วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“ณัฐวุฒิ” สะท้อนความเจ็บปวดการต่อสู้ของ“คนเสื้อแดง” ถูกด้อยค่า-คุมขัง-บาดเจ็บ-ตาย เหมือนถูกยิงทิ้ง 14 ปีคดีไม่คืบ เห็นด้วยนิรโทษกรรมประชาชน รวม 112 ไม่ทิ้งคนหนุ่มสาวไว้กับพันธะทางคดีความ

 


“ณัฐวุฒิ” สะท้อนความเจ็บปวดการต่อสู้ของ“คนเสื้อแดง” ถูกด้อยค่า-คุมขัง-บาดเจ็บ-ตาย เหมือนถูกยิงทิ้ง 14 ปีคดีไม่คืบ เห็นด้วยนิรโทษกรรมประชาชน รวม 112  ไม่ทิ้งคนหนุ่มสาวไว้กับพันธะทางคดีความ


วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และพิพิธภัณฑ์สามัญชน ได้จัดนิทรรศการรำลึกการต่อสู้คนเสื้อแดง โดยนำภาพข่าว อุปกรณ์สัญลักษณ์ในการออกมาต่อสู้ อาทิ หัวใจตบ ตีนตบ หมวก เสื้อสกรีนสัญลักษณ์ และข้อความการเรียกร้องประชาธิปไตย การต่อต้านเผด็จการและรัฐประหาร รวมถึงหนังสือพิมพ์ฉบับ เมษา-พฤษภา 2553 ช่วงสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง มาจัดแสดง


จากนั้น 15.10 น.  เริ่มเสวนา “คนเสื้อแดง ภาพวาดปีศาจร้ายการเมืองไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. และชวนพูดคุยโดยอานนท์ ชวาลาวัลย์ จากพิพิธภัณฑ์สามัญชน 


ณัฐวุฒิ เริ่มต้นด้วยการกล่าวขอบคุณน้อง ๆ นักศึกษา และคณะผู้จัดงานที่นึกถึงเรื่องราวการต่อสู้ของคนเสื้อแดง และได้รวบรวมมาจัดแสดงให้คนรุ่นปัจจุบันได้แลเห็น ได้พูดคุย หรือกระทั่งการนำมาถกกันไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง


ณัฐวุฒิเล่าถึงการต่อสู้ทางการเมืองของเขาและคนเสื้อแดงว่า ทุกวันนี้คนเสื้อแดงก็ยังต่อสู้อยู่และยังมีที่ทางอย่างชัดเจนในประวัติศาสตร์ของไทยแต่อาจจะไม่เป็นที่ต้องการของคนบางกลุ่มหรืออำนาจบางอำนาจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในประวัติศาสตร์ไทยมีการต่อสู้ของคนเสื้อแดงอยู่ด้วย 


ตนเองเมื่อเข้าไปดูนิทรรศการแล้ว ภาพที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์หรือหนังสือเล่มต่าง ๆ แม้ภาพนั้นจะเป็นภาพนิ่ง แต่สำหรับตนมันเป็นภาพเคลื่อนไหว มีความรู้สึก มีอารมณ์ทั้งหมดอยู่ในนั้น โดยเฉพาะภาพเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ในคืนวันนั้นคือคืนที่หนักหนาที่สุดในชีวิตที่ตนได้เคยเจอ ไม่สามารถลืมทุกวินาทีในคืนนั้นได้เลย เพราะเป็นวันที่คนเสื้อแดงถูกล้อมปราบโดยรัฐบาลในเวลานั้นที่มีการใช้อาวุธสงครามกับคนเสื้อแดง ประชาชนเสียชีวิตกว่า 20 ราย และน่าจะเป็นครั้งแรกในโลกที่รัฐใช้อาวุธสงครามติดลำกล้องยิงระยะไกลกับการต่อสู้ชุมนุมของประชาชนมือเปล่า ๆ และเรื่องนี้ ไม่มีเสียงปฏิเสธจากผู้มีอำนาจในเวลานั้นจนปัจจุบันนี้


ณัฐวุฒิได้กล่าวย้ำว่า ภาพที่เห็นในนิทรรศการที่จัดแสดงนี้ ในคืนวันที่ 10 เมษายน มันมีหลายภาพอยู่ในนั้น เมื่อมองดูภาพเหล่านั้นก็จะเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด คืนนั้นเป็นเหตุการณ์ที่รู้สึกสะเทือนใจมากที่สุด เพราะเป็นคืนแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้แม้ว่าภายหลังจะเกิดการล้อมปราบ เกิดการเสียชีวิตขึ้นอย่างต่อเนื่อง


10 เมษายน 2553  ตนเป็นคนดูแลสถานการณ์นั้น เป็นคนเจรจากับรัฐบาลเพื่อให้ยุติการใช้ความรุนแรง เป็นคนพูดคุยกับพี่น้องมวลชนที่อยู่ที่เวที เป็นคอยปลอบประโลมญาติมิตรครอบครัวของผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย ทุกอย่างมันโกลาหล ทุกอย่างเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน มันระงมไปด้วยเสียงร้องไห้ เสื้อของตนเปียกน้ำตาประชาชนไปหมด


ณัฐวุฒิ เล่าว่า มีน้องผู้หญิงที่รีบออกจากบ้านมาทั้งชุดนอนไม่ได้ใส่รองเท้าเพราะว่าดูข่าวแล้วเห็นชื่อสามีของเธอเป็นหนึ่งในผู้ถูกยิง เธอวิ่งเข้ามากอดแล้วพูดว่าช่วยสามีของเธอด้วย พูดซ้ำ ๆ และก็มีอีกหลายต่อหลายคน


"เสื้อที่เปียกน้ำตาประชาชนวันนั้นมันหนาว ในวิถีการต่อสู้ของคนเสื้อแดง แม้เราจะผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก แต่ไม่มีอะไรหนาวเท่าหนาวน้ำตาของประชาชน หนาวเหน็บจริง ๆ" 


ณัฐวุฒิ ได้กล่าวถึงคนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุมตอนนั้นว่า ก็เพียงคนไทยธรรมดาที่ใช้ชีวิตสุจริตโดยปกติของตัวเองในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของการเมืองภายหลังกติการัฐธรรมนูญ 2540 และจำนวนไม่น้อยในขณะนั้น รู้สึกว่านโยบายจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถที่จะสร้างโอกาสเปลี่ยนชีวิต ที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาได้ จึงผูกพันกับนโยบายและรัฐบาลที่พวกเขาเลือกมา และแม้ว่าจะมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่อาจจะไม่ได้มีความผูกพันใด ๆ แบบนี้ แต่เห็นความเป็นไปในบ้านเมือง เห็นการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมซึ่งไม่ยุติธรรม จนเกิดคำว่า "สองมาตรฐาน" เห็นการกระทำต่อคนฝ่ายหนึ่ง แล้วก็อุ้มชูคนอีกฝ่าย เห็นสิ่งที่อธิบายเป็นคำพูดได้ว่า ฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ผิด อีกฝ่ายทำอะไรแม้ว่าจะแบบเดียวกันก็ไม่ผิด 


อีกส่วนหนึ่งคือ เส้นสุดท้ายในคืนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ก่อนหน้านั้นอาจจะไม่ได้สนใจการเมืองมากนัก หรือสนใจแต่ไม่ยึดติดกับกลุ่มใด ๆ หรือบางคนถึงกระทั่งเคยชุมนุมกับกลุ่มมวลชนที่ออกมาขับไล่รัฐบาลขณะนั้นร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือ พธม. ออกมาไล่รัฐบาลไทยรักไทย แต่พอเกิดรัฐประหารคนกลุ่มนี้ไม่ยอมข้ามเส้นหลักการแล้วยอมไปกับกลุ่มมวลชนที่เขาเคยสัมผัสด้วย นั่นก็คือไม่กลับไปร่วมกับพันธมิตรฯอีกแล้ว


ในสองถึงสามกลุ่มนี้ น่าจะเป็นกลุ่มก้อนหลัก ๆ ที่ภายหลังเดินทางมาเรื่อย ๆ แล้วก็รวมตัวกันกลายเป็นคนเสื้อแดง ซึ่งปรากฏตัวชัดเจนเป็นกลุ่มก้อนครั้งแรกในเวที "ความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 1" ที่จัดขึ้นที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี โดยณัฐวุฒิได้กล่าวย้อนว่า จริง ๆ มีการใส่เสื้อสีแดงในการรณรงค์และเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนแล้วก็คือ การใส่เสื้อแดงตอนรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แต่ว่ายังไม่เกิดภาพที่คนใส่เสื้อแบบเดียวสีเดียวกันมารวมตัวกัน หลาย ๆ พันคนหรือเป็นหมื่น ๆ คน มันเกิดขึ้นที่นั่นเป็นครั้งแรก "เวทีความจริงวันนี้"


ในเวทีประวัติศาสตร์การเมืองไทย คนเสื้อแดงเหมือนคนแปลกหน้า ไม่เคยมีกลุ่มมวลชนกลุ่มไหนที่มีรูปลักษณ์และมีวิธีการเคลื่อนไหวแบบคนเสื้อแดงมาก่อน ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยส่วนใหญ่กลุ่มคนที่ออกมาแสดงพลัง เรียกร้อง หรือต่อสู้ทางการเมืองจนกระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม โดยส่วนใหญ่เป็นคนเมืองแม้จะมีถิ่นฐานดั้งเดิมจากชนบทก็ตามแต่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในเมือง 


ณัฐวุฒิ เล่าต่อว่าคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมในเวลานั้น คือการไหลบ่าเข้ามาของคนระดับฐานรากของสังคม แล้วเข้ามาส่งเสียงใจกลางมหานคร เข้ามาแสดงบทบาทอย่างสำคัญ เข้ามาฉีกทุกหน้ากากที่ครอบคลุมบุคคลใด ๆ ก็ตามที่ถูกจัดวางไว้ในสถานะทางสังคมไว้ว่าพวกเขาเหล่านั้นเพียงวาดหน้าให้เป็นคนเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ใบหน้าที่จริงแล้วไม่ใช่ และสังคมไทยไม่เคยปรากฏสถานการณ์แบบนี้


วิธีการของคนเสื้อแดง วิถีการต่อสู้ของพวกเราไม่เคยยึดขนบใด ๆ มาก่อนเลย อยากพูดเรื่องอะไรก็พูด อยากแสดงออกอย่างไรก็ทำ อยากร้องเพลงแบบไหนเราก็ร้อง อยากจะเต้นตรงไหนเราก็เต้น เต้นได้ทุกจังหวะเพลงแม้แต่เพลงช้าที่สุดในโลกคนเสื้อแดงก็เต้นได้ และเต้นได้ทุกที่ นึ่งข้าวเหนียว ตำส้มตำ ซักผ้า ตากผ้าถุง ตากผ้าขาวม้า กลางแยกราชประสงค์ เราก็ทำ


ทำให้คนเสื้อแดงถูกตั้งคำถามและไม่เคยให้ค่าความเชื่อว่าคนเสื้อแดงเข้าใจการเมืองและคือคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย คนอีกซีกหนึ่งของสังคมนี้ไม่เชื่อเลยว่าคนเสื้อแดงมาด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างแท้จริงของตัวเอง คำอธิบายที่คนเมืองมองคนเสื้อแดงจึงเป็น "ม็อบรับจ้าง" "ทาสทักษิณ" "ม็อบไร้การศึกษา" หรืออีกสารพัดวาทะกรรมที่ถูกเอามาจัดวางบนเสื้อสีแดงนี้ เพื่อทำให้พลังของคนเสื้อแดงไร้ค่าจนไปถึงชีวิตของคนเสื้อแดงก็ไร้ค่าไปด้วย 


และหลังจากการสูญเสียประชาชนถูกฆ่า จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจ แต่ 100 ชีวิตของคนเสื้อแดง ไม่มีครับ ไม่มี ณัฐวุฒิกล่าว


ณัฐวุฒิอธิบายว่า ไม่ได้กำลังบอกว่าควรนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจเหมือนเหตุการณ์อื่นนะ แต่ชี้ให้เห็นว่าผู้มีอำนาจไม่ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองออกมาเพราะเห็นว่าชีวิตคนเสื้อแดงไม่มีค่า ไม่เหมือนกับเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นที่หลังเหตุการณ์สลายชุมนุมทางการเมืองประชาชนเสียชีวิตรัฐจะต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองออกมา เพราะเห็นว่ายังได้ทำผิดอยู่ แต่สำหรับคนเสื้อแดงรัฐไม่เคยยอมรับว่าได้กระทำความรุนแรงต่อเรา 


พูดเอง ผมก็เจ็บเอง มันคือการยิงทิ้ง ยิงทิ้ง ยิงทิ้งสักร้อยหนึ่ง คนเสื้อแดงเดินมาด้วยสายตาแบบนั้นของสังคม เราถูกพูดถึงอย่างนั้น แต่เราก็ยังเป็นเรา ก็ยังเป็นคนเสื้อแดงอย่างที่เราเป็น  ณัฐวุฒิกล่าว


ณัฐวุฒิเล่าต่อไปว่า การที่เรื่องราวของคนเสื้อแดงถูกเยาวชนหยิบมาพูดถึงเมื่อปี 2563 มันมีความหมายมาก มีคุณค่ามาก มีพลังมาก ๆ สำหรับคนที่ผ่านอะไรมาแบบคนเสื้อแดง ซึ่งเวลานั้นตนอยู่ในเรือนจำ วันหนึ่งมีพี่น้องที่ไปเยี่ยมบอกว่า "เฮ้ยเต้น ! ที่จุฬา ใต้ตึกคณะอักษร นิสิตเค้าพูดถึงคนเสื้อแดง เขาเอาคำปราศรัย #เสียงจากดินถึงฟ้า ของตนไปพูด แล้วนิสิตด้วยกันที่เป็นผู้ฟังก็ปรบมือส่งเสียงให้กำลังใจ หลังจากนั้นในโลกออนไลน์ก็มีการเอ่ยปากขอโทษคนเสื้อแดง เอ่ยปากเรียกหาคนเสื้อแดง แสดงความเข้าใจ เห็นใจ ผมร้องไห้เลยขณะนั้น มาถึงตรงนี้ณัฐวุฒิเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ มีน้ำคลอนัยย์ตา จนถึงขนาดต้องหยุดพูด


จากนั้นอานนท์ ได้ชวนพูดคุยในประเด็นการเสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถ้ากฎหมายนี้ออกมาได้จริง ๆ คนเสื้อแดงจะได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้บ้าง


ณัฐวุฒิ ให้ความเห็นว่า มีสองเรื่องอยู่ในประเด็นนี้คือ หนึ่งในคดีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตคดีเหล่านี้ไปถึงการพิจารณาชั้นศาลแล้ว แต่ฝ่ายผู้ต้องหาคือฝ่ายผู้มีอำนาจ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ไปร้องเรียนว่าขอบเขตคดีสลายการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลอาญา ต้องไปฟ้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากเขาใช้อำนาจทางการเมือง


เราสู้กันถึงฎีกาแล้ว ศาลฎีกาก็ชี้ตามนั้นว่าคนตายเป็น 100 คน ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา ถึงที่สุดคดีก็ไปตั้งต้นใหม่ที่ ปปช. แต่ปปช.ก็ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าผู้มีอำนาจทางการเมืองในตอนนั้นไม่มีความผิดเพราะเป็นการใช้อำนาจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง คดีจึงไปไม่ถึงไหน


ณัฐวุฒิ เห็นว่าการจัดการเรื่องนี้อาจจะมีคนเสนอไว้หลายแนวทาง แต่สำหรับแนวทางที่ตนเลือกเดิน และยินดีที่จะคู่ขนานกับทุกแนวทางคือเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายลูกสองฉบับ คือ พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช) และ พ.ร.ป.คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเป็นการให้สิทธิ์แก่ประชาชนผู้เสียหาย สามารถฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้นำทางการเมืองได้เอง ไม่ต้องกังวลว่า ป.ป.ช. หรืออัยการจะไม่สั่งฟ้อง ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เสนอเข้าสภาและขณะนี้ทั้งสองฉบับกำลังจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาวันที่ 16 ก.พ. นี้ ซึ่งก่อนที่ร่างนี้จะเข้าสภา ตนจะใส่เครื่องแบบเสื้อแดงของตนอีกครั้ง ไปพบพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย ก้าวไกล เพื่อขอให้สนับสนุนร่างกฎหมายนี้จนแล้วเสร็จและบังคับใช้


ส่วนเรื่องคดีความทางการเมือง ถ้าหากจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเห็นด้วยเต็มประตู แต่สำหรับมวลชนคนเสื้อแดงแล้วตอนนี้ติดคุกและออกมาหมดแล้วเพราะเวลาผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว ส่วนแกนนำอย่างตนก็ติดคุกไป 3 รอบแล้ว แต่ก็ยังเห็นว่ามีรอบที่ 4 รออยู่เพราะคดียังไม่จบแม้กระทั่งคดีช่วงปี 2551 - 2552 ก็ยังมีอยู่ จึงไม่เหลือคนเสื้อแดงที่ต่อสู้กันมาในปี 2552 - 2553 ให้ต้องนิรโทษกรรมออกจากคุกแล้ว แต่ก็ยืนยันว่ายังสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ พร้อมร่วมผลักดันให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาอยู่ดี เพราะไม่ได้มีความหมายเพียงแค่เอาใครออกจากคุก แต่เป็นการปลดพันธนาการข้อหาที่รัฐยัดใส่ประชาชนจากการออกมาเรียกร้อง การไม่ยอมรับการกระทำรัฐประหาร เพราะพวกเขาก็ควรจะมีสิทธิที่จะถูกยอมรับโดยรัฐว่าการออกมาต่อสู้ของพวกเขาไม่ใช่ความผิดและเป็นสิทธิโดยชอบธรรม


นอกจากนี้ ณัฐวุฒิ ยังยืนยันว่า หากมีการนิรโทษกรรมในคราวนี้จะต้องช่วยเด็กด้วย นิรโทษกรรมผู้ต้องหา ผู้ถูกดำเนินคดีหรือผู้ต้องขังจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เสียด้วย ให้พูดที่ไหนตนก็จะยืนยันแบบนี้ เพราะนี่คือการแสดงทางความคิดของคนปัจจุบัน ถ้าบอกว่าเราจะเดินไปสู่ความสามัคคีปรองดองกัน แล้วทิ้งคนหนุ่มสาวในยุคสมัยหนึ่งไว้กับพันธะทางคดีความไว้เช่นนี้ จะไม่เป็นผลดีกับใครส่วนใด ๆ เลย หรือกับองค์กรหรือสถาบันใด ๆ เลย


ดังนั้นไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องมาตรา 112 อย่างไร แต่ข้อเสนอของผมไม่เปลี่ยน เพราะนี้ไม่ได้มีการเจตนาทำร้ายทำลายสิ่งใด แต่เป็นการยื่นอ้อมกอดของความเมตตาให้กับเยาวชนลูกหลานเราเอง ณัฐวุฒิ กล่าว


ถ้าบางคนบอกว่าไปนิรโทษกรรม คดี 112 ใครกระทำการที่กฎหมายบอกว่าผิดไม่ต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ คำตอบของตนก็คือว่า 3 - 4 ปีมานี้ ลูกหลานของเราโดนอะไรกันไปไม่ใช่น้อยแล้ว บางคนติดคุกจำนวนครั้งมากกว่าตนไปแล้ว ถูกกระทำต่าง ๆ นานามากมาย เผชิญความเจ็บปวดทั้งร่างกายจิตใจ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะต้องช่วยกันคิดแล้วก็ช่วยกันทำ ตนเองที่ผ่านมานั้นต้องสู้กับคดีเก่ามา 16 ปี ตอนนี้ ยังคงสู้คดีปี 2552 อยู่เลย แล้วคนหนุ่มสาวตอนนี้ที่มี 20 - 30 กว่าคดีจะต้องขึ้นศาลกันไปจนเกษียร เราจะปล่อยให้บ้านเมืองเดินต่อไปแบบนี้ไม่ได้ และนี่คือมิติของคำว่านิรโทษกรรม ตนมีความเห็นแบบนี้ ณัฐวุฒิ กล่าว


และสำหรับการนิรโทษกรรมที่ไม่รวมคดีมาตรา 112 ด้วยนั้น ณัฐวุฒิมองว่า จะกลายเป็นการสร้างคู่กรณีขึ้นมาคู่หนึ่ง ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น ระหว่างคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบันกับประมวลกฎหมายบางมาตรา เป็นคู่เผชิญหน้ากันอยู่ ความหมายมันลึก ช่วยกันคิด อย่าให้เป็นแบบนั้น ผมว่ามันดีที่สุดกับทุกฝ่าย อันนี้ด้วยความปรารถนาดี ณัฐวุฒิ กล่าว


สำหรับคำถามที่ว่าสงครามสีเสื้อจบไปแล้ว ณัฐวุฒิ มองว่า การใช้สีเสื้อเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ อาจไม่คมชัดเหมือนในสมัยก่อนแล้ว แต่หากถามว่าการต่อสู้มันจบหรือยัง มันยังไม่จบ เพราะว่าเขาไม่ได้ต่อสู้เรื่องสีเสื้อ แต่ต่อสู้เรื่องความคิด เรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เรื่องหลักการที่ถูกต้องของสังคม และการต่อสู้นี้จะไม่ยุติในทุกสังคม ไม่ว่าสังคมใดก็ตาม การเผชิญหน้าระหว่างแนวคิดแบบเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมยังคงมีอยู่ เป็นปกติ ทุกประเทศมีสองแนวคิดที่ความคิดนี้ขับเคี่ยวและหักล้างกันอยู่ เพียงแต่ว่าในประเทศอื่นนั้นเขาใช้กำลังเสร็จแล้ว แต่ของเรานั้นใช้กำลังกันยังไม่จบ 


ประเทศอื่นเขาหักล้างกัน ไปตัดสินกันในสนามเลือกตั้ง และใช้กติกากลไกของประชาธิปไตยแก้ปัญหาให้เกิดการพัฒนาไปเรื่อย ๆ แต่ประเทศเรายังใช้ระบอกปืน ใช้รถถัง จัดการความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ คนจำนวนหนึ่งในสังคมนี้ยังเชื่อว่า หากสังคมวุ่นวายทหารก็จะออกมาจัดการให้เกิดความเรียบร้อย ดังนั้นสังคมในลักษณะนี้การต่อสู้จึงยังไม่จบ


อาจไม่เห็นคนใส่เสื้อสีแดงเป็นหลักหมื่นออกมาเดินขบวน หรือเห็นเสื้อสีเหลืองจำนวนมากออกมาต่อต้าน แต่เราจะเห็นสำนึกทางการเมืองของผู้คน ซึ่งแยกทิศทางได้ชัดว่าสำนึกทางการเมืองแบบนี้น่าจะเหลื่อม ๆ มาทางสีแดง สำนึกทางการเมืองอีกแบบหนึ่งก็คงเหลื่อม ๆ ไปทางสีเหลืองแบบเดิมนั่นแหละ รูปการณ์อาจจะเปลี่ยนแต่รากแก้วยังไม่เปลี่ยน ยังเป็นสถานการณ์การต่อสู้กันอยู่ ณัฐวุฒิ กล่าว


ถึงวันนี้สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก เปลี่ยนแปลงไปจนกระทั่งแม้ตัวเราอาจจะไม่รู้จักตัวเอง แม้แต่พี่น้องที่เคยต่อสู้ด้วยกัน วันนี้อาจจะกลายเป็นเหมือนคนไม่รู้จักกัน แม้แต่คนที่เคยกอดคอฝ่าดงกระสุนแล้วรอดชีวิตมาจนปัจจุบัน ก็กลายเป็นคนที่ไม่สามารถจะร่วมวงสนทนาเรื่องการเมืองหรือกระทั่งเรื่องการต่อสู้กันได้อีก 


ถ้าใครก็ตามเดินมาถึงจุดนั้น ตนเคารพในเสรีภาพของทุกคน แต่อยากจะให้ทุกคนเก็บเอาความเป็นคนเสื้อแดง เอาเกียรติยศศักดิ์ศรีของนักสู้ประชาชนไว้กับตัว จะตัดสินใจอย่างไร จะเลือกวิถีทางการเมืองแบบไหนเป็นสิทธิ แต่ว่าอย่าได้ทอดทิ้งหรือหลงลืมวิถีของพวกเรา ที่เราเดินกันมา


"ผมเคยคิดว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงจะจบไปพร้อมรอยทับถมและถ้อยคำดูแคลนของคนเหล่านั้นไปแล้ว แต่วันหนึ่งคนหนุ่มสาวเมื่อปี 2563 ก็นำคนเสื้อแดงกลับมา ผมเป็นหนี้บุญคุณคนหนุ่มสาวยุคนี้ และผมไม่ลังเลที่จะหาทางตอบแทนบุญคุณพวกเขาอยู่ตลอดเวลา มันไม่ใช่หนี้ส่วนตัว แต่มันเป็นหนี้ในนามของคนเสื้อแดง ที่เราได้ถูกหยิบกลับมาพูดถึงและอธิบายความหมายมันใหม่ อยากบอกพี่น้องว่าไม่มีสักวันเลยที่ตนจะลืมความเป็นคนเสื้อแดง ผมตั้งชื่อลูกชายว่า 'นปก' ลูกสาวว่า 'ชาดอาภรณ์' เพราะต้องการบอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าการต่อสู้นี้เป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิตและไม่มีทางที่ผมจะหักหลัง ไม่มีทางที่ผมจะทรยศต่อ 'นปก' และ 'ชาดอาภรณ์' ไม่มีทางที่ผมจะละเลยต่อความเจ็บปวดของคนเสื้อแดง" ณัฐวุฒิ กล่าว


สามารถรับชมรับฟังเสวนาฉบับเต็มได้ที่  https://www.youtube.com/live/sF4TvmgLqHw?si=3rEDRKPfxFM4yLsH


จากนั้น นายณัฐวุฒิได้ผูกโบว์สีขาวที่รถรณรงค์ของ #เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน พร้อมร่วมลงชื่อ เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ด้วย ก่อนที่จะถ่ายรูปร่วมกับคณะผู้จัดงาน


อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถร่วมลงชื่อออนไลน์ได้ทาง amnestypeople.com 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

#นิรโทษกรรมประชาชน

#นิทรรศการรำลึกการต่อสู้คนเสื้อแดง

#อมธ #คนเสื้อแดง #ณัฐวุฒิใสยเกื้อ