ประการแรก นายสุเทพพูดว่า เจตนารมณ์คนไทยทั้งประเทศที่ยืนยันให้ประเทศปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหลายประเทศอาจไม่เข้าใจ พร้อมทั้งได้ข้อมูลไม่ถูกต้องว่า คนไทยไม่ชอบระบอบประชาธิปไตย และเฉพาะคิดว่าเป็น กปปส.
ความหมายของนายสุเทพจะสื่ออะไร? คือจะสื่อว่ารัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแบบของนายสุเทพต้องเป็นแบบนี้คือแบบรัฐธรรมนูญมีชัย และอยากจะแก้ตัวให้กับกลุ่มตัวเองว่าต่างประเทศไม่เข้าใจกลุ่มตน คิดว่าไม่ต้องการประชาธิปไตยหรืออย่างไร?
ดิฉันอย่างจะบอกว่า ระบอบประชาธิปไตยมีทางออกของมันยามมีปัญหา ไม่ใช่วิถีทางล้มการเลือกตั้ง ขัดขวางการเลือกตั้งตามแบบกปปส. แม้กระนั้นก็ยังมีคนมาใช้สิทธิโดยที่ยอมเสี่ยงภัยถึง 20 ล้านคน อย่างนี้จะให้ต่างชาติเข้าใจผู้ขัดขวางการเลือกตั้งว่าเป็นผู้รักประชาธิปไตยเช่นนั้นหรือ
การอ้างประการที่สองของคำปรารภที่อ้างปัญหาว่า
“คนไม่เคารพกติกา บิดเบือนการใช้อำนาจ ไม่เอาแก่นแท้ไปประพฤติปฏิบัติ” พูดง่าย ๆ ว่าสนับสนุนการอ้างโจทย์ปัญหาของประเทศตามร่างรัฐธรรมนูญ และโจมตีรัฐบาลที่ผ่านมาที่ไม่ลาออกจนประเทศถึงทางตัน ทั้ง ๆ ที่ปัญหาคือมีผู้ก่อความไม่สงบ ขัดขวางวิถีทางออกจากปัญหาในระบอบประชาธิปไตยที่ใช้การยุบสภา รัฐบาลรักษาการณ์ แล้วมีการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ส.ส.ชุดใหม่ รัฐบาลชุดใหม่ และนี่คือทางออกปกติตามรัฐธรรมนูญ 50 และเป็นทางออกตามกระบวนการประชาธิปไตย แต่การที่มีผู้ก่อความไม่สงบป่วนการเลือกตั้ง แล้วกลไกรัฐสำคัญไม่ขึ้นต่อรัฐบาลรัฐบาลรักษาการ และไม่ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย
ดังนั้น การแก้วิกฤตโดยการทำรัฐประหาร นายสุเทพและพวกก็สนับสนุนเต็มที่จนมีการเลี้ยงฉลองความสำเร็จโดยแต่งตัวเลียนแบบทหาร อีกทั้งออกมาสนับสนุนรัฐธรรมนูญที่ร่างภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญชั่วคราวและคำสั่งคสช. ก็เท่ากับมาตอกย้ำถึงการสนับสนุนการทำรัฐประหารและรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารว่าเป็นการแก้วิกฤตประเทศ
จึงสนับสนุนการเขียนรัฐธรรมนูญที่มีองค์กรแก้วิกฤตที่ให้ประธานศาลและองค์กรอิสระเป็นเสียงส่วนใหญ่แก้ปัญหาวิกฤตประเทศ นี่ก็เท่ากับว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้บอกว่าตัวเองรักประชาธิปไตย แต่สนับสนุนการทำรัฐประหารเพื่อแก้วิกฤตหรือใช้องค์กรที่ไม่ยึดโยงกับประชาธิปไตยมาแก้วิกฤต โดยขัดขวางการแก้วิกฤตตามระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง
ประการที่สามของนายสุเทพ พูดเรื่องที่ได้เขียนการปฏิรูปในรัฐธรรมนูญนี้ว่าสอดคล้องกับแนวคิดกปปส. ที่เคยเสนอให้ปฏิรูปประเทศไว้ 5 ด้าน ทั้งเรื่องการเมือง, การปราบปรามทุจริต และการปฏิรูปตำรวจ ฯลฯ เพราะการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในคำปรารภได้เขียนไว้หมด เมื่อคสช.ยึดอำนาจ มวลมหาประชาชนตั้งความหวังว่าจะมีการปฏิรูปเกิดขึ้น
การพูดแบบนี้ของนายสุเทพเท่ากับว่าคสช.และกรธ.รับมรดกเรื่องที่กปปส.เคยนำเสนอไว้ในช่วงก่อนทำรับประหาร และชมเชยที่รัฐธรรมนูญเขียนชัดว่าต้องปฏิรูปในหนึ่งปีนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้
คสช.และกรธ.ก็ต้องทำความกระจ่างกับสังคมว่า รับเรื่องนี้มาจากกปปส.เพราะเห็นชอบด้วยกันเป็นความคิดแบบเดียวกัน หรือเป็นเรื่องที่นายสุเทพบอกให้ทำจึงต้องทำตาม แถมยังชื่นชมเรื่องปฏิรูปการศึกษาที่เปลี่ยนการให้เรียนฟรีม.ปลายเป็นก่อนประถมศึกษาที่คนเขาไม่เห็นด้วยกันมากมาย แต่นายสุเทพก็เห็นดีเห็นงามเช่นกัน รวมทั้งประเด็นวุฒิสภาที่มาทั้งจากการเลือกไขว้และการแต่งตั้งตามบทเฉพาะกาล
สรุปว่าเห็นด้วยทุกประการทั้งตัวรัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาลหรือคำถามพ่วง แม้แต่พระราชบัญญัติประชามติ มาตรา 61
ก็ถือว่านายสุเทพแสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องเป็นแบบที่กรธ.ร่างและบทเฉพาะกาลรวมคำถามพ่วงของคสช.นั่นเอง นอกเหนือจากที่เคยสนับสนุนคสช.ในการทำรัฐประหารเพื่อหาทางออกให้ประเทศตามความปรารถนาของนายสุเทพ
แต่จะขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่? นาทีนี้นายสุเทพคงไม่สนแล้วล่ะ เพราะยังไง ๆ ก็ลงเลือกตั้งไม่ได้อยู่แล้ว ก็จะเป็นนักการเมืองแบบนักเคลื่อนไหวของฝ่ายอนุรักษ์นิยมผสมอำนาจนิยมแท้ ๆ
ตรวจแถวด้วยนะว่ามีคนหนุนอยู่เท่าไหร่? ถ้าเทียบกำลังกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะดูว่าแกนนำกปปส.ทั้งหมดต้องการกลับไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์.
ธิดา ถาวรเศรษฐ
26 เมษายน 2559