บัญชร ชวาลศิลป์' น่าสนใจที่พูดถึงเหตุการณ์เหล่านี้เพราะมีการกล่าวหาว่าท่านปรีดี เป็นคอมมิวนิสต์ ต้องถูกส่งออกนอกประเทศไปชั่วคราว

แล้ววันที่ 1 เดือนเมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็ปิดสภา เป็นรัฐประหารทางรัฐสภาครั้งแรก แล้วตามมาด้วย วันที่ 20 มิถุนา 2476 ที่มีการยึดอำนาจครั้งที่ 2 โดยพระยาพหลและคนที่จะขึ้นมามีบทบาทมากๆ ก็คือ ป. พิบูลสงคราม ตอนนั้นยังเป็นหลวงพิบูลสงครามอยู่

ในที่สุดก็เกิดกบฎบวรเดช ตุลา 2476

พวกที่ยึดอำนาจ ก็นำท่านปรีดีกลับมา แล้วมีการไต่สวนสอบสวนสรุปท่านไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์

แม้พวกกบฎบวรเดชถูกปราบ มีการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฎซึ่งตอนหลังหายไป เช่นเดียวกับความทรงจำประวัติศาสตร์ขณะนั้นที่หายไป

ตอนผมเรียนธรรมศาสตร์ปี 2503-2506 ในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ในหัวเราว่างเปล่า เพราะอดีตถูกลบหมดเลย เหมือนเด็กๆ รุ่นนี้ ไม่มีคณะราษฎรในหัว เช่นเดียวกันตอนนั้นผมไม่มีข้อมูลว่าใครก่อตั้งธรรมศาสตร์

ผมจบปริญญาตรี ได้เกียรตินิยม ได้ทุนไปเรียนต่อเมืองนอก กระทั่งไปค้นพบท่านปรีดี ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์แนล เมื่อค้นพบก็ตกใจ

ตอนนั้นพบหนังสืองานศพของบิดาท่านปรีดีเกี่ยวกับข้าว ผมถ่ายเอกสารแล้วเอาไปอ้างเพื่อขอพบท่านปรีดี ตอนที่ท่านย้ายไปปารีส ที่มงต์ปาร์นาส ไม่ใช่ที่อองโตนี

รวมความแล้ว ในช่วง 2 ปี 9 เดือน (นับแบบปฏิทินเก่า) ยุคที่ปีใหม่ยังนับที่ 1 เมษา แล้วประเทศยังเป็นประเทศสยาม เราต้องศึกษาใหม่ จึงพบว่า 'ระบอบใหม่' กับ 'ระบอบเก่า' ตกลงกันไม่ได้ที่จะมาประนีประนอม

ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่รู้สึกว่าคำว่า 'ความสามัคคี' เป็นคำพูดของคนที่อยู่ข้างบน 'สามัคคี' แปลว่า You ต้องอยู่เงียบๆ นะ ต้องฟัง I

ผมชอบคำว่าปรองดอง ประนีประนอมมากกว่า หรือใช้คำ เกี้ยเซี๊ย ผมว่า เป็นคำที่ต่อรองกันดี พูดแบบคนจีน

เกี้ยเซี๊ยยาธิปไตย

รวมความแล้ว เราต้องดูว่ามีปัญหาที่ตกลงกันไม่ได้ว่าประชาธิปไตยแบบใหม่ ระบอบใหม่จะเป็นยังไง มันเหมือนกับว่า เราต้องกลับไปถามว่า ถ้าเราต้องการประชาธิปไตย เราอยากให้เป็นแบบไหน

เราอยากให้เป็นแบบของพระยาพหล หรือ ป พิบูลสงคราม ซึ่งตอนหลังเป็นเรื่องชาตินิยมและลัทธิทหารอย่างมากๆ สืบมรดกมายังจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ไล่มาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะสมัยพลเอกเปรม พลเอกสุจินดา รวมถึง เพื่อนเขาที่ชอบใส่เสื้อคับ

กระทั่งปัจจุบันนี้ เราต้องตั้งคำถามอยากได้แบบไหนแล้วผลักดันไปจุดนั้น

เวลาเราศึกษา จะดูเฉพาะจุดไม่ได้ ต้องดูภาพรวม ช่วงระยะยาว 50 ปี 100 ปี

เพราะจะเห็นว่า ตกลงจะประนีประนอม สมานฉันท์กันได้ไหม...

ผมกำลังคิดว่า มันมีการเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจ ถ้าเราสามารถจะมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมได้อีกสัก 1-2 ครั้ง แล้วเกิดปาฏิหารย์ว่าฝ่ายประชาธิปไตยชนะอย่างถล่มทลายอย่างกรณีมาเลเซีย เราน่าจะเปลี่ยนผ่านไปได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อมากนัก

แต่ก็หวั่นใจ เพราะจากการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ สอนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองมาเป็นเวลานาน ผมก็หวั่นใจว่า ฝ่ายที่มีอำนาจ ฝ่ายตัวแทนผู้กุมอำนาจรัฐ

เขายังเข้าใจว่าเขาชนะอยู่ ดังนั้น ถ้าเขายังเข้าใจว่าเขายังชนะ ผมว่าเขาไม่ประนีประนอม เขาไม่เกี้ยเซี๊ย เมื่อเป็นอย่างงั้นแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจที่เราเป็นประเทศซึ่งมีช่องว่างมากขึ้นมากมายมหาศาลระดับโลก จะทำให้คนระดับล่างมีปัญหามากกระทั่งคนอยู่ข้างบนมองไม่เห็น

เมื่อเป็นอย่างนั้น ถ้าฝ่ายมีอำนาจคิดว่าตัวเองจะชนะอยู่ต่อไป ด้วยการใช้อำนาจอย่างดิบๆ อย่างที่เราเห็นอยู่ ผมว่าการนองเลือดอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้

แปลว่า อาจจะถึงเวลาที่เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาบอกว่า มันจะเป็นยุคกาลี เจ้าแม่กาลีจะบังเกิดขึ้น แล้วจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็สร้างยุคใหม่ขึ้นมา

ถ้าไม่เอาเวอร์ชั่นอยุธยา ก็มีอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่นักวิชาการคนหนึ่งที่สนใจความคิดด้านเทพปกรณัม บอกว่า ปางที่ 10 ของพระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ ก็จะปรากฏ ที่ชื่อว่า กัลกิ พระวิษณุ จะขี่ม้าขาวมาเป็นอวตารที่ 10 ถ้าไม่เกิด กาลียุค ก็เกิด กัลกิยุค อาจจะไปอย่างนั้น

ผมยังหวังว่า ถ้าเรายังสามารถมีการเลือกตั้งที่สะอาด บริสุทธิ์ ยุติธรรม เราก็อาจจะออกมาในโมเดลของมาเลเซีย หรือ อาจจะไม่ดีนัก สักสิงคโปร์ ก็เอา หรือพม่าหน่อยๆ ก็ยังดี แต่ถ้าออกมาอย่างกัมพูชาผมว่าก็คงจะหนัก'ดร.ชาญวิทย์กล่าว