“พิธา” นำทีมก้าวไกล เยี่ยมศูนย์เด็กเล็ก-ลุยปมที่ดินริมทางรถไฟ ชี้เป็นปัญหายืดเยื้อ ต้องการทางออกที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ด้าน “วิโรจน์” เผยก้าวไกลเตรียมเสนอชื่อคนนอกเชี่ยวชาญงบประมาณ นั่งกรรมการงบ กทม. เชื่อช่วยเสริมความโปร่งใส
วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ, ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กรุงเทพฯ เขต 2 และ เอกกวิน โชคประสพรวย ส.ก.เขตราชเทวี พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟบุญร่มไทร เพชรบุรี ซอย 5 และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน
พิธา กล่าวว่า ปัญหาชุมชนริมทางรถไฟในเขตราชเทวีมีมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นอย่างน้อย สืบเนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอีอีซี ต่อมาเมื่อผู้ว่า กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามา ก็มีการพูดคุยว่าจะทำพื้นที่อยู่อาศัยแนวสูงซึ่งขัดกับวิถีชีวิตและการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน แม้ชุมชนแห่งนี้จะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ แต่ชาวบ้านก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ยาวนานกว่า 3 ชั่วอายุคน ดังนั้นต้องหาทางออกที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพราะปัจจุบันประชาชนไม่ได้รับความชัดเจนมาเกือบ 10 ปี เป็นปัญหาเดือดเนื้อร้อนใจ วันนี้ตนอยากใช้เวลาเพื่อรับฟังปัญหา เข้าใจภาพรวมอย่างแท้จริง จะได้นำไป "พูดแทนราษฎร" และออกแบบแก้ไขปัญหาต่อไป
ถัดจากการเยือนชุมชนบุญร่มไทร พิธาและคณะเดินทางต่อไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมักกะสัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กที่มาจากครอบครัวที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงเป็นปัญหาที่สอดคล้องกับครอบครัวที่ต้องเผชิญกับปัญหาไม่มีที่อยู่อาศัย โดยพิธากล่าวว่าจะแก้ปัญหาของศูนย์เด็กเล็กฯ ได้ ต้องแก้ 3 ข้อที่เป็นอุปสรรค (1) แก้ไขระเบียบ (2) แก้โครงสร้าง (3) แก้งบประมาณ โดยเรื่องการจัดสรรงบประมาณนั้น กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในสภา กทม. เร็ว ๆ นี้
ด้านเอกกวิน กล่าวว่า ศูนย์เด็กเล็กเป็นหนึ่งในปัญหาของกรุงเทพฯ ที่ถูกมองข้าม ในกรุงเทพฯ มีจำนวนศูนย์ฯ กว่า 274 แห่ง ต้องใช้งบประมาณจากชุมชนเท่านั้น เป็นเงินจำนวนเพียง 5,000-10,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการพัฒนาศูนย์ฯ ให้ได้มาตรฐานในระยะยาว เมื่อสัปดาห์ที่แล้วตนจึงยื่นตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อร่างข้อบัญญัติศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้ศูนย์ฯ มีข้อบัญญัติและงบประมาณของตัวเอง ขึ้นกับสำนักพัฒนาสังคม กทม. สามารถตั้งงบประมาณมาดูแลได้โดยตรง
ด้านวิโรจน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย กทม. พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นว่า โครงสร้างของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กควรเชื่อมต่อกับโรงเรียน จะได้มีอุปกรณ์การเรียนการสอน หลักสูตร หรือการดูแลสวัสดิการของครูอย่างครบถ้วน โดยต้นทางที่สำคัญที่สุดคือเรื่องงบประมาณ แต่สิ่งที่สำคัญมากเช่นกันคือความโปร่งใสและงบประมาณที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงเป็นที่มาที่ตนได้หารือกับผู้ว่า กทม. ว่าปีนี้พรรคก้าวไกลจะเสนอคนนอก 2 คนที่มีความรู้ความสามารถด้านงบประมาณและได้รับการยอมรับเรื่องความโปร่งใส มาเป็นกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณ กทม. วงเงิน 9 หมื่นล้านบาท ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล จากเดิมสัดส่วนนี้เป็น ส.ก. ทั้งหมด ซึ่งทางผู้ว่า กทม. ก็มีความยินดีอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยไม่ได้สนับสนุนแนวทางนี้
ด้านณัฐพงษ์กล่าวสนับสนุนว่า เรื่องงบประมาณจะเข้าสู่สภา กทม. ปลายเดือนนี้แล้ว และไม่เห็นเหตุผลใดที่จะไม่เปิดให้คนนอกเข้าไปตรวจสอบหากต้องการทำให้การพิจารณางบประมาณเกิดความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล