"พริษฐ์" ย้ำพรรคประชาชนไม่เคยเกรงใจใคร
และไม่เคยไว้วางใจรัฐบาลแพทองธาร
แต่การเปลี่ยนรัฐบาลต้องไม่แลกกับการบ่อนทำลายหลักการประชาธิปไตย
วันนี้
(1 กรกฎาคม 2568) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ
โฆษกพรรคประชาชน โพสต์ขอควาวระบุว่าประชาชน พรรคประชาชนไม่เคยเกรงใจใคร
และไม่เคยไว้วางใจรัฐบาลแพทองธาร
แต่การเปลี่ยนรัฐบาลต้องไม่แลกกับการบ่อนทำลายหลักการประชาธิปไตย
ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน
ที่ไม่เคยหวังจะร่วมรัฐบาลหรือต้องอกหักจากการร่วมรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยในสภาชุดนี้
ผมยืนยันว่าพรรคเราทำงานเต็มที่ในการตรวจสอบรัฐบาลและปกป้องผลประโยชน์ประชาชน
ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือพรรคไหนจะเป็นรัฐบาล
เมื่อเราเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน
พรรคเราเห็นตรงกัน ว่าอาวุธที่เราเลือกใช้ในการตรวจสอบรัฐบาล
จะต้องมุ่งสู่การป้องกันความเสียหายและการเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลต่อความผิดพลาด
แต่อาวุธดังกล่าว จะต้องไม่หันกลับมาทำลายหลักการประชาธิปไตย หรือสร้างความชอบธรรมให้กับอาวุธที่เสี่ยงจะถูกใช้ตามอำเภอใจอย่างไม่เสมอภาคกับทุกฝ่าย
ในส่วนของสภา
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเราได้พยายามใช้ทุกกลไกตรวจสอบของสภามาโดยตลอดและจะยังคงใช้ต่อไป
ทั้งกลไกกระทู้สด กลไกกรรมาธิการ และรวมถึงกลไกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ที่เราจะมีการเตรียมใช้อย่างแน่นอน
ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
แม้เราเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระควรมีกระบวนการได้มาและกลไกถอดถอนที่ยึดโยงกับประชาชนมากกว่าปัจจุบัน
แต่เราไม่เคยปฏิเสธกลไกตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหมด
-
หากเป็นเรื่อง “การทุจริต” ซึ่งมีนิยามที่ชัดเจน
ทางเราเห็นว่าผู้มีอำนาจจะต้องมีความรับผิดรับชอบทางกฎหมาย
และการใช้อาวุธของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นช่องทางที่เราต้องดำเนินการ -
เช่น การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีที่มีการแทรกแซงการจัดสรรงบประมาณเพื่อประโยชน์ส่วนตน
(เช่น การตรวจสอบ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน กรณีงบสภา) /
การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจากการถือหุ้น (เช่น
การตรวจสอบ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ กรณีหุ้นบุรีเจริญ) / การยื่น ป.ป.ช.
เรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ (ซึ่งอาจเป็นปลายทางของการตรวจสอบ แพทองธาร
ชินวัตร เรื่องตั๋ว PN หลังจากที่เราได้ยื่นเรื่องไปที่กรมสรรพากรไปเรียบร้อยแล้วตามประมวลรัษฏากร)
-
แต่หากเป็นเรื่อง “จริยธรรม” ซึ่งต่างคนต่างตีความไม่เหมือนกัน
ทางเราเห็นเหมือนกับประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก
ว่าผู้มีอำนาจควรจะต้องแสดงความรับผิดรับชอบทางการเมือง
แทนที่จะกำหนดในบทกฎหมายให้มีใครบางกลุ่มผูกขาดการตีความเรื่องจริยธรรมและเสี่ยงจะใช้เรื่องจริยธรรมมากลั่นแกล้งกันทางการเมือง
- ดังนั้น ตั้งแต่เราทำหน้าที่แกนนำฝ่ายค้าน
เราจึงตัดสินใจหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธดังกล่าว
แม้หลายครั้งอาจเป็นประโยชน์ทางการเมืองสำหรับเรา
เพราะเราเห็นว่าการสร้างสังคมที่เสพติดการใช้อาวุธดังกล่าว
มีแต่จะบั่นทอนหลักนิติรัฐ ซึ่งจะมั่นคงได้ต่อเมื่อเรามีการตีความกฎหมายที่มีความชัดเจนแน่นอนและการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม-เสมอภาค
ดังนั้น
แม้เราเห็นต่างกันได้ ว่าพรรคประชาชนควรเลือกใช้อาวุธใดในการตรวจสอบรัฐบาล
ที่จะส่งผลดีที่สุดสำหรับประเทศทั้งในเชิงผลลัพธ์เฉพาะหน้าและการสร้างบรรทัดฐานในระยะยาว
แต่การตัดสินใจของเราในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน
ไม่เคยมีครั้งไหนที่เราออมมือหรือเกรงใจใคร แต่เราใช้ “มาตรฐานเดียวกัน”
ในการตรวจสอบผู้มีอำนาจทุกคน
สิ่งที่พรรคประชาชนไม่เคยทำคือ:
-
วันหนึ่งเลือกไม่เดินหน้านโยบายสำคัญๆเพียงเพราะต้องรักษาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม
แต่อีกวันหนึ่งก็เดินหน้าเต็มที่เมื่อตัดสินใจแยกทางกัน
-
วันหนึ่งปิดตาข้างเดียวต่อการทุจริตและความไม่โปร่งใสของฝ่ายเดียวกัน
แต่อีกวันหนึ่งก็ตรวจสอบเขาเต็มที่เมื่อกลับมาอยู่กันคนละฝ่าย
-
วันหนึ่งส่งเสียงสนับสนุนกลไกและกลุ่มคนที่ทำให้รัฐบาลข้ามขั้วตั้งได้สำเร็จ
แต่อีกวันหนึ่งก็มาพยายามผูกขาดความเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไว้กับตนเอง
ทางผมและพรรคประชาชนยีนยันว่าคุณแพทองธารไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี
ทางผมและพรรคประชาชนยีนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ควรได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศต่อไป
ทางผมคาดว่านายกฯแพทองธารและรัฐบาลชุดนี้กำลังจะเจอจุดจบทางการเมืองในเร็วๆนี้
แต่ทางผมเห็นว่าการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล
เกิดขึ้นได้ และควรเกิดขึ้น โดยไม่ต้องแลกมากับ “ราคาที่ประชาชนต้องจ่าย”
ในรูปแบบของหลักการประชาธิปไตยที่ถูกบ่อนทำลาย