"ทักษิณ" มาศาลสืบพยานโจทก์นัดแรกคดี ม.112 - พ.ร.บ.คอมฯ
“วิญญัติ” เผย “ทักษิณ” ตั้งใจมาฟังการสืบพยานทุกนัด ยัน
เจ้าตัวต้องการปรากฏตัวศาลทุกนัด เพื่อพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ ด้าน “สมชาย-เสริมศักดิ์”
มาด้วย
วันที่
1 กรกฎาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ศาลอาญา
ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง หมายเลขดำ อ.1860/2567
ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ
ชินวัตร อดีต นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิด ฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา
ม.112 และความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
จากกรณีให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อปี 2558
โดยบรรยากาศแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา
เมื่อเวลา 08.30
น. นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ
ให้สัมภาษณ์ถึงการนัดสืบพยานโจทย์นัดแรกว่า ศาลได้นัดสืบพยานแบบต่อเนื่องเป็นเวลา 3
วันติดต่อกัน คือ วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 3
กรกฎาคม 2568 โดยฝั่งโจทก์มีพยานทั้งหมด 10
ปาก จำเลย 14 ปาก ซึ่งการสืบพยานมีทั้งหมด 7
นัด แต่สามารถเสร็จก่อน 7 นัดได้
ขึ้นอยู่กับกระบวนการของศาล และนัดสุดท้ายในการสืบพยานคือวันที่ 23 กรกฎาคม
สำหรับ
อัยการที่เป็นโจทก์ฟ้องนายทักษิณนั้น ถือว่าวันนี้เป็นนัดแรก ใน 3 นัด
ที่โจทก์นำพยานหลักฐานขึ้นสืบพยานในข้อหาความผิดมาตรา 112 และ
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยฝ่ายโจทก์จะนำพยาน 3 ปากที่ได้นัดไว้จาก
10 ปากมาขึ้นเบิกความ และทนายฝ่ายจำเลยถามค้าน
ส่วนกระบวนการพิจารณาก็มีเพียงเท่านี้
เพราะยังไม่ถึงเวลาที่นายทักษิณจะขึ้นมาเบิกความ
ส่วนนายทักษิณจะต้องเดินทางมาที่ศาลอาญาทุกรอบเลยหรือไม่
นายวิญญัติ ระบุว่า คดีนี้ เป็นคดีที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
และได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา ซึ่งนายทักษิณจะต้องมาปรากฏตัวต่อศาล
เพราะในวันนี้เป็นนัดแรก ส่วนหลังจากนี้จะต้องดูว่าศาลจะออกข้อกำหนดในการพิจารณาคดีว่าอย่างไร
เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และราบรื่นต่อการพิจารณาคดี
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า
จะมีการพิจารณาลับหลังจำเลยหรือไม่ นายวิญญัติ กล่าวว่า
ตามประมวลกฎหมายพิจารณาคดีอาญา การจะขอสืบพยานลับหลัง จะต้องมีอัตราโทษไม่เกิน 10 ปี
แต่คดีนี้สูงกว่า 10 ปี และอาจเป็นข้อยกเว้น แต่ถ้าหากจำเป็น
และจำเลยมีทนายอยู่แล้ว ก็ขอพิจารณาลับหลังได้ พร้อมยืนยันว่า
เบื้องต้นนายทักษิณจะขอรับเข้าการพิจารณาคดีทุกรอบ หากไม่ติดภารกิจ
ส่วนที่ก่อนหน้านี้
เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า
ประเด็นที่ติดใจคือเรื่องการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติว่า อาจจะมีการแปลผิด
ยังคงติดใจในประเด็นนี้อยู่หรือไม่ นายวิญญัติ กล่าวว่า ภายใน 1-2 วัน
จะมีการพิจารณาเรื่องคลิปการสัมภาษณ์อย่างแน่นอน
และจะทำให้เห็นว่าคลิปวิดีโอดังกล่าวน่าเชื่อถือหรือไม่
และมีการเก็บพยานหลักฐานมาได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นตอนในการพิสูจน์หลักฐาน
ที่เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อถามว่าศาลจะให้น้ำหนักในเรื่องใดในการพิจารณาคดี
นายวิญญัติ เผยว่า ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของท่าน ไม่สามารถก้าวล่วงท่านได้
ดังนั้นการพิจารณาคดีอาญามีหลักสำคัญ หลักเดียว จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง
หรือไม่มีพยานหลักฐาน มีน้ำหนัก เพียงพอหรือไม่
ต่อมา
เวลา 09.10
น. มีรายงานว่า นายทักษิณเดินทางมาถึงที่ศาล
โดยเข้าประตูด้านข้างเพื่อขึ้นไปยังห้องพิจารณาคดี ก่อนที่รถ Mercedes-Maybach
สีดำ - เงิน ทะเบียน ธศ 267 กทม.
ของนายทักษิณจะเข้ามาจอดบริเวณด้านข้างของศาล ที่มีสื่อมวลชนปักหลักรอทำข่าวอยู่
นอกจากนี้
ยังมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางมาที่ศาลอาญา
ด้วยเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้มีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า
บริเวณด้านหน้าทางขึ้นศาลอาญา มีประชาชนจำนวน 4-5 คน สวมเสื้อยืดลายธงชาติไทย
และเขียนคำว่า “คนไทยไม่ขายชาติ” มายืนรอเช่นเดียวกัน
ซึ่งจากการสอบถามจากกลุ่มบุคคลดังกล่าว ตอบว่า
“ตั้งใจเดินทางมาที่ศาลอาญาหลังจากรู้กำหนดการว่านายทักษิณจะเดินทางมาฟังการสืบพยานในนัดแรก
หวังว่านายทักษิณ จะเห็นข้อความที่อยู่บนเสื้อ”