วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2567

“ชัยธวัช” อัด “รัฐบาล” จัดงบฯ 68 น่าผิดหวัง เอาประเทศเป็นเดิมพัน เน้นแก้วิกฤตตัวเอง ไม่ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ ซัด “เจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้” ดันทุรังทำ “ดิจิทัลวอลเล็ต”


ชัยธวัช” อัด “รัฐบาล” จัดงบฯ 68 น่าผิดหวัง เอาประเทศเป็นเดิมพัน เน้นแก้วิกฤตตัวเอง ไม่ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ ซัด “เจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้” ดันทุรังทำ “ดิจิทัลวอลเล็ต”

 

วันที่ 19 มิถุนายน 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วาระที่หนึ่ง โดย ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นผู้อภิปรายถึงภาพรวมงบประมาณในปีนี้

 

ชัยธวัชระบุว่าในแง่ตัวเลข ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ฉบับนี้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายสูงเป็นประวัติการณ์ถึงกว่า 3.75 ล้านล้านบาท ซึ่งเงินที่จะนำมาใช้จ่ายมาจากรายได้รัฐบาลและเงินกู้ เป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยประมาณการรายได้รัฐบาลประมาณไว้ว่าจะมีรายได้สุทธิถึงกว่า 2.88 ล้านบาท ที่เหลือเอามาจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 8.65 แสนล้านบาท เป็นวงเงินกู้ที่เกือบชนเพดาน เหลือพื้นที่กู้เพิ่มได้แค่ราว 5 พันล้านบาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา งบประมาณในปีนี้ได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาท หรือ 7.8% ถือเป็นการเพิ่มงบประมาณในสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี

 

คำถามคือการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของประเทศอย่างก้าวกระโดด โดยกู้เงินมาใช้จนเกือบชนเพดานสอดคล้องกับสถานการณ์หรือไม่ การพิจารณางบประมาณเมื่อครั้งปี 2567 สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านต่างผิดหวังไปแล้ว แม้รัฐบาลใหม่อาจอ้างได้ว่าไม่สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างเต็มที่ แต่มาคราวนี้งบประมาณปี 2568 เป็นการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่อยู่ในอำนาจเต็มของรัฐบาลใหม่ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้อีกต่อไป

 

ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าเมื่อไปดูในรายละเอียดก็ยิ่งผิดหวังกว่าครั้งก่อน เพราะเป็นการจัดสรรงบประมาณที่แทบจะเหมือนเดิม มีปัญหาแบบเดิมๆ เพิ่มเติมคือดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการจัดสรรที่ดูเหมือนจะมียุทธศาสตร์แต่ไม่มียุทธศาสตร์ มีคำพูดสวยหรูเต็มไปหมด แต่ลงรายละเอียดแล้วล้วนซ้ำซาก ซ้ำซ้อน เป็นเบี้ยหัวแตก มองไม่เห็นเป้าหมายทางนโยบายที่ชัดเจนจับต้องได้แบบมียุทธศาสตร์จริงๆ ตัวชี้วัดเหมือนเดิม เป็นการใช้งบประมาณแบบไม่สนใจผลลัพธ์ในทางปฏิบัติจริงๆ

 

ที่น่าสนใจ คืองบประมาณปี 2567 ก่อนหน้านี้รัฐบาลใหม่เข้ามาปรับแก้กลางทาง อย่างน้อยยังมีโครงการใหม่ถึง 236 โครงการ แต่มาปี 2568 ซึ่งรัฐบาลใหม่มีอำนาจเต็มแล้ว แต่กลับมีโครงการใหม่เพียง 163 โครงการ และยังไม่นับว่ามีเหล้าเก่าในขวดใหม่จำนวนมาก รายจ่ายในการลงทุนจำนวนมากเป็นรายจ่ายที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจริงๆ แต่ยึดโยงกับเครือข่ายการเมืองและผลประโยชน์ที่ผลักดันให้รัฐบาลเข้าสู่อำนาจ

 

ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าที่สำคัญเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลใหม่เอาเข้าจริงไม่มีวาระทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรกันแน่ แต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำอย่างไร้ทิศทาง ผู้นำรัฐบาลก็มีข้อสั่งการมากมาย แต่คำถามคือมีแนวทางปฏิบัติมอบหมายให้หน่วยงานจริงหรือไม่ว่าต้องทำอย่างไร เพราะหากดูวิธีการจัดสรรงบประมาณในโครงการต่างๆ จะเห็นได้ว่ามีลักษณะแบบนายสั่งให้ทำ แต่ไม่ได้บอกว่าให้ทำอะไร ข้าราชการก็เอาโครงการเดิมๆ ที่เคยทำมาเปลี่ยนป้ายใหม่ว่าเป็นการทำโครงการที่ตอบสนองนโยบายใหม่ของรัฐบาล แล้วสรุปมาเป็นภาพรวมตัวเลขสวยหรู ว่าตอบสนองนโยบาย/ยุทธศาสตร์ใหม่อย่างไร

 

แต่หากจะมีอะไรใหม่สำหรับวาระของรัฐบาลที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน ก็คงมีแค่เรื่องเดียว นั่นคือความพยายามผลักดันในระดับที่ดันทุรัง เพื่อทำให้ดิจิทัลวอลเล็ตสำเร็จให้ได้ เรียกได้ว่าดันทุรังแบบ “เจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้” โดยปรากฏร่องรอยทั้งในงบกลาง เป็นรายการตั้งใหม่ชื่อ “ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจราว 1.57 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 18.9% ของงบกลาง นอกจากนั้นยังมีการคาดการณ์ต่อว่าที่เหลือจะใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ราว 1.72 แสนล้านบาท และน่าจะมีการของบกลางของงบประมาณปี 2567 เพิ่มอีก 1.22 แสนล้านบาท และถ้าไม่พออีกก็อาจจะออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณจากงบประมาณสำรองรายจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นมาใส่เพิ่ม

 

แต่โดยรวม ผลของการพยายามจัดสรรงบประมาณมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางการคลังทั้งเฉพาะหน้าและในระยะยาว ภาระการจ่ายหนี้ของภาครัฐจะสูงขึ้นแน่นอนในอนาคต และประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ทางการคลัง หากจำเป็นต้องมีการใช้จ่ายฉุกเฉินหรือการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ในอนาคตอันใกล้

 

ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าเหตุผลที่งบประมาณปี 2568 มีลักษณะ “เจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้” เช่นนี้ เป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้ประสบวิกฤติความชอบธรรมทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล พอเข้ามาบริหารประเทศจริงๆ ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนให้ดีขึ้นได้ พรรคแกนนำรัฐบาลจึงเหลือความหวังเดียว คือเชื่อว่าหากผลักดันโครงการดิจิทอลวอลเล็ตได้สำเร็จ ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลจะฟื้นกลับมา

 

แน่นอนว่าในสภาวะที่ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจฝืดเคือง ประชาชนจำนวนมากมีความหวังที่จะได้รับเงินหมื่นมาประทังชีวิตจับจ่ายใช้สอย ตนเข้าใจความหวังและความจำเป็นของประชาชน แต่ปัญหาคือในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไม่ได้ต้องการรัฐบาลที่จะมุ่งแสวงหาความนิยมจากประชาชนแบบมักง่ายสายตาสั้น แต่ต้องการรัฐบาลที่มีเจตจำนงในการผลักดันนโยบายที่ดีที่สุดสำหรับประเทศและนโยบายที่ตอบโจทย์ของประเทศจริงๆ ไม่ใช่ตอบโจทย์ทางการเมืองของพรรคแกนนำรัฐบาล

 

สุดท้ายนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่ดันทุรังอยู่ขณะนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ของประเทศจริงๆ การจัดสรรงบประมาณประจำปี 2568 ก็จะเป็นการจัดสรรงบที่ไม่ได้เอาโจทย์ของประเทศเป็นตัวตั้ง แต่เอาโจทย์ของพรรคแกนนำรัฐบาลเป็นตัวตั้ง รัฐบาลนี้กำลังมุ่งแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมืองของตัวเองโดยเอาโอกาสและอนาคตของประเทศวางเป็นเดิมพันอย่างที่ประเทศเจ๊งไม่ว่า แต่ต้องรักษาหน้าพรรคแกนนำรัฐบาลให้ได้” ชัยธวัชกล่าว

.

ชัยธวัชยังกล่าวต่อไป ว่าหากดูจากรูปธรรมในการดำเนินนโยบายนี้ เราพูดได้แล้วว่ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นมาอย่างฉาบฉวยเพื่อหาเสียงเฉพาะหน้า โดยไม่ได้คิดให้เสร็จตั้งแต่ต้น เราจึงเห็นการดำเนินนโยบายแบบคิดไปทำไป กลับไปกลับมา จนวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน แต่พรรคแกนนำรัฐบาลก็โหมโฆษณานโยบายนี้ตลอดว่าจะเป็นการกระจายเม็ดเงินลงสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อกระตุ้นการบริโภค จะทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ หวังว่าจะไปกระตุ้นการผลิต การลงทุน และการจ้างงานตามมา

 

ปัญหาคือแนวคิดในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้อาจใช้ได้กับประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้ แต่วิธีแบบนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงของประเทศไทย ณ เวลานี้ สถานการณ์วันนี้การกระตุ้นการบริโภคโดยอัดเงินลงไปในระยะสั้น ไม่อาจกระตุ้นการผลิต การลงทุน และการจ้างงาน เพราะจะเจอปัญหาเงินไหลออก เปรียบได้ว่ามีหลุมดำ 2 หลุมที่คอยดูดเม็ดเงินออกจากระบบเศรษฐกิจในประเทศ

 

โดยหลุมดำแรกคือสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนที่โอเวอร์ซัพพลายในทุกรายการ ซึ่งปัจจุบันสินค้านำเข้าจากจีนได้ทะลักเข้าสู่ประเทศไทยสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ปี 2566 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนถึงราว 1.3 ล้านล้านบาท

 

ส่วนหลุมดำที่สองคืออีคอมเมิร์ซ หรือแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมามีการคาดการณ์ว่าคนไทยซื้อของออนไลน์เป็นมูลค่าถึง 9.8 แสนล้านบาท โดยส่วนแบ่งตลาดเป็นของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะซื้อขายผ่านบริษัท เจ้าของสินค้าโดยตรง หรือบริษัทที่ดูเหมือนว่าจะเป็นบริษัทของคนไทยที่อยู่ในประเทศไทย

 

ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าการอัดฉีดเงินโดยไม่สร้างเงื่อนไขหรือแรงจูงใจอย่างเป็นระบบ เงินที่อัดเข้าไปย่อมรั่วไหลสู่สินค้านำเข้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือสภาพการณ์ที่เป็นจริงในทางเศรษฐกิจของไทย แนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้จึงอาจใช้ไม่ได้ในเวลานี้อีกแล้ว และรัฐบาลเองก็ดูเหมือนเพิ่งจะตระหนักในปัญหานี้ แต่ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่านโยบายนี้ไม่ได้คิดให้จบรอบคอบตั้งแต่แรก

 

ถ้าดูบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจจากแหล่งที่เชื่อถือได้ แทบทุกแหล่งชี้ตรงกันว่าถ้าจะพลิกเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวลานี้ ไม่สามารถอาศัยเพียงการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นที่ไม่ได้เกิดจากการจ้างงาน และไม่สามารถอาศัยเพียงการเพิ่มสภาพคล่องหรือสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลพยายามกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยอยู่ แต่ปัจจัยหลักชี้ไปตรงกัน ว่าถึงเวลาที่เราต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตของประเทศไทยในอุตสาหกรรมใหม่ๆ

 

ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าทุกคนทราบดีว่าถ้าอยากพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทยจริงๆ ต้องเน้นการลงทุน ไม่ใช่การบริโภค ต้องเน้นภาคการผลิตไม่ใช่แค่หวังเพิ่มนักท่องเที่ยว ปัญหาคือในคำแถลงของนายกรัฐมนตรีในเอกสารประกอบการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 อาจจะมีคำพูดเต็มไปหมด แต่ปัญหาคือรายละเอียดเนื้อในยังคงมีปัญหาแบบเดิม ๆ

 

ถ้าอยากเอาโจทย์ของประเทศเป็นตัวตั้งในการจัดสรรงบประมาณจริงๆ เราควรจะได้เห็นการจัดสรรงบประมาณแบบเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น ต้องมีการจัดสรรเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เช่น อีวี รัฐบาลไทยที่ผ่านมาใช้เงินอุดหนุนด้านดีมานด์เพื่อสนับสนุนคนไทยซื้อรถอีวีของจีน รวมเป็นเงินวันนี้กว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่เราแทบไม่เห็นการจัดสรรงบประมาณอย่างจริงจังในการสนับสนุนฝั่งซัพพลาย หรือการยกระดับการผลิตและทักษะแรงงาน ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจริงๆ มีคำพูดสวยหรูเต็มไปหมด แต่ไม่เห็นงบประมาณที่ไปส่งเสริมฝั่งซัพพลายที่จะทำให้มีการยกระดับการผลิตและทักษะแรงงานอย่างจริงจัง

 

ถ้าเอาโจทย์ของประเทศเป็นตัวตั้ง เราควรจะเห็นการจัดสรรงบประมาณในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างมียุทธศาสตร์ จับต้องได้ เพื่อกระตุ้นการผลิตและเทคโนโลยี แต่งบประมาณปี 2568 ก็ไม่ตอบโจทย์ในรายละเอียด

 

ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าหากหันไปดูประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่กำลังจะก้าวเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งตะวันออก จะเห็นได้ว่ามีทั้งยุทธศาสตร์ระยะสั้น กลาง และยาวอย่างชัดเจน ไม่ได้พูดทุกเรื่องหรือมียุทธศาสตร์ทุกเรื่อง แต่ลงลึกไปในรายละเอียดว่าจะสนับสนุนเทคโนโลยีเฉพาะด้านไหนที่ยังพัฒนาและแข่งขันได้ มีตำแหน่งแห่งที่ในซัพพลายเชนโลกได้จริงๆ ลงรายละเอียดกระทั่งว่าจะทุ่มงบประมาณไปกับการลงทุนอย่างจริงจังเพื่อดึงสมองไหลให้ย้อนกลับ จูงใจให้คนมีฝีมือที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศกลับมาสร้างเทคโนโลยีของตัวเองในประเทศบ้านเกิด ไม่ได้คิดแค่จะดึงดูดนักลงทุนแล้วหวังว่าจะเป็นฐานการผลิตแบบเดิม ๆ

 

ยังมีโจทย์ของประเทศอีกเยอะที่ไม่สะท้อนให้เห็นผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฉบับนี้ ซึ่งทำให้ตนสงสัยว่าโจทย์ของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณกับโจทย์ของประเทศไม่ใช่โจทย์เดียวกัน ซึ่งสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านจะทยอยมาอภิปรายตลอด 3 วันนี้ในทุกมิติต่อไป

 

การจัดสรรงบประมาณฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่าสืบเนื่องจากปัญหาความไม่ชอบธรรมทางการเมืองของการจัดตั้งรัฐบาล โจทย์ของรัฐบาลในวันนี้จึงเป็นคนละโจทย์กับของประเทศ การจัดสรรงบประมาณอย่างที่เห็นนี้จึงเป็นการจัดสรรงบประมาณที่มักง่ายที่สุด สุ่มเสี่ยงที่สุด เพราะรัฐบาลกำลังเอาทรัพยากรของประเทศไปมุ่งแก้วิกฤติการเมืองของตัวเอง โดยเอาโอกาสและอนาคตของคนไทยทุกคนและของประเทศมาวางเดิมพันอย่างไม่รับผิดชอบ วิสัยทัศน์อย่าง ‘Ignite Thailand’ จึงกลายเป็น ‘Ignore Thailand’ เจ๊งไม่ว่าแต่เสียหน้าไม่ได้” ชัยธวัชกล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชุมสภา #งบ68