วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

"เสื้อแดงต้องไม่เป็นเหยื่อ" อย่าสะดุดขาตัวเองก่อนถึงเส้นชัย : โพสต์ทูเดย์





01 พฤศจิกายน 2558 เวลา 11:05 น.
โดย...เลอลักษณ์ จันทร์เทพ, ธนพล บางยี่ขัน

ดีเดย์ 1 พ.ย. 2558 ที่มีการปลุกกระแสให้แนวร่วมคนเสื้อแดงพร้อมใจกัน “สวมเสื้อแดง” เพื่อให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกตีความได้หลายมุมมอง ทั้งเกมลับ-ลวง-พราง ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือเพราะความเปราะบางไม่เป็นเอกภาพของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) สุดท้ายกลับทำให้กระแสนี้อ่อนแรงลงไป 


หลังเก็บเนื้อเก็บตัวมานาน ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ ในฐานะหัวขบวนคนเสื้อแดงให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์ ชี้พิรุธและเงื่อนงำของการนัดสวมเสื้อแดงว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ ซึ่งคาดว่าจะมีการสร้างสถานการณ์และทำให้เสื้อแดงต้องตกเป็นจำเลยของประเทศนี้โดยทันที


“การนัดหมายของคนเสื้อแดงไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม จะต้องระบุตัวตนชัดเจน และถ้าเป็น นปช.จะนัดหมายอย่างเป็นทางการ ผมจะเป็นคนนัดเองในฐานะผู้รับผิดชอบ แต่ครั้งนี้อยู่ดีๆ มีการปล่อยข่าวออกมา โดยมีเพียงแค่แผ่นกระดาษโปสต์การ์ด 1 แผ่น ใครเชื่อก็เลอะเทอะเต็มทีแล้ว ต้องยอมรับว่าคนที่ปล่อยได้เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะคนเสื้อแดงกำลังเป็นห่วงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ได้รับชะตากรรมมากมาย”



จตุพรไล่เรียงข้อพิรุธที่สังเกต คือ 


1.คำสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ถ้าเกิดเหตุวุ่นวายแกนนำต้องถูกจับ มีเรื่องอะไรแกนนำต้องรับผิดชอบ


2.การตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการปราบมาเฟียและอาวุธสงคราม ขณะเดียวกันก็พูดออกมาว่าไม่เกี่ยวกับคนเสื้อแดง ถ้าคนฟังแบบไม่คิดก็ผ่านไปได้ แต่ส่วนตัวฟังแล้วคิดว่าถ้าการปฏิเสธนั่นคือใช่ เพราะ พล.อ.ประวิตร พูดชัดเจนว่ายังมีอาวุธปืนที่หายไปในเหตุปี 2553 ทั้งที่อาวุธปืนที่เคยนำขึ้นไปบนเวที นปช.ได้คืนไปหมดแล้ว และ 3.สิ่งที่นายกฯ พูดย้ำว่าตนเองมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจตามมาตรา 44


ประธาน นปช. ยืนยันว่า การนัดหมายครั้งนี้ทางแกนนำ นปช.เองเมื่อไม่รู้ที่มาที่ไป แต่จะเห็นว่าคนที่เสนอเงื่อนไขนี้เตรียมคำอธิบายไว้เสร็จ คือ ถ้าไม่เห็นด้วยก็แปลความว่าไม่รักไม่ห่วงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เหมือนกฎหมายปิดปาก และส่วนตัวไม่เคยตามใจใครอยู่แล้ว
ดังจะเห็นว่า ตั้งแต่เรื่องนิรโทษกรรมสุดซอยและอีกหลายเรื่องที่เคยเห็นต่างกับพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเอาใจคนที่ต้องการให้สถานการณ์เลวร้าย โดยที่ฝ่ายประชาชนไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย จึงพูดเสมอว่า “ถ้ายังไม่ชนะอย่างเพิ่งรีบไปแพ้ เวลานี้เราต้องสู้กันด้วยความเท่าทัน” 


จตุพร วิเคราะห์ว่า วันนี้ที่ผู้มีอำนาจกลัวและวิตกต่อคนเสื้อแดงที่นิ่งได้ แต่ไม่นิ่งก็ได้ เงียบได้ แต่ไม่เงียบก็ได้ จะดังขึ้นมาก็ได้ ดังนั้นจึงต้องพยายามทำลายคนเสื้อแดงโดยเลือกจุดที่เปราะบาง คือพุ่งไปที่แกนนำหลัก ให้ถูกข้อครหาว่าทิ้งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์และตัวเขาต่างเข้าใจดีว่าเป็นเกม จึงให้คนใกล้ชิดออกมาแถลงข่าวแก้ ว่าไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นมาอย่างไร และไม่ใช่แนวทางของตนเอง
“พวกเราตั้งแต่ปี 2549 ผ่านเรื่องราวมากมาย ผมเองขึ้นศาลด้วยคดีกว่า 40 คดี บางเรื่องก็ไม่เคยรับรู้และไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง หลายเหตุการณ์พวกเราเหมือนแมงเม่า ที่ต้องคอยแบกรับภาระต่างๆ และอธิบายเรื่องราวมากมาย”


ประธาน นปช. ยอมรับว่า ปรากฏการณ์นัดให้กำลังใจนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่มีกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยในกระบวนการคนเสื้อแดงไปร่วมปลุกกระแสนั้นมีอยู่จริง แต่คนกลุ่มนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเขาปฏิบัติตนเป็นอิสระ ไม่ได้ขึ้นแก่กันหรือมาประสานงานอะไรกัน แต่คอยจะผสมโรงในเรื่องราวต่างๆ หลายครั้งก็เป็นปัญหาให้กับทัพใหญ่


ดังนั้น เมื่อกลุ่มแดงกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่ไปฮุบเบ็ดจะโดยจงใจหรือเป็นทฤษฎีสมคบคิดก็ตาม ก็เปลี่ยนว่าจะสั่งการเอง แล้วประกาศว่าทำไมต้องรับฟังคำสั่ง ทั้งที่กระบวนการ นปช.ชัดเจนมาตั้งแต่ต้น ว่าเราไม่มีสายงานแบบบังคับบัญชา เพราะไม่ใช่องค์การที่ให้คุณให้โทษหรือให้ประโยชน์กับใครได้ ให้ได้อย่างเดียวคือความรู้สึกในการต่อสู้เท่านั้น เพราะฉะนั้นจะได้เห็นถึงท่วงทำนองประหลาดๆ ในการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำแล้วไปปลุกระดมกัน


จตุพร เล่าให้ฟังว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ทัพใหญ่นิ่งสงบ อดทน และรอคอย เพื่อต้องการให้คนไทยแต่ละฝ่ายไม่ว่าจะเชื่อทางการเมืองอย่างไร จะเชื่อแบบ สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือสนธิ ลิ้มทองกุล หรือแบบรัฐบาลขณะนี้ก็ตาม ให้ได้เห็นว่าเมื่อไม่มีคนเสื้อแดงออกไป


ขับเคลื่อน ปัญหาในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ การต่างประเทศและการเมือง ก็ยังมีอยู่และหนักขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นความล้มเหลวไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนเสื้อแดง


“ถ้าเราไม่ฉายภาพให้คนได้เห็นโดยที่เราไม่ต้องพูดเองก็จะไม่มีคนฟัง เราต้องอย่าลุกออกจากโรงหนังก่อนที่หนังจะจบ เวลานี้หนังใกล้จบแล้ว แต่ปรากฏว่ามีใครไม่รู้เรียกให้ออกมาจากโรงหนัง เพราะฉะนั้นคนที่คิดเกมนี้อำมหิตพอสมควร”
ถูกซ้อนแผนด้วยความพาซื่อ

ถามว่ากลุ่มนี้เป็น “แดงเทียม” อย่างที่หลายฝ่ายเรียกขานหรือไม่ ประธาน นปช. อธิบายว่า จะว่าเป็นแดงเทียมก็ไม่ใช่ แต่เขามีอิสระมาตั้งแต่ต้น เขาไม่ได้ร่วมจมหัวจมท้ายกับเรามาตั้งแต่ต้น และเชื่อว่าการข่าวของภาครัฐก็จะรู้จักคนกลุ่มเหล่านี้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพวกตน ที่ผ่านมาเวลาร่วมกิจกรรมก็น้อยมาก เขาจะมีกิจกรรมของตัวเอง

ขณะที่ทัพใหญ่ นปช.เป็นองค์กรที่เปิดเผยทุกเรื่องในการขับเคลื่อนทุกอย่าง และสามารถเปิดเผยได้ แต่พวกที่เป็นแดงเทียม คือ กลุ่มคนที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำภารกิจ สร้างสถานการณ์ หลายเหตุการณ์ในอดีตเราถูกซ้อนแผนมาโดยตลอดจากความพาซื่อ

ทั้งนี้ จุดแข็งคนเสื้อแดง คือ คนจำนวนมากและเราใช้แนวทางสันติวิธี เพราะฉะนั้นการทำลายกระบวนการคนเสื้อแดงง่ายที่สุด คือ ทำให้ไม่สันติวิธี เมื่อคนในอุดมการณ์มีความเชื่อแบบสุดโต่งเป็นความเชื่อที่ไม่ต้องการที่จะรับผิดชอบอะไรเลย บางคนอยู่ไกล แต่กลับมาระดมนัดคน ทั้งที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในประเทศไทยก็มี แบบนี้มีอยู่ตลอด

“หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องการนัดหมายคน ผมจะไม่กล้าขัด แต่ไม่ใช่ หรือแม้แต่การให้สัมภาษณ์แบบกลางๆ แล้วปล่อยให้ผ่านไปไม่ได้ มันจะทำให้ล้มทั้งกระดาน เมื่อหนังใกล้จบแล้วคนเสื้อแดงใส่เสื้อแดงออกไปในวันที่ 1 พ.ย.จะมีคนใส่เสื้อแดงกระทำการที่ไม่คาดฝัน และท้ายที่สุดปัญหาของประเทศที่ล้มเหลวก็จะหล่นบนหัวคนเสื้อแดงอีก เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแดงแตกคอ เพราะคนเหล่านั้นไม่ใช่คนที่ร่วมจมหัวจมท้ายกับเรามาตั้งแต่ต้น แต่เราต้องมาแบกรับภาระที่ต้องชี้แจงกับเรื่องที่เราไม่ได้ทำหลายเรื่อง”

ถามถึงจำนวนมวลชนคนเสื้อแดงกลุ่มเล็กๆ นั้น จตุพร ประเมินว่า ตามที่เห็นที่เขาไม่สามารถที่จะประกาศรวบรวมคนได้ ซึ่งต่างจาก นปช.เวลาระดมคนจะระดมคนได้เป็นจำนวนเรือนแสน ทุกครั้งกลุ่มคนเหล่านี้จะไปตั้งเวทีเล็กๆ ในที่ชุมนุมเรา แล้วไปเกิดเรื่อง เป็นปัญหา แต่การที่เราเกรงใจ ให้เกียรติกันจึงปฏิบัติด้วยดีมาตลอด อีกทั้งส่วนตัวไม่ได้มีหน้าที่ต้องไปเคลียร์หรือทำความเข้าใจกับใคร แต่พยายามจะบอกว่าเพียงแค่ใครทำอะไรและตัวเองรับผิดชอบในสิ่งนั้นก็ทำไป

“ที่ผ่านมา เรายืนหยัดแนวทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข หลายคนที่อาจจะคิดว่าเมื่อจุดกระแสนี้ขึ้นมาคิดว่าจะชนะ จะได้สะใจกัน เมื่อผมมายืนขวางเปรียบเสมือนว่าเป็นอุปสรรค แต่ท้ายที่สุดแล้วปลายทางทุกอย่างจะหล่นมาใส่บนหัวพวกตนเองเต็มๆ”

จตุพร ระบุต่อไปว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาประกาศว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น มีเหตุอะไรจะจับแกนนำให้หมด พวกตนไม่ได้กลัวถูกจับ แต่นี่ไงคือตัวตนที่แท้จริงของแต่ละฝ่ายที่ต้องการให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น จากนี้ก็ต้องการรวบหัวรวบหาง เพราะท้ายที่สุดกระบวนการรวบรวมประชาชนนั้น ใครก็ต่างรู้ว่าตรงไหนที่รวบรวมประชาชนได้ และมีหลักมีแนวทางที่ประชาชนเชื่อมั่น

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า กลุ่มคนเสื้อแดงกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้จะสมคบคิดกับ คสช.หรือไม่ แกนนำคนเสื้อแดง ตอบว่าไม่แน่ใจ เพราะคนที่ออกมาจุดกระแสเขาคิดว่าถึงเวลาแล้วเป็นช่วงที่เหมาะสม แต่ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ใช่เวลา มันต้องอีกนิดหนึ่งก็จะถึงเส้นชัยอยู่แล้ว แต่การกระทำแบบนี้เหมือนว่าวิ่งสะดุดขาตัวเองก่อนถึงเส้นชัย ด้วยความเชื่อของแต่ละคนที่ล้วนแต่ไม่ได้อยู่หรือสัมผัสได้ในบริบทนั้นๆ

“เราอยู่ในเหตุการณ์ เรามีบทเรียนมาก เมื่อเรื่องนี้ถูกจุดโดยใครก็ไม่รู้บางพวกที่หลงอยู่ในจินตนาการท่องโลกไซเบอร์ ไม่เคยต้องคุกต้องตะราง เมื่อคิดว่าตนเองชนะ แต่พอมีเรื่องกลับให้ทัพใหญ่เข้าไปช่วย ถ้าไม่ช่วยก็ใจดำ แต่ถ้าช่วยก็เสร็จ เพราะความชอบธรรมไม่มีแล้ว เพราะฝ่ายที่เขาวางแผนจัดการวางซ้อนแผนหมดแล้ว ฝ่ายทหารรู้เรื่องสงครามไซเบอร์มานั้นเพื่อสงครามจิตวิทยา ที่ใครกุมความชอบธรรมได้ คนนั้นก็ชนะ”

จตุพร กล่าวอีกว่า ท่ามกลางความขัดแย้งฝ่ายผู้มีอำนาจ วิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของผู้ที่มีอำนาจตั้งแต่ในอดีต เมื่อเถียงกันแล้วตกลงไม่ได้ ก็แค่ตะโกนออกมาเพียงว่า “ทักษิณ-เสื้อแดง” เพราะฉะนั้นถ้าเสื้อแดงถูกปั่นจนกระทั่งเข้ามาในสถานการณ์นี้ ฝ่ายผู้มีอำนาจซึ่งมีความขัดแย้ง เขาก็จะสมานฉันท์กัน จับมือกันชั่วคราว และจัดการเสื้อแดงที่เป็นศัตรูร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม หากเสื้อแดงไม่เล่นตามเกมเขา ความขัดแย้งในส่วนของผู้มีอำนาจก็จะมีดำรงอยู่ไปชัดเจน ซึ่งรอวันปรอทแตกอยู่แล้ว อยากถาม พล.อ.ประยุทธ์ ที่ออกมาระบุว่าตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งต้องการบอกกับพวกตนและคนอื่นด้วย แต่ขณะนี้บนกระดานการเมืองได้เห็นกันหมดว่าใครกำลังทำอะไรกันอยู่

“ในวันที่ 1 พ.ย. การใส่เสื้อแดงหรือไม่ใส่เสื้อแดงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ถ้าใส่แล้วใช้ชีวิตตามปกติ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ที่ผมออกมาเตือนเพราะสถานการณ์ครั้งนี้มันเป็นเกม ปัญหาที่จะเกิดคือพวกที่ใส่แล้วถูกเซตอัพขึ้นมาสร้างสถานการณ์ที่จะพลิกวิกฤตที่เกิดขึ้นในซีกผู้มีอำนาจนั่นแหละของจริง

...วันนี้ถ้าผมไม่สนใจ แล้วรอเห็นความหายนะที่รออยู่ในเบื้องหน้าในอีกไม่กี่วัน ผมทำไม่ได้ เหตุการณ์จะไปไกลเกินว่าที่ประชาชนจะรับมือไหว วันนี้ซีกของผู้มีอำนาจอยู่ในจุดที่ปรอทใกล้แตก ซึ่งคนที่จะมาช่วยสถานการณ์นี้ได้คือคนเสื้อแดงที่จะเข้าไปเป็นเหยื่อให้เขา”




ไม่มีใครเป็นเจ้าของ นปช.

ในฐานะประธาน นปช. เขายืนยันหนักแน่นว่า แกนนำหลักๆ วันนี้คุยกันตลอดแต่ไม่เป็นทางการเท่านั้น โดยทุกคนยังอยู่กันเหนียวแน่นครบถ้วน ไม่มีเปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาเคยได้เตือนทุกคนว่า คำว่าแกนนำเป็นคำสมมติ วันหนึ่งถ้าทรยศต่อประชาชน ทรยศต่ออุดมการณ์วีรชน ก็จะไม่มีประชาชนตาม เพราะที่เขายกให้เป็นแกนนำนั้นไม่ใช่เพราะติดที่ รูป รส กลิ่น เสียง แต่เขายึดติดที่แนวทาง การต่อสู้ จุดยืน อุดมการณ์

“ระยะเวลาจะคัดกรองบุคคลที่อดทนแข็งแรงขึ้นมา ระหว่างทางทุกฝ่ายมีปัญหากันหมดไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม จุดที่จะรักษาได้ยาวนานคือจุดยืนที่มั่นคงไม่ไหวเอน ถ้ากระบวนการฝ่ายประชาธิปไตยตามตำราพิชัยสงครามที่ว่า รู้เขารู้เรา วันนี้อย่าว่าแต่รู้เขาเลย ถ้ายังไม่รู้เรา รบร้อยครั้งก็แพ้ร้อยครั้ง

...วันนี้ผมจะไม่พูดว่าคนเสื้อแดงแตกหรือไม่แตก แต่องค์การนี้ยืนหยัดกันมาแบบนี้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของกระบวนการต่อสู้นี้ เราอยู่ท่ามกลางความแตกต่างกันได้แต่มีแนวทางชัดเจน ผมไม่สนใจว่าใครมาโพสต์เห็นต่าง แล้วกระบวนการคนเสื้อแดงจะแตกคอ หลักคือเมื่อทัพใหญ่มีมติตัดสินใจอย่างไรเราจะเดินตามนั้น แม้ว่าบางคนจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม เชื่อว่าทุกองค์กรก็เป็นแบบนี้ นี่คือโลกแห่งความเป็นจริง”

กับคำถามสุดท้ายที่ว่าการที่คนเสื้อแดงสงบนิ่งเพราะอ่อนกำลังจริงหรือไม่ ประธาน นปช. กล่าวปฏิเสธทันทีว่า ไม่จริง แต่ความจริงคือตั้งแต่แรกมีคนกล่าวหาว่าเราว่าจ้างคนมาต่อสู้ จ้างคนมาตาย บอกได้เลยว่าไม่มีใครจ้างใครให้มาตายได้ และส่วนตัวก็เป็นลูกชาวบ้านไม่มีเงินตรา อำนาจ หรือความรู้มากมาย แต่เรามีสมบัติชิ้นเดียวคือ ความซื่อสัตย์ต่อประชาชนในการต่อสู้

“ผมจะไม่ยอมเสียสิ่งนี้ไป และต้องไม่มีหน้าที่ตามใจใคร เพียงแต่จะต้องสุขุมและรักษากระบวนการประชาชนนี้ ไม่ให้เกิดความเพลี่ยงพล้ำ แม้ที่ผ่านมาเราถูกลากเข้าไปในศึกที่เขาไม่ได้กำหนดอะไรเลย สู้อย่างไรก็ไม่มีโอกาสชนะ แต่ตลอดระยะเวลา ประชาชนเข้าใจ ยกเว้นแต่คนที่ไม่เคยเข้าใจ เขาก็จะไม่เข้าใจ” ประธาน นปช. กล่าวทิ้งท้าย



ฟันธงไร้ประชามติ ร่างรธน.ฉบับ "มีชัย" จะไม่ได้ใช้

จากที่เคยฟันธงล่วงหน้าว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะถูกคว่ำในชั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และผลสุดท้ายออกมาดังที่วิเคราะห์ไว้แบบไม่ผิดเพี้ยน รอบนี้ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ฟันธงอีกครั้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ จะต้องสะดุดก่อนถึงขั้นลงประชามติ ที่สำคัญเขาเชื่อว่ามีพิมพ์เขียวไว้ล่วงหน้าเรียบร้อย

“ผมเป็นคนพูดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์จะไม่ได้ใช้ เป็นคนบอกก่อนสองอาทิตย์ด้วยซ้ำว่า สปช.จะเป็นคนคว่ำเอง มาครั้งนี้ก็เหมือนกัน รัฐธรรมนูญของอาจารย์มีชัยจะไม่ได้ใช้ ไม่ได้ทำประชามติด้วย”

ทั้งนี้ จากการเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 ทั้ง 10 วงเล็บ ก็อธิบายหน้าตาว่าที่รัฐธรรมนูญได้แล้วว่าจะออกมาอย่างไร คนระดับอาจารย์มีชัย แกเซียนกว่า วิษณุ เครืองาม เซียนกว่า บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อาจารย์มีชัยตัวพ่อ วิษณุตัวลูก บวรศักดิ์ตัวหลาน เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์มีชัยนั้นเสร็จแล้ว เหมือนฉบับบวรศักดิ์เสร็จมาก่อน ตอนพิจารณาเรียกคนไปแสดงความคิดเห็น แต่ก็ไม่เอาของเขาสักข้อ ฟังเป็นเพียงพิธีการ

“แต่อาจารย์มีชัยแนบเนียนกว่า จุดประเด็นเรื่องโกงๆๆๆ คนก็มาอยู่ประเด็นเรื่องโกงๆๆๆ พอสักพักก็มาพุ่งรูปแบบการเลือกตั้ง เหมือนผมเจอแกปี 2534 เอามาตรา 27 เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้หัวหน้า รสช.ยังใช้อำนาจอยู่ได้เหมือนมาตร 44 ผมก็ฟัดจนกระทั่งแกขอนัดเจอที่ทำเนียบรัฐบาล ท้ายที่สุด คุณมีชัยก็ยอมถอยมาตรา 27 เราก็ดีใจชนะแล้ว แต่เป้าที่แท้จริงอยู่ที่นายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นคุณมีชัยนี่เซียนที่สุด ซือแป๋เรียกอาจารย์ ฉะนั้นถ้าคุณมีชัยแสดงอาการมาทางซ้าย ผมจะไปรอทางขวา”

จตุพร อธิบายว่า ที่มองว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน เพราะเหตุการณ์บ้านเมือง ปีหน้าเราจะเจอภัยแล้งอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ขณะที่อียูยังไม่แจกใบแดง อเมริกายังไม่คว่ำบาตรเรื่องเทียร์ 3 ห้องเย็น ร้านอาหารซีฟู้ดค่อยๆ ทยอยปิดตัว ชาวสวนยางอย่างไรก็แก้ไม่ได้ ข้าวราคาต่ำ ยังไม่เห็นแสงสว่างเมื่อมารวมกับประเด็นต่างๆ ที่ขัดหลักการประชาธิปไตย ทั้งนายกฯคนนอก คปป. ที่มา สว. องค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากประชาชน  มันจะกลายเป็นแรงบวก 

ทั้งนี้ ในปี 2540 ยังเป็นการล้มบนฟูก แต่ปี 2558-2559 ทั้งล้มบนฟูก ทั้งหล่นใส่รากหญ้า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เคยทำสำเร็จ ในวันที่นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำประเทศแม้เอาเรื่องเดียวกันมาทำในวันนี้ก็ทำไม่ได้ เพราะสภาพบรรยากาศหลักภูมิศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ ทางการเมืองไม่เหมือนกัน ลากไปไม่ไหว ยิ่งเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ค่อยๆ โผล่มา ถ้ามันผ่านได้คงผ่านตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ไปแล้ว

“ใครจะคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์จะถูกคว่ำ อาจารย์บวรศักดิ์ยังไม่เชื่อเลย ตอนจั่วหัวมาไหว้สิ่งศักดิ์ประเทศไทย ร่างเสร็จไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เมียนมา แต่เพราะไม่ได้เขียนตามสิ่งที่รับปากไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของประเทศไทย คืนสุดท้ายไปทำพิธี ถึงวัดชนะสงคราม สุดท้ายใครจะนึกว่า สปช.จะคว่ำ และใครสามารถสั่งให้ สปช.คว่ำได้  แค่คิดแค่นี้ก็เป็นคำตอบแล้วประเทศไทยอะไรก็เกิดขึ้น”

จตุพร มองว่า สูตรเลือกตั้งที่คิดมาใหม่นั้นจะไม่มีผลต่อคะแนนของพรรคเพื่อไทย ยกตัวอย่างปี 2540 ระบบวันแมนวันโหวต 400 เสียง ปาร์ตี้ลิสต์ 100 เสียง รัฐธรรมนูญ 2550 แก้กลับมาเป็นพวง ปรับระบบบัญชีรายชื่อเป็น 8 เขต แต่ผลลัพธ์ไม่เปลี่ยน ต่อให้ตีลังกาออกกติกา ประชาชนไม่เลือก ก็คือไม่เลือก มาครั้งนี้ก็เหมือนกัน พยายามสร้างประเด็น เช่น ใครเจอโหวตโนมากกว่าถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต ซึ่งเป็นการชี้ช่องให้เกิด
การบอยคอต

“ตอนปี 2550 ก็คิดว่าเพื่อไทยจะหายไปหลายสิบที่นั่ง  ตอนที่เอาระบบเยอรมันมาใช้ ก็เข้าใจว่าจะหายไปหลายสิบที่นั่ง แต่ท้ายที่สุดประชาชนเขาจะคิดแก้เกมของเขาเอง ซึ่งไม่ยาก” 

ประธาน นปช. เห็นว่า เรื่องปรองดองนั้นที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่การระดมความคิดเห็นเท่านั้น ฟังเสร็จก็หายไป กลายเป็นเวทีเล่าสู่กันฟัง ปรับทุกข์ พูดแล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน การปรองดองจะต้องเริ่มจากจิตใจที่กว้าง รู้จักอภัยให้กัน ที่พูดนี่ไม่ได้ต้องการนิรโทษกรรมหรืออะไร แต่ในส่วนของประชาชน ทุกฝ่ายเขาควรได้รับอิสรภาพ ส่วนแกนนำให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม 

“วันนี้ความจริงไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องความเห็นต่าง วันนี้ นปช. กับ กปปส. ก็ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกัน แค่มีความเห็นที่แตกต่างกัน ผมกับคุณสุเทพเจอกันก็พูดกันเป็นปกติ ใครจะเชื่อทางการเมืองอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหา ยิ่งพันธมิตรฯ ยกเว้น สนธิ ลิ้มทองกุล คนเดียวที่เหลือสนิทกับผมหมด พูดง่ายๆ คือ ไม่มีเรื่องส่วนตัวกันเลย เพียงแต่ความเชื่อทางการเมืองต่างกัน”


ถามว่าหลังจากสงบมานาน ในอนาคตมีโอกาสที่ นปช.จะระดมมวลชนออกมาเคลื่อนไหว หรือรอเลือกตั้งอย่างเดียวหรือไม่ ประธาน นปช. กล่าวทันทีว่า ไม่เคยคิดเรื่องการเลือกตั้ง ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วบ้านเมืองจะดีขึ้น เราจะต้องมองว่าทำอย่างไรให้ไปสู่ประชาธิปไตย แบบที่อารยประเทศเขาใช้กัน คือ อำนาจเป็นของประชาชน 

“คำว่าประชาธิปไตยแบบไทย ก็คือคำว่า เผด็จการแบบสากล มันต้องทำให้เป็นปะชาธิปไตยแบบสากลอย่างแท้จริง”

จตุพร อธิบายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ตามที่ประกาศโรดแมป หรือจะอยู่เป็นชาติก็อยู่ไป แต่วันที่คืนอำนาจ ต้องคืนให้ครบ ถ้าคืนมาไม่ครบอย่านำมาคืน และส่วนตัวปฏิเสธชัดว่า ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็จะไม่ลงเลือกตั้ง จุดยืนชัดเจน ถ้าเริ่มต้นนับหนึ่งประเทศไทย แล้วไม่เป็นประชาธิปไตย โดยอำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ก็ไม่ควรจะเลือกตั้ง

“เตือนบรรดานักเลือกตั้งทั้งหลายอย่ารีบ ถ้าเลือกตั้งไม่สนใจ กติกา วันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่ พล.ประยุทธ์ บอกว่าเป็นครั้งสุดท้าย ผมไม่เชื่อ แต่จะพาไปสู่ครั้งต่อไปและนำพาประเทศไปสู่วิกฤตที่หนักมากกว่านี้ เราต้องเลิกหลักคิดความมักง่ายแบบนักเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นผมไม่สนใจว่าเลือกตั้งเมื่อไหร่ แต่จะทำให้ประชาธิปไตยเท่าไหร่ พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่เป็นชาติก็ช่าง พล.อ.ประยุทธ์ ไป แต่วันใดที่จะคืนอำนาจต้องคืนให้ครบ จะขออยู่ต่อชาติหน้าก็อยู่ไป ไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้าอะไรเลย ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่ว่าใครจะอยู่นานได้” จตุพร กล่าวทิ้งท้าย