วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ APEC CEOs-Leaders Dinner ประเทศสมาชิก ระบุไทยพร้อมเสริมสร้างความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างภูมิภาค ผสมผสานมรดกวัฒนธรรม ก้าวสู่ความรุ่งโรจน์ในอนาคตร่วมกัน

 


นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ APEC CEOs-Leaders Dinner ประเทศสมาชิก ระบุไทยพร้อมเสริมสร้างความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างภูมิภาค ผสมผสานมรดกวัฒนธรรม ก้าวสู่ความรุ่งโรจน์ในอนาคตร่วมกัน


เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เวลา 19.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 12 ชม.) ณ พิพิธภัณฑ์ Amano กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ APEC CEOs-Leaders Dinner ร่วมกับผู้นำภาคธุรกิจของเอเปค อย่าง UNACEM Group (ยูเอ็นเอซีอีเอ็ม กรุ๊ป) บริษัทด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานของเปรู และซีอีโอภาคเอกชนอื่น ๆ ที่สำคัญของเปรู 


โดยช่วงก่อนการรับประทานอาหาร นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของเปรู ซึ่งมีร้านขายผ้าลายต่าง ๆ โดยผ้าในร้านล้วนมีการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำจากขนเบบี้อัลปากา ผสมเส้นใยไหมตัววิคูน่า (Vicuña) เคยใช้เป็นผ้าที่มอบให้ผู้นำในการประชุมเอเปคเมื่อปี 2016 และจะมอบให้ผู้นำในปีนี้ด้วย


โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงถึงแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างภูมิภาค โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวทักทายสมาชิกและแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน และขอบคุณ นายเปโดร แลร์-แนร์ ผู้บริหาร UNACEM Group ที่เป็นเจ้าภาพในการจัดเลี้ยงอาหารค่ำในวันนี้ ประทับใจกับความคิดริเริ่มด้านการอนุรักษ์ที่นำโดย UNACEM ซึ่งจะช่วยชะลอการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความยั่งยืน ความคิดริเริ่มนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นว่าภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนส่งเสริมความยั่งยืนได้


ซึ่งก่อนหน้านี้ ในระหว่างการเดินทาง นายกรัฐมนตรีได้ไปชมงานศิลปะสิ่งทอที่มีความปราณีต แสดงถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานของเปรู ซึ่งมีความใกล้เคียงกับรูปแบบงานศิลปะสิ่งทอของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศจะอยู่ห่างกันหลายพันไมล์ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีรู้สึกยินดีที่ได้ทราบว่ามวยไทย ได้รับความนิยมอย่างมากในเปรูด้วย

 

ซึ่งแฟชั่นและมวยไทยถือเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ที่เรียกว่า Soft Power โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการส่งเสริม Soft Power ของประเทศไทยภายใต้นโยบาย 5Fs  ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น เทศกาล และการต่อสู้ หรือมวยไทย โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทุกฝ่ายจะสามารถสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสรรค์ความงามของมรดกทางวัฒนธรรม จากการใช้ประโยชน์จากผ้าและลวดลายจากท้องถิ่น ไปจนถึงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านกีฬา


นอกเหนือจาก Soft Power ประเทศไทยมีพร้อมที่จะสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ความมั่นคงทางอาหารไปจนถึงความเชื่อมโยง จากพลังงานสะอาดถึงความร่วมมือด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุมและยั่งยืน สานต่อผลประโยชน์ร่วมกันสำหรับประชาชน และคนรุ่นใหม่ ตลอดจนภูมิภาคของเราโดยรวม

 

นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำว่า ประเทศไทยได้เปิดกว้างสำหรับธุรกิจ และพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง โดยรัฐบาลมุ่งมั่นอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจในประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงโอกาสในการลงทุนต่างประเทศ โดยระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำ นายกรัฐมนตรีมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยน พร้อมและยินดีที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ทุกคน


ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณผู้บริหาร UNACEM Group สำหรับการต้อนรับที่อบอุ่น โดยนายกรัฐมนตรีได้เพลิดเพลินกับการลิ้มรสอาหารค่ำแบบเปรูในวันนี้ และยินดีที่ทราบว่าพ่อครัวฝีมือดีวันนี้เคยทำงานที่กรุงเทพฯ พร้อมหวังว่าจะได้ต้อนรับที่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเพื่อธุรกิจหรือการพักผ่อน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #APEC #แพทองธาร #นายกแพทองธาร