ยูดีดีนิวส์ : 15 มิ.ย. 63 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้มาสนทนากับท่านผู้ชมผ่านทางเฟสบุ๊คไลฟ์ ซึ่งเผยแพร่ทางเพจ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ, เพจยูดีดีนิวส์ และทางยูทูป ที่ UDD news Thailand ในประเด็น
ทัศนะต่อ "การสูญเสียชีวิต" ในสังคมที่มีความขัดแย้ง!
อ.ธิดากล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้เรามีเหตุการณ์การสูญเสียชีวิตของแกนนำมวลชนที่มีความเชื่อและเป้าประสงค์แบบหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีการเรียกร้องให้หาสาเหตุการสูญเสียซึ่งอาจจะไม่ได้ตายก็ได้ ก็คือ คุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งคนอื่นที่มีการถูกกระทำ
มันก็เลยเกิดการเปรียบเทียบและการแสดงความคิดเห็นหลายแบบ ซึ่งดิฉันขอเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นนี้ บางคนอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าจะมีการสรุปและเลือกว่าเราจะมีทัศนะอย่างไร?
ก่อนอื่นเราต้องยอมรับความจริงว่าในสังคมไทยขณะนี้เป็นสังคมที่มีความขัดแย้งขึ้นสู่ระดับสูง คือมีการเลือกข้าง ตั้งแต่มวลชนพื้นฐาน ชนชั้นกลาง ปัญญาชน ชนชั้นนำ ทั้งในภาคราชการ ภาคธุรกิจทั้งหมด มีการเลือกข้างเป็นสองปีก
ปีกหนึ่งยังสนับสนุนการทำรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหา ยังสนับสนุนการนำที่นำโดยรัฐข้าราชการ และยอมรับการสืบทอดอำนาจของผู้ทำรัฐประหาร พูดง่าย ๆ ก็คือรักษาระบอบเก่าซึ่งสืบทอดมายาวนาน (ตั้งแต่สมัย ร.5 มาจนถึงปัจจุบัน) หรือพูดได้ว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างระบอบเก่า รักษาอำนาจเก่า กับระบอบใหม่ที่ต้องการให้อำนาจเป็นของประชาชน
ก็สุดแต่ว่าจะให้คุณค่ากับฝ่ายนำที่รักษาระบอบเก่า หรือจะให้คุณค่ากับประชาชน ในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
การแบ่งเป็นสองปีกนี้ ปัจจุบันขึ้นสู่กระแสในระดับสูง แล้วทำให้เกิดแกนนำในสองปีกขึ้นมา ซึ่งตรงนี้อาจจะมองในแง่ที่ว่า...ไม่ดี...ทำไมประเทศต้องมีความขัดแย้งแบบนี้ ประชาชนควรจะกลมเกลียวกัน
ในทัศนะของดิฉัน "ความขัดแย้ง" เป็นเรื่องธรรมดา
และเมื่อการเมืองการปกครองยังไม่สามารถที่จะบรรลุเป้าหมาย นั่นก็คือว่า อำนาจเป็นของใคร?
ฝ่ายหนึ่งคิดว่าควรจะเป็นอำนาจของ "คนดีและชนชั้นนำเดิม" ซึ่งจะรักษาความเป็นจารีตนิยมและระบอบดั้งเดิม
อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องการให้ภาวะการนำและอำนาจอยู่กับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
พูดง่าย ๆ ก็คือ ระหว่างระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน กับระบอบอำมาตยาธิปไตยและคณาธิปไตยซึ่งอำนาจยังเป็นของชนชั้นนำที่มีความสัมพันธ์ดั้งเดิม
เมื่อแบ่งเป็นสองปีก ขณะนี้เมื่อมีการเสียชีวิตขึ้น ฝั่งหนึ่งก็เป็นดาราดัง เผอิญเป็นแกนนำของมวลชนฝั่งจารีตนิยม
แล้วเมื่อเช้านี้ (15 มิ.ย.) ก็มีกลุ่มประชาชนไปเรียกร้องต่อสถานทูต เรียกร้องต่อรัฐบาล เรียกร้องต่อ UN เพื่อทำความกระจ่างว่ามีการเสียชีวิตไหม? จะปล่อยให้มีการอุ้มหายไปเฉย ๆ หรือมีการฆ่าผู้ลี้ภัยทางการเมืองแบบที่เป็นมา แม้ในระยะอันใกล้นี้ก็ประมาณ 8-9 คน
พูดง่าย ๆ ว่า แม้กระทั่งการตายก็มีปัญหา เพราะความขัดแย้งในสังคมไทยได้ขึ้นมาสู่จุดสูงสุด เพราะว่าแม้กระทั่งประชาชนธรรมดาก็มีความคิดเห็นและมีบทบาทในทุกปัญหา ดูเป็นสังคมที่แบ่งแยก
เมื่อมีการตายของดาราคนหนึ่งเกิดขึ้น ก็มีความคิดที่แตกต่างกัน โดยปกติในสังคมไทยต้องให้เกียรติผู้เสียชีวิต โดยทั่วไปก็จะไม่มีการพูดถึงสิ่งที่ไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง ก็จะเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นมาตรฐาน
แต่ในเมื่อมีการเปรียบเทียบ มีการตายจากการปราบปรามประชาชน ในอีกข้างหนึ่งได้มีการพูดถึงการตายของผู้ที่ถูกกระทำอย่างที่ควรจะเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน...หรือเปล่า?
ดังนั้น ดิฉันก็อยากจะให้ข้อสังเกตเป็นเชิงกึ่งทฤษฎีเล็กน้อย ก็คือเวลาเราพูดถึงการสูญเสียชีวิต นี่ก็คือปัญหาว่าเป็นทัศนะส่วนตัว ทัศนะส่วนรวม และสาเหตุการเสียชีวิต
เมื่อสังคมนี้มีความขัดแย้งในระดับสูง การสูญเสียชีวิตก็เกิดคำถามขึ้นมาว่าเขา (ผู้สูญเสียชีวิต) อยู่ในฐานะ (บทบาท) อะไร?
ในฐานะ "ประชาชน" หรือในฐานะ "แกนนำ" หรือในฐานะ "บทบาทผู้นำองค์กร" นี่คือส่วนหนึ่ง
นอกจากพูดถึงบทบาท ก็ต้องพูดถึงสาเหตุ...การสูญเสียชีวิต เป็นการสูญเสียชีวิตตามธรรมชาติจากการเจ็บป่วย จากอุบัติเหตุ หรือเป็นการสูญเสียชีวิตจากการถูกกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกกระทำจากอำนาจรัฐ ที่มีอำนาจทางการเมืองการปกครอง แล้วใช้อำนาจนั้นกระทำต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง
นอกจากทัศนะส่วนตัว ส่วนรวม แล้วก็ต้องมีปัจจัยสิ่งเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้อง
ทั้งดาราหรือคุณวันเฉลิมก็ตาม ดิฉันไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวทั้งสองคน สำหรับดิฉันไม่มีทัศนะส่วนตัวสำหรับสองคนนี้ จึงมีแต่ทัศนะส่วนรวม แล้วก็ดูสาเหตุการตาย มันก็มีผลจากการเสียชีวิตว่ากระทบปัญหาส่วนรวมหรือเปล่า?
ในกรณีดารา หนึ่งดิฉันไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัว และต่อให้มีความสัมพันธ์ส่วนตัว ดิฉันก็จะไม่ใช้ทัศนะส่วนตัว
เพราะดาราคนนี้มีบทบาทสำคัญส่วนหนึ่ง ในการปลุกระดมและใช้เฮชสปีช เหมือนที่หลายคนแชร์มา ใช้เฮชสปีชรุนแรง ปลุกเร้าให้คนเกลียดชังกัน ความหมายก็คือว่าเขามีผลในการสร้างความเกลีดยชัง เพิ่มความขัดแย้ง ในทัศนะดิฉันมันเป็นเฮชสปีชที่ไม่เห็นด้วย คือคุณไม่มีเหตุผล
สมมุติคุณไม่ชอบคุณทักษิณ คุณก็ระบุออกมาว่าคุณทักษิณทำอะไรที่ไม่ดี มันไม่ใช่เป็นการปลุกเร้าอารมณ์เช่น ไปลงนรก! ซึ่งมีคนแชร์สิ่งเหล่านี้กันเยอะแยะ แต่เขาก็ไม่ได้แสดงทัศนะอะไร คือเป็นเรื่องของคนดูคลิปแล้วก็ตัดสินเอง
อันนี้มันจึงเป็นพยานในประวัติศาสตร์ซึ่งเราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ว่า ในบัดนี้ว่าถ้าคุณพูดอะไร คุณทำอะไร มันถูกบันทึก เหมือนที่วันนี้ อ.ธิดา พูดวันนี้ มันก็จะถูกบันทึก ถ้าดิฉันพูดไม่ถูก เมื่อดิฉันตายไป คนก็เอาสิ่งเหล่านี้ สามารถมาคิดบัญชีกับดิฉันได้ ซึ่งเราพูดอะไรไปเราก็ต้องยอมรับว่าเราพูดจริง
เมื่อเป็นอย่างนี้ จะเรียกว่าโชคดีประเทศไทยก็ได้นะ ที่ทำให้สังคมไทย คนต่อคนได้รู้จักกันมากขึ้น ได้เรียนรู้มากขึ้น แล้วกลุ่มคนต่อกลุ่มคนก็ได้เรียนรู้มากขึ้น
แล้วมันก็เป็นมรณานุสติว่าเมื่อคุณมีชีวิตอยู่ คุณทำอะไรเอาไว้ เวลาที่เขาย้อนประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านั้นมันก็จะออกมา ทำให้เรามีชีวิตอยู่อย่างไม่ประมาท พูดดี ทำดี
คำว่า "พูดดี ทำดี" มันขึ้นอยู่กับว่า "ดีเพื่อใคร"
ดีเพื่อคณะของคุณ, ดีเพื่อกลุ่มของคุณ, ดีเพื่อตัวคุณเอง, ดีเพื่อนายของคุณ หรือดีเพื่อประเทศชาติ ประชาชน จริง ๆ มันก็จะต้องถูกตัดสินในประวัติศาสตร์แน่นอน!!!
นี่คือมรณานุสติอย่างดีว่า ในสังคมที่มีความขัดแย้ง แล้วถ้าเผอิญคุณเป็นแกนนำที่ขึ้นเวที คุณพูดอะไรออกมา มันก็จะต้องปรากฏอย่างนั้น
แน่นอน...มันมีช่วงเวลาที่บางคนอาจจะพูดได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ข้อมูลยังไม่เพียงพอ
แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการหรือคำพูดนั้น ๆ ก็จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มหมอ ในสถานการณ์โควิดก็ประหนึ่งเทพซึ่งเราก็ชื่นชมในฐานะผุ้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ถามว่าในสังคมที่มีความขัดแย้งเขาก็ได้แสดงตัวตนมาอีกแบบหนึ่ง โดยมีเครื่องหมายกาชาด หรือบางคนบอกว่าจะไม่รักษาคนที่มีความคิดต่างกัน
นี่ก็คือความจริง พูดง่าย ๆ ว่า ทั้งกรรมดี และกรรมไม่ดี มันก็สำแดงออกมา เป็นเรื่องของคนนั้นส่วนหนึ่ง และมันก็มีผลต่อส่วนรวม ถ้าสิ่งที่ทำ สิ่งที่พูด มีผลด้านลบหรือด้านบวกต่อส่วนรวม ก็จะเป็นการขยายปฏิบัติการนั้นว่ามีผลต่อสังคมอย่างไร? แล้วสังคมก็จะต้องตัดสินตามนั้น
ในทัศนะดิฉัน ต่อให้เป็นคนที่มีความสัมพันธ์ส่วนตัว ถ้าเรามองเข้ามา อย่างในกรณีที่เกิดการเปรียบเทียบ เราก็ต้องดูว่าเราเอาอะไรเป็นหลัก ส่วนตัวเป็นหลัก หรือส่วนรวมเป็นหลัก
ไม่ว่าคุณจะอยู่กลุ่มไหน ถ้าคุณมีความเชื่อว่าทำแบบนั้นดีกับส่วนรวม อันนั้นคุณต้องให้ค่าส่วนรวมตามทัศนะของคุณเป็นหลัก
แต่ส่วนรวมในทัศนะของฝ่ายประชาชนก็มีมาตรฐานของมัน ในทัศนะของดิฉัน ส่วนรวมในทัศนะฝ่ายประชาชนมีความสำคัญมาก และนี่คือเป็นปัญหาหลักการที่ต้องยกไว้เหนือกว่าส่วนตัว ในส่วนตัวเราก็มีมุมในหัวใจ แต่การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด เราต้องให้ค่าปัญหาส่วนรวมยิ่งกว่าปัญหาส่วนตัว
ในสังคมความขัดแย้งนี้ เราก็จะเห็นหลายสิ่งที่เป็นมรณานุสติอย่างดี ดิฉันคิดว่าหลายคน "หลง" ระหว่าง "ส่วนตัว" กับ "ส่วนรวม"
คนที่มีอาชีพดารา หมอ หรืออะไร แน่นอนปฏิบัติการในอาชีพก็มีคุณค่าต่อสังคมระดับหนึ่ง แต่ถ้าคุณเข้ามาเป็นตัวละครในความขัดแย้งของสังคม ก็ต้องยอมรับความจริงว่าในส่วนของประเด็นอาชีพส่วนตัวนั้นเป็นรอง ผลต่อสังคมนั้นเป็นด้านหลัก
ซึ่งดิฉันอยากจะฝากเอาไว้ เพราะว่าถ้าคุณไปยกส่วนตัวเหนือส่วนรวม ก็จะทำให้สับสนว่า ดาราคนนี้เป็นดาราที่มีคุณค่าในทางอาชีพแล้วก็มีความดีต่อคณะ ต่อกลุ่มของตัวเอง แต่มุมมองของฝ่ายประชาชนต้องมองว่า มันมีปัญหาอะไรหรือเปล่ากับประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายอย่างไร
นี่ไม่ใช่เรื่องอาฆาตแค้นพยาบาท แต่เป็นเรื่องมาตรฐานของทัศนะส่วนตัว ส่วนรวม และทัศนะต่อประชาชนที่ถูกต้อง มิฉะนั้นเยาวชนและสังคมต่อไปไม่รู้ว่าใครดี ใครชั่ว ใครถูก ใครผิด
สำหรับดิฉัน มาตรฐานดี ชั่ว ถูก ผิด ต้องขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และมนุษยชาติด้วย ไปสู่สังคมโลกเลย ต้องเอาสิ่งนั้นเป็นตัวตัดสิน
ต่อให้เขาดีต่อเราเป็นการส่วนตัวอย่างไร แต่พูดง่าย ๆ ว่าประพฤติปฏิบัติแล้วมีผลเสียต่อสังคม เราต้องถือผลต่อสังคมเป็นด้านหลัก เราจะมาเยินยอสรรเสริญในที่สาธารณะก็จะทำให้คนไขว้เขว
ทีนี้สาเหตุการตายอย่างที่บอก ฝั่งประชาชนหลายคนไม่ได้เป็นคนดัง ปี 53 คนที่เสียชีวิต เช่น นายพัน คำกอง หรือวสันต์ ภู่ทอง หรือทุกคนที่เสียชีวิตเขาไม่ได้เป็นคนดัง เขาไม่ได้เป็นแกนนำ แต่สาเหตุการตายของเขามันมีผลต่อปัญหาความขัดแย้งและประเทศชาติ ประชาชน
มันจึงแล้วแต่ว่าเขาถูกมุมมองอย่างไร
ฝั่งจารีตนิยมจะมองเขาเป็น "ทรชน"
แต่ฝั่งประชาชนมองเขาเป็น "วีรชน"
เราจึงต้องทำให้เขาเป็น "วีรชน" เขาอาจจะบอกว่าเขาไม่ได้มีบทบาทอะไร แต่การตายของเขามันจะต้องเป็นการปลุกเร้าจิตสำนึกว่า นี่มันชี้ให้เห็นว่าประชาชนถูกจัดการถูกปราบปรามอย่างไร?
ดังนั้น ฝั่งประชาชนต้องรู้ว่าใครคือ "วีรชน" จริง เพราะว่าฝั่งที่เขาไม่ต้องการให้อำนาจประชาชน เขาพร้อมที่จะจัดการกับแกนนำหรือกลุ่มประชาชนที่มาเรียกร้อง เป็นกลุ่มคนร้าย เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นทรชน เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง เป็นพวกล้มเจ้า สุดแล้วแต่ที่เขาจะสรรหามาใส่อยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นในฝั่งประชาชนต้องไม่ไขว้เขว ในความคิดของดิฉันนะ (คนอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกได้)
นี่ไม่ใช่การมาพูดถึงคนตายในแง่ลบหรือแง่บวก เป็นว่าเป็นการพูดถึงคนตายในทัศนะส่วนรวมหรือส่วนตัว ต้องชัดเจนตรงนี้ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปตีตราเรียกเขาว่าเป็น "ทรชน" หรือ "วีรชน" แต่ให้ผลงาน สิ่งที่เขาปฏิบัตินั้นเป็นความจริง ไม่จำเป็นต้องไปป้ายสีใคร และไม่จำเป็นที่จะต้องมายกยอฝั่งเราจนเกินความเป็นจริง
ยกตัวอย่างเช่น "วันเฉลิม" ดิฉันได้พูดไปแล้วว่าเขามีเหตุผลในเวลานั้นที่เขาไม่มารายงานตัว แล้วความผิดอย่างอื่นก็ยังไม่ได้มีเลย มันจึงชอบธรรมที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาเรียกร้องว่าต้องทำให้ถูกต้อง และไม่ควรจะมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็คือคนเห็นต่างไม่จำเป็นต้องถูกอุ้ม ไม่จำเป็นต้องถูกฆ่า
และนี่มันก็คือซีรีส์ยาวมาตั้งแต่ยุคโบราณว่า ใครก็ตาม หรือคณะใดก็ตาม ที่ต้องการเรียกร้องให้อำนาจเป็นของประชาชนนั้น จะมีโอกาสถูกกระทำเยี่ยงนี้
ดิฉันคิดว่า ผู้ที่น่าชื่นชมและพวกที่ควรจะยกย่อง และพวกที่ควรจะเป็นวีรชน ก็คือคนที่ต่อสู้เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจการเมืองการปกครอง จะใช้ภาษาว่า "ต้องการให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน" นั้นก็ได้ และคนเหล่านี้ถ้าสูญเสียชีวิตเราก็ถือเป็น "วีรชน" ได้ แต่คนที่ขัดขวางไม่ให้ประชาชนมีอำนาจที่แท้จริง ดิฉันไม่อาจจะยกย่องเขาได้ค่ะ อ.ธิดากล่าวในที่สุด