วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562

สัมภาษณ์หมดเปลือก อดีต-ปัจจุบัน "ธิดา ถาวรเศรษฐ" หญิงแกร่งฝ่ายประชาธิปไตย!!!


สัมภาษณ์หมดเปลือก อดีต-ปัจจุบัน "ธิดา ถาวรเศรษฐ" หญิงแกร่งฝ่ายประชาธิปไตย!!!

ยูดีดีนิวส์ : 11 ธ.ค. 62 สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันยังคงเป็นการต่อสู้ของประชาชนเพื่อให้มีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง กับผู้ปกครองที่เป็นอนุรักษ์นิยม อำนาจนิยม หวาดกลัวประชาชนจะช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ไป จึงยังไม่ยอมคืนอำนาจ นอกจากนี้ยังพยายามทุกวิถีทางในการขจัดขวากหนาม ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือประชาชนผู้ที่เห็นต่าง

ในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินชื่อ “ธิดา ถาวรเศรษฐ” และเห็นบทบาทสำคัญ ๆ โดยเฉพาะในฐานะอดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. แม้แต่การวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นตามสื่อจากปรากฏการณ์สู่ธาตุแท้ ทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม

ผู้สื่อข่าวยูดีดีนิวส์ได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์อ.ธิดา เพื่อนำประวัติส่วนตัวและเรื่องราวต่าง ๆ มาเผยแพร่ให้ตรงความจริงจากตัว อ.ธิดา เอง

อยากให้เปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวทั้งก่อนและหลังเป็นประธาน นปช. เพราะยังมีข้อสงสัยในข้อมูลหลายประการที่ไม่มีข้อมูลชัดเจนและน่าเชื่อถือ กลับมีข้อมูลของฝ่ายปฏิปักษ์ทางการเมือง เช่น ของผู้จัดการ เป็นต้น


ดิฉันยินดีที่จะเปิดเผยเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งอดีต ปัจจุบัน เพื่อให้ได้ข้อมูลตามความจริง เพราะไม่อยากให้ประวัติของตนเองและองค์กรประชาชนถูกบิดเบือน ใส่สี จากผู้มีแนวคิดการเมืองเป็นปฏิปักษ์กัน

เดิมดิฉันมิได้คิดจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ให้คนตัดสินจากการกระทำในปัจจุบัน แต่ในที่สุดก็พบว่า ความขัดแย้งในสังคมไทยนั้นขยายตัวรุนแรง และมีการใช้ทุกวิธี ทุกรูปแบบ เพื่อทำลาย เพื่อดิสเครดิตฝ่ายที่เห็นต่าง และจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ให้คนในอนาคตเข้าใจผิด ๆ อย่าประมาทนะ เพราะทำให้นายกฯ เชื่อว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตจริง ๆ เป็นต้น

ดิฉันมีบทบาทนำในช่วงระยะเวลานานพอควรของ นปช. และคนเสื้อแดง แม้ปัจจุบันก็ยังแสดงทัศนะผ่านทางเฟสบุ๊คไลฟ์, ยูทูป, ไลน์ ฯลฯ เพื่อสื่อสารกับมวลชนผู้รักประชาธิปไตย ทั้งในฐานะประธาน นปช. 3 ปี และในฐานที่ปรึกษา นปช. ก่อนหน้านั้นและหลังจากเป็นประธาน เรื่องราวของดิฉันจึงจำเป็นต้องมีการบอกเล่าให้ตรงความจริง เพื่อให้คนตัดสินเอาเองทั้งปัจจุบันและอนาคต

อาจารย์ช่วยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติชีวิตส่วนตัวให้ฟังหน่อยค่ะ

ดิฉันเกิดที่ ต.ตลาด อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ ต.ตลาด อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี

บิดา-มารดา:  นายบัญชา ถาวรเศรษฐ, นางยิหวา สุทธิสุวรรณ (สกุลเดิม)

การศึกษา  :  ประถมศึกษา            โรงเรียนเทศบาลเมือง
                   มัธยมศึกษาตอนต้น    โรงเรียนสตรีสุราษฎร์ธานี
      มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนมัธยมสาธิต
                 ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 
                 ประสานมิตร
      ปริญญาตรี                 เภสัชศาสตร์บัณฑิต        
                                     ม.แพทย์ศาสตร์
      ปริญญาโท                จุลชีววิทยา ม.มหิดล

ภาพ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ สวมครุยปริญญาโท ม.มหิดล ถ่ายกับคุณพ่อ

ชีวิตส่วนตัว  : สมรสกับ นพ.เหวง โตจิราการ มีบุตร 2 คน
-      น.ส. มัชฌิมา โตจิราการ
-      นพ.สลักธรรม โตจิราการ

ครอบครัวดิฉันมีน้องอีก 5 คน และลูกทั้ง 2 คนของดิฉันเข้าใจบทบาทการเมืองดี เพราะทุกคนไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร แม้น้องบางคนจะเป็นแฟนคลับนักการเมืองแตกต่างกัน

หลังจบการศึกษาปริญญาโทแล้ว อาจารย์ประกอบอาชีพอะไรบ้างคะ?

อ.ธิดา :    -  เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ภาควิชาจุลชีววิทยา
-  ทำธุรกิจนำเข้า ขายส่ง อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่
-   ซื้ออสังหาริมทรัพย์ เป็นทรัพย์สินและขายตามความ  
    เหมาะสม
ไม่เคยมีอาชีพเป็นนายหน้าค้าที่ดินตามที่ “ผู้จัดการ” เขียนไว้ในวิกิพีเดีย
-   มีคลีนิคของครอบครัวเป็นสหคลีนิคที่คุณหมอเหวงดูแล

เคยอ่านเจอในสื่อบางฉบับเขาบอกว่า ในครอบครัวของอาจารย์และน้อง ๆ ร่วมบิดามารดามีความขัดแย้งกัน ข้อนี้ความเป็นจริงเป็นอย่างไรคะ?

ไม่มี...โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ “ผู้จัดการ” อ้างว่า บุตรสาวชื่อ น.ส. มัชฌิมา ไม่เห็นด้วยกับการทำงานการเมืองก็ไม่จริง แม้เขาจะมีปัญหากับเพื่อนฝูงที่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมบ้างก็ตาม ก็เป็นเรื่องปกติของสังคมไทยที่มีความแตกแยกขัดแย้งครั้งใหญ่

การทำงานด้านวิชาการ

1) เป็นอาจารย์ฝึกหัดที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ 
    ม.เชียงใหม่
2) เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ 
    ม.มหิดล
3) ทำงานวิจัยด้านการต้านยาปฏิชีวนะของแบคทีเรีย
    วิจัยอบรมในการตรวจสอบฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคของยาปฏิชีวนะให้ได้
    มาตรฐานสากลและได้ผลที่น่าเชื่อถือ ที่ยุคแรกช่วง พ.ศ. 2513-
    2515 การตรวจสอบใน
    ห้องปฏิบัติการที่ยังไม่ได้มาตรฐานสากล
4) ส่วนที่ได้รับทุนและทำงานวิจัยเป็นคณะในเรื่องอื่น ๆ (2516-
    2519)
    4.1 การวิจัยเรื่อง “สมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย”
    4.2 การวิจัยภาคสนามเรื่อง “พฤติกรรมการใช้ยาของประชาชน
         ไทย”
    4.3 เขียนตำราจุลชีววิทยาภาษาไทยสำหรับนักศึกษาทาง
          วิทยาศาสตร์
การแพทย์และเภสัชศาสตร์

ภาพ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ  เป็นอาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา ม.มหิดล

การทำงานด้านสังคม ก่อน พ.ศ. 2519

1) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาและชาวค่าย มหาวิทยาลัย มหิดล
2) เป็นที่ปรึกษาและประสานงานนักศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัย 
    พ.ศ. 2517

แล้วชีวิตทางการเมืองหลัง 6 ตุลาคม 2519 เป็นอย่างไรบ้างคะ

1) เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ของประชาชนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง
    ประเทศไทย (พคท.) หลัง 6 ตุลาคม 2519
2) เข้าเป็นสมาชิกพรรคและเป็นอดีตกรรมการกลางสำรองและอดีต
    กรรมการกลางของ พคท. สมัชชาที่ 4
3) จากป่าคืนเมืองโดยเปิดเผยในปี พ.ศ. 2526 กลับมาเป็นอาจารย์ 
    ม.มหิดล ในตำแหน่งเดิมของภาควิชาจุลชีววิทยา
4) ร่วมขับเคลื่อนเหตุการณ์ “พฤษภา 2535” ใน “กลุ่มสมาพันธ์
    ประชาธิปไตย” และต่อมาเป็นกรรมการมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย
5) ลาออกจากม.มหิดลในปี 2530 ทำธุรกิจส่วนตัว (ขายส่ง
    อุปกรณ์อิเลคโทรนิค,โทรศัพท์เคลื่อนที่) ไม่ได้เป็นนายหน้าขาย
    ที่ดินตามที่ “ผู้จัดการ” รายงานข่าวและอยู่ในวิกิมีเดีย ไม่เคยมี
    อาชีพนายหน้าค้าขายที่ดินใด ๆ  
    โดยเหตุนี้....
6) จึงก่อตั้ง “ชมรมนักธุรกิจประชาธิปไตย” ทำงานเป็นอดีตประธาน
    ชมรมนักธุรกิจประชาธิปไตยอยู่ระยะหนึ่ง จึงหารือให้ยกเลิก
    ชมรมฯ นี้ แต่ต่อมายังมีคณะที่ใช้ชื่อชมรมนี้เป็นกลุ่มใหม่ หลังจาก
    มีการนำชื่อไปประท้วงขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่
    ยุคนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ชีวิตการเมืองยุคใหม่ หลังรัฐประหาร 2549 อาจารย์มีบทบาทอะไรในองค์กร นปช. บ้างคะ?

1) ในปี 2549 (รุ่นสนามหลวง) เข้าร่วมกลุ่มแนวร่วมต่อต้าน
    รัฐประหารกับคณะบุคคลจากสมาพันธ์ประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง 
    อาทิ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม, นพ.สันต์ หัตถีรัตน์, นพ.เหวง โตจิ
    ราการ ขณะที่แกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งไป
    สนับสนุน พธม. และสนับสนุนการทำรัฐประหาร
    
    ก่อตั้งชมรมสตรีประชาธิปไตยที่ต่อมาเข้าร่วมกับ นปก., นปช. 
    เป็นกำลังในการเดินสันติวิธี

2) ร่วมพัฒนากลุ่มต่าง ๆ เป็น นปก. บทบาทดิฉันไม่ใช่ผู้ปราศรัยบน
    เวที แต่ร่วมประชุมขับเคลื่อน แสดงความคิดเห็นและหลักการใน
    การก่อรูปขบวนการแนวร่วมที่เป็นองค์กร มีการนำรวมหมู่และหลัก
    ปฏิบัติ เสมือนเป็นนักวิชาการของผู้ปฏิบัติงาน

3) เป็นฝ่ายวิชาการในการร่างหลักนโยบาย ยุทธศาสตร์ และ
    โครงสร้าง นปช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำโรงเรียนการเมือง
    ประชาธิปไตยของ นปช. ทั่วประเทศ โดยเป็นวิทยากรหลักในการ
    บรรยายแนวทางนโยบาย, ยุทธศาสตร์ของ นปช. และพัฒนาการ
    ของสังคมไทย

เป็นประธาน นปช. เมื่อ 1 ธันวาคม 2553 เนื่องจากขณะนั้นแกนนำส่วนใหญ่อยู่ในเรือนจำ
4) เป็นประธาน นปช. ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2553 จนถึง กุมภาพันธ์ 2557 
    โดยผู้รับตำแหน่งต่อมาคือ จตุพร พรหมพันธุ์

5) ห้วงเวลาการเป็นประธาน นปช. ประกาศภารกิจ 4 ประการ ที่เคย
    ให้สัมภาษณ์ในประชาไท คือ
1. การรณรงค์ปล่อยตัวคนเสื้อแดงและแกนนำ นปช. รวมทั้งการ
    ประกันตัว
2. การเยียวยาและต่อสู้คดีช่วยเหลือผู้ถูกกระทำและถูกจับกุม
    คุมขัง
3. ทวงถามความยุติธรรมและความจริงให้กับคนที่ตาย คนที่ถูก
    จับกุมคุมขังโดยมิชอบ
4. ขับเคลื่อนองค์กร นปช. ด้วยองค์ความรู้ (รร.นปช.) และการ
    ต่อสู้สันติวิธีและขยายการจัดตั้งผู้ประสานงาน นปช.

เป็นงานที่ค่อนข้างหนักในเวลานั้นหลังจาก นปช. ถูกปราบปรามเมื่อ 10 เมษา และ 19 พ.ค. 53 มีทั้งผู้ถูกดำเนินคดี คุมขัง บาดเจ็บ ล้มตาย และต้องรักษาขบวน นปช. ให้ยึดหลักได้มั่นคง เดินสายปราศรัย, เปิดโรงเรียน นปช., จัดตั้งแกนนำภูมิภาคได้ทั่วประเทศ, จัดตรวจสอบเลือกตั้งครั้งใหญ่ในปี 2554 โดยมีสมาชิกผู้ตรวจสอบประมาณ 1 แสนคนทั่วประเทศ และต่อมาทำการตรวจสอบเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีสมาชิกร่วมตรวจสอบประมาณ 8 พันคน

ภารกิจทั่วไปจึงมีทั้งพยายามช่วยผู้ประสบชะตากรรมต่าง ๆ และลงหลักปักฐานขบวนการ นปช. ให้มั่นคง แม้จะผ่านมรสุมร้ายในปี 2552-2553 ก็ตาม แกนนำติดอยู่ในเรือนจำ และเข้าออกศาล-เรือนจำเกือบหมด มีบางส่วนที่หลบหนีไปต่างประเทศ เหลือดิฉันกับเพื่อน ๆ อีกไม่กี่คน

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ยังทำต่อเนื่องตั้งแต่ตอนที่เป็นประธาน นปช. มาจนถึงปัจจุบัน

     ก. งานสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง นปช. กับคนต่างประเทศ ทั้งสื่อ, องค์กรต่าง ๆ และทูตานุทูตจากประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ จนถึงปัจจุบัน (น้อยลงตามบทบาท นปช. และตัวดิฉันเอง)

     ข. การทำสื่อของ นปช. เช่น ทวิตเตอร์, บล็อก ในชื่อ Udd Red และ UDD news และเริ่มทำ Facebook Page ของประธาน นปช. ตั้งแต่ปี 2554
  มี Page ของ UDD news
  Youtube : UDD News Thailand
  Line       : UDD News Thailand
  ปัจจุบันจึงมีทั้ง เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์, Website, ยูทูป (ซึ่งเพิ่งเริ่มใหม่)   

ค. การทำมวลชนสัมพันธ์ สำนักข่าว ยูดีดีนิวส์ - UDD news แม้ปรากฏการณ์รูปการต่อสู้ของ นปช. และคนเสื้อแดงจะลดระดับลง แต่เป็นการต่อสู้ในนามพรรคการเมืองมากขึ้น การนำเสนอข่าวของภาคประชาชนและแกนนำทั้งในการต่อสู้คดีความ การถูกจับกุมคุมขังก็ยังเป็นข่าวนำของ ยูดีดีนิวส์ - UDD news เสมอในทุกช่องทาง

       ง. มีหนังสือรวมบทความ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ (12 ก.ค. 54 – 4 มิ.ย. 55) ISBN 978-616-3055-88-0 

ในฐานะอดีตประธานนปช. มีกิจกรรมใดที่คิดว่าทำไม่สำเร็จและน่าเสียดาย?

เรื่องแรกก็คือ การรวบรวมรายชื่อประชาชนร่วมแสนคนเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เราได้รายชื่อที่ผ่านการตรวจสอบแล้วกว่า 70,000 รายชื่อ โดยคร่าว ๆ คือขอให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 100 คน ให้งานร่างรัฐธรรมนูญพ้นจากความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคใหญ่ โดยให้จำนวน สสร. แต่ละจังหวัดขึ้นกับจำนวนประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ เราได้ร่าง พ.ร.บ. การแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามประชาชนอย่างสมบูรณ์

ไป ๆ มา ๆ ก็เหมือนที่พรรคฝ่ายค้านปัจจุบันเสนอ แต่ตอนนั้นพรรคเพื่อไทยไม่เอาแบบของ นปช. แม้เราจะพยายามประสานงานติดต่อไปแล้ว เพราะเราเล็งเห็นแล้วว่าความขัดแย้งมันจะทำให้ข้อเสนอแบบพรรคเพื่อไทยที่ตั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญนั้นไปไม่รอด

น่าเสียดายว่าถ้าตกลงแบบของ นปช. ในวันนั้นคงไม่มีวันนี้ (ที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยถูกจัดการโดยการรัฐประหารได้ง่าย ๆ)

อีกเรื่องที่ทำไม่สำเร็จและน่าเสียดายก็คือเรื่อง ICC เราได้พยายามประสานถึง ICC สำนักงานใหญ่ และนำเสนอเอกสารพร้อมนักวิชาการ แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไม่ยอมเซ็นอนุญาตให้ ICC ทำงานเฉพาะกิจ กรณีปี 2553 เท่านั้น (นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่การทำรัฐประหารง่ายเกินไป)

เรื่องสำคัญสุดท้ายอันเป็นชนวนให้ฝ่ายต่อต้านขยายตัวสร้างม็อบใหญ่จุดติดคือเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

เราเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมที่ให้ประชาชนทุกฝ่าย ยกเว้นแกนนำสำคัญทั้ง 2 ข้าง แต่ทางพรรคเพื่อไทยเสนอเป็น พ.ร.บ. โดยนายวรชัย เหมะ และคณะ ส.ส. เริ่มต้นก็มีเนื้อหาเหมือน พ.ร.ก. ของ นปช. แต่ตอนวาระหลัง ๆ มีการเปลี่ยนเป็นนิรโทษกรรมหมด (สุดซอย)

ความจริงดิฉันก็เข้าใจว่าทำไมทางพรรคเพื่อไทยเสนอเช่นนั้น แต่ดิฉันมองเห็นความขัดแย้งในสังคมไทยนั้นรุนแรง ไม่อาจประนีประนอมได้ ดังนั้นอะไรที่เป็นเหตุให้มีการก่อศึกสงครามรอบใหม่อันจะทำให้การณ์ที่เสนอไม่สำเร็จเราก็หลีกเลี่ยงเหตุปัจจัยนั้น โดยแกนนำเวลานั้นเห็นพ้องกันหมดว่าไม่เอานิรโทษกรรมสุดซอยตามที่ได้ประกาศตั้งแต่แรก

สุดท้าย กปปส. และกลุ่มอำนาจนิยมจารีตนิยมก็ใช้เป็นชนวนสำคัญในการขยายม็อบใหญ่โต แม้คุณยิ่งลักษณ์จะถอน พ.ร.บ. ออกแล้วก็ตาม ก็ไม่ยอมหยุด ดังนั้นเรื่องก็อยู่ที่เขาจะหาเรื่องให้ได้ แม้ไม่ชอบธรรม แม้ไม่ใช่เรื่องจริงก็ตาม เพราะพรรคเพื่อไทย, ดร.ทักษิณ ชินวัตร และผู้สนับสนุน เช่น คนเสื้อแดง, นปช. คือเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ในการทำลายล้าง มาบัดนี้ เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ใหม่คือคุณธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ แต่เป้าหมายยุทธศาสตร์เดิมก็ไม่ได้ยกเลิก

ดังนั้น ชะตากรรมของเราและประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังมีเรื่องเลวร้ายถ้าไม่ได้พลิกข้างให้ฝ่ายประชาชนมีอำนาจได้ ตัวดิฉันเองมาถึงวันนี้คงไม่ใช่ตัวเอกแห่งการนำพาประชาชน แต่ก็อยู่บนถนนที่ทอดยาวไปสู่อนาคต ดิฉันหวังให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของเราและคนยุคก่อน ที่ต้องการสังคมไทยในระบอบประชาธิปไตยแท้จริง ประชาชนมีเสรีภาพ มีความเสมอภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยุติธรรมต้องเท่าเทียมกันทั่วหน้า ถ้าฝ่ายจารีตนิยมอำนาจนิยมไม่ยินยอมปรับตัว คืนอำนาจให้ประชาชนก็น่าเป็นห่วงว่า การต่อสู้ระหว่าง “เก่า” กับ “ใหม่” จะทวีความรุนแรงกระทั่งเกิดความเสียหายหนักหน่วง.