วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2567

จม.จากแดน 4 "อานนท์" เขียนถึงลูก "การเกรงใจ เกรงกลัวศาล พ่อไม่เรียกว่าเป็นการเคารพต่อศาล การต่อสู้อย่างเต็มที่ โต้เถียงอย่างเต็มที่ต่างหาก ที่เรียกว่าการเคารพศาล เคารพต่อวิชาชีพที่แท้จริง ชีวิตที่เหลือของพ่อก็ขออุทิศให้กับสิ่งนี้ สิ่งที่เรียกว่า ทนายความ"

 


จม.จากแดน 4 "อานนท์" เขียนถึงลูก "การเกรงใจ เกรงกลัวศาล พ่อไม่เรียกว่าเป็นการเคารพต่อศาล การต่อสู้อย่างเต็มที่ โต้เถียงอย่างเต็มที่ต่างหาก ที่เรียกว่าการเคารพศาล เคารพต่อวิชาชีพที่แท้จริง ชีวิตที่เหลือของพ่อก็ขออุทิศให้กับสิ่งนี้ สิ่งที่เรียกว่า ทนายความ"


วันนี้ (4 ตุลาคม 2567) เพจเฟสบุ๊ค “อานนท์ นำภา” โพส ข้อความจดหมายฉบับวันที่ 2 ต.ค. 67 โดยมีใจความว่า


2 ตุลาคม 2567 ถึงเรือนจำค่ำมืดกว่าจะได้อาบน้ำก็สองทุ่ม นั่งเขียนจดหมายถึงลูกทั้งสอง ด้วยกำลังเฮือกสุดท้ายของวัน เช้าวันนี้เป็นเช้าที่พ่อดีใจมากที่ได้เจอ ปราณที่ศาลธัญญะบุรี เจ้าปราณปิดเทอมแล้ว เลยมีเวลามาเจอพ่อที่ศาล ร้านดูสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ยังผอมเหมือนเดิมท่าทางดูโตขึ้นตามวัย ส่วนเจ้าขาล ได้ครับ ยังคงวิ่งเล่นในศาลไม่กลัวใคร ก่อนกลับปราณวิ่งมากอดพ่อ เจ้าขาลก็วิ่งมากอด แย่งกันกอด น่ารักดี


วันนี้พ่อต้องทำหน้าที่เป็นทั้งจำเลยและเป็นทนายให้น้อง ๆ ในคดี เสียงโซ่ตรวนที่เท้าเวลามันลากในห้องพิจารณาที่เงียบ ๆ ฟังดูแปลกดี วันนี้ต้องยืนถามค้านถึง 5 โมงเย็น ร่างกายอ่อนเพลียจากรถขังที่เขย่าทั้งขาไปขากลับ แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี ช่วงแรกต้องโต้เถียงกับศาลเรื่องว่าพ่อยังเป็นทนายได้หรือไม่ในชุดนักโทษ สุดท้ายศาลเจ้าของสำนวนไปปรึกษาหัวหน้าศาล ปรากฎว่าให้ว่าความแก้ต่างได้หรือไม่ในชุดนักโทษ สุดท้ายเจ้าของสำนวนไปปรึกษาหัวหน้าศาลปรากฎว่าให้ว่าความแก้ต่างได้เหมือนในทุก ๆ ศาลที่ผ่านมา


เนื้อหาคดีมันอยู่ในสมองพ่อหมดแล้ว ที่เหลือก็แค่เค้นมันออกมาผ่านการขบคิดและตั้งคำถาม บางทีบางคำถามที่อ่อนไหว ก็อาจต้องเป็นพ่อที่ต้องถามมันออกมา วันนี้โต้เถียงกับศาลหลายครั้ง สำหรับพ่อ การหงอ การเกรงใจ เกรงกลัวศาล พ่อไม่เรียกว่าเป็นการเคารพต่อศาล การต่อสู้อย่างเต็มที่โต้เถียงอย่างเต็มที่ต่างหาก ที่เรียกว่าการเคารพศาล เคารพต่อวิชาชีพที่แท้จริง ชีวิตที่เหลือของพ่อนอกจากความหวังที่จะได้กลับไปอยู่กับครอบครัว พ่อก็ขออุทิศให้กับสิ่งนี้ สิ่งที่เรียกว่า “ทนายความ“


กอดกันมิทันอุ่นก็ต้องจาก ร่ำลามิทันสุดคำก็ต้องจร โอบกอดกันและกันในความฝัน จนกว่าเราจะพบกันอีก รักและคิดถึงลูกทั้งสอง


สำหรับ อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ภายหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา ในคดี #มาตรา112 คดีแรก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เหตุจากการขึ้นปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63


จากนั้น 17 ม.ค. 67 ศาลอาญาสั่งจำคุก "อานนท์ นำภา" เพิ่มอีก 4 ปี จากคดีมาตรา 112 (เป็นคดีที่ 2) กรณีโพสต์เฟซบุ๊กปี 2564 โดยให้บวกโทษเก่าอีก 4 ปี ทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวมแล้ว 8 ปี


ต่อมา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา หลังถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุมาจากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง พิพากษาจำคุกรวม 3 ปี 1 เดือน ปรับ 150 บาท ก่อนลดเพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท


ต่อมา 25 ก.ค. 67 ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาในคดี #ม112 คดีที่ 4 ของ “อานนท์ นำภา” เหตุโพสต์ 2 ข้อความบนเฟซบุ๊ก ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2564 วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10


ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1), (3) ให้ลงโทษฐาน 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี


ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี ไม่รอการลงโทษ


ทั้งนี้หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีของอานนท์ไปแล้ว 4 คดี ทำให้อานนท์ถูกลงโทษจำคุกรวม 14 ปี 20 วัน และยังมีโทษในคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีชุมนุม #ม็อบ27พฤศจิกา2563 ที่ถูกจำคุกอีก 2 เดือน รวมเป็น 14 ปี 2 เดือน 20 วัน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม #อานนท์นำภา #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน