วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2568

อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ : scenario ของประเทศไทยที่มองไปข้างหน้า เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทุกย่างก้าวลำบาก ทุกฝ่ายต่างประคองตัวเพราะมีบาดแผลกันหมด ขณะที่ “ตุลาการภิวัฒน์” มีบทบาทมาก

 


อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ : scenario ของประเทศไทยที่มองไปข้างหน้า เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทุกย่างก้าวลำบาก ทุกฝ่ายต่างประคองตัวเพราะมีบาดแผลกันหมด ขณะที่ “ตุลาการภิวัฒน์” มีบทบาทมาก


[ถอดเทป] จากรายการ NEWSROOM HOT-ISSUES 24 มิ.ย. 68

ดำเนินรายการโดย กาย- พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ


กาย-พงศ์เกษม : ทันทีที่เปิดประชุมสภา “พรรคภูมิใจไทย” ในฐานะฝ่ายค้านป้ายแดง จะขอเสียงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและคณะ อาจารย์คิดว่าไงครับ เขาต้องขอเสียงสนับสนุน ซึ่งเขามี 69 เสียง ยังขาดอีกตั้ง 30 เสียง ?


อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ : อาจารย์ว่าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามระบบรัฐสภาก็เป็นเรื่องที่ดีนะ ขึ้นอยู่กับว่ามีคนเห็นด้วยหรือเปล่า เราก็หวังว่าคงไม่มีฟาร์มงูเห่าเต็มไปหมด ก็ต้องถือเป็นโอกาสที่ดี ก็คือ มีการซักฟอกกันเต็มที่ มันจะได้เป็นทิศทางว่าต่อไปนี้ในวิกฤตแบบนี้ที่มีทั้งเรื่องการทหาร การเมือง และทิศทางระหว่างประเทศ นโยบายของพรรคการเมืองและรัฐบาลควรจะเป็นแบบไหน มีข้อดีข้อเสียตรงไหน ถ้ามองไปแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ดี ส่วนแพ้/ชนะ อาจารย์ก็คิดว่าเขาก็คงพยายามจะทำให้พรรครัฐบาลชนะ เพราะว่าทุกวันนี้เท่าที่เขาอยู่กัน ในความคิดของอาจารย์มองว่าเขามองไปการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าเขาจะได้เสียงแค่ไหน ที่จะทำก็คือทำเพื่อการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นเวลานี้ก็คือใครเป็นฝ่ายค้านก็ประคอง ทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้ดีที่สุด ใครเป็นรัฐบาล ก็พยายามจะประคองฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่าจะลำบากอย่างไร แล้วก็ให้อยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ แต่จริง ๆ ผู้ตัดสินเขามองไปที่ข้างหน้าว่าผู้ตัดสินจะเป็นประชาชน นั่นหมายถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า


แต่อาจารย์ว่ากว่าจะถึงการตัดสินของประชาชน เกรงว่าจะมีผู้ตัดสินคนอื่นมาก่อน พวกองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช., กกต., ศาลรัฐธรรมนูญ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ที่เราเห็นเป็นแถว เพราะฉะนั้น scenario ของประเทศไทยที่มองไปข้างหน้ามันเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทุกย่างก้าวลำบาก และกลายเป็นว่าผู้มีอิทธิพลสูงสุดมันกลายเป็นตุลาการ บทบาทตุลาการภิวัฒน์กับบทบาทของเวทีรัฐสภาของประชาชนก็กำลังดู เท่าที่ผ่านมาตุลาการภิวัฒน์จัดการประชาชน แต่ว่าถ้าม็อบเยอะ มันก็จะมี worst-case scenario อีกแบบหนึ่ง เรื่องการทำรัฐประหาร ถ้าม็อบเยอะมากจริง ๆ รัฐประหารก็มีสิทธิ์ที่จะเข้ามาได้ แปลว่าเข้าสู่ทฤษฎีสมคบคิด หมายความว่าเรามอง scenario ได้หลาย scenario ก็คือถ้าในระบบรัฐสภาก็มีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็โอเค อันนี้ก็มองไปถึงยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศเลยได้ และต่างคนต่างก็ทำหน้าที่ไป แต่กลัว “นอกระบอบ” และ “นอกระบบ” เช่น มีทฤษฎีสมคบคิดเรื่องรัฐประหาร หรือว่าถูกจัดการโดยตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งอาจารย์ก็มองไปว่ามันจะมีปัญหาแบบนี้ อยู่ในสภาพที่ยากลำบากเพราะทุกคนมีแผลหมด



การรัฐประหารในยุคของ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ในความคิดของอาจารย์ซึ่งผ่านสนามการต่อสู้ประชาชนมาหลายสนามแล้วนะ มองและศึกษาการทำรัฐประหารนะ อันนี้ถือว่าทำสุดกำลังแล้วนะ คืออยู่ได้ยาวนาน ก็คือการวางแผนตั้งแต่ยุคคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยืนอยู่ข้าง ๆ คอยมองตาอยู่ตลอด จนเผลอ ๆ มีคนบอกว่าคุณยิ่งลักษณ์ฯ คิดว่าน่าจะควบคุมผบ.ทบ.ได้ แต่ว่าไม่รู้เป็นการแสดงละครแบบไหน? แล้วในที่สุดก็ทำรัฐประหารโดยมีการวางแผนกันหลายเดือนกับ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เพราะว่าในความคิดของอาจารย์จากที่มารับฟังตลอดก็คือ พวกเขาเป็นจำเลยในคดีปี 53 นะ แล้วก็อดีตอธิบดีดีเอสไอ เพิ่งออกจากคุก ธาริต เพ็งดิษฐ์ เขาบอกเลยว่าตัว “บิ๊กตู่” ไปขู่เขาเลยว่าอย่าทำคดีนะ ถ้ากูรัฐประหาร มึงตายแน่เลย (ขอโทษพูดในภาษาเขา) คือเดิมอาจารย์เชื่อบางส่วน แต่พอฟังคุณธาริตฯ แล้ว โอ๊ะ 100%


แล้วอย่าลืมว่าอาจารย์ไปถึง ICC นะ กว่า ICC จะรับเรื่องคดี เพราะฉะนั้นอาจารย์เข้าใจนะที่เขมรทำ ICJ ยังไม่เข้าตะกร้าอัยการนะ แต่เขายื่นแล้ว จนกระทั่งอัยการเรียก มันต้องผ่านไปหลายตะกร้ากว่าจะไปถึงจุดโน้น ความหมายก็คือว่า การทำรัฐประหาร ถ้าเขาจะทำรัฐประหารเที่ยวนี้เขาจะต้องคิดหนัก เพราะว่าของคุณประยุทธ์ฯ มันสุดยอดแล้ว ทั้งการวางแผน แล้วเราก็รู้อยู่ว่ารัฐประหารครั้งนั้นเขาตกลงกันไว้แล้วเลยว่าต้องอยู่ในอำนาจอย่างน้อย 5 ปี แล้วเขียนรัฐธรรมนูญฉบับที่เลวที่สุด ที่สืบทอดอำนาจได้ยาวที่สุด และมีการวางแผนไม่ว่าจะเป็น สว. หรืออะไรก็ตาม แล้วสามารถตั้งพรรคอยู่ได้อีก 4 ปี เพิ่งมาแตกกันเอง ถ้าเขาไม่แตกกัน 2 พรรครวมกัน (พลังประชารัฐ กับ รวมไทยสร้างชาติ) ก็ยังเสียงมากอยู่เหมือนกันนะ


เพราะฉะนั้น ทำมากที่สุดแล้วแต่ก็ไม่ได้ประสบชัยชนะ และยิ่งทำให้สังคมไทยเลวร้าย ไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ตรงข้าม!!! กลับทำให้เกิดกระแสต่อต้าน เกิดคนรุ่นใหม่ เกิดการตื่นรู้ทางการเมือง และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญนะในความคิดอาจารย์ ซึ่งตรงนี้เป็นความดีใจ ชื่นใจมากของตัวเองว่า โอเค มันชัดเจน ต่อให้พวกคุณมีเครื่องมือ มีปืน มีค้อน แต่ว่าพวกคุณอ่อนแอทุกวัน ในความคิดของอาจารย์นะ


เพราะฉะนั้น วิธีการแบบเดิม (ถ้าเขามีสมองสักหน่อยนะ) อาจารย์คิดว่าที่เขาจะใช้ก็คือใช้ตุลาการภิวัฒน์ แต่คุณอย่าลืมว่า ถ้าเขาจัดการพรรคเพื่อไทย แล้วใครจะมาเป็นรัฐบาลครั้งต่อไป จะสามารถที่จะต้านทานพรรคประชาชนได้มั้ย? เพราะฉะนั้นอาจารย์ดูแล้วว่าขณะนี้มันอยู่ในสภาพที่ลำบากกันหมด พรรคภูมิใจไทยจะมีเสียงมากพอที่จะมาเป็นผู้นำรัฐบาลครั้งต่อไปก็ไม่ได้ แล้วยังแผลเรื่อง สว. ซึ่งไม่ว่าจะเหลืองจะแดง คนรับไม่ได้ทั้งนั้นเลยที่คุณทำเรื่องสว. ความชอบธรรมก็ไม่มี ความเป็นไปได้ก็ไม่มีที่จะมาเป็นผู้นำของพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม และถ้าคุณไม่โอเคกับพรรคเพื่อไทย คำถามว่าแล้วใครจะไปสกัดพรรคประชาชน


ดังนั้น มันอยู่ในสภาพที่ขณะนี้คนที่วางยุทธศาสตร์ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ต้องคิดมาก สมมุติว่าจะจัดการคุณ “อุ๊งอิ๊ง” หรือพรรคเพื่อไทย แล้วเลือกตั้งครั้งต่อไปจะทำอย่างไร?



กาย-พงศ์เกษม : แต่ถ้าอยู่ไปอย่างนี้ เมื่อสักครู่พูดถึงคุณประยุทธ์ขึ้นมายกตัวอย่าง แล้วมีข่าวว่าตัวคุณอิ๊ง ถ้าเกิดศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือมีการสั่งให้ออกจากตำแหน่งเหมือนเคสคุณเศรษฐา แคนดิเดตก็ไม่เหลือใครแล้วใช่มั้ย?


อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ : มันก็จะมีคุณชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งอาจารย์ก็ไม่รู้ว่าสุขภาพเป็นยังไง? แต่อาจารย์ว่าพรรคเพื่อไทยก็คงพยายามเอานั่งรถเข็นมา ยังไงก็อาจเอามาแข่งกันกับ “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ดูสิว่าใครแข็งแรงกว่ากันระหว่างสองคนนี้ เขาคงต้องพยายามเอาคุณชัยเกษมฯ มา เพราะว่าพรรคเพื่อไทยก็คงต้องสู้ในลักษณะนั้น แต่ในขณะเดียวกันอาจารย์มองว่าครั้งนี้การที่เอาพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล มันเป็นการรบของผู้แพ้นะ มันเป็นการวางยุทธศาสตร์ ถ้าเป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่เข้าใจยุทธศาสตร์ จะไม่ออกมาต่อต้านพรรคเพื่อไทยมากนะ เพราะรู้ว่ามันเป็นความจำเป็น (ของอนุรักษ์นิยม) เพราะพรรคประชาชนน่ากลัวกว่า ยกเว้นพวกที่เป็นปัจเจก ไม่ชอบทักษิณ เกลียด ถ้ามาเชียร์ตอนนี้ก็แปลว่าเมื่อก่อนฉันผิดซิ! เพราะเมื่อก่อนฉันก็ด่าเอาไว้เยอะ พวกนี้จะไม่สนใจยุทธศาสตร์ เป็นเรื่องส่วนตัว


ขณะนี้มันจึงอยู่ในสภาพที่ชะงักงันที่ลำบาก ต้องต่างฝ่ายต่างประคองตัวเพราะมีแผลหมด พรรคประชาชนก็ลำบาก มวลชนก็ลำบาก เจอคดีความ 112 กันไม่รู้ตั้งเท่าไร คนก็ไม่กล้าขยับ แล้วถ้าคุณจะไปเล่นงานพรรคเพื่อไทยมาก พวกคุณก็ลำบาก แล้วคุณจะเอาใครมาเป็นผู้นำ เป็นรัฐบาลครั้งหน้า แปลว่าเป็นรัฐบาลครั้งหน้าคุณต้องยอมแพ้แล้ว


กาย-พงศ์เกษม : คืออาจารย์มองว่ามันมีศัตรูเบอร์ 1 อยู่ที่จะต้องสกัดกั้นให้ได้


อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ : คืออาจารย์มองแบบการสู้รบนะ มันเป็นยุทธศาสตร์ ยังไงเขาก็ไม่ยอมให้พรรคประชาชนมาเป็นรัฐบาล อยู่เป็นฝ่ายค้านเขาอาจจะโอเค เพราะป่านนี้ 44 คน กระบวนการยังไม่เสร็จ อาจารย์ถามว่าเขาเรียกไปกี่คนแล้วนะ ก็รู้สึกว่าจะเรียกไม่กี่คนเอง สงสัยเขา happy ที่พวกคุณเป็นฝ่ายค้านล่ะมั้ง เพราะฉะนั้นมันอยู่ในสภาวะชะงักงัน ถ้าฝั่งจารีตต้องการจะเป็นรัฐบาลคุณก็ทำลายพรรคเพื่อไทยไม่ได้ คุณอาจจะไม่ชอบ เพราะว่าฝั่งอนุรักษ์ก็ไม่เป็นเอกภาพ มีทั้งพวกคลั่งชาติและขวาสุดโต่ง ดังนั้นสภาพเมืองไทยในขณะนี้เป็นสภาพที่ลำบาก คือฝ่ายประชาชนเติบโต แต่ไม่มีอาวุธ ไม่ใช่ปืนนะ หมายถึงว่าคุณไม่มีอาวุธในการที่จะเอาชนะ แต่คุณแข็งแรงไปเรื่อย ๆ


แต่ฝ่ายที่มีอาวุธ มีทั้งค้อน มีทั้งปืนหลายอย่าง อ่อนแอนะ อ่อนแอลงไปทุกวัน แต่ว่าเขายังมีอุปกรณ์สำคัญ (ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน) เพราะฉะนั้น อาจารย์ว่าลำบาก สภาพประเทศไทยตอนนี้นะ มันจึงเป็นเรื่องที่เมื่อกี้ที่พูดว่าบางทีมันก็ต้องดูวันต่อวัน แต่อาจารย์มองในฐานะยุทธศาสตร์ มองยาวไกลเลยนะ อาจารย์ว่าฝั่งอนุรักษ์นิยมทำอะไรก็ยาก ยกเว้นว่าไม่สนใจว่ามันจะเกิดผลอะไรขึ้นมา แต่ถ้ามีสมองสักหน่อยนะ จะทำงานยากมาก


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #การเมืองไทย #เพื่อไทย #ภูมิใจไทย #แพทองธาร