คำแถลงแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
กรณีที่ ปปช. มีมติให้ข้อกล่าวหากรณีนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับพวก สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.ตกไป
นปช.ขอคัดค้านมติปปช.ดังกล่าว และยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดาและพวก ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยและมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เป็นผู้ก่อให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล สมควรที่จะถูกดำเนินคดีไปจนถึงที่สุด เพื่อพิสูจน์ให้สังคมได้เห็นชัดเจนว่า “ใครกันแน่เป็นผู้สั่งฆ่าประชาชน”
จะเกิดประโยชน์ยิ่งกว่าการทำให้ข้อกล่าวหาตกไป ซึ่งรังแต่จะทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยและตั้งข้อกล่าวหากับปปช.และกระบวนการยุติธรรมให้เป็นจำเลยเสียมากกว่าว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่?
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีข้อกล่าวหาที่มีต่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และพวก กรณี 7 ตุลาคม 2551
นอกจากการพิสูจน์ให้เกิดความชัดเจน และทำให้สังคมไว้วางใจ องค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังมีเหตุผลอื่นประกอบในการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับมติปปช.ในครั้งนี้คือ
1. การอ้างคำพิพากษาศาลว่าการชุมนุมของกลุ่มนปช.มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญตามนัยคำพิพากษาศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553
ปรากฏว่าเป็นการอ้างอิงที่ไม่ตรงกับเนื้อความในคำพิพากษาศาลดังกล่าว แต่มีลักษณะตีความเองและเกินเลยกว่าคำพิพากษาศาล
อีกทั้งคดีนี้ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 ขณะที่การชุมนุมและการบาดเจ็บล้มตายยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
ปปช.จึงนำคำพิพากษาของศาลแพ่งฉบับดังกล่าวมากล่าวอ้างในมติโดยไม่ถูกต้อง เป็นการเกินเลยไปกว่าเนื้อหาของคำพิพากษาจริงของศาลในวันที่ 22 เมษายน 2553 ดังกล่าว และไม่ครอบคลุมสถานที่วันเวลาที่ยาวนานจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
ในด้านเนื้อหานั้น ข้อความในคำพิพากษาของศาลก็ระบุไว้ว่า “การเสียชีวิตเบื้องต้นในวันที่ 10 เมษายน 2553 ยังไม่ทราบว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด”
แม้จะยกคำร้องคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลแพ่งก็ได้เตือนจำเลย คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับพวก ในการสลายการชุมนุมหรือขอคืนพื้นที่ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็นตามความเหมาะสมมีขั้นตอนตามหลักสากลจนกว่าจะมีคำพิพากษาอย่างอื่น
แต่กลายเป็นว่าปปช.มีมติเลยเถิดว่า “การชุมนุมของนปช.มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปะปนอยู่ในที่ชุมนุม” ซึ่งไม่เป็นความจริง
2.การอ้างว่า ศอฉ. มิได้ใช้กำลังผลักดันผู้ชุมนุม แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัด ปิดล้อมภายนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติไปเอง
ในความเป็นจริงนั้น มีการสั่งการให้ใช้อาวุธสงคราม ในลักษณะพลซุ่มยิง ซึ่งมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายและคลิปวิดีโอเป็นจำนวนมาก
การจัดตั้งพลซุ่มยิงจากที่สูง ส่งผลให้ประชาชนถูกยิงที่ศรีษะ เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก นับแต่วันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ยังมีการเล็งยิงประชาชน 6 ศพในวัดปทุมวนารามอันเป็นเขตอภัยทานจากบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ
จนมีคำสั่งของศาลระบุชัดเจนว่า 6 ศพในวัดปทุมฯเป็นการตายจากการยิงของเจ้าหน้าที่ทหารบนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ไม่มีการต่อสู้ของชายชุดดำกับเจ้าหน้าที่ และอาวุธที่ทาง ศอฉ.กล่าวอ้างว่าเป็นของนปช.หรือคนในวัดปทุมฯก็ไม่สามารถเชื่อถือได้ ผู้ตายไม่มีเขม่าดินปืน ไม่พบการต่อสู้จากฝ่ายประชาชน
ซึ่งวารสารของกองทัพบก (เสนาธิปัตย์อันเป็นวารสารทางการของกรมยุทธศึกษากองทัพบก ในฉบับที่ 3 ประจำปีที่ 59 กันยายน-ธันวาคม 2553) เองยืนยันในข้อนี้ว่า
"ยุทธการกระชับวงล้อมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 เป็นการปฏิบัติทางทหารเต็มรูปแบบ...คือการกระชับวงล้อมด้วยกระสุนจริง จากกำลังหน่วยรบหลักของเหล่าทหารราบ เหล่าทหารม้า และหน่วยส่งกำลังทางอากาศอย่างเช่น ร.31 รอ. ในภารกิจปฏิบัติการพิเศษ อาจเรียกได้ว่า เป็นการรบในเมืองที่ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารเต็มอัตราศึก ทั้งกำลัง อาวุธประจำกายที่ทันสมัย ชุดสไนเปอร์ หน่วยยานเกราะ ซึ่งการปรับกำลังและการเปลี่ยนแปลงทางยุทธวิธีที่สำคัญครั้งนี้ก็เป็นผลสะท้อนจากบทเรียนเมื่อ 10 เมษายน 2553 นั่นเอง"
“การปฏิบัติการทางยุทธวิธีที่ใช้เวลาทำงาน 9 ชั่วโมง (เวลา03.30น.-13.30น.) ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งทางยุทธวิธีของการรบในเมือง ที่สมควรได้มีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการรบในเมือง”
จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “การตั้งด่านให้ยุติการชุมนุมอง”ตามมติของปปช.ดังกล่าวข้างต้น
3.นอกจากนี้ แม้มีการรายงานการบาดเจ็บล้มตายตั้งแต่กลางวัน และเวลาที่ล่วงเลยมาเป็นลำดับจนถึงกลางคืน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับพวกก็มิได้รีบสั่งให้มีการยกเลิกปฏิบัติการในทันที และการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ก็มิได้มีการกำหนดให้มีเวลายกเลิกการปฏิบัติการแต่อย่างใด
การตายของประชาชนก็เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนบ่าย (ศพแรกที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการถนนราชดำเนินนอก) จนถึงดึกที่สี่แยกคอกวัวถนนตะนาวและถนนดินสอ
นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะกับพวก ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะยังดื้อรั้นที่จะทำการปฏิบัติการสังหารประชาชนต่อเนื่องต่อไป จนเกิดการสูญเสียทั้งสองฝ่ายในเวลาต่อมา และนำไปสู่การตายเป็นจำนวนมากหลังจากผู้ถูกกล่าวหาได้ปรับยุทธวิธีเป็นการทำสงครามกลางเมืองกับผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธดังที่ยืนยันในวารสารเสนาธิปัตย์ข้างต้น
จึงตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่ปปช.ระบุไว้ในมติข้างต้น
4. การที่ยังคงสั่งการให้ใช้อาวุธสงครามกับประชาชนจนเป็นเหตุให้มีการสังหารประชาชน 6 ศพในวัดปทุมฯ (ปรากฏชัดตามคำสั่งศาลเรื่อง6ศพที่วัดปทุมฯ) ซึ่งเป็นเวลาที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุมและเข้ามอบตัวไปแล้วเป็นเวลากว่าห้าชั่วโมง
โดยคำสั่งของศาลอาญาก็ยืนยันว่าประชาชนไม่ได้ใช้อาวุธโต้ตอบ ผู้ตายก็มิได้มีผู้ใดถืออาวุธ
ดังนั้น จึงเป็นคำถามว่า มติของปปช.ที่ยกข้อหากล่าวว่า “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับพวก มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผลเป็นความจริง ตามความหมายของ การปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก” เป็นมติที่ชอบหรือไม่?
สังคมไทยต้องการความชัดเจน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่างเท่าเทียมกัน ใช้มาตรฐานเดียวกัน มิใช่ เอาผิด หรือละเว้น การเอาผิด โดยถือว่าเป็นพวกเดียวกันหรือไม่ใช่พวกเดียวกัน ทำให้ประชาชนหมดความเชื่อถือไว้วางใจ
การตาย สองศพ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เพื่อขัดขวางไม่ให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์เข้าทำหน้าที่ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไปตามรัฐธรรมนูญ เมื่อ มาเปรียบเทียบกับ การตาย ร่วม 100 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน ใช้กระสุนจริงร่วมสองแสนนัด กระสุนสไนเปอร์กว่าสองพันนัด จากการดำเนินการของนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะกับพวก จะเห็นการเอนเอียงเข้าข้างพวกเดียวกันอย่างชัดเจน
ประกอบกับมีคำสั่งศาลอาญาในเรื่องการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 จำนวน 19ศพ ได้ยืนยันว่า ผู้ตาย ตายจาก กระสุนความเร็วสูงจากอาวุธสงคราม ของเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศอฉ. และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีอาวุธหรือปืน ไม่ปรากฏว่าผู้ตายยิงต่อสู้แม้แต่ศพเดียว ไม่ปรากฏว่ามีชายชุดดำที่ใช้อาวุธสงครามยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหารแต่ประการใด
เหตุใด มติ ของ ปปช. ต่อสองกรณีนี้ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยมิได้กังวลใจว่าจะก่อให้เกิดความไม่พอใจในหัวใจของประชาชนและสังคมโดยทั่วไป
นปช.จึงขอยืนยันการไม่เห็นด้วยกับมติ ปปช.ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เพราะไม่ปรารถนาจะเห็นกระบวนการยุติธรรมอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนต้องถูกทำลายไป
อันที่จริงเรื่อง การนำเอาผู้ที่ “สั่งฆ่าประชาชน”มาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมนั้น ยังไม่สิ้นสุดที่ชั้น ปปช.
ในขณะนี้อัยการสูงสุดและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ทำการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ได้วินิจฉัยโดยมีเนื้อความว่า “ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญา และต้องไปยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”โดยนำความเห็นต่างของอธิบดีศาลอาญาประกอบไปด้วย ดังนั้นคดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์
เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลชั้นสูงจะได้อำนวยความยุติธรรมให้กับประเทศและประชาชนเพื่อนำสันติภาพและความสงบสุขกลับคืนสู่ประเทศไทย
30 ธันวาคม 2558