ในรายการ "เหลียวหลังแลไปข้างหน้าเพื่อประชาธิปไตย" เมื่อวันที่ 2 - 5 ก.พ. 59 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้วิเคราะห์ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, แนวคิดและเป้าหมายของการใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม รวมทั้งผลที่เกิดจากการใช้ระบบนี้ โดย อ.ธิดา ได้แสดงทัศนะต่อประเด็นต่าง ๆในร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวดังนี้
การเลือกส.ส. ในระบบจัดสรรปันส่วนผสมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย
1. ทำไมคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม
เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด ไม่ต้องการให้เกิดพรรคใหญ่ 2-3 พรรค ตามเป้าหมายของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ควบคุม ส.ส. ได้ และกำจัดนักการเมืองเจ้าพ่อในท้องถิ่นที่ตั้งกลุ่มมาเรียกร้องต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี
แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งเป้าหมายตรงข้ามกับรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะระบบนี้จะทำให้พรรคกลาง, พรรคค่อนข้างเล็ก เก็บคะแนนที่แพ้ตามเขตต่าง ๆ มาเพิ่มเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อได้มากขึ้น และพรรคการเมืองขนาดใหญ่จะทิ้งห่างกันไม่มาก นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมที่พรรคคะแนนกลาง ๆ มีอำนาจต่อรองให้ได้ประโยชน์ ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงใหญ่ ๆ มากที่สุด และมีความเป็นไปได้สูงที่พรรคกลาง ๆ , พรรคขนาดเล็กเหล่านี้จะนำเสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกผู้มีบารมีดังที่เกิดขึ้นเสมอในช่วงเวลาก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นหมายความว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการหมุนประเทศไทยกลับไปสู่ช่วงเวลาเดิม ก่อนปี 2535 และก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นเอง เพื่อให้ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมไทยสามารถควบคุมอำนาจประชาชนที่ผ่านพรรคการเมืองนักการเมือง
2. เพื่อบรรลุเป้าหมายตามข้อแรก ระบบจัดสรรปันส่วนผสมจึงถูกนำมาจากการคำนวณ ส.ส.แบบสัดส่วนตามความนิยมพรรคของบางประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี เป็นต้น โดยหวังไม่ให้พรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะระบบสัดส่วนในประเทศเหล่านั้นมีเหตุผลสำคัญเฉพาะประเทศเขาที่เป็นสหพันธรัฐรองรับ แต่การนำมาประยุกต์ดัดแปลงจากระบบเดิมนั้นได้ต่อยอดจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์มาเป็น 1 บัตรเลือกส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อและรับรองชื่อนายกรัฐมนตรี (3 IN 1)
2.1 ปัญหาสำคัญคือ ยกเว้นหน่วยเล็ก ๆ บางประเทศแล้ว ในโลกนี้ไม่มีใครใช้บัตรใบเดียวเพื่อตอบหลายเจตนารมณ์ เพราะบัตร 1 ใบต้องตอบโจทย์ข้อเดียว คือจะเลือกส.ส.เขตกับพรรคเป็นคนละเรื่อง นี่เป็นหลักการใหญ่ที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้บังคับประชาชนให้ทำตามที่ตนเอง (คณะผู้ร่าง) ต้องการ แทนที่จะร่างให้ตรงกับเจตจำนงประชาชนทั่วไปในสากล
2.2 การทำให้พรรคการเมืองอ่อนแออันเนื่องจากต้องใช้ผู้มีบารมีและอิทธิพลในท้องถิ่นเพื่อให้ได้คะแนนนิยมของส.ส.และพรรคด้วยบัตรใบเดียวกัน เพราะพรรคไม่สามารถนำเสนอนโยบายที่โดดเด่นได้อีกต่อไป อันเนื่องจากถูกบังคับด้วยบทบัญญัติในการควบคุมนโยบายทางเศรษฐกิจสังคมอย่างเข้มงวด
2.3 เกิดพรรคขนาดกลางใหญ่ กลางเล็ก และพรรคเสริม (เป็นอะไหล่พรรคใหญ่)
2.4 ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่สนับสนุนหน่ออ่อนใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นพรรคเล็ก เพราะการมีบัตรเดียวต้องเอาคะแนนส.ส.เขตทั้งประเทศมาคิดเป็นคะแนนสัดส่วนพรรค เท่ากับว่าทุกพรรคต้องส่งคนลงให้ได้ครบทุกเขตหรือส่งมากที่สุด ซึ่งเป็นไปได้ยากสำหรับพรรคเกิดใหม่ที่มีแนวทางอุดมการณ์เฉพาะ
3. ปัญหาการได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อจะถูกมัดไว้กับคะแนน ส.ส.เขตของทุกพรรคจนคำนวณไม่ได้ เพราะต้องรอตัวเลขที่ถูกต้องและได้รับการรับรองทุกเขต และบางพรรคอาจไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว เพราะได้ ส.ส.เขต เท่ากับหรือมากกว่าสัดส่วน เพราะเอามาผสมกันแทนที่จะเป็นแบบคู่ขนานเหมือนรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งประชาชนได้เลือก ส.ส. และพรรคตามเจตนารมณ์ และคะแนนของส.ส.เขตก็เป็นการเอาชนะด้วยเสียงข้างมากตามที่เคยเลือกตั้งมาตลอดในสังคมไทยและสังคมโลก แต่คะแนนพรรคก็สามารถเก็บสะสมได้ทุกคะแนนไม่ได้ถูกทิ้งตามที่พวกอนุรักษ์นิยมหลอกลวงว่าคะแนนถูกทิ้งน้ำไป เพราะการเลือกส.ส.เขตเขาคัดคนชนะออกมา และผู้ชนะก็ได้คะแนนไม่เท่ากันทุกเขต คะแนนเขาทิ้งน้ำหมดทั้งผู้แพ้ผู้ชนะ เพราะเขาเอาคนชนะเป็นสำคัญสำหรับส.ส.เขตทั่วโลก
ผลที่เกิดขึ้นจากระบบจัดสรรปันส่วนผสมนี้
1. เป็นที่มาของรัฐบาลผสม ไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้ง่ายต้องต่อรองใช้เวลา เพราะคะแนนเสียงไล่เลี่ยกันไม่ทิ้งขาด จนอาจเป็นเหตุให้ต้องใช้บริการนายกฯ คนนอกที่นำเสนอโดยพรรคกลาง, พรรคเล็ก ดังที่เกิดในยุคพลเอกเปรมและยุคม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นต้น กระทั่งนำไปสู่การทำรัฐประหารรอบใหม่อีกก็ได้ ถ้าขัดแย้งกันจนตกลงกันไม่ได้
2. ระบบนี้ทำให้มีการซื้อเสียง ทุจริตมากกว่าเดิม เพราะเดิมพันสูง ซื้อ 1 ได้ 3 และจะมีการฟ้องร้องเพื่อล้มผลการเลือกตั้งมากกว่าเดิม
3. ประเด็น Overhang Mandate ที่เกิดจากพรรคเล็กได้ส.ส.เขตในจำนวนสัดส่วนที่มากกว่าสัดส่วนที่พรรคควรได้เมื่อคำนวณคะแนนรวมทั่วประเทศ ทำให้เกิดการโต้เถียงได้ว่าจำนวนส.ส.ไม่ตรงกับสัดส่วนที่ควรจะเป็นตามระบบสัดส่วน จะเป็นเรื่องโต้แย้งยาวและศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันตัดสินแล้วว่าต้องใช้เปอร์เซ็นสัดส่วนเป็นหลัก ในประเทศเราจะขัดแย้งกันไม่รู้จบเมื่อใช้ระบบสัดส่วนเป็นหลัก แต่จำนวนคนไม่ได้ตามสัดส่วน จะตอบคำถามผู้สมัครส.ส.และพรรคการเมือง ประชาชน และชาวโลกอย่างไร หรือจะหวังให้ศาลรัฐธรรมนูญไทยตัดสินต่างกับศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน
ดิฉันเห็นว่าเป้าหมายของอนุรักษ์นิยมไทยได้พยายามหมุนกงล้อประวัติศาสตร์ให้ถอยหลังไปก่อนปี พ.ศ. 2535 และก่อนใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ให้ได้ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ สักค่อนใบครึ่งใบ โดยเริ่มจากอำนาจนิติบัญญัติที่ไม่ได้มาจากประชาชนตรงไปตรงมา เช่น วุฒิสมาชิกและการเลือกส.ส.ในระบบจัดสรรปันส่วนผสมนั่นเอง
ธิดา ถาวรเศรษฐ
5 ก.พ. 59