ในงานรำลึก
#14ปีเมษาพฤษภา53
19
พฤษภาคม 2567 ณ ราชประสงค์
กราบสวัสดีทุกท่าน
ผมจำได้เมื่อ 14 ปีที่แล้วตอนเดือนเมษายนรวมไปถึงเดือนพฤษภาคม ผมได้แต่เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของพี่น้องเสื้อแดง
จำได้ว่าตอนคืนวันที่ 10เมษา
ตอนนั้นอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาวายและทุกคืนดูการถ่ายทอดการล้อมปราบที่ออกถนนราชดำเนินจนถึงเช้า
เพื่อนที่เรียนกันในตอนนั้น (พอดีผมไม่ได้เรียนอยู่ที่ฮาวาย พอดีติดตามภรรยาไป
แล้วไปเขียนวิทยานิพนธ์ที่นั่น) ก็เสียใจร่ำไห้กัน แล้วก็กลับมาประเทศไทย
จำได้มีเวลาหนึ่งก็มาเดินที่ราชประสงค์ แล้วก็พอเพื่อนชาวต่างประเทศมาด้วย
แล้วก็บอกว่าถ้าเกิดว่าจะมีการสลายการชุมนุมกับคนจำนวนเรือนหมื่นอย่างนี้มันจะต้องใช้กำลังเท่าไหร่
จะต้องมีความเสียหายขนาดไหน
ตอนนั้นยังไม่คิดว่าจะสามารถคิดถึงในความอำมหิตของคนที่อยู่ในอำนาจในตอนนั้นได้ว่าจะกระทำลงไป
ตอนนั้นที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นพอดีผมต้องไปอินโดนีเซีย แล้วก็ติดตามข่าวมาโดยตลอด
เหมือนจะกลับประเทศไทยไม่ได้ด้วยซ้ำในตอนแรกที่บอกว่าเกิดการจลาจลขึ้นในประเทศ
สายการบินจะไม่บินเป็นต้น แต่สุดท้ายก็ได้กลับมา
วันนี้ผมมาในแง่หนึ่งก็เหมือนมาคล้าย
ๆ กับชำระหรือไถ่โทษความผิดของตัวเองที่ไม่ได้มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการรับรู้ความเจ็บปวดของบุคคลซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองคล้ายคลึงกัน
ผมก็เลยด้วยความสมัครใจและก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้รับการทาบทามจากท่านอาจารย์ธิดา
เพื่อจะให้มาพูดปาฐกถาในวันนี้ ก็คิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะปาฐกาถาหัวข้ออะไร แต่เมื่อประเมินจากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งกรณีของเมษาพฤษภา53
บวกกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้กับประชาชนคนทั่วไป ผมก็เลยคิดถึงคำว่า
“แล้วหญ้าแพรกก็แหลกลาญ” ขึ้นมา
“แล้วหญ้าแพรกก็แหลกลาญ”
ขึ้นมา อันที่ 1 ช้างสารชนกัน ซึ่งเป็นความหมายปกติ
อาจจะหมายถึงกรณีของเหตุการณ์เมษาพฤษภา53
แต่กระนั้นผมก็ยังมีข้อให้เราชวนคิดเพิ่มเติมต่อว่าเราอาจจะไม่ได้แหลกลาญขนาดนั้น
ขณะเดียวกัน แหลกลาญในครั้งที่ 2 ตอนนี้ก็คือว่า มันดูเหมือนประหนึ่งว่าบรรดาช้างสารที่เคยชนกันมาจับมือกัน
แล้วมันก็ก่อให้เกิดการแตกกระจายของบรรดามวลชน แล้วจะเดินต่อไปอย่างไหน? แบบใด?
อันนี้ก็จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผมจะทิ้งเอาไว้
วันนี้ผมอยากจะมาพูดในหัวข้อ
“แล้วหญ้าแพรกก็แหลกลาญ” คนเสื้อแดงในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันว่าจะเป็นอย่างไร
ผมอยากจะพูดถึงคนเสื้อแดงในฐานะที่เป็นหญ้าแพรก
หรือว่าเป็นคนธรรมดาสามัญในบริบทของรัฐสมัยใหม่
ซึ่งโดยทั่วไปรัฐสมัยใหม่ก็จะประกอบด้วยดินแดน อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน รัฐบาล
และประชากร ซึ่งคนเสื้อแดงได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงในรัฐอย่างนี้มา 3 ช่วงเวลาใหญ่ ๆ
ช่วงเวลาแรกสุดก็คือในฐานะที่เป็นคล้าย ๆ กับเป้าหมายของการปกครอง
ก่อนที่จะกลายมาเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวในช่วงที่สอง
แล้วก็มาปิดท้ายด้วยการเป็นพลเมืองที่มีความพัวพัน
รวมไปถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองซึ่งเป็นช่วงที่สาม
ซึ่งในสองช่วงที่ผมว่าการเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวรวมไปถึงการเข้าไปพัวพันมันก็ก่อให้เกิดในสภาพการณ์ที่คล้าย
ๆ กับจะแหลกลาญ ทั้งในการขับเคี่ยวกันของชนชั้นปกครอง
รวมไปถึงการร่วมไม้ร่วมมือกันของชนชั้นปกครอง
อย่างไรก็ดีผมคิดว่ามันจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว
และจะมีข้อเสนอในตอนท้ายว่าเมื่อเป็นสภาพการณ์เช่นนี้ เราแหลกลาญมาสองครั้งแล้ว
เราจะเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไร?
ในช่วงที่หนึ่งก็คือ
ในการเป็นเป้าหมายการปกครอง คืออย่างนี้ครับ
รัฐไทยในฐานะที่เป็นรัฐสมัยใหม่ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากลักษณะของรัฐสมัยใหม่โดยทั่วไปในแง่ที่ว่ามีประชากรเป็นเป้าหมายในการปกครอง
ถึงแม้ว่าอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดนที่เพิ่งขีดขึ้นมาใหม่จะไม่ได้เป็นของประชาชน
ทำไมผมถึงกล่าวเช่นนี้?
ในปี
2430 รัชกาลที่ 5 มีพระราชหัตถเลขาอธิบายความว่าสาเหตุที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากรูปแบบเดิม
ซึ่งอาจจะกระจายอำนาจก็ยังอยู่ในขุนน้ำขุนนางทั้งหลายแหล่
และหัวเมืองทั้งหลายแหล่ก็ต่างเป็นอิสระในลำดับที่ต่างออกไป
กลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัชกาลที่ 5 มีพระราชหัตถเลขาว่า
สาเหตุที่ทำเช่นนี้ก็เพราะ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการเป็นเอกราชของกรุงสยาม
เป็นความสุขแก่ราษฎรทั้งปวงสืบต่อไป
เราจะเห็นได้ว่าการตั้งรัฐทาสสมัยใหม่ในรัชกาลที่
5 หรือว่าการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็มีประชากร หรือความผาสุก
หรือกินดีอยู่ดีของประชากรเป็นเป้าหมายหลัก แต่อย่างที่เราก็รู้กัน
ต่อมาประชากรก็ใช่จะสุขสบายเท่าไหร่ ผลประโยชน์โพดผลจากรูปแบบการปกครองแบบใหม่
ก็ไม่ได้เจือจางไปถึงประชากรในประเทศแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นเราจึงมีเหตุการณ์ที่เรียกว่าอภิวัฒน์สยาม
2475
น่าสนใจครับ
อภิวัฒน์สยาม 2475
ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
ก็มีการอ้างถึงความผาสุกและกินดีอยู่ดีของประชากรหรือว่ามีประชากรเป็นเป้าหมายเหมือนกัน
เช่น ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ก็พูดว่า ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า
ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง
และหลังจากนั้นก็ให้เหตุผลประกอบต่อว่า ก็เป็นความจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย
ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับการบำรุงอย่างดีที่สุด
จะเห็นได้ว่าตัวของคณะราษฎรสถาปนาความชอบธรรมกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยบนฐานที่ว่ามีประชากรเป็นเป้าหมายหลัก
การบำรุง ความกินดีอยู่ดีของประชากรเป็นเป้าหมายสำคัญ
น่าสนใจตรงนี้อย่างที่ผมบอกก็คือว่า ประชากรยังถูกมองเป็นเป้าหมายของการปกครอง
ไม่ได้เป็นคนที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะอะไร? ถ้าเราไปดูให้ดีในท้าย ๆ
ของประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ก็เหมือนกับคล้าย ๆ จะว่าปรามอยู่กลาย ๆ ว่า ขอให้ราษฎรอย่าขัดขืน
ให้กระทำไปตามปกติ เพราะสิ่งที่จะทำต่อไปนี้ก็จะเป็นผลประโยชน์ต่อราษฎร เราก็จะเห็นได้ว่าอาจจะมีเจตนาดี
แต่ตัวของประชาชนหรือราษฎรก็ยังคงเป็นเพียงแค่เป้าหมายของการปกครองโดยกลุ่มคน
ซึ่งในกรณีนี้
นอกเหนือไปจากว่าราษฎรจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว
เราก็พบว่าแผนการทั้งหมดที่ดำเนินการของคณะราษฎรก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง
อย่างที่เราก็รู้กันดีนะภายในปีเดียวก็ถูกหวนคืนกลับ และปรากฎเด่นชัดก็คือว่าในกรณีของการทำรัฐประหารถึง
2 ครั้ง ของจอมพล ป. ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2481 รวมไปถึงปี 2490
ซึ่งก็เป็นการปิดฉากคณะราษฎรปีกของนายปรีดี พนมยงค์ไปโดยปริยาย
มันก็แปลว่าในกลุ่มของชนชั้นนำเก่าซึ่งเดิมทีก็อ้างฐานของประชาชนเป็นเป้าหมายในการปกครองก็ยังสามารถที่จะคืนกลับมาได้
ความน่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ ถ้าเราไปดูพระปฐมบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 9
ที่ให้ไว้ในปี 2493 ก็ระบุว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม
เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อันนี้ให้ในปี พ.ศ. 2493 เพียงแค่ 1 ปี
หลังจากที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารของจอมพล ป.
ในปี 2490
รัฐธรรมนูญ
2492 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตราที่ 2 ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน อันนี้เป็นการวางรากฐานของระบอบประชาธิปไตยจนถึงตอนนี้เลยก็คือ
“ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
อันนี้อยู่ในมาตรา 2 แล้วมาตรา 6 ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมีก็ปรากฏอยู่ด้วยก็คือว่า
“ผู้ใดไม่สามารถที่จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”
ซึ่งตรงส่วนนี้ก็จะเป็นการวางรากฐานขึ้นมา เราก็จะเห็นได้ว่า
ด้วยพระปฐมบรมราชโองการก็สืบทอดมากจากรัฐธรรมนูญ 2492
ก็จะเป็นรากฐานให้กับรัชกาลที่ 9 ได้ดำเนินการตามที่ได้แสดงปฐมบรมราชโองการเอาไว้
เราจะเห็นได้ถึงการเข้ามามีส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน
ที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือการผ่านโครงการพระราชดำริ ในปลายทศวรรษ 2530
มีโครงการพระราชดำริมากมายถึง 4 พันกว่าโครงการ
กระจายไปทั่วและครอบคลุมไปทุกประชาชน และที่น่าสนใจก็คือว่า
ดูประหนึ่งว่าความผาสุกและความกินดีอยู่ดีจะได้รับการยอมรับจากทุกคนในสังคมไม่ว่าจะภาคส่วนไหน
มีการยินยอมพร้อมใจที่จะอยู่ภายใต้การนำหรือว่าการปกครองของรัชกาลที่ 9
และที่เด่นชัดที่สุดก็คือการเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เพราะในรัฐธรรมนูญ
2540 สิ่งที่เราพบก็คือว่าเป็นครั้งแรก ๆ
ที่มีการวางสิ่งที่เรียกว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
โดยที่บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนในหลายมาตรา
นอกเหนือไปจากการที่เกิดขึ้นขององค์กรอิสระอะไรต่าง ๆ รวมมาถึงทุกวันนี้
แต่ว่าอย่างไรก็ดี
มีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนไม่ขอเป็นเพียงแค่เป้าหมายของการปกครองของชนชั้นนำอย่างเดียวอีกต่อไป
จุดเปลี่ยนคือการเลือกตั้ง 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของรัฐธรรมนูญ 40
ว่ากันว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกเหมือนกันที่พรรคการเมืองจะใช้กลไกหรือกลวิธีอย่างที่เคยใช้มาในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
ก็เป็นการอาศัยนโยบายในการที่จะขับเคี่ยวกันเพื่อช่วงชิงชัยชนะในทางการเมือง
แล้วก็เป็นผลให้พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาใหม่ได้ชัยชนะไปตั้งแต่ปี 44
ซึ่งน่าสนใจกรณีที่ตัวของพรรคการเมืองใหม่ที่ได้ชัยชนะไป
ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของการระบุอย่างเฉพาะจำเพาะเจาะจงว่าอาสาที่จะเข้ามาสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างไร?
มีชุดนโยบายที่เราเรียกว่า “ประชานิยม” ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้-ขยายโอกาส มี 6
โครงการด้วยกัน มีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง มีพักหนี้เกษตรกร มี OTOP
โครงการธนาคารประชาชน และ 30 บาทรักษาทุกโรค ความน่าสนใจก็คือว่า 30
บาทรักษาทุกโรคและรวมไปถึงโครงการอื่น ๆ ด้วย ส่วนหนึ่งเป็นการคลี่คลายตัวหรือว่าพัฒนาการมาอีกชั้นหนึ่งของสิ่งที่เมื่อก่อนก็เคยขับเคลื่อนกันในภาคประชาสังคม
ถ้าใครย้อนกลับไป
2530 ก็จะมีขบวนการอาจจะเรียก “ปฏิรูประบบสุขภาพ”
ในจำนวนนั้นมีการพูดถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ก่อนหน้านั้นก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่าไหร่
จนกระทั่งมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา
แล้วก็มีการระดมเอาบุคคลที่เมื่อก่อนเคยเคลื่อนไหวในแวดวงภาคประชาสังคมในช่วงเวลานั้นเข้าไป
แล้วสุดท้ายก็เลยทำให้สิ่งที่เคยเคลื่อนไหวกันในภาคประชาสังคมก็กลายไปเป็นนโยบายในที่สุด
ความน่าสนใจก็คือว่า ชุดนโยบายประชานิยมนี่แหละก่อให้เกิดผู้นำประชานิยมคนใหม่ขึ้นมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปเปรียบเทียบกับกรณีของการรักษาพยาบาล
ซึ่งก่อนหน้านั้นถ้าหากว่าไม่เป็นสงเคราะห์คนอนาถา
ก็เป็นคนไข้ในพระอุปถัมภ์อุปการะอะไรก็ว่าไป
อาจจะเรียกว่ามีไม่กี่คนที่จะสามารถเข้าถึงตรงนั้นได้
พอเป็นเช่นนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเกิดความไม่ไว้ใจ เกิดความวิตกกังวล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงท้ายรัชกาล เราจึงเห็นความระส่ำระสายตรงนี้ขึ้นมา
สิ่งนี้ก่อให้เกิดความเป็นพลเมืองในชุดที่สอง จากช่วงแรกที่ผมบอก 2430 ลากจนมาถึง
2548 เกือบ 100 ปี
ในช่วงเวลานั้นประชาชนคนไทยอยู่ในสถานะส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นคล้าย ๆ
กับเป้าหมายของการปกครอง ชนชั้นปกครองก็จะบอกว่าจะให้คุณอยู่ดีกินดีอย่างไร
แต่อย่างไรก็ดีพอเกิดตรงนี้ขึ้นมาทำให้บทบาทของพลเมืองไทยอย่างเมื่อก่อนเปลี่ยนไป
2 แง่ด้วยกันก็คือว่า
กลุ่มของบุคคลที่พบว่าผู้นำที่ตนเองโปรดปรานกำลังถูกคุกคามและจำเป็นต้องออกมาปกป้อง
ซึ่งก็จะมี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มที่ 1 ก็คือ “เสื้อเหลือง” ซึ่งประกอบด้วยบรรดาแกนนำ
เช่น คุณสนธิ รวมไปถึงภาคประชาสังคมทั้งหลายแหล่ กลุ่มนี้ลุกขึ้นมาวิเคราะห์กล่าวหาเต็มไปหมด
เริ่มต้นจากพระราชอำนาจ ถ้าใครจำได้ในต้นปี 2548 เดือนพฤษภาคม คุณเสนาะ เทียนทอง ก็เอาไปพูด
หลังจากนั้นคุณสนธิก็เอาไปพูดในรายการ พูดถึงข้อความที่ว่าลูกแกะหลงทาง
หลังจากนั้นมีการพูดถึงพระราชอำนาจ คุณประมวล รุจนเสรี ตีพิมพ์หนังสือชื่อพระราชอำนาจในปี
2548 อธิบายความว่ากษัตริย์ไทยมีพระราชอำนาจมาแต่ไหนแต่ไร
ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่มาจาก “เอนกชนนิกรสโมสรสมมติ”
ด้วยมีคุณสมบัติที่มีบารมีของกษัตริย์
ข้อความที่มาจากหนังสือเล่มนี้ก็ถูกนำไปใช้ในการเคลื่อนไหว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือการอ้างมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ในการขอพระราชทานนายกฯ
แทนที่คุณทักษิณในเวลานั้น
อันนี้เราก็จะเห็นได้ว่าพลเมืองจากเดิมที่ซึ่งก็เป็นเป้าหมายการปกครอง
แต่หลังจากที่อยู่ภายใต้การกล่อมเกลาจนมีความซาบซึ้งในความกรุณาของชนชั้นปกครอง ก็ลุกขึ้นมาปกป้อง
ซึ่งตรงส่วนนี้ก็มีความสืบเนื่องจนมาถึงส่วนของกปปส.ด้วยซ้ำไป
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อ้างอิงสถาบันมากขนาดนั้น ใช้ความเป็นคนดีคนเลว
ใช้เป็นสงครามธรรมะระหว่างตัวเองเป็นคนดี อีกฟากเป็นคนเลว เป็นต้น
แต่ก็ยังมีความคล้ายคลึงกัน
กับอีกฟากหนึ่งก็ก่อให้เกิดพลเมืองที่มีการตื่นตัวขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง
ก็คือพวก “เสื้อแดง” เกิดขึ้นแรก ๆ สุดหลังรัฐประหาร 2549 มีการชุมนุมที่สนามหลวง
มีนปก. มีนปช. กลุ่มคนเสื้อแดงหลัก ๆ
ที่เกิดขึ้นมาในช่วงนั้นก็คือลุกขึ้นมาปกป้องรัฐบาลที่พวกเขาเชื่อว่าดำเนินนโยบายในลักษณะที่ตอบสนองความจำเป็นและความต้องการของพวกเขา
เมื่อมีทหารมาทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลที่พวกเขาเลือกตั้งเข้ามาและทำประโยชน์ให้กับพวกเขา
ก็ลุกขึ้นมาเป็นกำลังหลักในการปกป้องในเวลาเดียวกัน นั่นในช่วงเวลาหนึ่งที่เราพบการลุกขึ้นมาของการเป็นพลเมืองที่ปกป้องตรงนั้น
นอกเหนือไปจากคนเสื้อแดงที่อาจจะเรียกได้ว่ามีความผูกพันกับพรรคการเมืองแล้ว
ในช่วงเวลาต่อมาก็มีกลุ่มอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการล้อมปราบปี
2553
เดิมทีกำลังหลักของเสื้อแดงส่วนใหญ่ก็จะเป็นพี่น้องประชาชนที่มาจากภาคเหนือภาคอีสาน
แต่หลังการล้อมปราบปี 2553 เพิ่มสัดส่วนของกลุ่มคนที่เห็นใจคนเสื้อแดงมากขึ้น
ทั้งที่เป็นในส่วนของสหายเก่าและในส่วนของปัญญาชน ในส่วนของนักกิจกรรม นักวิชาการ
ก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ
ในกลุ่มแดง
จะว่าไปในตอนเวลานั้นตั้งแต่ก่อตัวขึ้นมาจนมาถึงช่วงหลังสลายการชุมนุมเราก็จะพบว่าแดงมีหลายเฉด
คงไม่ได้มีแค่แดงที่ยึดถือรวมอยู่กับพรรคหรือคุณทักษิณเพียงคนเดียว
แต่อย่างที่บอกว่ามีทั้งสหายเก่า มีทั้งนักกิจกรรมทางสังคม มีทั้งปัญญาชนสาธารณะ
มีทั้งนักวิชาการ ที่เหล่านั้นต่างร่วมกันขึ้นมาเพื่อที่จะขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่เราเชื่อว่าจะนำไปสู่ความเท่าเทียมของคนในสังคม
แต่อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้อาจจะปิดฉากในช่วงเวลานี้ก็คือว่ามีรัฐประหาร 2557
เป็นการปิดฉากการเคลื่อนไหวทั้งหมด จากเดิมที 2549 เป็นเงื่อนไขให้เกิดเสื้อแดง
ที่สุดท้ายพอรัฐประหาร 2557 เสื้อแดงที่ชุมนุมที่ถนนอักษะก็เป็นอันต้องสลายไปเนื่องจากว่ามีคำสั่งของ
คสช. ในเวลานั้น
เราจะเห็นว่าการขับเคี่ยวกันของชนชั้นปกครอง
2 กลุ่ม ยังผลให้เกิดการแหลกลาญทั้งทางกายภาพในปี 2553 และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2557
แต่ต่อให้ไม่มีองค์กรนำเช่น นปช. คนเสื้อแดงก็ยังคงอยู่ ถ้าใครจำกันได้ดี
หลังมีการรัฐประหารก็มีกิจกรรมจำนวนหนึ่งขึ้นมา ไล่มาตั้งแต่การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในปี
2559
เนื่องจากพวกเราเห็นว่าที่มาของมันรวมไปถึงกระบวนการและเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด
แต่ด้วยความที่กระแสสังคมในตอนนั้นรวมไปถึงการใช้กลไกอีกหลายอย่างในตอนนั้น
ก็ทำให้ตัวรัฐธรรมนูญก็ผ่านไป หลังรัฐธรรมนูญผ่านไป
สิ่งที่เราทำก็คือรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งโดยกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
เสื้อแดงไม่ได้หายไปไหน ต่อให้ไม่มีองค์กรนำเช่น นปช. ในเวลานั้น แต่เสื้อแดงในเวลานั้นมีจิตใจที่รักประชาธิปไตยก็ไปร่วมกับกลุ่มต่าง
ๆ ที่เคลื่อนไหว เพราะด้วยแนวทางที่คล้ายคลึงกัน
กลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ทำแบบนั้นเช่นกัน
พอมีการรับปากว่าจะเลือกตั้งแล้ว
สิ่งที่ทำสุดท้ายในช่วงเวลานั้นก็คือ
ผมเป็นส่วนหนึ่งก็คือเราไปตั้งกลุ่มที่เรียกว่า “การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม”
หรือ “กลุ่มเฟร์” เราก็บอกว่าถ้าจะเลือกตั้ง
ก็ขอให้เลือกตั้งแบบบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นกลาง
เราก็เห็นคนเสื้อแดงได้เข้าไปมีส่วนตรงนั้นอยู่ ต่อให้เขาพยายามจะปราบสักเท่าไร
ต่อให้ไม่มีองค์กรนำในเวลานั้น
แต่คนเสื้อแดงก็ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตย และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางสังคมและการเมืองมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
นั่นคือพลเมืองชุดที่สอง
ช่วงที่หนึ่งเป็นเพียงแค่เป้าหมายการปกครอง
ช่วงที่สองก็คือเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวและมีปฏิกิริยาต่อการขับเคี่ยวกันของชนชั้นปกครอง
ช่วงที่สามคือ
คนเสื้อแดงรวมไปถึงรากหญ้าคนอื่น ๆ ขยับตัวเองขึ้นมาเป็นพลเมืองที่พัวพันและก็เข้าไปมีส่วนกับการปกครองโดยตรง
เพราะว่าหลังจากที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 และมีการเลือกตั้งปี 62
จำนวนหนึ่งของกลุ่มคนที่อาจจะเรียกว่าเป็นแดง อาจจะเรียกว่าเป็นนักกิจกรรม
หรือแดงปัญญาชน หรือแดงสังคมนิยม ได้พาตัวเองไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา
และพาตัวเองลงไปสู่สนามการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560
ถึงแม้ว่าเราจะเห็นว่ามีข้อจำกัดมากมาย เราจึงเห็นถึงการขยับตัวเข้าไปของประชาชนคนสามัญ
มีการใช้ชื่อ “ไพร่หมื่นล้าน” อาจจะเงินเยอะหน่อย หรือประชาชนคนสามัญก็เข้าไปตรงนั้น
มันขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่เป็น “อนาคตใหม่” แล้วก็ “ก้าวไกล”
ในกรณี
“ก้าวไกล” เราเห็นค่อนข้างจะชัดก็คือว่า มีกลุ่มคนที่เมื่อก่อนเดิมที่ก็เคลื่อนไหวกับพวกเราก็เข้าไปสู่เส้นทางการเมือง
ทั้งสายแรงงาน สายเกษตร อาจจะเป็นเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม LGBT รวมไปถึงนักศึกษาเยาวชนในช่วงเวลานั้น
ฉะนั้น เราจึงเห็นได้ว่าจากการเป็นคนธรรมดาสามัญที่เป็นเพียงเป้าหมายของการปกครอง
ก็ลุกขึ้นมาเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปกครองด้วยตัวเองด้วยการเสริมนโยบายเข้าไป
อย่างไรก็ดี
คนเสื้อแดงก็ไม่ได้มีเพียงส่วนนั้น
ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสังคมอยู่ อันนี้จะเห็นได้ชัดคือจะเห็นการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาเยาวชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ในปี 2564 เป็นต้นมา
หลังจากที่ขบวนการหรือกลุ่มของนักศึกษาเยาวชนถูกสลายตั้งแต่เช้าวันที่ 15 ตุลาคม
2563 จนในปี 2564
ก็จะเป็นกิจกรรมที่เราจะเห็นได้ว่าเป็นเสื้อแดงที่จะมาเป็นกำลังหลักในการเคลื่อนไหวในนามของนักกิจกรรมทางสังคม
กิจกรรมแรกสุดคือคาร์ม็อบที่เริ่มต้นจากนักกิจกรรมเสื้อแดง คุณสมบัติ บุญงามอนงค์
หรือแม้กระทั่งคุณเต้น ในวันที่ 1 สิงหาคม มาจัดกันตรงนี้ และช่วงเวลานั้นคาร์ม็อบเกิดขึ้นเยอะ
น่าสนใจที่กรณี
“คาร์ม็อบ” คนเสื้อแดงเข้าร่วมเยอะมากโดยเฉพาะทางอีสาน คือที่จัดในกรุงเทพฯ เขาไม่มีโอกาสเดินทางมา
แต่ในทางอีสานที่เราไปพบก็คือเฉพาะในช่วงเดือน กรกฎาคม, สิงหาคม
ต่อเนื่องไปถึงกันยายนนิดหน่อย มีจัดกระจายไปทุกจังหวัด ประมาณอย่างน้อยที่สุด 43
ครั้ง
และจัดในจังหวัดที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีการชุมนุมหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อนเลย
เหตุผลที่คนเสื้อแดงทางอีสานเข้าร่วมชุมนุมคาร์ม็อบเพราะว่าเขาสะดวกที่จะเข้า
คือขบวนผ่านมาเขาจะเข้าจะออกในเวลาไหนก็ได้ ไม่ต้องเป็นเป้าสายตาของใคร
สามารถที่จะอำพรางหมายเลขทะเบียนรถได้
จึงเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนเสื้อแดงสามารถที่จะเข้าร่วมกันได้อย่างคึกคักมาก
อันที่สองก็คือ
กรณีของการ “ยืน หยุด ขัง” ซึ่งเริ่มต้นเดือนมีนาคมปี 2564 หลังจากที่มีการจับกุมคุมขังแล้วไม่ให้ประกันตัว
แรกสุดก็คือที่หน้าศาลฎีกา โดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ จริง ๆ แล้วนักกิจกรรมก็ไม่ใช่เยาวชน
แต่ก็เป็นคนเสื้อแดงเหล่านั้นมาร่วมกันทำกิจกรรมนี้ขึ้นมา และกระจายไปทั่วประเทศ
อันนี้ก็เป็นกลุ่มคนเสื้อแดง
อีกอันที่เป็นคนเสื้อแดงซึ่งมีบทบาทอย่างแข็งขันก็คือ
“กองทุนราษฎรประสงค์” อันนี้ก็เกิดขึ้นช่วงปี 2564
ก็สืบเนื่องกันมาจากการถูกจับกุมคุมขัง ถ้าให้ประกันก็ต้องใช้เงิน
อันนี้เราจะเห็นได้ว่าคนเสื้อแดงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเยอะมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมเงินในคราวใหญ่ ๆ ถ้าเข้าไปดูจะเป็นจำนวนเงินไม่มาก
แต่จะมีนัยยะทางการเมือง เช่น 112 บาทบ้าง, 247.5 บาทบ้าง และเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
อาทิ เช่นต้องการระดมเงินครั้งใหญ่ 10 ล้าน จากยอดบริจาคหลักร้อย หลักพันเป็นส่วนใหญ่
ปรากฏว่าทะลุ 10 ล้านภายในเวลากว่า 3 ชม. ส่วนใหญ่ก็คือบรรดาพี่น้องเสื้อแดง เราจะเห็นว่านอกเหนือจากคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งเข้าไปสู่การเมืองที่เป็นระบบรัฐสภา
ก็ยังมีเสื้อแดงที่ยังคงทำกิจกรรมแบบนี้อยู่
อันที่สามก็คือไปเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมือง
เดิมที่ก็จะตามไปกับพรรคการเมือง “อนาคตใหม่” ในการเลือกตั้งปี 2562
อาจจะไม่หนาแน่นสักเท่าไร พอปี 2566 ก็เพิ่มจำนวนขึ้นมาค่อนข้างจะมากทีเดียว
ตรงนี้จะมาสู่จุดที่เรียกว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “แล้วหญ้าแพรกก็แหลกลาญ”
ในครั้งที่ 3 จากเหตุการณ์สำคัญคือมีการตั้งรัฐบาล ซึ่งเดิมทีก็มุ่งหมายว่าพรรครัฐบาลที่แนวทางประชาธิปไตยคล้ายคลึงกันจะจับมือกัน
จะด้วยเหตุผลประการใดก็ตามแต่ ก็เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการได้
เป็นเหตุให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1
ไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นเหตุให้พรรคที่ได้อันดับ 2
ตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด และมีการไปจับมือหรือร่วมมือกับพรรคการเมืองบางพรรค
ซึ่งก่อนหน้านั้นก็เป็นตัวแทนในการทำรัฐประหาร ส่งผลให้ตอนนี้เกิดความปริแยกในกลุ่มของมวลชนคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง
อีกอันคือการกลับมาของคุณทักษิณและการได้รับการลดหย่อนโทษรวมถึงการพักโทษด้วย
ที่น่าสนใจก็คือว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นในส่วนของเสื้อแดงที่บางส่วนอาจจะมีความรู้สึกกระอักกระอ่วน
กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ขณะที่หลายคนก็ยังคงให้กำลังใจ ไม่เฉพาะคนเสื้อแดง
แต่มีคนรากหญ้าหรือหญ้าแพรกคนอื่น ๆ ที่มีความกระอักกระอ่วนใจ
ผมจำได้ดีเมื่อเช้าวันที่ 1 กันยายน 2566 หลังจากที่มีพระราชกิจจานุเบกษา ประกาศออกไป
ลดโทษ! ผู้นำทางความคิดของอีกฟากหนึ่งก็ออกมารำพึงรำพันกัน
บางคนก็โพสต์ภาพคิดถึงคนบนฟ้า บางคนก็ตัดพ้อต่อว่าที่ทำมาทั้งหมดทำเพื่ออะไร เหมือนถูกลากมาตบหน้ากลางถนน
ไม่รู้จะทำอะไร คนกลุ่มนี้ก็แตกตัวออกไป มันก็เลยเห็นถึง “หญ้าแพรกก็แหลกลาญ”
คราวนี้ไม่ได้แหลกเฉพาะในส่วนของคนเสื้อแดง
มันแตกถึงกระทั่งอีกส่วนหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะแหลกไปทางไหน
ไม่มีฝ่ายใดถอยไปจากสังเวียน
เราอาจจะเห็นได้ว่ากิจกรรมทางการเมืองบนท้องถนนอาจจะมีคนจำนวนน้อยลง
แต่ทันทีที่เราเข้าไปสู่โลกโซเชียลมีเดียหรือออนไลน์
การขับเคี่ยวหรือการกระทำทางการเมืองยังคงเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น สำคัญแต่เพียงว่ามันเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นบนฐานของการไม่ฟังกัน
ซึ่งมันเป็นการท้าทายอย่างยิ่งต่อ “หญ้าแพรก” คนเสื้อแดง
รวมไปถึงหญ้าแพรกกลุ่มอื่น ๆ เพราะเราเติบโตมาจากการเป็นเพียงแค่เป้าหมายของการปกครอง
แล้วแต่เขาอยากจะประคับประคองเราอย่างไร เราผ่านการเป็นพลเมืองที่ตื่นตัว
ลุกขึ้นมาปกป้องกลุ่มบุคคลที่เราเห็นว่ากระทำไปเพื่อยังประโยชน์ให้กับพวกเรา
จนกระทั่งมาถึงการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง
ผมคิดว่ามี
2 โจทย์ใหญ่ ๆ ที่เราอาจจะต้องชวนคิด ผมจะทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ โจทย์อันที่ 1
ก็คือว่า เราจะรักษาดุลยภาพของการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ กับวาระของพรรคการเมืองเพื่อชัยชนะในสภาได้อย่างไร?
ผมคิดว่าอันนี้เป็นดุลยภาพใหญ่มาก คือถ้าว่ากันตามตำรา ฟังดูเหมือนเราไปในทิศทางที่ดี
ตำราปฏิวัติบางฉบับบอกว่าคุณต้องเสนอความคิดในสังคมประชาหรือภาคสังคม
หลังจากนั้นก็ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและกฎหมายของพรรคการเมืองผ่านปัญญาชนของพรรค
ซึ่งปัจจุบันก็ดูเหมือนว่าเราจะไปในทิศทางนั้นและทำได้ดีอยู่
แต่โจทย์ที่มันท้าทายต่อไปก็คือ จริง ๆ แล้วก็มีความเหลื่อมซ้อนกันอยู่ระหว่างสังคมประชากับสังคมการเมือง
แต่อย่างน้อยที่สุดจำเป็นจะต้องมีความกระจ่างชัด
เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะมีคำถามกลับมาถึงความชอบธรรมของการเคลื่อนไหวว่าเราทำไปในนามของประชาสังคมหรือว่าสาธารณะจริง
ๆ หรือเอาเข้าใจเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการเมือง
ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่านอกเหนือไปจากการจะสูญเสียความชอบธรรมและถูกต้องคำถามแล้ว
อีกอันหนึ่งซึ่งผมเฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ และห่วง ๆ
ก็คือการหดแคบลงของการเคลื่อนไหวทางสังคม ตอนนี้การเมืองในสภาของเราขยายตัวกว้างมาก
ดึงเอาผู้คนเข้าไปอยู่ข้างใน ไปอยู่ในตำแหน่ง ไปเป็นที่ปรึกษา เป็นกรรมาธิการ
ดูประหนึ่งเหมือนกับทุกอย่างเข้าไปในนั้นหมด สังคมอยู่ตรงไหน แล้วผมคิดว่าในแง่หนึ่งเราอาจจะจำเป็นจะต้องคิดถึงรัฐที่พ้นไปจากตรงส่วนประกอบเพียงแค่ดินแดน
อำนาจอธิปไตย รัฐบาล และประชากร แต่มันจะต้องมีส่วนของสังคม
ผมจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้มาพูดในฐานะที่ยังพยายามที่จะรักษา
ค้ำยัน พื้นที่ทางสังคมเอาไว้
ไม่ทำให้ถูกกลืนหายไปกับการเมืองในสภาหรือการขับเคี่ยวกันเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง
และผมก็ยินดีที่เห็นพี่ ๆ ป้า ๆ ถึงแม้จะมีเด็ก ๆ น้อยหน่อย
แต่อย่างน้อยเราก็ยังเห็นความสำคัญส่วนนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่บุคคลที่เคลื่อนไหวกันมาก่อนหน้านั้นจำนวนหนึ่งยังได้รับผลกระทบอยู่
ยังถูกจับกุมคุมขัง ยังไม่ได้รับการประกันตัว มีการเสียชีวิต
ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ และเราจำเป็นที่จะรักษาสังคมตรงนี้เอาไว้
ไม่ปล่อยให้ถูกกลืนหายไปเพียงแค่เป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง
โจทย์อันที่ 2 ก็คือ เราอาจจะคิดถึงอำนาจอธิปไตยในความหมายที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะรัฐบาล เราสามารถที่จะมีอำนาจอธิปไตยที่ไม่ได้เป็นเอกพจน์ ที่สามารถจะมีความหลากหลาย มากรูปลักษณ์หลายแบบได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยหรือผ่านทางเฉพาะตัวแทนเสมอไป เราเคยมีการเมืองทางตรง เราเคยมีการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน พรรคการเมืองก็จำเป็น แต่สังคมที่เข้มแข็งก็จำเป็นเหมือนกัน ผมคิดว่าเราจะต้องมีความคิดหรือจินตนาการถึงสังคมแบบนี้ด้วย กับอีกอันหนึ่งก็คือ เราอาจจะต้องคิดถึงความสามารถที่จะทำการบรรลุได้โดยตัวเอง ซึ่งเหล่านี้เป็นการเมืองในชีวิตประจำวันอีกมากมายซึ่งเรายังสามารถที่จะทำได้อยู่
เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพียงแค่เป้าหมายของการปกครองของระบบรัฐสภา
แต่เราสามารถเป็นผู้กระทำการหรือสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ด้วยตัวของเราเอง
ด้วยวิธีการที่หลากหลาย และการถ่างหรือค้ำยันพื้นที่ทางสังคมตรงนี้เอาไว้
ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยในเวลานี้
สุดท้าย
ขอไว้อาลัยแด่คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553
รวมถึงผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่เสียชีวิตทุกคนที่ผ่านมา
ขอเป็นพลังใจให้กับทุกท่านในการสร้างสรรค์สังคมที่น่าอยู่ร่วมกัน ขอบคุณครับ
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คปช53 #คนเสื้อแดง