วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2567

เชตวัน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน หัวข้อ สนามกอล์ฟทหารมีไว้ทำไม? เสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”

 


เชตวัน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน หัวข้อ สนามกอล์ฟทหารมีไว้ทำไม? เสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”


เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎรจัดงานเสวนา “ตามหาขุมทรัพย์ของกองทัพไทย : การบริหารธุรกิจเชิงพาณิชย์ของกองทัพ”


ขณะที่เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน และรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร ได้รายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับกิจการสนามกอล์ฟของกองทัพ โดยระบุว่า จากการชี้แจงของกองทัพมีรายงานสนามกอล์ฟของกองทัพในปัจจุบันรวมทุกเหล่าทัพมีทั้งหมด 57 แห่ง บนที่ดินรวมกัน 20,871 ไร่ จากการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า ยังมีส่วนที่กองทัพไม่ได้แจ้งอีก 4 แห่ง ทำให้ในความเป็นจริงกองทัพมีสนามกอล์ฟรวมทั้งหมด 61 สนามบนที่ดินถึง 21,454 ไร่ โดยเป็นสนามของกองทัพเรือ 4 สนาม ที่ดินรวมกัน 2,354 ไร่ กองทัพอากาศ 13 สนาม ที่ดินรวมกัน 4,047 ไร่ และของกองทัพบก 40 สนาม ที่ดินรวมกัน 14,470 ไร่ เมื่อลองนำสนามกอล์ฟทั้งหมดจากทุกเหล่าทัพมาปักหมุดในแผนที่ประเทศไทยพบว่า สนามกอล์ฟเหล่านี้กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ แต่ที่เข้าใจไม่ได้ คือ การมีสนามของกองทัพหลายแห่งอยู่ติดกันใกล้กันมาก ทั้งจากคนละเหล่าทัพและจากเหล่าทัพเดียวกัน


เชตวัน กล่าวต่อไปว่าประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมกองทัพถึงใช้ที่ดินรัฐไปทำสนามกอล์ฟมากมายถึงเพียงนี้ และทำไมแต่ละเหล่าทัพต้องมีคนละสนามในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ไม่นับรวมว่า มีสนามกอล์ฟของกองทัพที่อยู่ใกล้สนามกอล์ฟของเอกชนด้วย ที่ผ่านมากองทัพเคยชี้แจงว่า ใช้เพื่อเป็นที่ออกกำลังกายของทหาร มีไว้รับรองแขกบ้านแขกเมือง มีไว้เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและค่าบริการของสนามกอล์ฟเอกชนที่อยู่ใกล้เคียง และมีไว้เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ในเชิงความมั่นคง


แต่ในระยะหลังทุกเหตุผลที่กองทัพเคยยกมาเหมือนจะถูกลืมไปแล้ว มีการรวมกันเป็นเหตุผลเดียว คือ เพื่อเป็นสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อย เพราะเป็นแหล่งรายได้เข้าสู่กองทุนสวัสดิการ อย่างไรก็ตามข้ออ้างดังกล่าวนั้นยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า กองทัพจำเป็นต้องมีสนามกอล์ฟจำนวนมากขนาดนี้ไปทำไม นั่นทำให้ตนและพรรคประชาชนมีข้อเสนอว่า ต้องมีการนำสนามกอล์ฟเหล่านี้มาพิจารณาความสมเหตุสมผลใหม่อีกครั้งว่า จะให้กองทัพบริหารจัดการต่อไปหรือควรต้องส่งคืนให้รัฐใช้ประโยชน์อื่น


เชตวัน ยกตัวอย่างกรณีสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ บนพื้นที่กว่า 625 ไร่ หากเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะจะทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์เกือบ 3 แสนคน เฉพาะสำหรับชาวปทุมธานี หากรวมประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอื่นด้วยจะมีประชาชนได้ประโยชน์กว่า 5 แสนคน อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากกำไร 11 ล้านบาทต่อปีที่สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ได้รับ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้พัฒนาพื้นที่กว่า 625 ไร่ ราคาประเมินไร่ละ 16.4 ล้านบาท มูลค่ารวมถึง 10,250 ล้านบาทนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด


เชตวัน ยังระบุว่า การนำสนามกอล์ฟเหล่านี้มาทำประโยชน์ในทางอื่น จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนได้มากกว่านี้มาก เช่น สนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ หากเปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ แม้ไม่ได้สร้างรายได้ แต่ประชาชน 3-5 แสนคนจะได้ใช้ที่ดินแห่งนี้เป็นที่ออกกำลังกาย มีสุขภาพที่ดี และจะสามารถประหยัดงบประมาณของประเทศในการดูแลความเจ็บไข้ได้ป่วยได้มหาศาล เปลี่ยนจากผู้ใช้งานที่เป็นนายพลจำนวนไม่มาก ไปสู่ประชาชน สามารถออกแบบให้เป็นได้ทั้งศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตครบวงจรกลางเมือง ศูนย์กีฬาและพื้นที่จัดงานอีเวนต์ สวนสาธารณะสีเขียวขนาดใหญ่


ผมเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการออกกำลังกายของทหาร ความมั่นคง สวัสดิการกองทัพ ข้อเสนอการเปลี่ยนสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์เป็นสวนสาธารณะ การยกเลิกสนามกอล์ฟกานต์รัตน์ การยกเลิกสนามกอล์ฟในตัวเมืองโคราช หรือเชียงราย ไม่ใช่ว่าต้องตะบี้ตะบันเอามาให้ได้ อะไรที่จำเป็นสำหรับกองทัพและความมั่นคง ถ้ากองทัพอธิบายกับสังคมได้ว่าจำเป็นอย่างไรก็บริหารต่อไป แต่อะไรที่ตอบไม่ได้ ไม่สมเหตุสมผล ใช้ที่ดินไม่คุ้มค่า กองทัพก็ต้องพิจารณาตัวเอง ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมกับทุกคน เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และประเทศ” เชตวันกล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธกองทัพ #ธุรกิจกองทัพ