วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

“ชุติพงศ์” ชี้ไฟไหม้วินโพรเสส เกิดจากหน่วยงานรัฐปล่อยปละละเลย หลังคนพื้นที่ร้องเรียนเป็น 10 ปี จี้รัฐบาลต้องมีคนรับผิดชอบ แจงแนวทางจัดการกากอุตสาหกรรม-แผนรับมือเผชิญเหตุ-การชดเชยเยียวยาประชาชน

 


ชุติพงศ์” ชี้ไฟไหม้วินโพรเสส เกิดจากหน่วยงานรัฐปล่อยปละละเลย หลังคนพื้นที่ร้องเรียนเป็น 10 ปี จี้รัฐบาลต้องมีคนรับผิดชอบ แจงแนวทางจัดการกากอุตสาหกรรม-แผนรับมือเผชิญเหตุ-การชดเชยเยียวยาประชาชน

 

วันที่ 23 เมษายน 2567 อาคารรัฐสภา ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง เขต 4 พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีเหตุไฟไหม้โรงงานวินโพรเสส อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ส่งผลให้สารเคมีอันตรายในโรงงาน ปนเปื้อนไปกับควันไฟลอยฟุ้งออกไปสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน

 

ชุติพงศ์เริ่มต้นด้วยการรายงานสถานการณ์ว่า เหตุเพลิงไหม้โรงงานดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 08.00 น. ของวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะนี้เพลิงไหม้สงบลงแล้ว เหลือเพียงกองไฟกลุ่มเล็กๆ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากในพื้นที่ เนื่องจากโรงงานดังกล่าวถูกร้องเรียนมาโดยตลอดและมีการขอให้จัดการกับกากอุตสาหกรรมในโรงงานมาเกินกว่า 10 ปี รวมถึงมีการฟ้องร้องคดีจากพี่น้องประชาชนและภาครัฐ ชนะคดีเรียบร้อยแล้ว

 

ปัญหาคือการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมที่อยู่ภายในโรงงานจำนวนมาก มีสารเคมีที่ไม่สามารถระบุชนิดได้ ทั้งสารกรด สารด่าง น้ำมันเครื่อง และเศษวัสดุต่างๆ ที่สามารถติดไฟได้ ก่อนหน้านี้ตนนำกรณีดังกล่าวมาพูดในสภาฯ เป็นญัตติ 2 ครั้ง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ในช่วงฤดูฝนโรงงานนี้เคยเกิดน้ำท่วม น้ำที่ไหลออกมามีการปนเปื้อนสารเคมีเข้าสู่บ้านเรือนประชาชน จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เพิ่งมีคำสั่งจากอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ให้มีการขนย้ายสารเคมีอันตรายออกจากโรงงาน และนำไปกำจัดให้ถูกต้องทั้งหมด

 

ชุติพงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากนั้นมีการลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ช่วงวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา มีคำสั่งให้ขนย้ายและกำจัดกากอุตสาหกรรมในวันที่ 19 เม.ย. แล้วก็เกิดเหตุเพลิงไหม้ในวันที่ 22 เม.ย. จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่าเพลิงไหม้เกิดขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากวันเกิดเหตุเป็นวันเปิดทำงานวันแรก เมื่อคนงานเข้าไปทำงานจึงทราบว่ามีเพลิงไหม้ จึงอยากฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สืบสวนหาความจริงว่ามีการเข้าออกโรงงานในช่วงกลางคืนไปจนถึงช่วงเช้าก่อนเกิดเพลิงไหม้หรือไม่ เพราะไม่แน่ใจว่าเกิดเพลิงไหม้เช่นนี้ขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีการปฏิบัติงานในช่วงก่อนหน้านั้น

 

คำถามถัดมาที่ชุติพงศ์ฝากไปยังผู้เกี่ยวข้อง คือต้องการให้หน่วยงานไล่เรียงรายชื่อสารเคมีที่กระจายออกมา เนื่องจากกรมอุตสาหกรรมระบุแต่เพียงว่าเป็นสารกรดด่าง สารเรซิน ฯลฯ เรื่องนี้เป็นความกังวลอย่างมากในหมู่พี่น้องประชาชนและตั้งคำถามว่าควันพิษจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ต้องการเห็นการประเมินและตรวจสอบว่า ควันพิษดังกล่าวลอยไปกว้างแค่ไหน มีสารพิษเจือปนมากแค่ไหน มีผลกระทบกับพี่น้องประชาชนทั้งในแง่อากาศและน้ำมากเพียงใด

 

ชุติพงศ์กล่าวว่า ต้องย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรก แต่พูดถึงมายาวนานกว่า 10 ปี เป็นความกังวลของพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาตลอด แต่ในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์ที่หลายฝ่ายกังวลขึ้น หลังจากนี้ตนจึงอยากเห็นแนวทางการจัดการที่รวดเร็วของหน่วยงานรัฐ จะทำอย่างไรกับพื้นที่เกิดเหตุ ทำอย่างไรกับกากอุตสาหกรรมที่ยังเหลืออยู่ พร้อมทั้งแนวทางชดเชยเยียวยาให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

 

เรื่องนี้ต้องฝากคำถามไปยัง รมว.อุตสาหกรรม ที่แถลงว่าจะมีการตรวจสอบผล ตนต้องการทราบกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน รวมถึงกรณีการแถลงของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวว่าจะมีการชดเชยเยียวยาพี่น้องประชาชน อยากตั้งคำถามว่าภายใต้กรอบเท่าใด การชดเชยระยะสั้นระยะยาวจะเป็นอย่างไร เพราะพี่น้องประชาชนที่อยู่รอบโรงงานรอคอยมานาน เหตุใดจึงรอให้เกิดเหตุที่รุนแรงขึ้น ถึงจะมีการแก้ไขหรือสั่งการ

 

ชุติพงศ์กล่าวต่อว่า คำถามถัดมาในเชิงโครงสร้างของประเทศ ตลอดระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีปัญหาการพบกากอุตสาหกรรมอันตรายโผล่อยู่ในหลายพื้นที่ จึงอยากทราบว่าภาครัฐจะมีมาตรการอย่างไรในการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงการติดตาม (tracking) สารเคมีและกากอุตสาหกรรมอันตราย เนื่องจากรัฐควรจะรู้ทั้งหมดว่ามีการเคลื่อนย้ายสารไปที่ใดบ้าง รวมถึงการเปิดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แนวทางการจัดการขยะอุตสาหกรรมจะมีคำตอบและขั้นตอนชัดเจนเมื่อใด

 

ในฐานะที่ผมอยู่หน้างาน ช่วงที่ยากลำบากที่สุดคือช่วงก่อนการประกาศภัยพิบัติเพื่อทำให้มีโฟมมาใช้ดับไฟ คำถามคือกองทุนที่จะใช้แก้ปัญหาในระยะเบื้องต้นที่เอกชนควรมีส่วนร่วมในการลงทุน จะเริ่มขึ้นได้เมื่อไหร่ และผล PRTR ก็ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นได้มากที่สุด เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวที่พี่น้องประชาชนและพรรคก้าวไกลรอฟังคำตอบจากรัฐบาล อยากให้รัฐบาลใช้วินโพรเสสเป็นกรณีศึกษา ต้องฝากนายกฯ กำชับไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะโรงงานที่ไฟไหม้แบบนี้ในรอบ 2 เดือนเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งที่ จ.อยุธยา และ จ.ระยอง เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ” ชุติพงศ์กล่าว

 

ชุติพงศ์ทิ้งท้าย ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เผชิญเหตุแก้ปัญหา ขอให้มีการตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานว่าได้รับผลกระทบมากแค่ไหน รวมถึงตรวจสอบคุณภาพน้ำและอากาศในบริเวณพื้นที่รอบๆ อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์เพื่อให้ประชาชนแน่ใจว่าไม่มีสารพิษตกค้างและเกิดความปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชน

 

ในช่วงตอบคำถามผู้สื่อข่าว ชุติพงศ์กล่าวเพิ่มเติมถึงการสันนิษฐานสาเหตุเพลิงไหม้ว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งหาคำตอบโดยเร็ว เพราะขณะนี้มีการเชื่อมโยงเจ้าของโรงงานวินโพรเสสกับโรงงานที่ อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเกิดเพลิงไหม้เมื่อเดือนมีนาคม มีการตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการวางเพลิงหรือไม่ รวมถึงต้องสอบถามไปยังการไฟฟ้าฯ เพราะโรงงานวินโพรเสสถูกตัดไฟไปแล้ว สาเหตุจึงไม่น่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร

 

หลังจากนี้ ตนจะประสานไปยังกรรมาธิการการอุตสาหกรรมเพื่อหาเวลาลงพื้นที่ร่วมกัน หาข้อสรุปเหตุการณ์ทั้งหมด และฝากทาง กมธ.อุตสาหกรรม ประสานไปยัง รมว.อุตสาหกรรม ทำเรื่องนี้ให้เกิดความกระจ่างต่อสังคมโดยเร็วที่สุด อยากให้กรณีนี้เป็นกรณีสุดท้ายและเป็นการเริ่มต้นมาตรการการรับมือเผชิญเหตุและการเยียวยาประชาชน เพราะขณะนี้รัฐบาลกำลังเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ มีคนหิ้วเงินเข้ามาและทำกำไรในประเทศ รัฐต้องมีมาตรการกำกับควบคุม ไม่ปล่อยให้เขาทิ้งไว้แค่ขยะกากอุตสาหกรรมและมลพิษ โดยเฉพาะในจังหวัดอีอีซี เช่น ให้นักลงทุนมีแผนที่จะตั้งกองทุนเพื่อเป็นการรับผิดชอบร่วมกันในเวลาเกิดเหตุภัยพิบัติ รวมถึงต้องมีการผลักดันกฎหมาย PRTR (กฎหมายรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล