วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

วุฒิสภาในร่าง รธน. ฉบับ กรธ. : อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ


ในรายการ "เหลียวหลังแลไปข้างหน้าเพื่อประชาธิปไตย" เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ม.ค. และวันจันทร์ที่ 1 ก.พ. 59 อ.ธิดา  ถาวรเศรษฐ ได้วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๙  ซึ่งประเด็นแรกที่กล่าวถึงคือสมาชิกวุฒิสภา  โดย อ.ธิดา ได้แสดงทัศนะต่อสมาชิกวุฒิสภาใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวดังนี้

วุฒิสภาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ

เป้าหมายคือต้องการได้วุฒิสภา (สภาพลเมือง) ของอนุรักษ์นิยมไทยที่ปลอดจากอิทธิพลพรรคการเมือง  นักการเมือง  ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น  จึงกำหนดคุณสมบัติและข้อห้ามของผู้มีสิทธิสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีลักษณะชนชั้นและเอื้อประโยชน์ต่ออนุรักษ์นิยม

ประการแรก คือคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ว.  โดยการจำแนกกลุ่ม 20 กลุ่มในสังคมล้วนเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางบนขึ้นไป  มีที่มาจากข้าราชการ  มาจากภาคประชาสังคม (NGO)  และประชาคมของอนุรักษ์นิยมไทย  และองค์กรวิชาชีพหลัก  ตลอดจนตัวแทนธุรกิจ  ประหนึ่งว่าเป็นคุณสมบัติของสภาพลเมืองในยุคอดีตกาลของสังคมยุคทาส  ที่อนุญาตให้พลเมืองบางกลุ่มที่เสียภาษีและอดีตทหารเข้าสภาได้  อาจกล่าวได้ว่าเป็นสภาตัวแทนชนชั้นกลางขึ้นไป

ประการที่สอง  ข้อห้ามของผู้สมัคร ส.ว. นอกจากมีลักษณะชนชั้นแล้ว  มีลักษณะกีดกัน ห้ามกลุ่มคนที่สัมพันธ์กับการเมืองในการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น  กล่าวคือ  แม้แต่ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด  หรือมีตำแหน่งทางการเมืองใด  ต้องลาออกหรือสิ้นสุดมาแล้วเกิน 10 ปี  นี่เป็นข้อห้ามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตย  เพราะการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นเรื่องชอบธรรมของประชาชนในการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เพราะประชาชนควรเป็นเจ้าของพรรคการเมืองและผลักดันให้แนวนโยบายพรรคการเมืองเป็นของประชาชน

บทบัญญัติเช่นนี้กีดกันประชาชนจำนวนมากเกิน 10 ล้านคนไม่ให้มีสิทธิ์สมัคร ส.ส.  และทำให้อนาคตประชาชนจะไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด  เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อชีวิตการเมือง เช่น การสมัคร ส.ว. เป็นต้น

ประการที่สาม  กระบวนการเลือกตั้งกันเองจากกลุ่มคนผู้สมัคร  โดยอ้างว่าเลือกไขว้กันเพื่อป้องกันการบล็อคโหวต  ไม่ได้ผล  เพราะจะเริ่มการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์และล็อบบี้กันด้วยผลประโยชน์  ตั้งแต่ระดับอำเภอ  ระดับจังหวัด  และสร้างเครือข่ายเพื่อล็อบบี้กันในระดับภาคและระดับประเทศได้  ทั้งลงทุนน้อยกว่าในการซื้อเสียง (ถ้ามี)  สามารถได้ ส.ว./จำนวนมากเป็นเครือข่ายกัน  ดังปรากฏง่าย ๆ ที่สภาที่ปรึกษาซึ่งต้องการให้ NGO ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้นำชุมชนได้รับเลือก  แต่ก็ถูกบล็อกโหวต

ประการที่สี่  หน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย  ไม่ใช่บทบาทของสภาพี่เลี้ยงที่ให้คำแนะนำแก่สภาผู้แทนราษฎร  แต่กลายเป็นบทบาทสูงยิ่ง  สามารถแก้ไขกฎหมายเองและ/หรือร่วมตั้งกรรมาธิการแก้ไขกฎหมายจนสามารถยับยั้งกฎหมายได้ครั้งละ 6 เดือน  เท่ากับมีอำนาจในรัฐสภาและยับยั้งกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศเป็นเวลายาวนานถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วย

อำนาจหน้าที่ของ ส.ว. ของอนุรักษ์นิยมไทยที่สำคัญสุด ๆ คือ  การเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหา  เพราะองค์กรเหล่านี้มีอำนาจสูงยิ่งในการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน  เท่ากับว่าชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมไทยได้ใช้วุฒิสภาของตนทำหน้าที่ในการจัดการกับตัวแทนอำนาจประชาชน  เพราะที่มาของวุฒิสภาคือที่มาขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ  นี่จึงเป็นเหตุผลที่อนุรักษ์นิยมไทยไม่อาจปล่อยให้วุฒิสภายึดโยงหรือเกี่ยวข้องอำนาจของประชาชนโดยตรง  เพราะวุฒิสภาเป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมไทยที่ใช้ควบคุมจัดการกับประชาชนนั่นเอง

ธิดา  ถาวรเศรษฐ
3 ก.พ. 59