วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

“ประเสริฐ” สั่งเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์ม “DE fence” เร่งสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์-โจรออนไลน์ ป้องกัน “โทร-SMS” หลอกลวงประชาชน

 


“ประเสริฐ” สั่งเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์ม “DE fence” เร่งสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์-โจรออนไลน์  ป้องกัน “โทร-SMS” หลอกลวงประชาชน 


วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญาการรมทางเทคโนโลยี ผ่านการร่วมดำเนินโครงการ ‘DE-fence platform’ (หรือ แพลตฟอร์มกันลวง) เพื่อป้องกัน “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โทรหลอกลวงประชาชน


นายประเสริฐ กล่าวว่า จากสถิติของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 - 30 ก.ย. 2567 (12 เดือน) พบว่า มีการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 3.3 แสนคดี หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท  ซึ่งถือเป็นความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน และปัจจุบันยังคงเกิดการหลอกลวงโดย “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” อยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการที่มิจฉาชีพได้พัฒนาการก่อเหตุโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านการโทรศัพท์และส่ง SMS ถึงผู้เสียหาย


ทั้งนี้จากการหารือแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงดีอี กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ  สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบในการจัดตั้งโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง “DE-fence platform” เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง รวมทั้ง ส่ง SMS หลอกลวง เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชน ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้น ของคนร้าย รวมถึงช่วยยืนยันเบอร์จากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือ สถาบันการเงิน เป็นต้น ภายใต้ชื่อ “DE-fence platform” (หรือ แพลตฟอร์มกันลวง) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการใช้งานป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


สำหรับ DE-fence platform เป็นการบูรณาการการทำงานผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคม กสทช ผู้บังคับใช้กฎหมาย อาทิ ตำรวจ และ กระทรวงดีอี เพื่อสอดรับกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาแก๊งคอลเตอร์ และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง


“มาตรการนี้เป็นการป้องกัน ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ที่ใช้การโทรและ ส่ง SMS หลอกลวงประชาชน ควบคู่กับมาตรการลงทะเบียนผู้ให้บริการส่ง SMS ใหม่ทั้งระบบ ภายในปี 2567 นี้ และต้องมีการลงทะเบียนทุกๆ ปี เพื่อให้สามารถระบุว่า ผู้ให้บริการ และ ผู้ส่ง SMS คือใคร รวมทั้งการลงทะเบียนการส่ง SMS แนบลิงก์ จะต้องระบุรายละเอียดของข้อความ และลิงก์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่าย ตรวจสอบลิงก์ ก่อนที่จะส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ (End user)” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว


ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ได้กล่าวว่า เมื่อสิ้นเดือน ตุลาคม 2567 รองนายกฯ ประเสริฐ ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) เร่งพัฒนา DE-fence platform ให้พร้อมใช้ในต้นปี 2568


สำหรับจุดเด่น ของ DE-fence platform คือ การเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลเลขหมายที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ ตร. สำนักงาน ปปง. ศูนย์ AOC 1441 และ กระทรวงดีอี เพื่อใช้ในการเตือนประชาชน ทำให้ประชาชนทราบข้อมูลของผู้โทรเข้าว่า เป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ความเสี่ยงของเบอร์โทรอยู่ระดับใด ก่อนรับสายหรืออ่านข้อความ SMS รวมถึงสามารถตรวจหาความผิดปกติของ Link ที่แนบมากับ SMS ได้ เมื่อผู้รับต้องการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีระบบการแจ้งความออนไลน์ และการแจ้งอายัดบัญชีคนร้าย ผ่านโทรสายด่วน AOC 1441 พร้อมระบบการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อส่งข้อมูลให้กับ ตร. ดำเนินการปราบปรามการกระทำผิดของมิจฉาชีพได้ทันที


DE-fence platform จะใช้หลักการในการแบ่งสายโทรเข้า รวมถึง SMS ที่ได้รับ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มสี คือ 1) Blacklist หรือ สีดำ ซึ่งเป็นหมายเลขการติดต่อจากคนร้ายที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้บริการเลือก Block หรือ ปิดกั้นแบบอัตโนมัติ , 2) Greylist หรือ สีเทา เป็นการติดต่อจากหมายเลขที่ต้องสงสัย ซึ่งติดต่อจากต่างประเทศ หรือ ติดต่อจากอินเตอร์เน็ต โดยระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการได้รู้ถึงระดับความเสี่ยงของสายโทรเข้า หรือ SMS ดังกล่าว , 3) Whitelist หรือ สีขาว เป็นหมายเลขที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหมายเลขของหน่วยงานรัฐ หรือ หมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้อง รวมถึงเป็นหมายเลขที่ผู้ใช้บริการ platform ยืนยันว่าเป็นหมายเลขที่ต้องการรับสาย หรือ ยินยอมรับข้อความ


ทั้งนี้ ระบบ จะมีการทำงานแบบ Real time เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ ตร. และ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ในการวิเคราะห์ และวางแผนในการปราบปรามและป้องกันการหลอกลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อย่างไรก็ตามการพัฒนา DE-fence platform ในระยะแรกจะเน้นที่เบอร์โทร และ SMS ก่อน โดยเฉพาะ whitelist ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ที่คนร้ายชอบใช้ก่อน และในระยะต่อไปจะขยาย whitelist ให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมทั้งขยายการป้องกันและแจ้งเตือนสำหรับการติดต่อทางโซเชียลมีเดีย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์