'ปิยบุตร' ชี้ 3 หลักการ 7
ข้อเสนอ หลังนายกฯไม่ยุบสภา ไม่ลาออก
ย้ำต้องแสดงภาวะผู้นำให้ประชาชนเชื่อมั่น รัฐบาลอยู่เหนือกองทัพ
ยันไม่เอารัฐประหาร
เมื่อวันที่
23 มิ.ย. 2568 นายปิยบุตร แสงกนกกุล
เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความ 3 หลักการ 7 ข้อเสนอ เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่ยุบสภา ไม่ลาออก ระบุถึง 3 หลักการ 7 ข้อเสนอ เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่ยุบสภา
ไม่ลาออก โดยมีรายละเอียดว่า
ณ
เวลานี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายกรัฐมนตรีตัดสินใจไม่ยุบสภา ไม่ลาออก
แต่ปรับคณะรัฐมนตรี ให้นักการเมือง “รักชาติจนน้ำลายไหล”
ได้มีโอกาสแย่งและต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี และอาจมีการ “ขโมย” ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านอื่นๆเข้ามา
(ไม่ว่า “ถาวร” แบบทำให้พรรคอื่นต้องแตกแยก หรือ ไม่ว่า “ชั่วคราว”
แบบยั่วยวนแลกเปลี่ยนกับคะแนนเป็นรายคนและเป็นครั้งคราว)
อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร
หรือการลาออก เป็นอำนาจการตัดสินใจโดยแท้ของนายกรัฐมนตรี
ในเมื่อนายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่ยุบสภา ไม่ลาออก เราควรทำอย่างไร
ภายใต้สถานการณ์การเมืองเช่นนี้?
ผมเสนอว่า
ต้องยึดหลักการพื้นฐาน เป็นเบื้องต้นไว้ก่อน ดังต่อไปนี้
1.
รักษากติกาประชาธิปไตย
2.
ต่อต้านรัฐประหารทุกรูปแบบ ทั้งแบบดั้งเดิมที่ใช้กองทัพยึดอำนาจ
ทั้งแบบร่วมสมัยที่ใช้ศาลหรือองค์กรอิสระเข้าจัดการผ่านกลไกทางรัฐธรรมนูญ
3.
รักษาสันติภาพ ใช้มาตรการเจรจา
ไม่ตกอยู่ภายใต้ความคิดแบบคลั่งชาติสุดโต่ง
หากยึดหลักการพื้นฐานดังกล่าวไว้
ก็สรุปเป็นข้อเสนอได้ ดังนี้
1.
ยึดหลักการรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งต้องอยู่เหนือกองทัพ
การแก้ไขปัญหาชายแดนและปัญหาความมั่นคงของประเทศ ต้องให้รัฐบาลพลเรือนรับผิดชอบ
มีอำนาจตัดสินใจ มีอำนาจสั่งการกองทัพ
ห้ามมิให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพหรือผู้บัญชาการภาค ริเริ่มตัดสินใจใช้อำนาจใดๆได้เอง
ตามลำพัง โดยที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่รับรู้รับทราบ
2.
นายกรัฐมนตรีต้องแสดงภาวะผู้นำและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนคนไทยว่า
สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชาได้
โดยไม่ต้องโอนอำนาจเบ็ดเสร็จให้กองทัพ พร้อมกับทำให้ประชาชนมั่นใจว่า
การดำเนินการต่างๆเป็นไปโดยยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน
มิใช่เรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และยึดมั่นแนวทางสันติภาพ
ผ่านการเจรจาระดับทวิภาคี
3.
ใช้กลไกตามระบบรัฐสภาในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี
ได้แก่ การตั้งกระทู้ถาม การตรวจสอบผ่านคณะกรรมาธิการ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ โดยนายกรัฐมนตรีต้องให้ความร่วมมือกับกลไกดังกล่าว
4.
คัดค้านการใช้กระบวนการนิติสงครามที่มีเป้าประสงค์ให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
หรือสร้างสุญญากาศทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น การตีความขยายความคำว่า
“ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์“ ออกไปอย่างกว้างขวาง
เพื่อสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวหรือให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
หรือไม่ว่าจะเป็น การใช้ช่องทางตามมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ
เพื่อหวังให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกันหลายคน
5.
คัดค้านความพยายามสร้างสุญญากาศทางการเมืองของคนบางกลุ่มบางพวก
ที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง หรือให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสภาพ
เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
หรือเพื่อเปิดทางพิสดาร บิดผันรัฐธรรมนูญ นำ “นายกรัฐมนตรี” แบบพิเศษ มาตามมาตรา 5
วรรคสอง
6.
คุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อมวลชน
7.
เพื่อฟื้นฟูความชอบธรรมทางการเมือง
เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์การเมืองในประเทศ
(โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออกหรือยุบสภา) และเพื่อป้องกันมิให้
“นักสร้างสุญญากาศ” ทำสำเร็จ นายกรัฐมนตรีควรแถลง “เส้นทางเวลา”
ไปสู่การยุบสภาภายในสิ้นปีนี้ เช่น ประกาศว่า ภายหลัง
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีประกาศใช้
และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องชายแดนกับกัมพูชาได้เข้าที่เข้าทางระดับหนึ่งแล้ว
จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน ภายในสิ้นปี 2568