วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2567

นายกฯ ลุยติดตามการจัดการน้ำในเจ้าพระยา มอบกรมชลฯ ผู้ว่าชัชชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำเหนืออย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงที่ไปประชุมกาตาร์


นายกฯ ลุยติดตามการจัดการน้ำในเจ้าพระยา มอบกรมชลฯ ผู้ว่าชัชชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำเหนืออย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงที่ไปประชุมกาตาร์


วันนี้ (2 ตุลาคม 2567) เวลา 10.20 น.  นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ตรวจการบริหารจัดการน้ำ โดยมี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุริยพล  นุชอนงค์  รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้างรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย


โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์และแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากรองอธิบดีฝ่ายก่อสร้างรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า สถานการณ์น้ำจากพื้นที่ตอนบนในลุ่มน้ำปิง วัง  ยม  และน่าน  ยังคงมีฝนตกอยู่ในบางพื้นที่  ส่งผลให้มีปริมาณน้ำตอนบนทยอยไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์  มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,128 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามลำดับ  กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่  พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ให้อยู่ในอัตรา  1,899 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด 


นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาว่าจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่   ซึ่งได้สั่งการ ให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำ ให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือกระทบน้อยที่สุด และประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในขณะนี้บริเวณจังหวัดอ่างทอง และพระนครศรีอยุธยาทราบข้อมูลการปล่อยน้ำล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อเตรียมขนย้ายของต่าง ๆ ไว้ในที่ปลอดภัย รวมถึงฝากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำการพร่องน้ำในคลองสาขาต่าง ๆ เพื่อรองรับน้ำ หากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยให้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน ให้สอดคล้องกันในการดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ อีกทั้ง ขอให้เร่งกำจัดขยะและผักตบชวาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสูบน้ำและการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานอย่างเต็มกำลังอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และฝากศึกษาการจัดการน้ำแม่น้ำยม กรณี "แก่งเสือเต้น" โดยให้อัปเดทข้อมูล นำเรื่องกลับมาศึกษาเพื่อประโยชน์ในระยะยาว และสแตนด์บายรายงานผลตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำที่เมืองโดฮารัฐกาตาร์


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นายกฯแพทองธาร #สถานการณ์น้ำ