วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความหวาดกลัว ความเกลียดชัง ความเคียดแค้น นี่คือหายนะของสังคมไทย



บทความล่าสุดของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ เรื่อง 

ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความหวาดกลัว ความเกลียดชัง ความเคียดแค้น นี่คือหายนะของสังคมไทย
เพราะจะใช้ทุกกลยุทธในการต่อสู้ไม่ว่าจะชอบธรรมหรือไม่

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ขยายตัวในเชิงปริมาณและคุณภาพในหมู่ประชาชนไทยทุกชนชั้นและชั้นชน  ถ้าเป็นความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์การเมืองล้วน ๆ และผลประโยชน์กลุ่มคน ในยุคนี้ที่ค่ายเสรีประชาธิปไตยเป็นค่ายหลักในโลก การเปลี่ยนแปลงการเมืองเชิงระบอบควรจะค่อนข้างง่ายกว่าในยุคก่อนสงครามโลกและหลังสงครามโลกใหม่ ๆ ที่มีสงครามเย็นระหว่าง 2 ค่าย คือค่ายเสรีประชาธิปไตยกับค่ายสังคมนิยม

แต่ในประเทศไทย ด้วยพื้นภูมิหลังชนชั้นนำของประเทศและประวัติศาสตร์ประเทศไทยมีความซับซ้อนในการคลี่คลายขยายตัว ในการต่อสู้สลับการยอมจำนนและเสียดินแดนให้จักรวรรดินิยม เพื่อรักษาการปกครองโดยระบอบเดิมและอาณาจักรเท่าที่เหลือ ยอมเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ตาม

เมื่อเผชิญกับการขยายตัวของทุนนิยมและการเมืองเสรีประชาธิปไตยที่ให้อำนาจประชาชนผู้ถูกปกครองในอดีต มาเป็นผู้มีอำนาจปกครองโดยตัวแทนจากการเลือกตั้งนั้น ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมอำนาจนิยมไทยไม่อาจยอมรับได้ จึงผนึกกำลังและสร้างเครือข่ายเพื่อยับยั้งอำนาจประชาชนในระบอบเสรีประชาธิปไตย

การต่อสู้ของฝ่ายอำนาจนิยมจารีตนิยมจึงใช้ยุทธศาสตร์ระยะยาว ที่ยังยึดอำนาจไว้ในมือ (ไม่ต่ำกว่า 20 ปี) พูดง่าย ๆ ว่าพวกฉันไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน (มีอะไรไหมล่ะ) กองทัพ, ตำรวจ, ข้าราชการพลเรือน, กฎหมาย, รัฐธรรมนูญ, องค์กรอิสระ, กระบวนการยุติธรรม จะไม่ถูกปล่อยมือเด็ดขาด มีปัญหาก็ทำรัฐประหารซ้ำก็ได้ แล้วมาตั้งพรรค ทำนโยบายแจกเงินเอาใจประชาชนทุกชนชั้น ทำนโยบายประชานิยมให้มากกว่ายุครัฐบาลที่ถูกกล่าวหาไว้ ตราบใดที่ตุลาการยอมรับอำนาจรัฐประหาร ประเทศไทยก็ต้องวนเวียนเช่นนี้จนกว่าจะมีการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ของประชาชนที่ใหญ่กว่า 14 ตุลา 16 หรืออย่างไร?

นั่นคือยุทธศาสตร์ที่จะไม่คืนอำนาจให้ประชาชน จะให้มีการเลือกตั้งปลอม ๆ ประชาธิปไตยปลอม ๆ เท่านั้น

ในส่วนยุทธวิธี นี่ยิ่งน่าเป็นห่วง (ประเทศไทย) มาก เพราะใช้ทุกรูปแบบ เช่น ม็อบชนม็อบ ถ้ามีการลุกขึ้นสู้ของฝ่ายประชาชน ใช้กฎหมายและองค์กรอิสระเล่นงานนักการเมือง พรรคการเมือง และฝ่ายประชาชนที่อยู่ตรงข้ามผู้ยึดครองอำนาจ ลงท้ายใช้ความรุนแรงของผู้ถืออาวุธ ปราบปราม, จับกุม, อุ้มฆ่า ฯลฯ

แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลยุทธ์ การใช้ความเท็จ วาทะกรรม และวาจาสร้างความเกลียดชังฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง เป็นการโฆษณาทางการเมืองของฝั่งตน โดยกระทำต่อฝ่ายตรงข้ามอย่างน่าขยะแขยงที่สุด ทำให้ขยายความขัดแย้งในหมู่ประชาชนที่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ทำให้ประชาชนเกลียดชังกันโดยการบิดเบือนข้อมูล ใช้ความเท็จ ใส่ร้าย เช่น พวกนี้มีกองกำลังอาวุธ ใช้ความรุนแรง เป็นพวกก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง (ถ้าไม่มีใครเผาก็ช่วยมันเผาเสียเลย) และล้มเจ้า ดังที่ได้เขียนบทความมาก่อนหน้านี้ ตัวอย่างล่าสุด วาทะกรรมแห่งความเกลียดชังของ มจ.จุลเจิม ที่กล่าวว่า คุณยิ่งลักษณ์ก็เข้าข่ายกล่าวหาหยาบคาย เหยียดเพศ 2 แง่ 3 ง่าม หรือเปิดตามไปดูคอมเม้นท์ต่าง ๆ ในข่าว, บทความ หรือหน้าเฟส ก็มีมวลชนใช้ Hate Speech อย่างไม่มีเหตุผล นี่แสดงว่าสติปัญญา ความรู้ ไม่ถูกใช้ในการติดตามเรื่องราวการเมืองเลย เอาความเกลียด ความกลัว ความเคียดแค้นที่ฝ่ายตรงข้ามได้รับชัยชนะทางการเมืองมาเป็นเรื่องสำคัญ โดยไม่สนใจว่าการทำต่าง ๆ เหล่านั้นจะสร้างความเสียหายแก่ประเทศแต่อย่างไร?  การขยายความขัดแย้งในหมู่ประชาชนทั่วไปทำให้เกิดการเผชิญหน้า ไม่ใช่แต่ม็อบชนม็อบ แต่แยกประชาชนเป็น 2 ฝ่ายมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ผ่านมากว่า 13 ปีแล้วนับจากรัฐประหาร 2549 ไม่มีทีท่าว่าบ้านเมืองจะสงบลง ยังรุนแรงขึ้น และเมื่อปีปัญญาชนคนหนุ่มสาวมาเป็นผู้รักประชาธิปไตยมากขึ้น สนับสนุนพรรคการเมืองใหม่มากขึ้น ก็ยิ่งหวาดกลัวเสือตัวใหม่มากขึ้นไปอีก เกลียดกลัว เคียดแค้นทั้งเสือตัวเก่า เสือตัวใหม่ แต่ถ้าเสือมาจากระบอบประชาธิปไตย มาจากประชาชน ก็เท่ากับพวกสนับสนุนเผด็จการรัฐประหาร แสดงออกมาให้ประชาชนรู้ความจริงว่า เขาไม่เอาระบอบประชาธิปไตยแน่นอน ถามว่าแล้วประชาชนเขาจะเลือกระบอบไหนในที่สุด แล้วคุณจะสู้กับใคร เท่ากับว่าสู้กับประชาชนนั่นเอง!!!

ความเกลียดชังที่เป็นสงครามสี แตกแยกในครอบครัว ในญาติพี่น้อง ในชุมชน ในสถานที่ทำงาน มันควรจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อความจริงปรากฏขึ้นเป็นลำดับว่าความชอบธรรมของชนชั้นนำที่ยึดติดกับอำนาจจารีตนิยมลดลง

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า การใช้ยุทธวิธีทุกรูปแบบมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจความชอบธรรม แล้วใช้วิธีแจกเงินภาษีประชาชนให้แก่ประชาชน เพื่อสร้างประชารัฐนิยม หวังคะแนนนิยมจากนโยบายแจกเงินให้แก่เกษตรกร คนจน คนชั้นกลาง โดยไร้หลักการที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จริง ล่าสุดการคุกคามสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ไม่ให้ประชาชนไปแถลงข่าวหรือองค์กรอิสระที่เร่งรัด โน้มเอียงในการให้ลงโทษพรรคการเมืองบางพรรค ถึงขึ้นลงโทษสถานหนักก็อาจเป็นได้ นี่น่าจะยิ่งกว่า 5 ปีที่แล้วเสียอีก ราวกับใช้มาตรา 44 ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านั่นเอง

ธิดา ถาวรเศรษฐ
11 ธ.ค. 62