ยูดีดีนิวส์ : 8 เม.ย. 62 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กล่าวในการทำ Facebook Live ว่า ข่าวในขณะนี้ก็อยู่ที่ตัวเอกของเรื่องคือ กกต. ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของการที่ยังไม่ประกาศชัดเจนในเรื่องสูตรการคำนวณบัญชีรายชื่อของพรรคต่าง ๆ แต่การที่โยนหินถามทางมาว่าจะมีพรรคที่ได้บัญชีรายชื่อ 25 พรรคขึ้นไป ก็ทำให้คนเข้าใจได้ว่าท่านคงจะใช้สูตรอีกสูตรหนึ่ง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะถูกโจมตี
เพราะประเด็นของกกต.ในความที่ไม่ชัดเจนเรื่องข้อมูลตั้งแต่ต้นในการแถลงผลการเลือกตั้ง มาจนกระทั่งการคิดคำนวณบัญชีรายชื่อ มันก็ก่อผลให้เกิดมีการไปล่ารายชื่อเสนอถอดถอนกกต. และมีผลให้กกต.ไปฟ้องร้อง
อ.ธิดากล่าวต่อไปว่า ที่เราจะพูดวันนี้ก็คือปัญหาประเด็นคณิตศาสตร์ซึ่งอยู่ในมาตรา 128, 129 ของพระราชบัญญัติประกอบรธน. ซึ่งมีการเขียนเพิ่มเติมไปจากมาตรา 91 ก็จะมีความพยายามจะใช้อภินิหารตัวนั้น แล้วก็กลายเป็นว่าพรรคที่ได้รับเสียงจากประชาชนทั่วประเทศไม่ถึงค่าเฉลี่ยที่จะได้ส.ส.1 คนที่พึงมีตามรธน. ก็จะได้ส.ส.มา 1 คนด้วย
อ.ธิดายอมรับว่าความพยายามของฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งทางอำนาจนิยม พูดง่าย ๆ ว่า คสช. กองทัพ หรือชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย ความพยายามที่จะกำจัดพรรคการเมืองบางพรรคที่ถือว่าเป็นตระกูลสามานย์ออกไป ก็ทำให้การเขียนรธน.หรือกฎหมายประกอบรธน.ทำให้มีปัญหาจนกระทั่งการบังคับใช้
ในมาตรา 128 กับ 129 อ.ธิดากล่าวว่า ดิฉันบอกได้เลยว่าเป็นความพยายามจะเขียนกฎหมายประกอบรธน.ด้วยนักนิติศาสตร์ที่ไม่เก่งทางคณิตศาสตร์ แล้วพยายามเขียนวิธีการคณิตศาสตร์ให้กลายเป็นภาษาทางกฎหมาย ซึ่งความจริงมันไม่ต้องเขียน!
แต่ดิฉันขอตำหนิตรงการเขียนมาตรา 128 ยืดยาดเยิ่นเย้อและไม่ใช่วิถีคนที่เข้าใจเรื่องคณิตศาสตร์เขียน ดังจะเห็นได้จากนักคณิตศาสตร์ออกมาโต้กันเป็นแถว
ในทัศนะของอ.ธิดาคิดว่ามันมีปัญหาที่รธน. ที่พยายามจะเขียนเพื่อให้ลดบทบาททางการเมืองของพรรคการเมืองบางพรรค ที่สามารถเอาชนะใจประชาชนและชนะพรรคการเมืองอื่น ได้ทั้งส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ทั้งส.ส.เขต
ดังนั้นต้องลดไป ให้ชนะได้อย่างเดียว คือคุณชนะส.ส.เขต แต่บัญชีรายชื่อต้องเอาไปแบ่งให้พรรคอื่น เพราะฉะนั้นหัวใจมันอยู่ที่ตรงนี้ ทีนี้จะแบ่งอย่างไรให้มันมีหลักนิติธรรม
อ.ธิดากล่าวว่า คือแค่คุณทำตามรธน.นี้มันก็เอียงกะเท่เร่อยู่แล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดถ้าทำตามก็ไม่ละเมิดรธน. แต่เนื่องจากเขียนกฎหมายประกอบรธน.แบบนี้แล้วยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร...หรือเปล่า?
การคำนวณตามแบบฉบับ โดยที่ว่าไม่ได้ขีดเส้นตรงเจตนารมณ์ที่สำคัญว่า ส.ส.ที่พึงมีนั้นมาจากคะแนนโหวตประมาณ 71,000 ซึ่งคุณต้องเคารพตัวเลขนี้ แต่คุณพยายามจะใช้อภินิหารมาตรา 128 คือเขียนไปเรื่อย แต่วิญญาณสำคัญก็คือ คนที่ได้คะแนนโหวต 71,000 เป็นคะแนนมาตรฐานเฉลี่ยที่จะได้ส.ส. 1 คน ถ้าคุณได้คะแนนโหวตเท่าไหร่ก็คูณหรือหารไปตามนั้น ซึ่งเป็นคณิตศาสตร์พื้นฐานแบบมัธยม
อ.ธิดามองว่า สิ่งสำคัญคือคุณคิดแบบไหนก็ได้ แต่ว่าคุณละเมิดนิติธรรม และมันไม่เป็นไปตามรธน.ของคุณหรือเปล่า? เพราะตัวเลขส.ส.อีก 10 กว่าคนนั้นก็ทำให้มีบทบาทต่อการตั้งรัฐบาล อันนี้ก็เป็นคำถามจากนักคณิตศาสตร์ทุกคนที่ออกมาพูดและไม่เห็นด้วยกับการที่ท่านไปคำนวณแล้วออกมาแล้วพรรคเล็กพรรคน้อยที่คะแนนไม่ถึง 3 หมื่นกว่าก็ได้ส.ส. 1 คน แม้กระทั่งคุณสมชัย ศรีสุทธิยากรก็ได้มองไกลทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่จะเกิดปัญหาแน่ ๆ
แม้ดิฉันจะเคยพูดแล้วเรื่องละเมิดรธน. แต่ดิฉันอยากจะพูดถึงคณิตศาสตร์กับนิติธรรมเพิ่มมาในรายการนี้ ว่านักคณิตศาสตร์ทุกคนไม่มีใครเห็นด้วย และถ้าดูกฎหมายอย่างเป็นธรรมและความเป็นจริง คุณไม่ต้องไปเข้าข้างไหนหรอก แล้วไม่ต้องพูดถึงละเมิดรธน.เลย แม้กระทั่งกฎหมายประกอบรธน. ก็ยังคำนวณได้เหมือนกัน
ก็คือ พรรคการเมืองที่ได้อย่างต่ำสุดที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยคือ 73,871 คือพรรคพลังชาติไทย ดังนั้นพรรคที่ได้คะแนนที่ต่ำกว่าพรรคพลังชาติไทยหรือต่ำกว่า 69,000 ลงมาจนถึง 33,000 โดยสามัญสำนึกแล้ว จะเป็นนักคณิตศาสตร์ นิติศาสตร์ นักอะไร ๆ ไม่มีใครเขาคำนวณเหมือนท่านหรอก
ดิฉันไม่รู้ว่าคนที่เขียนกฎหมายประกอบรธน. เขาเตรียมการในการที่ให้พรรคเล็ก ๆ ได้เกิด เพราะเล็งล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะตีความหรือบังคับใช้แบบนี้หรือเปล่า มิน่าล่ะ...บางคนถึงได้ตั้งพรรคการเมือง เช่น พรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน
อ.ธิดากล่าวว่า การที่คุณไปคิดวิธีทั้งหลายในการที่จะจัดการกับพรรคบางพรรคที่เป็นพรรคใหญ่ คุณอาจจะสำเร็จระดับหนึ่ง แต่มันก็เกิดพรรคขนาดกลางที่เขาไม่เอาด้วยกับคุณ ก็มีอยู่ เช่น พรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น
ดิฉันจึงอยากฝากไปยังกกต.ว่า มันไม่คุ้มหรอก ต่อให้พรรคเล็กพรรคน้อย 11 พรรคเข้ามา ดูแล้วตัวเลขของส.ส.ก็ไม่น่าชื่นชม นี่ดิฉันให้ภูมิใจไทยไปอยู่กับรัฐบาลแล้วนะ ยกเว้นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไปทั้งพรรค ซึ่งก็ยาก ซึ่งถ้าได้ทั้งหมดนี้เสียงยังปริ่มน้ำเลย
และดิฉันอยากจะบอกบทเรียนของจอมพลถนอม กิตติขจร บทเรียนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เขาทำเลือกตั้ง เขาตั้งพรรคการเมือง เขาชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถควบคุมพรรคของตัวเองได้ คืออย่าคิดแต่ว่าจะไปเอางูเห่าจากพรรคอื่นนะ ในพรรคตัวเองก็มีงูเห่า
ดิฉันมองว่าการเมืองก็จะไม่มีเสถียรภาพ ดีที่สุดคือทุกฝ่ายทำตามทำนองคลองธรรม ถึงแม้ที่มาของกกต.จะมาอย่างไร ประชาชนก็ให้โอกาส ดิฉันบอกได้เลยว่า ไม่คุ้มที่จะถูกคนนินทาหรือโจมตีมาก ว่าเป็นการคำนวณที่เอื้อประโยชน์ให้กับการตั้งรัฐบาลของการสืบทอดอำนาจ
ถ้าทำตามเนื้อผ้าและหลักการโดยไม่ต้องใช้อภินิหารของตัวเลข ซึ่งไม่มีเหตุผลทั้งทางคณิตศาสตร์ ไม่มีเหตุผลทางด้านนิติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งละเมิดรธน.ด้วย ไม่มีเหตุผลเลย ทำให้โปร่งใส อธิบายได้
บรรทัดฐานอยู่ที่ว่าท่านเอาอะไรเป็นหลัก เอารธน.เป็นหลัก และเอาเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตยเป็นหลัก หรือ ท่านบอกไปถามเจตนารมณ์คนเขียน ดิฉันว่าเจตนารมณ์ของผู้เขียนรธน. กับเจตนารมณ์ของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันไหนใหญ่กว่า
เจตนารมณ์ของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องการให้อำนาจประชาชนที่ท่านบอกไม่ให้ตกน้ำ อำนาจประชาชนต้องเท่ากัน ทำไมอำนาจประชาชนที่เลือกพรรคเล็ก 3 หมื่นกว่าคนมันจึงใหญ่กว่า อำนาจประชาชนที่ไปเลือกพรรคใหญ่ จึงจะได้ส.ส. 1 คน
เพราะฉะนั้นเจตนารมณ์ของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยยิ่งใหญ่กว่าเจตนารมณ์ของกรธ.ผู้เขียนรธน. เพราะนั่นไม่ใช่เทวดาและไม่ได้แปลว่าถูกต้อง ถ้าเป็นเช่นนี้ถามว่าทำไมถึงเขียนรธน.ที่มาส.ส. ส.ว. ที่พิศดารแบบนี้ ไม่เหมือนใครในโลก ดังนั้นเจตนารมณ์ของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นสำคัญ นั้นคืออันที่หนึ่ง
อันที่สองโดยกฎหมาย ต้องเป็นหลักนิติธรรม ต้องเสมอภาค ต้องใช้กับคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองแบบไหนก็ตาม
อันที่สามก็คือคุณใช้ปัญหาทางคณิตศาสตร์เข้ามา ความจริงมันเป็นการคำนวณที่เรียกว่าง่าย ๆ ที่สุด ไม่ควรทำให้หลักนิติธรรมและหลักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไข้วเขว
จะมาใช้อภินิหารตัวเลขแล้วมาเบี่ยงเบนหลักนิติธรรม
เบี่ยงเบนเจตนารมณ์ของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและอำนาจของประชาชนไม่เท่าเทียมกัน ไม่ได้ค่ะ.