ยุคสมัยการสืบทอดอำนาจทหารไทย
ยุคที่ 1
จาก พ.ศ. 2475
เริ่มต้นจากพลเอกพระยาพหล พลพยุหเสนา
ผู้ก่อการสายทหารของคณะราษฎรส่งทอดให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะมีการทำรัฐประหารในปี 2490
แล้วทำให้เกิดรัฐธรรมนูญล้าหลัง
นำประเทศสู่อนุรักษ์นิยมจนเป็นเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ ส่งต่อมายังการทำรัฐประหารครั้งสำคัญในปี พ.ศ.
2500 ได้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นเผด็จการทหารสำคัญของประเทศ แล้วก็ส่งต่อมายังจอมพล ถนอม กิตติขจร จนถึงปี พ.ศ. 2516
การสืบทอดเผด็จการทหารจึงสิ้นสุดยุคแรกของการสืบทอดอำนาจของผู้บัญชาการทหารบก แม้จะมีนายกรัฐมนตรีพลเรือนบ้างก็เป็นเวลาสั้น
ๆ
แต่อำนาจการปกครองยังอยู่ในมือทหารเป็นลำดับมา นับเวลาได้ประมาณ 40 ปี
ยุคที่ 2
เริ่มจากการทำรัฐประหาร 6 ตุลาคม
2519 โดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด
แต่อำนาจยังอยู่ที่กองทัพบก มีพลเอก
เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และพลเอก
เปรม ติณสูลานนท์ สืบทอดอำนาจจาก 2519 ถึง
2531 นับเป็นเวลาประมาณ 12 ปี
ที่เปลี่ยนจากเผด็จการทหารเต็มรูปแบบมาเป็นการสืบทอดอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีทหารที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(ส.ส.) และการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
เรียกกันว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ
ยุคที่ 3
เป็นยุคสั้น ๆ มีการทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2534 แต่ผู้ทำรัฐประหารไม่เป็นนายกรัฐมนตรีเอง อย่างไรก็ตามหลังการได้รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารฉบับปี
2534
เมื่อมีความพยายามจะสืบทอดอำนาจแบบเดิม
ก็ถูกประชาชนเดินขบวนขับไล่จนเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญก้าวหน้าในปี 2540 เพื่อเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่มีนายกฯ ทหาร ไม่มี ส.ว.แต่งตั้ง เป็นระบอบประชาธิปไตยเกือบเต็มใบที่ยังมีอำนาจรัฐอนุรักษ์นิยมและทหารอำนาจนิยมซ้อนทับอยู่
ยุคที่ 4
ยุคสุดท้าย!
การทำรัฐประหารในปี 2549
เพื่อกำจัดพรรคการเมืองและนักการเมืองของทุนใหม่โดยเฉพาะ คือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ที่ได้รับการสนับสนุนชนะการเลือกตั้งถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ของประเทศ โดยอาศัยข้อดีของรัฐธรรมนูญ 2540
ที่มุ่งสร้างพรรคการเมืองมีมาตรฐานขนาดใหญ่
เพื่อควบคุมนักการเมืองท้องถิ่นและอิสระที่มุ่งซื้อขายตำแหน่งและผลประโยชน์แบบเดิมที่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลเข้มแข็งเพื่อบริหารประเทศแบบเดียวกับประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย
แต่ชัยชนะของพรรคการเมืองนายทุนใหม่เช่นนี้เป็นการปะทะอำนาจนำของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมเดิม อดีตข้าราชการระดับสูงทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งอำนาจรัฐข้าราชการไทย การทำรัฐประหารปี 2549
กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่มอนุรักษ์นิยมทางเดียวที่เหลืออยู่ นอกไปจากใช้อำนาจตุลาการและองค์กรอิสระที่ไม่ควรจะมีการทำรัฐประหารในประเทศไทยอีก เมื่อคำนึงถึงพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ไม่ใช่ประเทศยากจนอีกแล้ว เมื่อคำนึงถึงรายได้เฉลี่ยและ GDP
ของประเทศในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์
และแม้จะมีการทำรัฐประหาร 2549 โดยผู้บัญชาการทหารบกชื่อ พลเอก สนธิ บุญยรัตนกลิน
และการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับอนุรักษ์นิยม 2550 แทนที่รัฐธรรมนูญก้าวหน้าในปี
2540
ก็ยับยั้งความนิยมของประชาชนไม่ได้อยู่ดีสำหรับพรรคการเมืองของ
ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ
การทำรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557
โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง
เพราะพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมไม่สามารถเอาชนะพรรคนายทุนใหม่ที่ไม่ใช่พวกอนุรักษ์นิยมในวิถีทางรัฐสภาและระบอบประชาธิปไตย การทำรัฐประหารครั้งใหม่ล่าสุดในปี 2557 คณะรัฐประหาร คสช.
ได้ใช้ยุทธศาสตร์ใหม่และกลยุทธ์ใหม่
ไม่ทำแบบสองครั้งก่อนหน้านี้ที่ส่งมอบอำนาจให้กลุ่มขุนนางพลเรือนอนุรักษ์นิยมขึ้นครองอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่จงใจสืบทอดอำนาจและครองอำนาจเสียเอง โดยเลื่อน ROAD MAP
การคืนอำนาจให้ประชาธิปไตยไปเรื่อย ๆ
และการเขียนรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2 คนแล้ว
ท่ามกลางการถกเถียงถึงความล้าหลังของรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และการเขียนบทเฉพาะกาลเพื่อครองอำนาจอีกยาวนาน
รัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้พรรคการเมืองขนาดกลาง
ขนาดเล็ก โดยทำให้พรรคใหญ่ถูกทอนกำลัง
และควบคุมอำนาจพรรคการเมือง-นักการเมืองที่ถูกเลือกตั้ง โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมพลเรือนออกแบบรัฐธรรมนูญให้อำนาจองค์กรอิสระ
ศาลรัฐธรรมนูญ
มีอำนาจควบคุมอำนาจจากประชาชนจนไม่สามารถทำการบริหารประเทศ ออกกฎหมาย
รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แต่อนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมฝ่ายทหารต้องการออกแบบให้ได้
ส.ว.แต่งตั้งและมีนายกรัฐมนตรีจากคนภายนอก
(หมายถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยมทหารหรือพลเรือนที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบทเฉพาะกาลที่
คสช.และคณะสามารถสืบทอดอำนาจได้ยาวนาน
โดยเทียบเคียงกับคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น จอมพล ป.
พิบูลสงคราม, จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์
และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์
นั่นก็หมายความว่า ระยะเวลาสืบทอดอำนาจของคณะ คสช.
ต้องการเวลายาวนานอาจนับสิบปี
โดยเรียกมันว่าเป็นระยะเวลาเปลี่ยนผ่านที่จำเป็นก่อนจะเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสากล ก็คือเป็นประชาธิปไตยแบบ (ทหาร) ไทยมากกว่า
นี่อาจเป็นคู่แข่งสำคัญกับระบอบทหารของประเทศพม่าทีเดียว!
ธิดา ถาวรเศรษฐ
24
มีนาคม 2559