วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2567

วงเสวนาในหัวข้อ “เดือนตุลานอกกระแส : บางแง่มุมของขบวนการเดือนตุลาที่ไม่เคยเห็น” วาระ 48 ปี 6 ตุลา


 วงเสวนาในหัวข้อ “เดือนตุลานอกกระแส : บางแง่มุมของขบวนการเดือนตุลาที่ไม่เคยเห็น” วาระ 48 ปี 6 ตุลา 


เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายนักศึกษาจัดงานรำลึกครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ร่วมกับ ชมรมโดมรวมใจ จัดงานรำลึกครอบรอบ “6 ตุลาฯ กระจกส่องสังคมไทย” ระหว่างวันที่ 5-6 ตุลาคมนี้


บรรยากาศเวลา 13.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “เดือนตุลานอกกระแส : บางแง่มุมของขบวนการเดือนตุลาที่ไม่เคยเห็น” โดย นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านแรงงาน และผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), และนางพรพิมล โรจนโพธิ์ นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา ดำเนินรายการโดย ธีรภพ เต็งประวัติ


ในช่วงท้าย นพ.เหวงกล่าวว่า ในการเคลื่อนไหวเราต้องค้นหาความขัดแย้งของสังคมให้เจอ และต้องรู้ว่าใครคือ มิตรและศัตรู อย่าผลักมิตร แต่ต้องรู้เป้าหมายและปฏิปักษ์


วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ไม่มีสงครามเย็น ค่ายสหภาพโซเวียด หรือค่ายเสรีนิยมแล้ว จักพรรดินิยมหายไปแล้ว หลัง 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา ฝ่ายขวาจัด ยึดครองอำนาจรัฐมาตลอด บางครั้งใช้อำนาจในรัฐสภา บ้างก็ทหารโดยตรง


นพ.เหวงกล่าวว่า พรรคเพื่อไทย อ้างว่า มีความจำเป็นในการข้ามขั้ว เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ตุลาคม 2567 ค่าไฟยังแพงหูฉี่ ดิจิทัลวอลเล็ต ไม่รู้ว่ารายต่อไปจะแจกได้หรือเปล่า เท่ากับว่าตอนนี้บริหารโดย ‘รัฐบาลฝ่ายขวา’


“ดังนั้น ที่คุณบอกจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย สำหรับผมไม่เชื่อ ประเด็นสุดท้าย สำหรับผม ความขัดแย้งตอนนี้ เกิดขึ้นเพราะความต้องการอำนาจอธิปไตยให้กลับมาเป็นของประชาชนจริงๆ” นพ.เหวงกล่าว


นพ.เหวงกล่าวต่อว่า เรารำลึกมา 48 ปีแล้ว อยากเชิญชวนพี่น้องทั้งประเทศ ช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรถึงจะ ‘หยุดทหารไม่ให้ฆ่าประชาชนกลางเมืองอีกต่อไป’


“พรรคเพื่อไทยทำได้เลย ตอนนี้ศาลรับฟ้องแล้ว คดีตากใบ ออกหมายจับ 7 คนแล้ว ผมชี้ทางสว่างให้คุณ พรรคเพื่อไทย ถ้าเอา 7 คนไปมอบตัวต่อศาล ประชาชนทั้งประเทศจะให้อภัยคุณ เรื่องตากใบมีเวลา 20 วัน แต่เรื่องที่จะมีเวลาอีก 6 ปี คือ วีรชนเสื้อแดง 99 ศพ


กรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม มีรายชื่อชัด ว่าใครยิง กรม, กองไหน มีพี่น้องเราจำนวนหนึ่งยื่นฟ้องศาลพลเรือน ปรากฏว่าให้ไปเดินเรื่องศาลทหาร ถ้าอัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้อง เรื่องก็จบเลย ดังนั้น เดินไปแบบนี้ไม่ได้ ต้องแก้กฎหมายก่อน ให้ทหารที่ฆ่าประชาชนต้องขึ้นศาลพลเรือน รวมทั้งคนสั่งด้วย นักการเมืองทั้งหลาย ต้องไม่ขึ้นศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง


มี 62 ศพ ยังไม่ได้ไต่สวน รัฐบาลเพื่อไทย จะไปยากอะไร ตั้งคณะกรรมการไต่สวนอีก 62 ศพ ไม่เห็นยาก


อยากให้ เพื่อไทยกล้าๆ หน่อย เชิญคณะก่อการ ที่ยึดอำนาจสำเร็จมาดำเนินคดี ม.113 ข้อหากบฏ คมช คปค. มาดำเนินคดี ทบทวนคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ว่ายึดอำนาจสำเร็จเป็นรัฎฐาธิปัตย์ ปฏิรูปโครงสร้างทหาร ห้ามใช้ทหารจัดการการชุมนุมเด็ดขาด จึงจะหยุดรัฐประหารได้โดยสิ้นเชิง ถ้าทำได้ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนอื้อซ่า ยิ่งกว่าพรรคประชาชนแน่นอน” นพ.เหวงกล่าว


ด้านนางพรพิมล กล่าวช่วงท้ายว่า “แรงงานหญิง ควรเป็นประเด็นหนึ่งที่นักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ควรให้ความสนใจ สวัสดิการ ค่าแรง เพื่อขับเคลื่อนสวัสดิการของเด็กเล็ก และสังคม ต้องพึ่งพวกเราอีกมาก


อีกเรื่องที่น่าเข้าไปมีส่วนร่วม คือ จัดทำรายงานอนุสัญญาสตรี (ทุก 4 ปี) ซึ่งเราได้ให้การรับรองกับสหประชาชาติ ช่วงปี 2004 ก่อนทำรายงาน ได้เข้าไปหาผู้หญิงกลุ่มต่างๆ แรงงานหญิงนอกระบบ, ข้ามชาติ, ชาวเขา ที่เป็นกลุ่มรากหญ้า นอกวงความสนใจของสังคม เราไปศึกษาปัญหา ความต้องการ ทำรายงานเสนอภาครัฐ 


ขณะเดียวกัน มันก็เหมือนกับการให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐ ต้องแก้ไขปัญหาของผู้หญิงเหล่านี้ ให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ โลกเปลี่ยนแปลงด้วยคนส่วนน้อย ที่มีความชัดเจน” 


ขณะที่นายศักดินา กล่าวโดยสรุปได้ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการพยายามใช้ความรุนแรง แกนนำของขบวนถูกลอบยิงหลายคน หลายอย่างที่พยายามทำ ก็ถูกสกัด ผู้นำขบวนก็ถูกลอบทำร้าย ต้องตัดสินใจเข้าป่า รัฐบาลออก กฎหมาย ‘พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518’ ที่จำกัดไม่ให้มีอำนาจต่อรอง การรวมตัวกันไม่เป็นอิสระอย่างที่เคย คนอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวน แต่กฎหมายนี้กันเขาออก ไม่สามารถเป็นสมาชิกได้ ถ้าไม่ได้เป็นลูกจ้าง


เกิดการแยกออก เป็นสถานประกอบการของใครของมัน จากแต่ก่อน รวมตัวได้หลากหลาย แม้แต่นักศึกษา ก็เข้าไปมีส่วนร่วมได้


“บทบาทหลัง 14 ตุลาฯ ไม่ใช่แค่เรื่องแรงงาน แต่ต่อสู้ประเด็นอื่นๆ ด้วย ทั้งสิ่งแวดล้อม ชาวไร่ ชาวนา แต่กฎหมายนั้นไม่อนุญาตให้ทำได้อีกแล้ว ต้องเป็นเรื่องสภาพการจ้างงานเท่านั้น คือการสกัดกั้น พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เกือบหลายส่วน เกือบทั้งหมด ตัดสินใจเข้าป่าเยอะ”


“สิ่งที่เราอยากส่งต่อ มรดกที่หมายมั้นปั้นมือ ไปต่อไม่ได้ เพราะถูกสกัดกั้นหลายอย่าง ตั้งเป็น ‘ไตรภาคี’ เจรจา 3 ฝ่าย ให้เข้าไปทะเลาะกัน ขบวนการหลัง 6 ตุลาฯ รัฐกำกับได้ ทำให้เล็กและไม่มีอำนาจต่อรอง ซึ่งมีน้อยมากราว 1.3 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในสหภาพแรงงาน อำนาจต่อรองไม่มี ไม่ได้อยู่กับคนส่วนใหญ่ จึงทำให้ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น” 


  #48ปี6ตุลา ณ หอประชุมศรีบูรพา มธ.ท่าพระจันทร์


รับชมรับฟังทั้งหมดได้ที่ https://www.facebook.com/share/v/boqWC3zPeCzzJXok/


https://www.youtube.com/live/h80TxRNz-Rk?si=RuTylL68-PffadKL


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รำลึก48ปี6ตุลา

#6ตุลากระจกส่องสังคมไทย #6ตุลา19