ผู้รายงานพิเศษ UN ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย แสดงความกังวล การตั้งข้อหาเพิกถอนใบอนุญาตว่าความ ‘ทนายอานนท์’ รวมถึงการคุมขังระหว่างพิจารณา
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย แสดงความกังวล การตั้งข้อหาเพิกถอนใบอนุญาตว่าความ-คุมขัง ‘ทนายอานนท์’ ระหว่างพิจารณา
โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 สองผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้แก่ Margaret Satterthwaite ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ และ Mary Lawlor ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย (หนังสือลำดับที่ AL THA 5/2023 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2566) ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่นำไปสู่กระบวนการตั้งข้อหาเพิกถอนใบอนุญาตทนายความของอานนท์ นำภา และความเป็นอิสระของสภาทนายความมีมากน้อยเพียงใด พร้อมให้ไทยให้รายละเอียดถึงการรับประกันตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนถึงการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพทั้งปวงได้โดยปราศจากการข่มขู่ ขัดขวาง คุกคาม หรือการแทรกแซงอันไม่เหมาะสมได้อย่างไร
ผู้รายงานพิเศษ UN ทั้งสองยังสอบถามถึงมาตรการดำเนินการเพื่อให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกคุกคามทางศาล การตอบโต้ หรือข้อจำกัดรูปแบบอื่น ๆ อีกด้วย
รัฐบาลไทยมีหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ว่าได้รับหนังสือของผู้รายงานพิเศษ UN แล้ว และจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยหนังสืบตอบกลับไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดข้อซักถามและข้อห่วงกังวลของผู้รายงานพิเศษแต่อย่างใด
ผู้รายงานพิเศษฯ ชี้ทนายความในประเทศที่รัฐควบคุมได้ มักตกเป็นเป้าหมายถูกโจมตีจากองค์กรที่ควรจะทำหน้าที่คุ้มครองพวกเขาแทน
ผู้รายงานพิเศษ UN ทั้งสอง แสดงความคิดเห็นว่า ไม่มีความประสงค์ที่จะตัดสินความถูกต้องของข้อกล่าวหาการตั้งข้อหาเพิกถอนใบอนุญาตว่าความและการคุมขังระหว่างพิจารณาต่อทนายอานนท์เป็นการล่วงหน้า แต่ทั้งสองเพียงต้องการเน้นย้ำถึงความกังวลอย่างจริงจังต่อการตั้งข้อหาและการคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีของอานนท์ นำภา
ผู้รายงานพิเศษยังมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อการเพิกถอนใบอนุญาตทนายความของอานนท์ ที่ดูเหมือนเป็นการตอบโต้การทำงานของอานนท์อย่างไม่เหมาะสมในการให้การบริการทางกฎหมายแก่นักกิจกรรมและภาคประชาสังคมที่มีจุดยืนเห็นต่างจากรัฐ และการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
ผู้รายงานพิเศษ UN ย้ำว่า มาตรฐานระหว่างประเทศกำหนดให้รัฐต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อประกันว่า ทนายความจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ทางวิชาชีพทั้งปวงได้โดยปราศจากการข่มขู่ ขัดขวาง คุกคาม หรือการแทรกแซงอันไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐจะต้องรับประกันว่า ทนายความจะไม่ถูกดำเนินคดี หรือลงโทษทางปกครอง เศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ หรือถูกข่มขู่ว่าจะได้รับผลดังกล่าว เนื่องจากการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นตามกรอบหน้าที่ มาตรฐาน และจรรยาบรรณทางวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับ มาตรฐานระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคยังได้ห้ามมิให้เหมารวมทนายความในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามวิชาชีพเข้ากับลูกความหรือเหตุผลของลูกความเป็นเนื้อเดียวกัน
อีกทั้ง ทนายความมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เฉกเช่นพลเมืองคนอื่น ๆ ทั่วไป มาตรฐานระหว่างประเทศระบุว่า ทนายความ “ต้องมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการอภิปรายสาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมาย การอำนวยความยุติธรรม และการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางวิชาชีพ” การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของทนายความและความเป็นไปได้ที่ข้อจำกัดดังกล่าวอาจนำไปสู่การดำเนินคดีอาญานั้นไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน
ผู้รายงานพิเศษ ยังระบุว่า หากปราศจากซึ่งความคุ้มครองจากสมาคมนักกฎหมายที่เป็นอิสระแล้ว ทนายความจะมีความเปราะบางต่อการถูกโจมตีและถูกจำกัดความเป็นอิสระอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศที่สมาคมนักกฎหมายอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ทนายความในประเทศนั้นมักตกเป็นเป้าหมายของการถูกโจมตีจากองค์กรที่ควรจะทำหน้าที่คุ้มครองพวกเขาแทน การโจมตีดังกล่าวมักเกิดขึ้นในรูปแบบของการระงับหรือการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่ไม่มีมูลหรือโดยพลการ โดยมักมาพร้อมกับข้อจำกัดอื่น ๆ อาทิ การควบคุมตัวและการดำเนินคดีโดยพลการ
การปิดปากและ/หรือการควบคุมสมาคมนักกฎหมายไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอันใหญ่หลวงต่อชุมชนกฎหมายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่อหลักนิติรัฐและความสามารถของประชาชนทั่วไปในการปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
ที่มาความเห็นขององค์การสหประชาชาติถึงรัฐบาลไทย
กรณีร้องเรียนให้มีการเพิกถอนใบอนุญาตว่าความของอานนท์ นำภา เริ่มต้นจากกรณีที่อภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขณะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี) ดำเนินการในฐานะทนายความประจำสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง และเพื่อน ได้เข้าร้องเรียนต่อสภาทนายความฯ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 กล่าวหาอานนท์ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมารยาททนายความ เนื่องจากปราศรัยในการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 หรือที่เรียกกันว่า “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนของสภาทนายความเพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาดังกล่าว มาตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2564 โดยยังเหลือนัดไต่สวนอีก 1 นัด หากคณะกรรมการมรรยาททนายความฯสอบสวนแล้วเสร็จ ก็จะนัดฟังคำวินิจฉัยต่อไป
หากอานนท์ถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดมรรยาททนายความจริง ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 กำหนดโทษไว้ 3 แบบ คือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกิน 3 ปี หรือ (3) ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ
เมื่อองค์การสหประชาชาติได้รับรายงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ผู้รายงานพิเศษของ UN ทั้งสองคนจึงส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยแสดงความกังวลอย่างเปิดเผยและเรียกร้องให้ประเด็นสำคัญนี้ควรได้รับความสนใจทันที โดยกำหนดให้รัฐบาลไทยส่งคำตอบกลับไปยังผู้รายงานพิเศษภายในเวลา 60 วัน (ครบกำหนดวันที่ 24 ตุลาคม 2566)
หลังจากวันดังกล่าว หนังสือฉบับนี้ พร้อมความเห็นใด ๆ ที่ผู้รายงานพิเศษได้รับจากรัฐบาลของไทยจะถูกเผยแพร่เป็นสาธารณะผ่านเว็บไซต์ ข้อมูลดังกล่าวยังจะถูกรวมอยู่ในรายงานปกติที่ผู้รายงานพิเศษยื่นต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติต่อไป
ข้อมูล : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน