เสวนา “ยุตินิติรัฐประหาร รื้อรัฐธรรมนูญเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน“
วันนี้ (10 ธ.ค. 67) เวลา 13.00 ที่ห้องประชุม PBIC 205 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จัดเวทีเสวนาวิชาการ PRIDI Talks #28 x PBIC: “ยุตินิติรัฐประหาร รื้อรัฐธรรมนูญเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” โดยรศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวเปิดงาน ก่อนที่ 13.30 น. เริ่มวงเสวนา ผู้ร่วมเสวนาโดย นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา, รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา, รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ดำเนินรายการโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร iLaw
โดยนางจีรนุช ได้กล่าวถึง สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยุน ซอก-ยอล ประกาศกฎอัยการศึก และประชาชนได้ลุกขึ้นมาต่อต้าน จนต้องยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกออกไป ตนได้แรงบันดาลใจว่ารัฐธรรมนูญสามารถหยุดรัฐประหารได้ ออกแบบดี ๆ ก็สามารถสกัดรัฐประหารได้เช่นกัน มันทำให้เราเชื่อมั่นมากขึ้นว่ารัฐธรรมนูญสามารถเป็น instrument เป็นเครื่องมือในการออกแบบการปกครองที่มีความหมายได้
ตนขอถามประเทศไทยต่างอะไรกับเกาหลีใต้? ทำไมเราทำแบบเขาไม่ได้? ทำไมเรามีรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งมีหนึ่งข้อที่ตนเชื่อว่า เราไม่ต่างกัน คือ เรามีจิตใจของนักสู้ที่ไม่แตกต่างกันของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ประชาชนไทย อดทนและอึดทนอย่างมากในการอยู่ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สู้กับประชาธิปไตยครึ่งใบ หากเปรียบเรื่องประชาธิปไตย ตนเชื่อว่าประชาชนไทยไม่น้อยหน้าเกาหลีใต้แน่นอน
นางจีรนุช ได้ด้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีที่มาที่ไป สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ พฤษภา 2535 ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านการมีนายกคนนอก เกิดการสู้ของคนชนชั้นกลางในประเทศไทย และนำไปสู่การพัฒนาการของสังคมไทยในประชาธิปไตยจนก่อรูปก่อร่างเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย โดยประชาชนมีส่วนร่วมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ
ถ้าเราไปดูรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ ตั้งคำถามรัฐธรรมนูญคืออะไร คือพื้นที่สำหรับการต่อรอง และประนีประนอมอำนาจให้อยู่กันในกติกาประชาธิปไตย พอจะรับกันได้ในสังคมนั้น ๆ คำว่า อํานาจอธิปไตย คืออำนาจของเราในการปกครอง ให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ
นางจีรนุช กล่าวถึงถ้อยคำที่คณะราษฎร เขียนถึงคือ อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายเป็นครั้งแรกและฉบับเดียวที่มีการใช้คำเช่นนี้ หลังจากนั้นเราก็ถูกใช้ถ้อยคำทางเชิงเทคนิคว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ดิฉันสงสัยว่า อำนาจสูงสุด ไม่ดีอย่างไร นักกฎหมายถึงไปเปลี่ยนเป็นคำว่า อำนาจอธิปไตย
นางจีรนุช ระบุว่า หากมองดูเรื่องการออกแบบรัฐธรรมนูญในแบบประชาธิปไตยในสังคมไทย ถ้าเราดูสังคมไทย เราดูในฝั่งซ้ายที่เป็นสเปกตรัมของประชาชนและฝั่งขวาฝั่งของขุนศึก ศักดินา อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร โดยหลักการประชาธิปไตยควรเป็นของของประชาชน ขณะที่ระบบเศรษฐกิจ ทุนนิยมที่มีการผูกขาด มีอำนาจของชนชั้นนำเข้ามาเกี่ยวข้อง ประชาชนคนไทยเราเคารพกติกาอย่างยิ่ง เราใช้สิทธิตามกฎหมาย เราเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญปี 2563 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่การเข้าชื่อมากกว่า หนึ่งแสนรายชื่อ และถูกปัดตกอย่างไม่ไยดี และในอดีตก็เช่นกัน
ในนามของเครือข่ายภาคประชาชน เราต่อสู้กันหลายรูปแบบ เราจะมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อรัฐบาลต้องการแบบไหนที่จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญ เราก็ไปตามเกมนั้นมาโดยตลอด จะทำประชามติ 3 ครั้ง เราก็ทำ จนตอนนี้ผ่านไป 3 ปี ประชามติครั้งที่ 1 ก็ยังไม่เกิดขึ้น แล้วจะได้รัฐธรรมนูญปี 2570 ทันไหม ตนเองเชื่อว่าเรามาด้วยความหวัง ถ้าเราเดินทางไปด้วยประชามติ 2 ครั้ง เชื่อว่าเราไปได้ สามารถมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้มีกติกาที่เป็นประชาธิปไตยทัน ในรอบที่ประชาชนจะตัดสินในอนาคตการเข้าคูหาเลือกตั้ง 2570 ครั้งต่อไป นางจีรนุชทิ้งท้าย
ด้านนายนิกร กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาในระบบรัฐธรรมนูญไทย เราผิดรูปผิดร่าง ไทยเป็นสังคมอย่างหนึ่ง เรามีหลักการไปหลายเรื่องมาก พอผิดเหลี่ยมนิดเดียวถูกยึดอำนาจ ประชาชนก็ไม่ลุกขึ้นสูงก็เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด
รัฐธรรมนูญปี 2540 ฉบับประชาชน ตอนนั้นการเมืองแย่มาก พอประกาศไปเสร็จ ผมพูดเสมอว่าไม่มีสักมาตราที่อยู่ในสมองท่านบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีไทย แกเพียงจะเอาตามที่ประชาชนกำหนดเท่านั้น” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวว่า ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2540 คำสุดท้ายคือ ‘ได้แค่นี้ แล้วไปแก้ในอนาคต’ เราอยู่มา 10ปี แล้วเราไม่แก้ ช่วงนั้นตนเป็นฝ่ายค้าน รัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้ประชาชนเข้มแข็ง เข้มแข็งจนเราอภิปรายไม่ได้ ก็เลยถูกยึดอำนาจ ถ้าเรามีเสียงพอที่จะอภิปรายได้ทหารก็ยึดอำนาจ รัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกฉีก หลังจากนั้นก็กลับไปที่เดิม
ผมนั่งนับทุกวัน ขณะนี้จะมีโอกาสอยู่เหลือแค่ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แล้ว เรื่องประชามติ 2 ครั้งไม่ต้องไปคิด เพราะเราคิดมาหลายครั้งแล้ว ถูกศาลรัฐธรรมนูญทุบมาแล้ว ก็ร่างที่ผมเสนอเข้าไป ทำไมผมจะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น?
นายนิกร เผยต่อว่า มาตรา 256 ต้องผ่าน ตนเสนอในวันรัฐธรรมนูญเมื่อเช้าที่ผ่านมา ว่าให้รัฐบาลทำเป็นร่างมาตรา 256 ของตัวเอง มันจะได้แรปคำพูดของรัฐบาลที่สัญญากับประชาชน ที่จะทำรัฐธรรมนูญประชาชนให้ได้ในนามรัฐบาล อย่าให้พรรคแต่ละพรรคยื่น ซึ่งพรรคที่ยื่นได้มี 2 พรรค พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน พรรคภูมิใจไทยยื่นไม่ได้เพราะเสียงไม่ถึง 100 เสียง เป็น มาตรา 256 ของ ครม. หรือของร่วมรัฐบาลเท่านั้นที่ร่วมกัน จะได้มีคนไปคุยกับ ส.ว. โอกาสเดียวของเราที่มีคือครั้งเดียว
“ร่างมาตรา 256 ที่ค้างอยู่ในสภาขณะนี้ ผมกลัวจะมีปัญหา เหตุผลร่างนี้ที่สภาจะรับไป ซ่อนรัฐธรรมนูญไว้ใน (8) ก็คือว่า การจัดทำประชามติ ให้ทำได้ในกรณีทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปัญหาคือ จะผ่านหรือไม่” นายนิกรกล่าว และว่า ถ้าร่างนี้บรรจุจะไม่ผ่าน แต่ถ้าร่างมาตรา 256 15/1 มี สสร. สภาจะไม่รับ ไม่ถูกบรรจุ ตนจึงสรุปว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ประชามติ 3 ครั้ง แต่ถ้า 2 ครั้งได้ก็ไม่ผ่าน เพราะ 2 ครั้ง ไม่มี สสร.
ด้านนายพริษฐ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต่อให้เร่งสปีดแค่ไหน อย่างน้อยต้องใช้เวลา 1-2 ปี ดังนั้นสิ่งที่พรรคประชาชนเสนอมาตลอดคือ ทำ 2 ทางคู่ขนานกัน 1. จัดทำฉบับใหม่ กับ 2.แก้ไขรายมาตราในประเด็นที่สำคัญเร่งด่วน ซึ่งพรรคประชาชน ยื่นเข้าไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ให้มี ส.ส.ร. มาจัดทำฉบับใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานสภาไม่บรรจุร่างดังกล่าว เพราะไปวินิจฉัยว่าจะต้องทำประชามติก่อน 1 รอบ 2.ยื่นร่างแก้ไขรายมาตรา เกือบ 20 ร่าง หลายประเด็น อาทิ การแก้ไขปัญหาสิทธิเสรีภาพสิทธิชุมชน การปฏิรูปกองทัพ การป้องกันการรัฐประหาร การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติของ คสช. เป็นต้น
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า การที่ตนและพรรคประชาชน พยายามผลักดันเรื่องนี้ มาจากการที่เราคำนวณห้วงเวลาแล้ว ถ้าเดินตามแผนรัฐบาล ทำประชามติ 3 ครั้ง โดยไม่เริ่มครั้งแรกจนกว่าจะแก้ พ.ร.บ.ประชามติเสร็จ ยังไงก็ไม่มีทางที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันทำการเลือกตั้ง ตามที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้ ดังนั้นจึงคิดว่าแทนที่จะมานั่งรอ หนทางเดียวที่ยังพอมีความเป็นไปได้ที่จะทำ คือการลดการประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง และพยายามหาแนวร่วม ซึ่งมี 2 กลุ่มคนที่สำคัญคือประธานสภา ให้ทบทวน จากเดิมที่ตีความว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งนี้จะเข้าไปคุยใหม่ พร้อมยื่นความเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรายบุคคล รวมถึงผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับศาลรัฐธรรมนูญไปประกอบด้วย ซึ่งที่เปิดเผยได้ ไม่มีใครแสดงความเห็นว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง กับกลุ่ม 2 คือโน้มน้าว สว. ให้โหวตเห็นชอบ
“12 ธ.ค. นี้ จะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าไปอีกรอบหนึ่ง เพื่อให้การมีคณะกรรมการวินิจฉัยอีกรอบ และหวังว่าประธานสภาจะทบทวนและบรรจุ ด้วยข้อมูลใหม่ 2 ชุดที่กล่าวมา ซึ่งไม่มีอะไรรับประกัน แต่เราเห็นว่าทำแล้วไม่มีอะไรเสียหาย เพราะเสียงของ สส. อย่างเดียวไม่เพียงพอ ยังจำเป็นต้องได้เสียง สว. 1 ใน 3 ด้วย ก็เป็นสิ่งที่ต้องไปทำงานทางความคิดกับ สว. ต่อไป เพื่อโน้มน้าวว่าสามารถโหวตเห็นชอบให้มี ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ก็จะเป็นความท้าทาย” นายพริษฐ์ กล่าว
ขณะที่รศ.ดร.ประภาส ระบุว่า เรื่องประชามติ มีปัญหาเรื่อง การทำประชามติ 2 ชั้น ซึ่งจากโพลของนิด้า เห็นด้วยว่าควรทำ 2 ชั้น คนออกมาทำประชามติมากว่าร้อยละ 50
“แต่ปัญหาคือรัฐบาลพูดเรื่องนี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก ที่มองว่ากำหนดไว้ 50 เปอร์เซ็นต์จะเป็นประชาธิปไตย แต่ลืมดูปีศาจในรายละเอียด”
“รัฐธรรมนูญที่ดี ถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ มันไม่เคยเกิดขึ้นจากชนชั้นนำ เรียกร้องพวกเราด้วยกัน ไม่น้อยไปกว่าผลักดันคนข้างในสภาฯ เป็นภารกิจร่วมกันของสังคม ทำให้เกิดเครือข่าย สร้างบริบทในภาคการเมือง เพื่อให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญ” รศ.ดร.ประภาสกล่าว
ด้านรศ.ดร.พวงทอง กล่าวช่วงหนึ่งว่า ‘กองทัพในปัจจุบัน ไม่ใช่รัฐซ้อนรัฐแต่เป็นรัฐอิสระเลย’ ที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถเข้าไปควบคุม แทรกแซงอะไรได้ แม้กระทั่งเรื่องการเกณฑ์ทหาร ดังนั้น ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่มีทางแก้กฎหมายเกณฑ์ทหารได้เลย” กล่าว
รศ.ดร.พวงทองกล่าวด้วยว่า แทนที่องค์กรอิสระ จะถูกสร้างขึ้นมาตรวจสอบ-ถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ ให้มีความยุติธรรม เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ปัจจุบันไม่ใช่เช่นนั้นอีกแล้ว
“ภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่ องค์กรอิสระเป็นเครื่องมือลงโทษ จำกัดอำนาจกลุ่มที่ไม่พึงประสงค์แนวคิดที่ว่า รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ควรมีอำนาจควบคุมกลไกราชการ ไม่ได้อยู่ในสารบบความคิดของคนเหล่านี้ ตั้งแต่ปี 2490 จนถึงปัจจุบัน ตรงกันข้าม ทำให้อำนาจฝ่ายพลเรือนอ่อนแอลง” รศ.ดร.พวงทองระบุ
ช่วงหนึ่ง รศ.ดร.พวงทอง กล่าวว่า“มีข่าวหนึ่งที่อ่านแล้วกังวล คือตอนที่พรรคประชาชนเสนอร่าง ‘แก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม’ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. แล้วถูกตีกลับมาวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา (ครม.ไม่รับบรรจุ เพราะหน่วยราชการไม่เห็นด้วย)
“ประเด็นสำคัญที่ถูกตีกลับ คือความเห็นของหน่วยราชการที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นี้ของพรรคประชาชน เช่น กองทัพ ซึ่งยังมี สมช. สำนักงบประมาณ ก็ไม่เห็นด้วย แม้กระทั่งกระทรวงการต่างประเทศ มันกลายเป็นช่วยกันปกป้องอำนาจหน่วยราชการด้วยกันเอง”
“เราไม่เพียงสู้กับตัวกฎหมาย แต่ยังสู่กับ Public Opinion กลายเป็นคำพูดที่ว่า ‘นักการเมืองกลั่นแกล้งข้าราชการ’ ถูกส่งต่อผ่านสื่อ แต่พอเป็นราชการ ทำไมเราไม่ตั้งคำถามว่าเป็นการเล่นพรรคเล่นพวกหรือไม่ เพราะ Public Opinion ของคนไทยนั้นต่อต้านนักการเมืองและพรรคการเมืองอยู่ตลอดเวลา”
ในช่วงท้าย รศ.ดร.พวงทอง ระบุว่า พรรคเพื่อไทย ดูเหมือนจะไม่มีปากเสียง เงียบมาก ไม่กล้าตอบโต้
“แต่ถ้าจินตนาการว่า 2 คำพูดนี้ มาจากพรรคประชาชน คงกระหึ่ม โจมตีกันน่าดูเลยว่าทำตัวหล่อ เท่ มาสั่งสอนได้อย่างไร ทั้งที่ควรจับมือต่อสู้ ก็รัฐธรรมนูญจะแก้ได้ด้วยสองพรรคนี้ ต้องจับมือกัน ไม่อย่างนั้น โอกาสที่แก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 7 มันห่างไกลไปเรื่อยๆ
“อย่าทำให้อำนาจต่อรองที่ได้จากประชาชนสูญเปล่า ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ทำแบบนี้ ความเชื่อของประชาชนจะมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า พรรคไม่เอาประชาชนเป็นตัวตั้งในการเมือง เสียงจะกระหึ่ม ว่าการกำหนดนโยบายต่างๆ ของพรรค อิงกับผลประโยชน์ ระยะยาวคุณจะสูญเสียความชอบธรรม และไม่มีหลังพิง” รศ.ดร.พวงทองกล่าว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วันรัฐธรรมนูญ #รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน #รัฐประหาร