วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2567

“ภัทรพงษ์” ถามรัฐบาลแนวทางแก้ไขระบบแจ้งเตือนน้ำท่วม หลังพบปัญหาไม่บอกแนวปฏิบัติประชาชน หอเตือนภัยแทบไม่ใช้งาน แนะกระจายอำนาจ สนับสนุนเงิน-คนให้ท้องถิ่น รับมือภัยพิบัติ

 


ภัทรพงษ์” ถามรัฐบาลแนวทางแก้ไขระบบแจ้งเตือนน้ำท่วม หลังพบปัญหาไม่บอกแนวปฏิบัติประชาชน หอเตือนภัยแทบไม่ใช้งาน แนะกระจายอำนาจ สนับสนุนเงิน-คนให้ท้องถิ่น รับมือภัยพิบัติ


วันที่ 3 ตุลาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล โดย รมว.มหาดไทย มอบหมาย ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยตอบแทน กรณีเหตุอุทกภัยที่จังหวัดเชียงใหม่ที่จนถึงปัจจุบันยังไม่คลี่คลาย และกำลังเผชิญกับอุทกภัยรอบใหม่ในวันนี้


โดยภัทรพงษ์กล่าวว่า ตนลงพื้นที่ทุกวันตั้งแต่เช้ายันค่ำ ประสานทุกหน่วยงานตั้งแต่เอกชน ท้องถิ่นไปจนถึงรัฐส่วนกลางเพื่อบรรเทาผลกระทบกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ได้รับรู้ถึงความเดือดร้อนและความลำบากของประชาชนที่น้ำท่วมบ้าน เห็นเจ้าหน้าที่และกู้ภัยอาสาที่ทำงานอย่างเต็มที่สุดกำลังแทบไม่ได้หลับนอน และตนก็เห็นช่องโหว่ในการบริหารจัดการ เป็นที่มาของการตั้งกระทู้สดวันนี้ เพื่อเสนอและหาทางออกร่วมกับรัฐมนตรี โดยจะแบ่ง 3 คำถาม ออกเป็น 3 ช่วงเวลาการรับมือภัยพิบัติ นั่นคือ ช่วงก่อนเกิด ช่วงเผชิญเหตุ และช่วงหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ


เริ่มที่ “การเตือนภัย” หรือก่อนเกิดน้ำท่วม ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า น้ำท่วมที่เชียงใหม่มีทั้งน้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ซึ่งคนทั่วไปอาจได้ยินจุดอ้างอิงระดับน้ำที่จุด P.1 ใกล้สะพานนวรัตน์ และแผนที่ความเสี่ยงน้ำท่วม 7 เขต ในเมืองเชียงใหม่ ที่อ้างอิงกับระดับน้ำที่จุด P.1 แต่นั่นเป็นการแจ้งเตือนภัยเพียงแบบเดียวคือ น้ำท่วมแบบเอ่อล้นตลิ่งจากแม่น้ำปิง


แต่สำหรับน้ำท่วมไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระบบการเตือนภัยที่มีอยู่ของรัฐบาลกลับไม่ได้มีระบบเตือนภัยที่ดีพอ และแทบไม่มีการเตือนภัยกับประชาชนในพื้นที่ ที่ประสบกับน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขังเลย จนพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ต้องประสบเหตุน้ำป่าไหลหลากโดยไม่สามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้อย่างทันการณ์ และประสบความเสียหายเป็นอย่างมากในหลายพื้นที่ และที่ผ่านมา สส. พรรคประชาชน ในพื้นที่จึงต้องแจ้งเตือนประชาชนกันเอง แม้กระทั่งน้ำที่เข้าท่วมในพื้นที่หางดง สันป่าตอง เมื่อเช้านี้ (3 ตุลาคม 2567)


ส่วน SMS ที่รัฐบาลส่งให้พี่น้องประชาชนกลับมีเนื้อหาที่คลุมเครือ ไม่ทราบระดับน้ำที่จะท่วม (เทียบกับระดับอ้างอิง) ไม่บอกแนวปฏิบัติ ยิ่งพอกล่าวถึงหอเตือนภัยด้วยแล้ว กลับแทบไม่มีการใช้งาน หลายหอออกแบบใช้ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ แต่พอฝนตกไม่มีแดด ก็ไม่มีระบบสำรองไฟฟ้าที่เพียงพอ รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลเตือนภัยน้ำท่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เราก็แทบไม่ได้เตรียมการอะไร แม้ว่าอาเซียนจะมีข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติ (ค.ศ. 2021) ในมาตรา 7 อยู่แล้ว แต่รัฐบาลกลับไม่ได้เตรียมช่องทางการแบ่งปันข้อมูลตามที่ตกลง


ภัทรพงษ์จึงสอบถามรัฐบาลถึง ระบบเตือนภัยสำหรับน้ำป่าไหลหลาก และข้อมูลเตือนภัยที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับพี่น้องประชาชน เพราะอุทกภัยจากน้ำยังอาจมีต่อเนื่อง อย่างน้อยในช่วงเดือนตุลาคม 2567


โดยได้ยกตัวอย่างการแจ้งเตือนที่ตนได้ใช้ในเขตพื้นที่อำเภอหางดงและสันป่าตอง ที่เริ่มตั้งแต่ Early warning เฝ้าระวังเตรียมรับน้ำท่วมฉับพลันล่วงหน้า 16 ชั่วโมงตั้งแต่วานนี้ ระบุพื้นที่เสี่ยงและเวลาคาดการณ์น้ำท่วมชัดเจน และได้แจ้งเตือน Emergency alert อีกครั้งหนึ่ง 4 ชั่วโมงล่วงหน้าในช่วงตี 2 เมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนหลายครัวเรือนสามารถขนย้ายรถ สิ่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ทัน แต่มีเพียงตนเท่านั้นที่แจ้งเตือน ไม่มีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานของรัฐเลย


ภัทรพงษ์ถามต่อในคำถามที่ 2 ว่าเมื่อเกิดเหตุอุทกภัยขึ้นแล้ว สิ่งที่เราต้องดำเนินการคือ เรื่องเผชิญเหตุ ซึ่งการเผชิญเหตุก็แบ่งเป็นสองส่วนใหญ่คือ หนึ่ง การจัดการที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย ให้ผู้ที่มีความจำเป็นต้องอพยพสามารถอพยพโยกย้ายไปสู่ที่ปลอดภัยได้ และผู้ที่อยู่ในบ้านเรือนของตน สามารถอยู่ได้โดยปลอดภัย และได้รับอาหาร น้ำ และสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิต และ สอง คือการเผชิญเหตุหรือการจัดการกับโคลนที่เข้ามาทับถม หรือน้ำที่เข้าท่วมขังแช่อยู่ในพื้นที่ให้ได้


ที่ผ่านมาเวลาเราได้ยินทางราชการกล่าวคำว่า “แผนเผชิญเหตุ” เรามักจะนึกถึงการเผชิญเหตุส่วนแรกคือ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ประสบการณ์ที่ทีม สส. เชียงใหม่ พรรคประชาชน พบเจอกันมาคือ การกระจุกตัวอยู่บางพื้นที่เท่านั้น แต่ในหลายพื้นที่เช่น อำเภอสันกำแพง อำเภอสารภี อำเภอหางดง และอำเภอสันป่าตอง แทบไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย


แม้กระทั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ก็ประกาศเมื่อคืนวันที่ 22 กันยายนว่า คืนนี้คนเชียงใหม่นอนหลับสบาย น้ำไม่ท่วมแน่นอน แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน คนเชียงใหม่ที่สันป่าตอง กลับต้องเผชิญน้ำท่วมในระดับอก และหลายพื้นที่ยังไม่มีการตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วยซ้ำ


ยิ่งพอมาถึงการเผชิญเหตุส่วนที่สองหรือ การจัดการน้ำ/จัดการโคลน ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะในแผนเผชิญเหตุส่วนใหญ่แทบไม่ได้กล่าวถึงไว้เลยว่า เมื่อน้ำท่วมแล้ว เราจะระบายน้ำกันอย่างไร? ตัวอย่างในโซนสันกำแพงและตำบลไชยสถาน อ.สารภี ซึ่งไม่ได้ติดริมน้ำปิงที่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง แต่เป็นน้ำท่วมที่เอ่อล้นมาจากลำน้ำสาขาต่างๆ เช่น แม่กวง แม่ออน แม่โฮม และมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนหลายหมู่บ้าน พื้นที่บริเวณนี้ในอดีตเป็นพื้นที่เกษตรชลประทาน พื้นที่นี้จึงมีระบบลำน้ำ ทั้งลำน้ำธรรมชาติ ลำเหมืองส่งน้ำเข้าพื้นที่นา และระบบชลประทานโครงการแม่กวง เชื่อมต่อกัน แต่เมื่อมีการตัดถนนเข้าไปในพื้นที่ ทำให้ลำน้ำถูกตัดขาด/ตีบตันในหลายจุด โดยเฉพาะในจุดที่มีถนนสายใหญ่มาตัดผ่าน และวางเพียงท่อระบายน้ำขนาดเล็กเอาไว้เท่านั้น ทำให้น้ำท่วมขังจำนวนมาก หมู่บ้านสันป่าค่า และหมู่บ้านจรรยาลักษณ์ อำเภอสันกำแพง


สส. และฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่จึงตัดสินใจช่วยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำการเดินเผชิญสืบ ค้นหาลำเหมืองและจุดติดขัดต่างๆ และมาจัดทำผังเส้นทางน้ำต้นเปา สันกำแพง ปักหมุดบน Google Maps เพื่อทำให้เห็น “ผังน้ำ” ทั้งระบบ และเมื่อเห็นภาพผังน้ำทั้งหมด เราก็มองทิศทางในการดึงน้ำออกจากพื้นที่ แล้วจึงประสานกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องถิ่น ฝ่าย อบจ. และสามารถวางแผนจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดต่างๆ ได้ และใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน น้ำจึงลดลงจนแห้ง จริงๆ แล้วการระบายน้ำจะทำได้เร็วกว่านี้ ถ้าเรามี “แผนเผชิญเหตุ” ที่ระบุผังน้ำและจุดสูบน้ำ/ระบายน้ำไว้ล่วงหน้า


ภัทรพงษ์ยังเสนอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยส่งทีมลงประเมินความรุนแรงของภัย เพื่อยกระดับภัยพิบัติจากระดับเล็ก และระดับกลาง ที่จังหวัดจัดการกันเอง เป็นระดับใหญ่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะลงมาดำเนินการด้วยตนเอง และทำให้ระดมทรัพยากรและการสั่งการในการเผชิญเหตุ และฟื้นฟูเยียวยาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงสอบถามถึงแนวทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งในด้านงบประมาณ เครื่องจักร/เครื่องมือ และบุคลากร


ส่วนคำถามสุดท้าย ภัทรพงษ์สอบถามถึงวงเงินทดรองราชการ ซึ่งในกรณีจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการขยายเป็น 100 ล้านบาทไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ขณะนี้ได้ใช้ไปแล้วกว่า 65 ล้านบาท แต่ยังมีพื้นที่ที่ประสบภัยและไม่ได้รับการฟื้นฟูเยียวยาอีกหลายพื้นที่ทั้ง เชียงดาว แม่ริม แม่แตง สันทราย เมือง สันกำแพง สารภี หางดง สันป่าตอง หางดง แถมอุทกภัยรอบใหม่กำลังลงมา (วันที่ 2-3 ตุลาคม 2567) ซึ่งน่าจะมีผลให้เงินทดรองราชการไม่เพียงพอ


ภัทรพงษ์ จึงสอบถามถึงแนวทางที่จะขยายวงเงินทดรองราชการสำหรับเชียงใหม่ และจังหวัดที่ประสบภัยขนาดใหญ่ รวมถึงอยากได้รับความยืนยันจากรัฐบาลว่า ประชาชนผู้ประสบภัยจำนวนมากที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน จะไม่ถูกกีดกันจากการได้รับความช่วยเหลือ และเงินเยียวยาจากรัฐบาล


ด้าน รมช. มหาดไทย ตอบคำถามโดยสรุปว่า เรื่องการแจ้งเตือนนั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายคือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องนำข้อมูลจากหลายหน่วยงานมาประมวลก่อนแจ้งเตือนผ่านหน่วยงานที่เป็นหน่วยปฏิบัติ เช่น อำเภอ จังหวัด ปภ.จังหวัด ส่วนที่เราเห็นหลายหน่วยงานดำเนินการ รวมถึงที่ สส. ส่งข้อความให้ประชาชน ไม่ถือเป็นการแจ้งเตือนตามกฎหมาย แต่เป็นการรายงานข้อมูล อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเครื่องมือที่ต้องใช้ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ กำลังทำเรื่องขอใช้งบประมาณจาก กสทช. เพื่อทำให้มีเครื่องมือในการสังเคราะห์ข้อมูล นำไปสู่การแจ้งเตือนประชาชนให้เกิดความถูกต้อง


เรื่องการประเมินสถานการณ์ จะมีการติดตามอยู่แล้วในระดับจังหวัดโดยผู้ว่าฯ มีหลายหน่วยงานประชุมร่วมกัน ไม่ใช่คิดคนเดียว และคาดว่าในปี 2568 การดำเนินการเรื่องการแจ้งเตือนจะเป็นไปตามที่ สส.ภัทรพงษ์ ได้ส่งความกังวลให้รัฐบาลดำเนินการ


สำหรับงบประมาณของท้องถิ่นในการนำไปใช้ดูแลเหตุภัยพิบัติ ต้องยอมรับมีจำกัด อาจเกินกำลังของ อปท. จำเป็นต้องมีหน่วยงานอื่นเข้ามาโดยเฉพาะ ปภ. ซึ่งที่ จ.เชียงใหม่ ขยายไปวงเงินทดรองราชการ 100 ล้านบาทนั้น ไม่ได้แปลว่าใช้ครบแล้วเงินจะหมด ยังขยายได้อีกเรื่อย ๆ ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเยียวยาตามกรอบหลักเกณฑ์กฎหมาย


นอกจากนี้ ครม. ได้มีมติเรื่องการดูแลเยียวยาครัวเรือนที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งครัวเรือนหมายถึงคนที่เป็นผู้อาศัย อยู่บ้านเช่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของที่ดิน โดยให้ ปภ. เสนอแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการเยียวยาให้ ครม. พิจารณา เบื้องต้นมีตัวเลขเดียวคือประมาณ 9,000 บาท


ส่วนเรื่องการส่งเสริมศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วันนี้หลายคนบอกว่าส่วนกลางไปเพิ่มภารกิจแต่ไม่ให้เงิน จึงกำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้ 3 ส่วนนี้ ภารกิจ งบประมาณ และบุคลากร มีความสมดุล ให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ทำงานให้ประชาชนได้เต็มที่

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #น้ำท่วม68 #ประชุมสภา