วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2567

“พริษฐ์” ยํ้า จุดยืน ปชน. หนุนแก้รธน.ทั้งฉบับ ให้สสร.เลือกตั้ง 100% เมินกระแสค้าน แก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ชี้ จำเป็นต้องมีกม.ต่อกรรัฐประหาร เชื่อถ้า"ปชน.-พท."จับมือกันแน่น กฎหมายก็ผ่านวาระแรกได้ ส่วน สว. ตีตกไม่มีผล แค่ยืดเวลาออกไป

 


พริษฐ์” ยํ้า จุดยืน ปชน. หนุนแก้รธน.ทั้งฉบับ ให้สสร.เลือกตั้ง 100% เมินกระแสค้าน แก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ชี้ จำเป็นต้องมีกม.ต่อกรรัฐประหาร เชื่อถ้า"ปชน.-พท."จับมือกันแน่น กฎหมายก็ผ่านวาระแรกได้ ส่วน สว. ตีตกไม่มีผล แค่ยืดเวลาออกไป

 

วันที่ 10 ธ.ค.67 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าหากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็ว ต้องแก้รายมาตรา ว่า เป็นความเห็นของนายวิษณุ สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ แต่พรรคประชาชนยืนยันมาตลอดว่า เราสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเรามองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาทั้งที่มาและเนื้อหา เนื่องจากขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และขณะที่มีการยกร่าง มีหลายคนที่ออกมารณรงค์คัดค้านถูกจับกุม ดังนั้น เราจึงอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกจัดทำโดย สสร.จากการเลือกตั้ง 100%


นายพริษฐ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันที่มี 279 มาตรา มีเนื้อหาหลายส่วนที่ขยายอำนาจของสถาบันการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และสามารถขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน ที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งการจะแก้ไขเนื้อหาดังกล่าว ต้องผูกพันกับหลายมาตรา ทั้งวุฒิสภา และอำนาจที่มาขององค์กรอิสระ ซึ่งต้องมีการแก้ไขหลายหมวด และหลายมาตรา ดังนั้น การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นทางออกที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม เราทราบว่ากระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลา เราจึงเสนอการแก้ไขรายมาตราควบคู่ไปด้วย เพื่อแก้ไขมาตราที่จำเป็นเร่งด่วน


โดยนายพริษฐ์ ได้กล่าวถึงกรณีพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม โดยเฉพาะการสกัดการปฏิวัติว่า ในมุมมองของพรรคประชาชน หรืออดีตพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เป็นกุญแจดอกสำคัญในการปฏิรูปกองทัพภายใต้รัฐบาลพลเรือน ตามหลักการประชาธิปไตยและมาตรฐานสากล โดยใจความสำคัญที่พรรคได้เสนอไปคือ การพยายามปรับอำนาจที่มาของสภากลาโหม ซึ่งปัจจุบันมาตรา 43 เขียนไว้ว่าการดำเนินการบางเรื่อง รัฐมนตรีกลาโหมซึ่งเป็นตัวแทนพลเรือน ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ แต่ต้องทำตามมติสภากลาโหม ซึ่งมีข้าราชการทหารเป็นหลัก ทั้งนโยบายการทหาร งบประมาณ และการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับทหาร ซึ่งครอบคลุมหลายภารกิจมาก ดังนั้นข้อเสนอของอดีตพรรคก้าวไกล และพรรคประชาชนในปัจจุบัน จึงให้ความสำคัญในเรื่องของโครงสร้างสภากลาโหม โดยการปรับลดอำนาจสภากลาโหม จากที่สามารถมัดมือรัฐมนตรีกลาโหมได้ มาเป็นการให้คำปรึกษาเพื่อประกอบการตัดสินใจให้เกิดความสมดุลกันมากขึ้น ระหว่างทหารกับตัวแทนรัฐบาลพลเรือน


ทั้งนี้ ยืนยันว่า การแก้กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญต่อการปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้เป็นกองทัพมืออาชีพ ไม่แทรกแซงการเมืองและเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งวันนี้มีอย่างน้อย 2-3 ร่างที่จะเสนอเข้าสู่ โดยเฉพาะร่างของพรรคเพื่อไทยซึ่งใจความของตัวล่างสอดคล้องกับพรรคประชาชน อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างแต่ในภาพรวมคือพยายามปรับให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนมากขึ้น และเข้าใจว่าอาจมีร่างของคณะรัฐมนตรี โดยเป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคการเมืองว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ถ้าดูตามคณิตศาสตร์ทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร หากพรรคประชาชนกับพรรคเพื่อไทยจับมือกันแน่น รวมกันแล้วก็มี สส.ถึง 290 คน ก็สามารถผลักดันให้ทุกร่างผ่านความเห็นชอบของสภาได้ ในวาระที่ 1 คือชั้นรับหลักการ จากนั้นค่อยไปถกกันในชั้นกรรมาธิการ จึงเชื่อว่าการที่บางพรรคไม่เห็นด้วย ก็ไม่เป็นอุปสรรค ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนจะโหวตเห็นชอบในร่างของตัวเอง เพื่อให้ผ่านวาระที่ 1 ไป จึงขอเชิญชวน สส. รัฐบาลร่วมกันโหวต


ส่วนกรณีหากร่างผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ แต่อาจจะไม่ผ่านในชั้นวุฒิสภานั่น นายพริษฐ์ กล่าวว่า อำนาจของวุฒิสภา ณ ปัจจุบัน ถ้าเป็นการแก้ไขระดับ พ.ร.บ. ไม่สามารถขัดขวางกฎหมายได้ ทำได้มากที่สุดเพียงแค่ชะลอไป 180 วัน เหมือนกฎหมายประชามติ ซึ่งอาจทำให้กรอบระยะเวลาต้องเพิ่มออกไป แต่ถ้าเสียงของสภาเกินกึ่งหนึ่งยืนยันว่าจะแก้ไขร่าง ก็สามารถทำได้


ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ของพรรคก้าวไกลสุดโต่งเกินไปนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ถ้าหากมองว่าสุดโต่ง ต้องตั้งหลักว่าจะไปเปรียบเทียบกับอะไร เพราะสิ่งที่พรรคเสนอเพื่อปรับเปลี่ยนอำนาจของสภากลาโหมเป็นหลัก เพื่อโอนให้อำนาจมาที่รัฐมนตรีกลาโหมซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือน หากเปรียบเทียบกับมาตรฐานของรัฐบาลสากลก็ถือว่าเป็นปกติ สิ่งที่สุดโต่งมากกว่าก็คือการที่บอกว่ารัฐมนตรีกลาโหมไม่สามารถตัดสินใจ หรือรับผิดชอบเกี่ยวกับการตัดสินใจได้ เพราะต้องฟังเสียงมติสภากลาโหมื พร้อมย้ำว่าถ้าเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลกฎหมายที่เรามีอยู่ ซึ่งเป็นมรดกจากคณะรัฐประหาร 2549 น่าจะเป็นสิ่งที่สุดโต่ง


ส่วนความเห็นของ นายอนุทิน ชาญวีรกูลหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯรัฐมนตรี ที่ต่างให้ความเห็นว่า แม้จะมีกฎหมายออกมา แต่ถึงเวลารัฐประหาร กฎหมายนั้นก็ไม่สามารถควบคุมได้อยู่ดี นายพริษฐ์ มองว่า พรรคประชาชนพูดมาโดยตลอดว่ารัฐประหารไม่ใช่เรื่องง่าย และการแก้ไขกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงเรื่องรัฐประหารถูกจำกัดลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่การแก้กฎหมายเป็นการเพิ่มอาวุธและเครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนและสถาบันทางการเมืองมีไว้ป้องกันและต่อกรกับรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการอื่นป้องกันรัฐประหาร นอกเหนือจากกฎหมายด้วย ทั้งนี้ อย่างน้อยก็ควรร่วมมือกันแก้ไขกฎหมาย ให้มีเครื่องมือเพื่อป้องกันต่อต้านรัฐประหาร ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #รัฐธรรมนูญ #พรบกลาโหม