“ศุภโชติ” มองกรณี กกพ. ชงค่าไฟงวดแรกปี 68 คาดสุดท้ายคงอัตราเดิมที่
4.18 บาท
ย้ำข้อเสนอรัฐบาลต้องเร่งเจรจาเอกชนลดค่าความพร้อมจ่าย
หยุดหวังน้ำบ่อหน้า-ให้ประชาชนแบกนายทุนโรงไฟฟ้า
วันที่
12 พฤศจิกายน 2567 ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ
พรรคประชาชน แสดงความเห็นต่อกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที)
สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 โดยแบ่งการคิดค่าไฟฟ้าได้เป็น
3 กรณีคือ 1) 5.49 บาทต่อหน่วย,
2) 5.26 บาทต่อหน่วย และ 3) 4.18 บาทต่อหน่วยเท่างวดที่ผ่านมา
โดยศุภโชติระบุว่าแม้โดยภาพรวมค่าไฟฟ้าจะลดลงจากงวดก่อนหน้าด้วยหลายปัจจัย
ไม่ว่าจะเป็นราคาเชื้อเพลิงโลกที่ลดลง
การได้เปรียบทางอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ทำให้ต้นทุนในการซื้อเชื้อเพลิงลดลงไปด้วย
แต่การที่ กกพ. เสนอค่าไฟเป็น 3 อัตราเช่นนี้
ก็เพราะรัฐยังมีหนี้ค้างเก่ากว่าประมาณ 1 แสนล้านบาท
แม้จะลดลงมาจากงวดที่แล้วจนทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้บ้าง
ซึ่งในท้ายที่สุดตนคาดว่ารัฐบาลน่าจะเคาะค่าไฟฟ้าออกมาเป็นตามกรณีที่
3 คือคงค่าไฟไว้ที่ราคาเดิมแล้วจ่ายหนี้ได้นิดหน่อย
เพราะหากคิดค่าไฟฟ้าแบบกรณีที่ 1-2 ย่อมหมายความว่าเป็นการจ่ายหนี้ทั้งหมด
ซึ่งทางรัฐบาลไม่น่าจะเลือกวิธีการที่เป็นการขึ้นค่าไฟสูงจนเกินไปสำหรับผู้บริโภค
ศุภโชติกล่าวต่อไปว่าส่วนปีหน้าค่าไฟจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลงหรือไม่นั้น
เป็นเรื่องที่ยังค่อนข้างคาดคะเนได้ยากเพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศว่าเพิ่มสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน
ฤดูร้อนจะร้อนมากแค่ไหน ถ้ามีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นก็ต้องมีการจัดหาเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นตามไปด้วย
อีกปัจจัยที่ต้องจับตาคือสถานการณ์ในต่างประเทศเช่นตะวันออกกลาง
ที่จะส่งผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงหรือก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกทั้งหมด
ถ้าสถานการณ์เลวร้ายลงก็แน่นอนว่าราคาก๊าซ LNG ที่เข้ามาเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศไทยก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
และยังมีเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อค่าเงินบาทไทย
ก็ต้องดูแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างไรด้วย
เพราะฉะนั้นจึงไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว
ทุกอย่างเป็นการลุ้นหวังน้ำบ่อหน้าอย่างเดียวว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น
สถานการณ์สงครามต่างๆ จะดีขึ้น
แต่ไม่มีอะไรมาเป็นเครื่องรับประกันให้ประชาชนได้ว่าค่าไฟจะอยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีแนวโน้มที่ลดลง
ศุภโชติยังกล่าวต่อไปว่าดังนั้นพรรคประชาชนจึงมีข้อเสนอที่ชัดเจนมาตลอดว่าในระยะสั้น
สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้คือการเข้าไปเจรจาแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างรัฐกับเอกชน
โดยเฉพาะเอกชนที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างมาแล้วแต่ไม่ค่อยได้เดินเครื่อง
เป็นค่าความพร้อมจ่ายที่ยังแฝงอยู่ในค่าไฟตลอด
อย่างในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมามีโรงไฟฟ้ามากกว่า 7 โรงที่ไม่ได้เดินเครื่องเลยแต่เรายังต้องจ่ายเงินให้เดือนละ
2,500 ล้านบาทฟรีให้โรงไฟฟ้าพวกนี้
เราเสนอมาตลอดว่าถ้ารัฐบาลมีความกล้าหาญทางการเมืองและความพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องค่าไฟจริง
รัฐก็ควรจะเข้าไปพูดคุยเจรจากับเอกชนให้ลดค่าความพร้อมจ่ายลง
ข้อเสนอต่อมาคือไม่ควรมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเพิ่มอีกแล้ว
เพราะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอ้างอิงจากราคาตลาดโลกที่เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้
ข้อเสนอคือควรมีการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์
บวกกับแบตเตอรี่ที่มีความสามารถทำได้แบบเดียวกับโรงไฟฟ้าประเภทก๊าซธรรมชาติแต่มีราคาที่ถูกกว่า
ไม่ต้องอ้างอิงกับราคาเชื้อเพลิงของตลาดโลก
ส่วนในอนาคตประเทศไทยควรต้องเปิดตลาดพลังงานเสรี
เพราะทุกการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างรัฐกับเอกชนนั้น
ภาระทั้งหมดจะถูกส่งไปให้กับประชาชนหรือแฝงอยู่ในบิลค่าไฟของทุกคน
ถ้ารัฐบาลวางแผนหรือกำหนดนโยบายผิดพลาดเหมือนที่ผ่านมาจนมีโรงไฟฟ้าล้นเกิน
ก็จะทำให้ค่าไฟของทุกคนสูงขึ้น
ต้นทุนค่าไฟก็บวมขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น
การมีตลาดพลังงานเสรีในระยะยาวจะทำให้โรงไฟฟ้าถูกสร้างขึ้นในจำนวนที่เหมาะสมตามกลไกตลาดในภาคพลังงาน