วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2562

เลือกตั้งครั้งแรกของ ‘เนติวิทย์’ กับฉากปฏิญาณตนกระหึ่มกองทัพ

แฟนเพจ 'ยูดีดีนิวส์ - UDD News' สัมภาษณ์ ‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ อดีตประธานสภานิสิตจุฬาฯ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ปี 3 วัย 22 ปี ผู้เคยนั่งเก้าอี้ประธานซึ่งมาจากการเลือกตั้งและถูกยึดอำนาจในภายหลังเช่นกัน ทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกในการเข้าคูหา แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เขาจะได้เลือกผู้แทน ขณะที่ก่อนหน้านี้ ‘แฟรงค์’ ใช้สิทธิครั้งแรกในการออกเสียงประชามติ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7ส.ค.59

สำหรับวันที่ 24มี.ค.62 เขาจะได้เลือกส.ส.เขต, ส.ส.บัญชีรายชื่อและนายกรัฐมนตรีที่เสนอชื่อโดยพรรคการเมือง จากการกากบาท 1 ช่อง ในบัตร 1 ใบ เช่นเดียวกับผู้มีสิทธิทุกคน

- การใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกกับบรรยากาศที่มีพรรคการเมืองถูกยุบในโค้งสุดท้าย ท่ามกลางเสียงกระหึ่มการนำปฏิญาณตนของผบ.ทบ. คิดว่าคนรุ่นตัวเองกำลังจะอยู่กับอนาคตแบบไหน

เป็นการเลือกตั้งที่น่าหวาดเสียวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไทย และอาจจะเป็นการเลือกตั้งที่น่าตื่นเต้นที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของคนรุ่นใหม่หลายๆ คน

นับแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ครั้งนี้ถือว่าเราเห็นตัวละครต่างๆ ทางการเมือง ออกมาโลดแล่นมาก

มีการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่คิดไม่ฝันเกิดขึ้น ตั้งแต่เหตุการณ์ ‘8 กุมภาฯ’ มาจนถึงปัจจุบันนี้ มีหลายอย่างให้เห็น รู้สึกตื่นเต้น ดีใจด้วยส่วนหนึ่งที่ตัวเองได้อยู่ในเหตุการณ์แบบนี้

แต่ก็รู้สึกกังวลกับอนาคตของประเทศไทยเหมือนกันว่าถ้าเราอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ มีความเป็นขั้วแบบนี้ สุดท้ายแล้วมันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ได้ดีขึ้น

-เนื้อหาที่ผบ.ทบ.พูดต่อสาธารณะ ถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมือง คิดว่าบทบาทกองทัพกับการเมืองควรจะเป็นอย่างไร

ผมว่าผบ.ทบ.ควรจะวางตัวให้เหมาะสม เพราะทุกวันนี้ผบ.ทบ.กำลังเอาตัวมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งผมเข้าใจว่าผบ.ทบ. อาจจะรู้สึกว่านโยบายบางพรรคการเมืองจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ
แต่กองทัพก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาล ไม่ใช่อยู่เหนือรัฐบาล

ดังนั้น สิ่งที่ ผบ.ทบ.ทำตอนนี้ จริงๆ ผมว่า เป็นการขัดหลักการของกองทัพในประเทศที่เจริญแล้วในโลกนี้ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า ผบ.ทบ. อยากให้กองทัพของไทยเป็นกองทัพที่เจริญและดูดี มีสภาพที่ดีหรือเปล่า

หรือว่าเป็นกองทัพที่ชมแต่ตัวเอง ให้รางวัลกับคนของตัวเอง แต่ไม่ได้มองถึงโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเลย

สิ่งที่กองทัพควรทำ คือยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย

ในขณะที่กองทัพทำการถวายบังคม ทั้งที่การถวายบังคมถูกยกเลิกไปแล้วด้วย ดังนั้น สิ่งที่ผบ.ทบ.ทำ จึงเป็นการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่เหมาะสมคือการโค้งคำนับ เพราะมีพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งผมทำตาม ผมจึงมองว่า ผบ.ทบ.ไม่ควรไปทำแบบนั้น

สิ่งนี้สะท้อนว่าสังคมเราเชื่อผู้มีอำนาจ เขาทำเราก็ทำ แต่เราไม่ได้ดูเลยนะว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้องไหม ก็ไม่แปลก ผบ.ทบ. ออกมาบอกว่ากองทัพของเราเป็นทหารมืออาชีพ

คือฟังๆ ต่อๆ กันมาว่าเป็นมืออาชีพ ชมกันเอง แต่ไม่ศึกษาว่าจริงๆ แล้วมืออาชีพเป็นยังไง ไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ นี่คือสิ่งที่เขาไม่เห็น แต่คนไทยส่วนใหญ่เห็นนะ (หึหึ)

-ที่ผ่านมาพรรคการเมืองถูกยุบง่ายๆ คิดเรื่องนี้ยังไง

เป็นผลดีต่อคสช. ในการสืบทอดอำนาจ ทำให้การเมืองไทยติดหล่ม ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ในสังคม แทนที่จะมีการแลกเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์ปรับตัวเรียนรู้เข้าใจกันของกลุ่มต่างๆ

แต่ชนชั้นนำบางกลุ่มของไทยก็ต้องการจะครองอำนาจแบบนี้ต่อไป ซึ่งสุดท้ายจะเป็นผลเสียกับตัวพวกเขาเอง และเป็นผลเสียกับคนไทยส่วนใหญ่ด้วย

สิ่งที่พวกเขาทำ ไม่เป็นผลดีกับใครเลย และเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะการทำแบบนี้ เป็นการผลิตบทเรียนทางประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งซ้ำไปซ้ำมา ไม่สนใจหลักนิติรัฐนิติธรรม จะทำอะไรก็ได้เพื่อผลประโยชน์พวกพ้อง ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

-มีพรรคการเมืองให้เลือกน้อยลง เป็นปัญหาหรือไม่

ก็เป็นปัญหา ผมไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง รวมถึงการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนที่อยากเลือกพรรคนั้น

ถ้าในเขตนั้นเขาเห็นว่าพรรคนี้ดีที่สุด ไม่มีตัวเลือกอื่น แต่เขาไม่ได้เลือก เราจะรับผิดชอบยังไง มันแสดงให้เห็นว่าเราไม่เคารพเสียงของประชาชน เสียงของประชาชนไม่ได้มีความสำคัญในประเทศนี้จริงๆ
คนรุ่นใหม่ต้องเรียกร้องว่า 1 คน 1 โหวตเป็นเรื่องสำคัญ

-คาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะนำมาซึ่งความสงบไหม

การเลือกตั้งครั้งนี้ คงไม่นำมาซึ่งความสงบ เพราะถ้าสงบก็คงสงบแบบมีรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจบาทใหญ่ของกลุ่มทหาร
ผมหวังว่าครั้งนี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน ไม่ใช่เงียบอยู่ภายใต้ปากกระบอกปืน สิ่งนี้เกิดขึ้นมาตลอด บางทีเราสงบแบบไม่ได้สงบกันจริงๆ

ถ้าเราอยากสงบกันจริงๆ ต้องให้คนมีส่วนร่วม คนมีสิทธิได้พูด ไม่ใช่ว่าพอเค้าคิดแตกต่างจากเรา เราก็ไปยุบพรรค หรือไปใช้อำนาจบาทใหญ่ ไปใช้ทหารล้อมบ้าน ไปปรับทัศนคติ สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่การสงบจริงๆ ผมหวังว่า มันจะไม่ใช่การสงบแบบนั้น

ความสงบแท้จริงคือ คนในสังคมนี้เข้าใจกัน นี่คือสิ่งที่คาดหวัง แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ไม่ได้มาจากกลุ่มผู้มีอำนาจอย่างเดียว

ประชาชนต้องเรียกร้องด้วย เมื่อเราเป็นคนไทยในประเทศแห่งนี้ พวกเราทั้งหลายก็ควรจะมีสิทธิและอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเสมอกัน เท่าเทียมกันทางกฎหมายนี่เป็นสิ่งสำคัญมาก

- 24 มีนา 62 คาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรและไม่อยากเห็นอะไร

ไม่อยากเห็นการโกงหรือขัดขวางการเลือกตั้ง ยิ่งกว่านั้นคือ ไม่อยากเห็นกระบวนการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันทางการเมืองกับพรรคอื่นๆ หลังจากนั้นด้วย เพราะว่าคสช.เองถือว่ากุมไพ่ทางการเมืองเหนือกว่าทุกพรรคอยู่

ดังนั้น อาจจะนำไปสู่การกลั่นแกล้งทางการเมือง ไปสู่การยุบพรรคอื่นๆ อีกก็ได้ สิ่งนี้อาจจะเกิดขึ้นอีก ผมไม่อยากให้เกิดขึ้น

ผมอยากเห็นการเมืองแบบสร้างสรรค์ การเมืองแบบที่ทำผิดก็ขอโทษกัน ออกมายอมรับผิด รู้ว่าการใช้อำนาจของตัวเองอาจจะทำลายประเทศชาติในระยะยาวด้วย ผมว่าทหารควรจะตระหนัก

-หนังสือเล่มใหม่ล่าสุด

ผมแปลกับเพื่อนที่จุฬาฯ หนังสือชื่อ ‘คู่มือพิชิตการเลือกตั้ง’ เพิ่งออกมาวันที่ 8 มี.ค.62 สำหรับคนที่สนใจการเมืองหรือธุรกิจ จะได้รับประโยชน์จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ สั่งซื้อได้ทางออนไลน์
ขียนโดยชาวโรมันเมื่อ 2 พันปีที่แล้ว แนะนำวิธีชนะการเลือกตั้ง นักการเมืองอ่านแล้วจะเข้าใจตัวเอง

คนอ่านอ่านแล้วจะรู้ทันนักการเมืองทั้งนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี เขียนแนะนำไว้แบบนี้

(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)

สั่งซื้อหนังสือ ‘คู่มือพิชิตการเลือกตั้ง’ คลิ๊ก
https://samyanpress.bentoweb.com/.../495068/product-495068
กับ 'นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี' ประวัติการต่อสู้ในโรงเรียน
https://samyanpress.bentoweb.com/.../467769/product-467769