รัฐธรรมนูญที่อ้างว่าเขียนเพื่อผลประโยชน์ประชาชน แต่ประชาชนไม่ได้เป็นใหญ่ (ไม่มีอำนาจจริง)
เป็นเช่นนั้น จริงหรือ?
มีการอ้างถึงคำท่านพุทธทาสเพื่อมารับรองความชอบธรรมการเขียนรัฐธรรมนูญโดยคณะบุคคลที่ถูกแต่งตั้งโดย
คสช. นั่นแสดงถึงความรับรู้ของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่รู้ว่าที่มาของตนเองไม่ถูกต้อง จึงต้องอ้างท่านพุทธทาส ซ้ำเป็นการอ้างที่โมเมผิด ๆ
ง่าย
ๆ เลยถ้าคุณมีชัยเชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญนี้ดีจริง ๆ เป็นประโยชน์กับประชาชนตรงไหน? และโต้ความคิดเห็นต่างอย่างเป็นเหตุผลเป็นรูปธรรมโดยเอาผลประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน ถ้าจริงก็อธิบายไปสิ
ไม่ต้องโหนจีวรท่านพุทธทาสให้ลูกศิษย์ลูกหาต้องออกมาปฏิเสธวุ่นวายไปหมด
คำว่า
“ธัมมิกสังคมนิยม” และ “เผด็จการโดยธรรม”
นั่นล้ำลึกเกินกว่าที่จะเอาที่มาของเผด็จการทหารกับผลประโยชน์ของคนชั้นนำอนุรักษ์นิยมในสังคมมารวมกัน แล้วอ้างว่า ทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยที่ประชาชนไม่เป็นใหญ่
ได้นั้น
“หัวร่อไม่ออก ร้องไห้ไม่ไหว
อุทานแบบไหน...ก็ไม่พอ”
วาทะที่กล่าวว่า
“ชนชั้นใด (กลุ่มคนใด) เขียนกฎหมายแล้วไซร์ ย่อมเป็นไปเพื่อ (ผลประโยชน์) ชนชั้น
(กลุ่มคน) นั้น” วาทะนี้ได้ผ่านการรับรองที่เป็นจริงทั่วโลก และเป็นหลายศตวรรษแล้ว
ส่วนวาทกรรมของคุณมีชัยนั้น พูดเอาเองคนเดียว จะมีคนเชื่อหรือไม่?
เอาแค่ตรรกะธรรมดา
ถ้าชนชั้นนำหรือกลุ่มคนที่ลงมาสู้รบตบมือกับประชาชนบอกว่ายังไม่พร้อมที่จะให้อำนาจประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบสากลทั่วโลกนั้น
จะเขียนรัฐธรรมนูญให้ผลประโยชน์ประชาชนมากกว่าผลประโยชน์กลุ่มตนได้อย่างไร?
ชัดเจนว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญตามกรอบรัฐธรรมนูญชั่วคราว
มาตรา 35 ของ คสช. ร่างตามคำขอของ คสช.
หลายรอบกระทั่งรอบสุดท้าย
เป็นที่มาของบทเฉพาะกาลที่ต้องการให้ คสช.
ได้ครองอำนาจและสืบทอดอำนาจต่อโดย ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน
มีแม่ทัพนายกองสูงสุดที่เป็นข้าราชการประจำร่วมเป็น ส.ว. ด้วยอย่างน้อย 5
ปี พร้อมอำนาจและคณะผู้ทำยุทธศาสตร์ชาติ
20 ปี ตามรัฐธรรมนูญนี้
แถมด้วยการเป็นนายกฯ คนนอกถ้าพรรคการเมืองตกลงกันไม่ได้
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่ารัฐธรรมนูญนี้มีแอก
2 ชั้น (แอกขุนศึกและแอกขุนนาง)
แอกขุนนางก็เขียนให้เป็นรับข้าราชการ การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงทั้งทหาร พลเรือน
ตำรวจ
ก็เขียนให้เป็นอิสระไม่ขึ้นกับฝ่ายการเมืองที่เป็นรัฐมนตรี ซ้ำยังรักษาการเป็นรัฐมนตรีได้ด้วย
องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ
และศาลอื่น ๆ
ล้วนมีบทบาทในการควบคุม ลงโทษ จัดการกับนักการเมือง
พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจนทำให้ 3 อำนาจ (นิติบัญญัติ, บริหาร,
ตุลาการ) ล้วนไม่เป็นจริงในฐานะประชาชนเป็นใหญ่อีกต่อไป รัฐธรรมนูญนี้ถูกทำให้แก้ไขไม่ได้
ดังนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญนี้ที่อ้างว่าปราบโกง แท้ ๆ คือ
รัฐธรรมนูญปราบนักการเมืองไม่ให้มีอำนาจในฐานะตัวแทนประชาชน เท่ากับยอมรับว่าประชาชนไม่เป็นใหญ่ แต่อย่าตกใจ
พวกผมคนดีมีคุณธรรมจะเขียนรัฐธรรมนูญให้ผลประโยชน์ประชาชนเอง
ถามว่าใครจะเชื่อ? เป็นตรรกะพิสดารที่สุด เพราะเป็นไปไม่ได้
น่าจะเป็นอะไรที่ “คนและควายเมิน”
เหมือนภาพที่ควายไม่ยอมกินหญ้าที่ท่านผู้นำป้อนให้นั่นแหละ!!!
ธิดา ถาวรเศรษฐ
31
มีนาคม 2559