วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2567

“จุลพงศ์” แถลง ผิดหวังต่อวิสัยทัศน์นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล

 


“จุลพงศ์” แถลง ผิดหวังต่อวิสัยทัศน์นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล


วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.พรรคประชาชน แถลงข่าวเกี่ยวกับวิสัยทัศน์นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาล ทั้งนี้ ตามที่ตนได้ฟังและติดตามข่าวการแถลงวิสัยทัศน์นโยบายการต่างประเทศของ รมว.การต่างประเทศนั้น ในฐานะที่ตนเป็นรองประธานคณะ กมธ.การต่างประเทศ คนที่หนึ่ง ขอแสดงความเห็นส่วนตัวที่ผิดหวังต่อคำแถลงของรัฐมนตรี เพราะ 10 กว่าเรื่องที่แถลงนั้น ควรจะเป็นพันธกิจมากกว่าเป็นวิสัยทัศน์ เพราะพันธกิจเป็นเรื่องของฝ่ายปฏิบัติงานหรือข้าราชการประจำที่ต้องทำอยู่แล้ว โดยสิ่งที่ตนเรียกว่าพันธกิจใน 10 กว่าเรื่องที่รัฐมนตรีแถลงนั้น ตนขอยกมาแสดงความเห็น 4 เรื่อง ดังนี้


1. รัฐมนตรีขึ้นต้นการแสดงวิสัยทัศน์ว่า ประเทศไทยได้รับการยอมรับทั้งการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้นจากผลงานของรัฐบาลชุดที่แล้ว จึงขอให้รัฐมนตรีพิสูจน์งานแรกว่านานาชาติยอมรับการเมืองของไทยมากขึ้นหรือไม่ คือผลการเสนอตัวแทนของประเทศไทยเข้าชิงตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่กำลังจะมีการลงคะแนนจากชาติสมาชิกในปลายเดือน ต.ค. นี้ ตนทราบมาว่าประเทศไทยกำลังจะหมดหวังในตำแหน่งนี้ เพราะการทำงานอย่างหนักของรัฐบาลของประเทศที่ส่งตัวแทนเข้าแข่งขันกับประเทศไทย นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกากำลังจะออกรายงานประจำปีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยใหม่ ซึ่งตนทราบมาว่า รายงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยฉบับใหม่นั้นยังไม่ดีกว่าปีก่อน เพราะเรายังมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนหลายเรื่อง เช่น ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการที่รุนแรง เป็นต้น อีกทั้งการไม่ประกาศให้ชัดเจนของรัฐบาลชุดนี้ ถึงนโยบายการจัดตั้งระเบียงสิทธิมนุษยชนตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา ที่ริเริ่มในสมัยของอดีตรมว.การต่างประเทศ คนก่อน ทำให้ไม่มีความชัดเจนในด้านการดำเนินนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในมุมมองของนานาชาติ


2. รัฐมนตรีได้แถลงนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจเชิงรุก ซึ่งตนได้ยินเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับประเทศมาเลเซีย แต่ตนไม่เห็นว่ารัฐมนตรีได้กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย อย่างไรก็ตาม หากจะมีการเจรจากับกัมพูชาในเรื่องนี้ ตนหวังว่ารัฐมนตรีจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนคนไทยเป็นสำคัญ


3. การที่รัฐมนตรีกล่าวว่าการบริหารจัดการแม่น้ำโขงและปัญหาการเอ่อล้นของน้ำทำให้น้ำท่วมฝั่งไทยนั้น ตนเห็นว่า ไทยยังมีแม่น้ำกั้นเขตแดนกับเมียนมาคือแม่น้ำสาย การที่น้ำท่วมที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อย่างรุนแรงในปีนี้ เกิดจากการไหลบ่าของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำสาย แม่น้ำรวกที่มาบรรจบกับแม่น้ำโขง เราไม่มีระบบเตือนภัยล่วงหน้า และไม่มีข้อมูลว่าน้ำส่วนของแม่น้ำสายที่กั้นพรมแดนไทย-เมียนมา ที่มีต้นน้ำอยู่ในประเทศเมียนมานั้น จะมีการปนเปื้อนสารพิษจากการทำเหมืองแร่ในเขตประเทศเมียนมาหรือไม่ เพราะเขตพื้นที่เหนือขึ้นไปจากประเทศไทยอยู่ในเขตปกครองของชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีกองกำลังทหารรัฐบาลเมียนมาอยู่แล้ว ซึ่งการใช้การพูดคุยกับรัฐบาลทหารเมียนมาจะไม่เกิดประโยชน์เลย


4. วีซ่าร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอีก 3 - 4 ประเทศรอบ ๆ ประเทศไทย ซึ่งพันธกิจนี้ขัดกับการให้วีซ่าฟรีแก่หลายประเทศที่รัฐบาลไทยประกาศไปแล้ว ในเมื่อนักท่องเที่ยวจากกว่า 10 ประเทศ มาประเทศไทย โดยไม่ต้องมีวีซ่าแล้ว เหตุใดเขาต้องการวีซ่าเพื่อเข้าได้อีก 3 - 4 ประเทศ และปัญหาอีกประการหนึ่งคือ มาตรฐานที่แตกต่างกันของการออกวีซ่าของแต่ละประเทศที่เราจะทำวีซ่าร่วมกัน โดยบางประเทศต้องการเงินตราต่างประเทศ จึงอาจมีการผ่อนปรนการออกวีซ่ามากกว่าประเทศไทย และจะทำให้นักท่องเที่ยวที่ไม่มีคุณภาพไหลทะลักเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น และอีกประการหนึ่งคือ เหตุใดในคำแถลงของรัฐมนตรีจึงไม่มีเรื่องวีซ่าฟรีกับสหภาพยุโรปหรือวีซ่าเซงเก้น ทั้งที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดก่อนได้พูดไว้บ่อยครั้งและรัฐมนตรีกล่าวว่า จะสานต่อนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน ดังนั้น ตนจึงรู้สึกผิดหวังต่อวิสัยทัศน์นโยบายการต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐมนตรีมีความกล้าที่จะกำหนดวิสัยทัศน์การต่างประเทศของไทยให้โดดเด่นในระยะเวลา 3 ปี ต่อจากนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีเสียงดังบนเวทีโลก และหากเป็นเช่นนั้นได้ก็จะทำให้พันธกิจต่าง ๆ ที่ได้แถลงไว้ประสบความสำเร็จ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2567

เครือข่าย #conforall เพื่อรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนทุกคน ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล "ทำประชามติสองครั้ง - ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทันที"

 


เครือข่าย #conforall เพื่อรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนทุกคน ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล "ทำประชามติสองครั้ง - ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทันที"


วันที่ 19 กันยายน 2567 เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Conforall) จัดกิจกรรม “รัฐธรรมนูญใหม่ไปกันต่อ สสร. เลือกตั้ง” ที่ห้องประชุมสัมมนา B1-2 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) โดยภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมเสวนา เสียงจากภาคประชาชน-นักวิชาการ เสียงจากสมาชิกรัฐสภาต่อประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับรวมถึงการจัดทำประชามติตลอดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่รัฐบาลมีแนวทางจะจัดทำประชามติถึงสามครั้ง ได้แก่ 1) การจัดทำประชาก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2) ประชามติหลังร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ผ่านวาระสาม ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (8) และ 3) ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และแถลงจากภาคประชาชนเครือข่าย Conforall เรียกร้องให้รัฐบาลข้ามขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและเร่งเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่


ตามกฎหมายและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ไม่ได้ระบุว่าต้องทำประชามติถึงสามครั้ง ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าทำประชามติเพียงสองครั้งก็เพียงพอ หากรัฐบาลยืนยันเดินหน้าทำประชามติถึงสามครั้ง ก็จะทำให้กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ “ล่าช้า” และมีโอกาศไม่แล้วเสร็จภายในรัฐบาลเพื่อไทยที่นำโดยแพทองธาร ชินวัตร


เครือข่ายภาคประชาชน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลข้ามประชามติครั้งแรก และเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. โดยไว เพื่อให้กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า


โดยคำประกาศเครือข่าย Conforall เพื่อรัฐธรรมนูญสำหรับประชาชนทุกคน มีใจความว่า "เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่เรามีรัฐบาลใหม่นำโดยพรรคเพื่อไทย พร้อมคำมั่นสัญญาอย่างมั่นคงที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม คณะรัฐมนตรีที่นำโดยเศรษฐา ทวีสิน แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษาแนวทางการทำประชามติ ซึ่งใช้เวลาไปสามเดือน จากนั้นรัฐสภาส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความจำเป็นในการทำประชามติ ซึ่งใช้เวลาไปอีกสี่เดือน และคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วก็เสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งใช้เวลามาอีกห้าเดือนแล้ว ก็ยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งที่ทั้งสามกระบวนการทำไปพร้อมกันได้ แต่กลับถูกเลือกทำทีละอย่าง แสดงถึงความ “ไม่จริงใจ” ที่จะ “เร่ง” การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดขึ้นจริง


มาถึงเดือนกันยายน 2567 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเปลี่ยนหน้าไป และเหลือเวลาอีกเพียงสองปีแปดเดือนอายุของรัฐบาลชุดนี้ก็จะหมดลง หากเดินตามแนวทางเดิมที่จะต้องทำประชามติสามครั้ง และใช้คำถามที่ติดเงื่อนไขไม่ให้แก้ไขทุกหมวดทุกมาตรา “ไม่มีทาง” ที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะเสร็จทันมีผลบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า


หากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ต้องการจะแก้ไขความล่าช้านี้ ก็ยังพอจะ “เป็นไปได้” ที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่หนทางที่จะเป็นไปได้เหลือวิธีการเดียวเท่านั้น คือ


หนึ่ง ไม่ต้องทำประชามติครั้งแรก ที่เปลืองเวลา และไม่มีกฎหมายใดบังคับให้ทำ


สอง เริ่มกระบวนการเปิดสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. โดยทันที ซึ่งทำได้ทันที


สาม คณะรัฐมนตรีเร่งรัดกระบวนการได้โดยการเสนอร่าง “จัดตั้งสสร.” ฉบับของคณะรัฐมนตรีเอง ซึ่งทำได้ทันที


รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจมาพร้อมกับกลไกของวุฒิสภาจากการแต่งตั้งและศาลรัฐธรรมนูญจากคณะรัฐประหาร หนทางเดียวที่จะยืนหยัดถึงความเป็นรัฐบาลเพื่อประชาธิปไตย คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน เพื่อรื้อถอนกลไกที่มีปัญหาทั้งหมดเท่านั้น หากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่ได้ดำเนินการตามแนวทางนี้ภายในระยะเวลาหนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้า ก็เท่ากับท่านทราบอยู่แล้ว และ “จงใจ” ที่จะ “ไม่” พยายามจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จตามที่เคยประกาศไว้ 


ทั้งนี้ ขั้นตอนที่สองและสามที่จะเริ่มการ “จัดตั้งสสร.” ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่สามารถเริ่มต้นโดยประชาชนได้ หากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่ริเริ่มด้วยตัวเอง เราอาจต้องเข้าชื่อของประชาชน 50,000 ชื่อเพื่อเสนอกระบวนการที่เป็นไปได้นี้ด้วยมือของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง"


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชามติ #รัฐธรรมนูญใหม่ #เขียนรัฐธรรมนูญ

“สุชาติ สวัสดิ์ศรี” แถลงสู้คดี หลังถูกแจ้งข้อหา ม.116 กรณีกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน กล่าวหาไกลถึงพัทลุง เหตุแชร์คลิป iLaw ด้านทนาย เตรียมยื่นหนังสือถึง ผบ. ตร. ให้โอนคดีมาส่วนกลาง-เรียกร้องอัยการควรมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง


สุชาติ สวัสดิ์ศรี” แถลงสู้คดี หลังถูกแจ้งข้อหา ม.116 กรณีกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน กล่าวหาไกลถึงพัทลุง เหตุแชร์คลิป iLaw ด้านทนาย เตรียมยื่นหนังสือถึง ผบ. ตร. ให้โอนคดีมาส่วนกลาง-เรียกร้องอัยการควรมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

 

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2567 เวลา 14.00 น. ที่ห้อง 221 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ “สิงห์สนามหลวง” บรรณาธิการ-นักคิดนักเขียน-อดีตศิลปินแห่งชาติ พร้อมทีมทนายความ แถลงข่าวถึงกรณีถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่สถานีตำรวจภูธรศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง หลังจากสมาชิกของกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันไปแจ้งความกล่าวหาไว้ และสุชาติเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2567 สุชาติได้รับหมายเรียกจาก สภ.ศรีนครินทร์ ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในคดีที่มี ทรงชัย เนียมหอม จากกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา โดยกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้ ทำการแจ้งความดำเนินคดีประชาชนจำนวนมากที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ในสถานีตำรวจต่าง ๆ หลายจังหวัด

 

หมายเรียกดังกล่าวออกโดย ร.ต.อ.มานพ สุวรรณมณี รองสารวัตรสอบสวน สภ.ศรีนครินทร์ โดยระบุว่าเป็นหมายเรียกครั้งที่ 3 แต่สุชาติยังไม่เคยได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 และ 2 มาก่อนแต่อย่างใด ต่อมาทนายความได้ประสานขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน จนเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา สุชาติ สวัสดิ์ศรี พร้อมทนายความและผู้ไว้วางใจ ได้เดินทางไปยังจังหวัดพัทลุง เพื่อพบพนักงานสอบสวนผู้ออกหมายเรียกดังกล่าว

 

ต่อมาพบว่าเหตุที่ถูกกล่าวหานั้น ทรงชัยได้ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2565 โดยนำโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นการแชร์คลิปวิดีโอจากเพจ iLaw ในเรื่อง “10 ข้อที่คนไม่รู้เกี่ยวกับ #มาตรา112มากล่าวหา และผู้แชร์ข้อความเพียงแต่เขียนข้อความประกอบว่า “ทำไมจึงต้องยกเลิก ม.112 เราจะเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนเรื่อง ‘ยกเลิก ม.112’ #ปล่อยเพื่อนเรา

 

สุชาติถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (1) และ (2) กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กําลังข่มขืนใจ หรือใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อ ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) และ (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ หรือโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

 

สุชาติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อไป

 #UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ม116




“ประเสริฐ” เปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์ “พายุโซนร้อนซูลิก” เพิ่มประสิทธิภาพรับมือภัยธรรมชาติ “อุตุนิยมวิทยา” คาด “19-20 ก.ย.” เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม จากนั้นอ่อนกำลังลง ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 19-23 ก.ย. ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในทุกภาค ส่วน “ภาคใต้” อาจมีฝนตกหนักและคลื่นลมแรง

 


“ประเสริฐ” เปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์ “พายุโซนร้อนซูลิก” เพิ่มประสิทธิภาพรับมือภัยธรรมชาติ “อุตุนิยมวิทยา” คาด “19-20 ก.ย.” เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม จากนั้นอ่อนกำลังลง ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 19-23 ก.ย. ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในทุกภาค ส่วน “ภาคใต้” อาจมีฝนตกหนักและคลื่นลมแรง


วันที่ 19 กันยายน 2567 นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อนซูลิก ณ ห้องปฏิบัติการพยากรณ์อากาศ ชั้น 11 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา โดยมีนางสาวกรรวี  สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์  เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายบริหาร, นาวาตรี สมนึก  สุขวณิช รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายปฏิบัติการ ร่วมกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาภูมิภาค ทั้ง 5 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก จังหวัดสงขลา และศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก จังหวัดภูเก็ต  เพื่อรายงานสภาพอากาศในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบและเตรียมพร้อมรายงานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที 


นายประเสริฐ กล่าวว่า การทำงานของศูนย์อำนวยการฯ จะมีการ Conference กับสถานีอุตุนิยมวิทยาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ร่วมกันประเมินสถานการณ์ของพายุ เพื่อจะได้ข้อมูลช่วยในการประเมินสถานการณ์ให้มีความแม่นยำมากขึ้น


นายประเสริฐ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 312/2567 แต่งตั้งคณะกรรมคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย ชุดแรก เป็นคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.)  พร้อมทั้งจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นหน่วยบัญชาการหลักในการประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


ด้าน นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้จับตาพายุลูกนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ได้ออกประกาศฉบับแรกแจ้งให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง พื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม ทั้งนี้ การเคลื่อนที่ของพายุดีเปรสชัน เมื่อเวลา 04.00 น.วันนี้ (19 กันยายน 2567)  พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 19-20 กันยายน 2567 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ประกอบกับร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 19-23 กันยายน 2567 และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมแรงในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พายุโซนร้อนซูลิก




“ณัฐพงษ์” กระทุ้งรัฐบาลออก 10 มาตรการเร่งด่วนหลังน้ำลด อัดฉีดเงินเยียวยาให้ผู้ประสบภัย-ธุรกิจฟื้นตัวโดยเร็ว พร้อมแนะมาตรการเชิงรุกปรับปรุงระบบเตือนภัย เตรียมรับมือพายุลูกใหม่ที่กำลังพัดเข้าไทย

 


ณัฐพงษ์” กระทุ้งรัฐบาลออก 10 มาตรการเร่งด่วนหลังน้ำลด อัดฉีดเงินเยียวยาให้ผู้ประสบภัย-ธุรกิจฟื้นตัวโดยเร็ว พร้อมแนะมาตรการเชิงรุกปรับปรุงระบบเตือนภัย เตรียมรับมือพายุลูกใหม่ที่กำลังพัดเข้าไทย

 

วันที่ 19 กันยายน 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงมาตรการฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน

 

ณัฐพงษ์เริ่มต้นกระทู้ถามสดโดยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 14-15 กันยายนที่ผ่านมา ตนและ สส.พรรคประชาชนได้ลงพื้นที่ไปยังอำเภอเมืองและอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ให้กำลังใจพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด รวมถึงยังได้รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะที่ต้องการส่งไปถึงรัฐบาล ซึ่งประเด็นหลักที่พบคือ น้ำท่วมคือภัยที่ส่งผลกระทบทั้งต่อชีวิตและการเงิน เพราะนอกจากบ้านเรือนจะเสียหาย ส่งผลให้ชีวิตประจำวันยากลำบากแล้ว การค้าขายและธุรกิจก็พังเสียหายยับเยินไปด้วย ในขณะที่รายจ่ายและหนี้สินยังคงเดินหน้าทุกวัน นี่คือสิ่งที่ประชาชนผู้ประสบภัยกำลังทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง แม้ว่าน้ำจะลดลงไปแล้ว

 

ณัฐพงษ์มองว่า การรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมประกอบไปด้วย 2 ช่วง โดยช่วงแรก “ก่อนภัยมา” สิ่งที่ต้องทำคือการลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด ป้องกันความสูญเสียให้มากที่สุด ส่วนช่วงที่สอง “หลังภัยมา” สิ่งที่ต้องทำคือการช่วยเหลือ-เยียวยาให้เร็วและทั่วถึงที่สุด รวมถึงการซ่อมแซม-ฟื้นฟูให้วิถีชีวิตกลับมาเป็นปกติสุขโดยเร็วที่สุด

 

โจทย์ข้างต้นสามารถแปลงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการได้ 3 ข้อคือ 1. “ลดความเสี่ยง” ด้วยการบริหารจัดการน้ำฝน น้ำท่า และน้ำที่ข้ามพรมแดนมาจากต่างประเทศ 2. “ลดความสูญเสีย” ด้วยระบบการแจ้งเตือนภัย ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านการบูรณาการข้อมูลและวางระบบเทคโนโลยีการแจ้งเตือนภัย 3. “ช่วยเหลือ เยียวยา ซ่อมแซม ฟื้นฟู” ด้วยการบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติและการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม ณัฐพงษ์กล่าวว่า จากสถานการณ์เฉพาะหน้าหลังน้ำลด สิ่งที่ประชาชนผู้ประสบภัยต้องการให้รัฐบาลจัดการมากที่สุดในขณะนี้ คือการช่วยเหลือเยียวยาและซ่อมแซมฟื้นฟู โดยมี 10 มาตรการที่รัฐบาลควรทำเร่งด่วน ซึ่งบางมาตรการรัฐบาลได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ยังมีปัญหาอยู่หลายจุดที่ตนขอให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้

 

1. การจัดตั้งศูนย์กลางประสานความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีรองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน

 

2. การยกเว้นค่าน้ำ-ค่าไฟในเดือนกันยายน และลดราคา 30% ในเดือนตุลาคม ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเพียงพอหรือไม่ น้อยไปหรือไม่ รวมถึงระบบน้ำประปาที่บริหารโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยค่าน้ำประปาให้กับ อปท. ด้วยหรือไม่

 

3. เงินเยียวยาน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันมีขั้นตอนที่ยุ่งยากเกินไป เพราะกำหนดเงื่อนไขว่าต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องผ่านประชาคมหมู่บ้าน และต้องผ่านคณะกรรมการภัยพิบัติระดับอำเภอและจังหวัด อีกทั้งระยะเวลาดำเนินการยังกำหนดไว้ยาวนานถึง 90 วัน ตนขอเสนอว่า รัฐบาลสามารถใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) มาซ้อนทับกับข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลก (Geocoding) เพื่อให้เงินชดเชยผู้ประสบภัยโดยอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐได้เลยทันที

 

4. เงินซ่อมแซมบ้าน ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายให้หลังละ 2.3 แสนบาทหากมีความเสียหายเกิน 70% ซึ่งก็เกิดคำถามว่า 70% นั้นวัดจากอะไร มีรายละเอียดอะไรบ้างก็ไม่ชัดเจน ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรให้เงินซ่อมแซม 10,000 บาททันทีสำหรับบ้านทุกหลังที่ประสบภัย จากนั้นเมื่อสำรวจและประเมินความเสียหายเสร็จสิ้นก็ค่อยจ่ายส่วนต่างที่เหลือตามมา

 

5. การพักชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันธนาคารรัฐจะพักชำระหนี้ให้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนธนาคารเอกชนพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรเจรจาให้ธนาคารเอกชนพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเช่นเดียวกับธนาคารรัฐ

 

6. เงินเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าวที่ปัจจุบันรัฐบาลชดเชยไร่ละ 1,340 บาท ซึ่งเกษตรกรสะท้อนว่าไม่เพียงพอ เพราะต้นทุนที่เสียหายจริงสูงกว่าที่รัฐบาลประเมินถึง 4 เท่า ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรเพิ่มอัตราเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรมตามต้นทุนการผลิตจริง

 

7. งบประมาณซ่อมแซมถนนและทรัพย์สินราชการ รัฐบาลอนุมัติงบกลาง 5.3 พันล้านบาทให้เฉพาะกรมชลประทาน กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทเท่านั้น ตนขอเสนอว่า รัฐบาลควรอนุมัติงบประมาณให้ อปท. เพิ่มเติมด้วย เพื่อซ่อมแซมถนน ไฟส่องสว่าง โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอื่นๆ

 

8. การอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ ตนขอเสนอให้รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้ อปท. มีกำลังในการออกนโยบายฟื้นฟูเยียวยาประชาชนอย่างเต็มที่มากขึ้น

 

9. การกระตุ้นการท่องเที่ยว ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ โดยเดิมรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท ตนขอเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว “เมืองน้ำลด” ลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมอีก 15,000 บาท รวมเป็น 30,000 บาท

 

10. การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการ ปัจจุบันยังไม่มีมาตรการ ตนขอเสนอว่ารัฐบาลควรให้สินเชื่อดอกเบี้ย 0% เพื่อให้ประชาชนนำมาเร่งฟื้นฟูกิจการธุรกิจร้านค้าโดยเร็ว

 

ณัฐพงษ์กล่าวต่อไปว่า นอกจากมาตรการเร่งด่วนเฉพาะหน้าแล้ว จากสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังจะมีพายุลูกใหม่พัดเข้าประเทศไทยในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ทำให้ภาคเหนือและภาคอีสานมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมซ้ำอีกระลอก ดังนั้น โจทย์สำคัญของการรับมือภัยพิบัติในระยะกลางและระยะยาว คือการลดความเสี่ยงและป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

 

โดยในส่วนของการลดความเสี่ยง สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือแผนที่เสี่ยงภัยและระบบคาดการณ์น้ำท่วม ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลด้านน้ำทั้งระบบ ไม่ว่าจะน้ำฝนหรือน้ำท่า โดยต้องมีการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบชลมาตรหรือเครื่องมือวัดระดับน้ำที่ครอบคลุมและทั่วถึง ส่วนน้ำจากต่างประเทศ เช่น น้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนจิ่งหงในประเทศจีน รัฐบาลต้องหารือในระดับพหุภาคีระหว่างประเทศเพื่อบูรณาการข้อมูลน้ำร่วมกัน

 

นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายจัดทำข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลก (Geocoding) เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง โดยในหลายประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ได้มีการเปิดเผยข้อมูลพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลกเป็นสาธารณะแล้ว รัฐบาลไทยจึงควรสั่งการหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีข้อมูลนี้อยู่ ทั้งการไฟฟ้า การประปา และไปรษณีย์ไทย ให้เปิดเผยเป็นข้อมูลเปิด (Open Data) ตามมาตรฐานสากล

 

ส่วนการป้องกันความสูญเสีย สิ่งที่ต้องทำคือระบบแจ้งเตือนภัยและแผนเผชิญเหตุ แต่ระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ (Cell Braodcast) ที่รัฐบาลให้ข่าวเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วว่าขอเวลา 1 ปีจะใช้งานได้ ปัจจุบันก็ยังใช้งานไม่ได้จริง เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ขณะที่หอเตือนภัยในพื้นที่ต่างๆ ก็แทบไม่เคยมีการใช้งาน ไม่มีการทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์ เห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่อำเภอแม่สายที่ไม่มีการแจ้งเตือนผ่านหอเตือนภัยแต่อย่างใด รวมถึงแผนเผชิญเหตุซึ่งมีอยู่แล้วในทุกจังหวัด แต่กลับไม่เคยถูกซักซ้อม เจ้าหน้าที่และประชาชนไม่รู้วิธีปฏิบัติ อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ก็ไม่พร้อม เมื่อเป็นเช่นนี้ หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีกในอนาคต ประชาชนก็จะยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงอันตรายเช่นเดิม

 

จากแผนเผชิญเหตุที่มีอยู่แล้วทั้งประเทศ ตอนนี้มีคำสั่งจากท่านนายกฯ หรือมีแนวนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลหรือยัง ที่จะหยิบแผนเผชิญเหตุเหล่านี้มาซักซ้อม เพื่อให้ทั้งคนและเครื่องมือมีความพร้อมก่อนที่พายุลูกใหม่จะเข้ามา จนอาจเกิดเหตุภัยพิบัติอื่นๆ อีกในอนาคต” ณัฐพงษ์กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน

พี่สาว"วันเฉลิม"ร้องกมธ. มั่นคงฯ ถูกคุกคาม-ขึ้นบัญชีดำ ถามผู้หญิงคนหนึ่งที่ตามหาน้องชาย เป็นภัยความมั่นคงได้อย่างไร โรมรับเรื่อง เตรียมเอาเข้าที่ประชุม กมธ.ต่อไป

 


พี่สาว"วันเฉลิม"ร้องกมธ. มั่นคงฯ ถูกคุกคาม-ขึ้นบัญชีดำ ถามผู้หญิงคนหนึ่งที่ตามหาน้องชาย เป็นภัยความมั่นคงได้อย่างไร โรมรับเรื่อง เตรียมเอาเข้าที่ประชุม กมธ.ต่อไป


วันที่ 18 กันยายน 2567 เวลา 13.15 น. ณ จุดรับยืนหนังสือ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และคณะ รับยื่นหนังสือจากน.ส. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เรื่อง ขอให้ตรวจสอบกรณีถูกคุกคาม ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ สืบเนื่องจากกรณี เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 63 นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกลักพาตัวบริเวณแม่โขง การ์เดน คอนโดมิเนียม กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งก่อนการถูกบังคับให้สูญหาย นายวันเฉลิมเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทย และได้ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่กรุงพนมเปญ หลังการรัฐประหารในปี 2557 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมานับแต่นายวันเฉลิมถูกบังคับให้สูญหาย


ซึ่งน.ส. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม และตามหานายวันเฉลิมมาโดยตลอด แต่ปรากฏว่าในระหว่างการออกมาเรียกร้องนั้นกลับถูกติดตาม คุกคาม ข่มขู่ และปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการตามหาน้องชาย จึงขอให้ประธานคณะ กมธ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและค้นหาความจริงที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการติดตามคุกคาม ปิดกั้นการจัดกิจกรรมเกี่ยวกันนายวันเฉลิมมากกว่า 3 ครั้ง ที่มาในรูปแบบเจ้าหน้าที่ปิดล้อม จำกัดสิทธิ เสรีภาพ และห้ามจัดแสดงงานรำลึกของนายวันเฉลิมในวันผู้สูญหายสากล เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 จึงตั้งคำถามว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่ตามหาน้องชาย ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นภัยความมั่นคงได้อย่างไร


ทางด้านนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะทนายความที่ติดตามคดีมาตั้งแต่ต้น ระบุว่าในฐานะนักสิทธิมนุษยชนมักจะถูกติดตามและคุกคามเป็นประจำ กรณีของนางสาวสิตานันผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ถือว่ายังเป็นผู้เสียหายที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้กับทุกคน


"เรามาเรียกร้องเรื่องความปลอดภัยของนักสิทธิมนุษยชนและทนายความที่ไม่สมควรถูกขึ้นบัญชีดำ เราอยากให้ทุกคนปลอดภัย การขึ้นบัญชีดำในรัฐบาลทหารเป็นการยอมรับโดยประเพณี แต่ขณะนี้มีรัฐบาลจากประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง การขึ้นบัญชีดำจึงถือเป็นความไม่ชอบธรรมและไม่อาจกระทำได้ ขณะที่ในวันผู้สูญหายสากล พวกเราถูกคุกคามโดยสั่งให้ผู้เป็นเจ้าของสถานที่ยุติการแสดงความคิดเห็นบางกรณี สั่งปลดรูปลงและไม่ให้เปิดตัวหนังสือของนางสาวสิตานั้นที่ได้เขียนบันทึกไว้จึงตั้งคำถามว่ามีผู้ส่วนเกี่ยวข้องไม่ต้องการให้เปิดตัวหนังสือนี้ใช่หรือไม่" นางสาวพรเพ็ญกล่าว


ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพเป็นหัวใจสำคัญของการเมืองการปกครอง เป็นเรื่องใหญ่เพราะการที่ทำให้บุคคลคนหนึ่งเป็นภัยต่อรัฐ ซึ่งจากเอกสารหลักฐานมีความน่าเชื่อถือ หากพิจารณาจากพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 วัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ คือ ต้องสร้างความกระจ่างชัดเจนให้เกิดขึ้นเพราะวิธีการในการที่จะป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานที่ดีที่สุดคือ การทำให้คนที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะ กมธ. ต่อไป


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธความมั่นคง #ต้าร์วันเฉลิม #วันเฉลิมสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ #ถูกบังคับให้สูญหาย #ผู้ลี้ภัยการเมือง




วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2567

อัยการสูงสุด​ สั่งฟ้อง​ 8​ ผู้ต้องหาคดีตากใบ​ เร่งตร.ตามตัวแจ้งข้อหาให้ทันสั่งฟ้อง 25 ต.ค.ก่อนหมดอายุความ​ ปัดตอบปมใช้เวลาพิจารณานาน

 


อัยการสูงสุด​ สั่งฟ้อง​ 8​ ผู้ต้องหาคดีตากใบ​ เร่งตร.ตามตัวแจ้งข้อหาให้ทันสั่งฟ้อง 25 ต.ค.ก่อนหมดอายุความ​ ปัดตอบปมใช้เวลาพิจารณานาน


วันนี้​ (18 กันยายน 2567) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อม​นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด​ และนายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมกันแถลงข่าวคำสั่งอัยการสูงสุดคดีตากใบก่อนคดีจะหมดอายุความในวันที่ 25​ ตุลาคมนี้


นายประยุทธ​ กล่าวว่า​ ทางอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเหตุสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยได้รับทั้งสองสำนวนคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 


จากนั้น อัยการสูงสุด มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติมหลายประเด็น จนต่อมาวันที่ 12 ก.ย. อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม โดยมี พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนอีก 7 คน เป็นพลขับ ในการนำตัวผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร


โดยมีคำวินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้ง 8 คน จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียง 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมกว่าพันคน อันเป็นการแออัดเกินกว่าวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ 


ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้ง 8 คน จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งทางอัยการสูงสุด ได้มีความเห็นส่งกลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตำรวจติดตามตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 คน มารับทราบข้อหากล่าว ก่อนคดีหมดอายุความ วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ซึ่งหากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลได้ทันตามกรอบเวลา จะถือว่าคดีสิ้นสุดลง โดยขาดอายุความอายุความคดีอาญา 20 ปี


ส่วนสำนวนคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลเอง ตัวผู้ต้องหาไม่ใช่ชุดเดียวกัน มีเพียง พล.อ.เฉลิมชัย เป็นผู้ต้องหาคนเดียวที่มีชื่อตรงกันทั้งในสำนวนคดีของตำรวจและคดีของราษฎร ส่วนจะมีรวมสำนวนคดีทั้งของตำรวจและราษฎรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล สำหรับการพิจารณาในเรื่องของอายุความ ขึ้นอยู่กับที่ศาลประทับรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้แล้ว ในส่วนของสำนักงานอัยการไม่มีข้อมูล


ในสำนวนคดีของราษฎร ซึ่งมี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในผู้ต้องหานั้น ได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 และอยู่ระหว่างสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศาลได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุม รวมทั้งมีหมายเรียกและมีหนังสือด่วนที่สุดให้ พล.อ.พิศาล แจ้งว่า ศาลได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ขอให้ พล.อ.พิศาล แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้า ซึ่งศาลนัดในวันที่ 15 ต.ค.นี้


ทั้งนี้ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า การที่คดีตากใบใช้เวลาพิจารณานานมาจากเหตุผลใด แต่ยอมรับว่า เป็นครั้งแรกมีการใช้เวลาสั่งฟ้องนาน และย้ำว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ละคร


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คดีตากใบ

กมธ.กฎหมาย แถลงคืบหน้าคดีสลายชุมนุมเสื้อแดงปี 53 ที่ประชุมเห็นพ้องชงแก้ พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร "ธิดา" เชื่อเป็นจุดเริ่มต้นรื้อคดีหลังถูกบล็อคในยุครัฐประหาร ชี้ทำเพื่ออนาคตไม่ให้ประชาชนตายกลางถนนฟรี ๆ แล้วไม่มีการชำระคดี

 


กมธ.กฎหมาย แถลงคืบหน้าคดีสลายชุมนุมเสื้อแดงปี 53 ที่ประชุมเห็นพ้องชงแก้ พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร "ธิดา" เชื่อเป็นจุดเริ่มต้นรื้อคดีหลังถูกบล็อคในยุครัฐประหาร ชี้ทำเพื่ออนาคตไม่ให้ประชาชนตายกลางถนนฟรี ๆ แล้วไม่มีการชำระคดี


วันนี้ (18 ก.ย. 67) เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน แถลงเปิดเผยผลการประชุม กมธ.ว่า วันนี้มีการพิจารณากรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ​(นปช.) คนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นการรับเรื่องต่อมาจากกรณีที่ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. ยื่นหนังสือถึงนายชัยธวัช ตุลาธน อดีตผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว


โดย กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานอัยการ เข้าชี้แจง รวมถึงเชิญ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ปัจจุบันเลขาธิการกรรมการคณะประชาชนทวงความยุติธรรม เข้าให้ข้อมูล


น.ส.ชลธิชา กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ที่ประชุมมีวาระการพิจารณา ได้แก่


1. ทวงถามความคืบหน้าการไต่สวน และการชันสูตรพลิกศพ ที่ยังไม่ได้รับความชัดเจน


2. กมธ.ได้เชิญตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองมาหารือ ซึ่งมีประเด็นที่เห็นตรงกัน คือเสนอหลักการให้มีการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร เพื่อให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทำได้อย่างลุล่วง


3. กมธ.จะเรียกเอกสารและสำนวนคดีทั้งหมด ทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ ดีเอสไอ กลับคืนมา เพื่อส่งมอบต่อให้กับทนายความ และญาติผู้เสียชีวิต


ด้าน อ.ธิดา กล่าวว่า ตนและคณะประชาชนทวงความยุติธรรม รวมทั้งญาติวีรชน และทนาย ต้องขอบคุณ กมธ.และพรรคประชาชนที่ได้ร่วมกันนำเสนอทำให้เกิดจุดของการที่จะเริ่มต้นทวงความยุติธรรมอย่างเป็นทางการจริง ๆ เราไม่รู้ว่ามันจะได้ผลแค่ไหน แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยเราได้มอบหนังสือที่มีรายละเอียดทั้งหมดของผู้สูญเสียให้ กมธ. ตัวเลขที่เราได้แจ้งให้ทราบก็คือ  มีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพและศาลวินิจฉัยว่าเป็นการตายโดยกระสุนฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 18 คน และในส่วนที่ศาลวินิจฉัยว่าไม่รู้ว่าใครทำให้ตาย 14 คน แต่อีก 60 กว่าศพไม่มีการทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งแปลว่าไม่สามารถส่งต่อขึ้นฟ้องศาลได้ อันนี้เป็นตอนต้นของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกบล็อกในยุคที่รัฐประหาร เพราะก่อนหน้านี้ได้ขับเคลื่อนมาด้วยดี ดังนั้นในที่ประชุมได้มีการขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลรายละเอียดมาเพื่อให้เราสามารถปรับปรุงข้อมูลร่วมกัน และดูว่าจะดำเนินการต่อได้อย่างไร


อ.ธิดา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในส่วนปลายทางคดีที่ได้เคลื่อนไปแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งในส่วนของนักการเมืองไปหยุดอยู่ที่ ป.ป.ช. ส่วนของทหารก็ไม่รับคำร้อง เพราะต้องส่งไปที่อัยการทหาร ดังนั้นเราหวังว่า กมธ. จะสามารถช่วยแก้เรื่องนี้ได้ เพราะความยุติธรรมเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและเป็นจุดสุดท้ายของความอดทนของประชาชน การก้าวข้ามความขัดแย้งโดยซุกปัญหาไว้ใต้พรม  คงไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง สิ่งที่เราทำทั้งหมดไม่ใช่ทำเพื่อทวงอดีต แต่เป็นการทำเพื่ออนาคตไม่ให้มีการฆ่าคนกลางถนนฟรีๆ แล้วไม่มีการชำระคดี  อย่างไรก็ตามข้อเสนอของเราที่จะนำคดีไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ยังไม่ใช่ในเวลานี้ แต่ถ้าในประเทศเราหาความยุติธรรมไม่ได้ ตนก็ต้องเดินไปถึงจุดนั้น


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กมธกฎหมาย #คปช53 #สตช #DSI #กระทรวงยุติธรรม




“รอมฎอน” เรียกร้องหน.พรรคเพื่อไทยแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง โน้มน้าว “พิศาล” ขึ้นศาลคดีตากใบ 15 ต.ค. ก่อนหมดอายุความ ชี้ประธานสภาฯ เข้าใจคลาดเคลื่อน รัฐธรรมนูญไม่คุ้มครอง สส. ที่เป็น “จำเลย” ในคดีอาญา

 


“รอมฎอน” เรียกร้องหน.พรรคเพื่อไทยแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง โน้มน้าว “พิศาล” ขึ้นศาลคดีตากใบ 15 ต.ค. ก่อนหมดอายุความ ชี้ประธานสภาฯ เข้าใจคลาดเคลื่อน รัฐธรรมนูญไม่คุ้มครอง สส. ที่เป็น “จำเลย” ในคดีอาญา 


วันที่ 17 กันยายน 2567 รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้ความเห็นถึงกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือเรียกตัวพลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีตากใบ ให้ไปขึ้นศาลจังหวัดนราธิวาส พร้อมระบุว่ากฎหมายให้การคุ้มครองสมาชิก จึงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาฯ ว่าจะอนุญาตให้ส่งตัวหรือไม่


โดยรอมฎอนกล่าวว่า หากพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 โดยเฉพาะวรรคสุดท้ายที่ระบุถึงกรณีที่มีการฟ้อง สส.ในคดีอาญา ความในมาตรานี้เปิดให้ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ โดยระบุเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกคนนั้นจะมาประชุมสภาฯ ด้วยเหตุนี้ กรณีของพลเอกพิศาลจึงไม่จำเป็นต้องขอมติที่ประชุมสภาฯ เพื่ออนุญาตให้เดินทางไปเบิกตัวที่ศาลแต่อย่างใด 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นัดของศาลครั้งต่อไปกำหนดเป็นวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่โดยปกติแล้วจะไม่มีการนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือการประชุมร่วมกันของรัฐสภา การไปปรากฎตัวที่ศาลเพื่อเบิกคำให้การในวันนั้นก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นการขัดขวางการประชุมสภาฯ แต่อย่างใด


“หากนับจากวันนัดศาลครั้งถัดไป อายุความในคดีตากใบซึ่งถือเป็นคดีอาญาแผ่นดินก็จะเหลืออีกเพียงแค่ 10 วัน การเดินทางไปศาลของพลเอกพิศาลจึงขึ้นอยู่กับสปิริตและความรับผิดชอบของตัวท่านเอง อย่างน้อยๆ ท่านก็ควรให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ตัวเอง จะเป็นการดีมากกว่าปล่อยให้คดีสำคัญนี้ขาดอายุความไป เพราะข้อกล่าวหาเหล่านี้จะติดตัวท่านไปตลอด และไม่ได้รับการพิสูจน์อีกต่อไป”


รอมฎอนกล่าวต่อไปว่า ตนเคยนำประเด็นการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้หารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมสภาฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากทราบว่าญาติของผู้เสียหายในเหตุการณ์ตากใบทำหนังสือถึงประธานสภาฯ ในวันนั้นมีการอภิปรายกันถึงแนวทางและขั้นตอนของสภาฯ ในกรณีที่มีสมาชิกตกเป็นจำเลย แต่มีความคิดเห็นที่แตกต่างและยังสับสนกันอยู่ เป็นไปได้ว่าแนวปฏิบัติที่เคยทำกันมาอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุชัดเจนว่าในกรณีที่สมาชิกเป็น “ผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน” นั้นต้องได้รับมติเห็นชอบจากสภาฯ แตกต่างจากกรณีนี้ที่สถานะคือตกเป็น “จำเลย” ในคดีที่ศาลประทับรับฟ้องแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่ลุกขึ้นอภิปรายในเวลานั้น


อย่างไรก็ดี ตนได้ทำหนังสือหารือกับสำนักกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ทำความเห็นในกรณีนี้เป็นการเฉพาะเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งระบุเงื่อนไขในกรณีนี้ว่าอายุความจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 และวันปิดสมัยประชุมอยู่ที่วันที่ 30 ตุลาคม 2567 หรือห้าวันหลังจากนั้น ในขณะเดียวกัน ศาลนราธิวาสได้กำหนดวันนัดพิจารณาคดีครั้งต่อไปในวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2567 ด้วย


รอมฎอนกล่าวด้วยว่า นอกจากการตัดสินใจไปศาลตามนัดจะเป็นการตัดสินใจของพลเอกพิศาลแล้ว คดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของประชาชนต่ออำนาจรัฐเช่นนี้คงไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางการเมืองจากพรรคเพื่อไทยและคณะผู้บริหารของพรรคเพื่อไทยไปได้ เนื่องจากจำเลยเป็นสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อของพรรค 


ตนจึงขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยให้คำแนะนำและโน้มน้าวใจให้จำเลยที่ 1 เดินทางไปที่ศาลตามวันนัด เพราะนอกจากอายุความกำลังจะสิ้นสุดแล้ว ยังเป็นการยืนยันให้ประชาชนได้เห็นเป็นประจักษ์ว่าประเทศของเรายังคงปกครองด้วยหลักนิติธรรม และประชาชนยังคงสามารถให้ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมได้ อีกทั้งยังเป็นหนทางในการต่อสู้คดีและพิสูจน์ความจริงของจำเลยด้วยเช่นกัน


“ท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่พรรคการเมืองอื่น ๆ ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะประกาศแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อจากนี้ได้อย่างไร หากอายุความของคดีตากใบต้องสิ้นสุดลงเพราะ สส.ของพรรครัฐบาลไปเบิกคำให้การไม่ทันเวลา ทั้งๆ ที่ศาลท่านประทับรับฟ้องแล้ว หลังจากนี้ประชาชนจะเชื่อมั่นต่ออำนาจรัฐและแนวทางของรัฐบาลที่กำลังจะดำเนินต่อไปได้อย่างไร” รอมฎอนทิ้งท้าย


สำหรับความคืบหน้าคดีตากใบล่าสุด ทางสำนักโฆษกสำนักอัยการสูงสุดได้นัดสื่อมวลชนเพื่อรับฟังการแถลงข่าวกรณีอัยการสูงสุดมีคำสั่งคดีตากใบในวันพรุ่งนี้ (18 กันยายน 2567) เวลา 10:00 น. ณ สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยคดีดังกล่าวทางตำรวจภูธรภาค 9 ได้รื้อฟื้นและทำสำนวนขึ้นมาใหม่ ก่อนจะส่งให้อัยการพร้อมความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา โดยเป็นคนละสำนวนกับคดีข้างต้นที่ราษฎรฟ้องและศาลนราธิวาสได้ประทับรับฟ้องไปก่อนหน้านี้ 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คดีตากใบ

วงประชุมร่วม กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ-ททบ.5 ไร้คำตอบของบการเงินย้อนหลัง 5 ปีไปตั้งแต่ ก.พ. 67 วันนี้ก็ยังไม่ได้ “ธนาธร” ชี้ใช้เวลา 5 นาทีถ่ายเอกสารก็ส่งได้-หน่วยงานอื่นส่งให้ตลอดไม่เคยมีปัญหา ถามย้ำขอคำเดียว ททบ.5 ให้ได้หรือไม่ได้

 


วงประชุมร่วม กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพฯ-ททบ.5 ไร้คำตอบของบการเงินย้อนหลัง 5 ปีไปตั้งแต่ ก.พ. 67 วันนี้ก็ยังไม่ได้ “ธนาธร” ชี้ใช้เวลา 5 นาทีถ่ายเอกสารก็ส่งได้-หน่วยงานอื่นส่งให้ตลอดไม่เคยมีปัญหา ถามย้ำขอคำเดียว ททบ.5 ให้ได้หรือไม่ได้


วันที่ 17 กันยายน 2567 ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น ได้ร่วมศึกษาดูงานการบริหารของสถานี พร้อมร่วมประชุมกับผู้บริหารและนายทหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับ ททบ.5 


โดยระหว่างการประชุมได้มีข้อซักถามจากกรรมาธิการฯ ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหาร รายได้ งบการเงิน ความจำเป็นของการอยู่ภายใต้กองทัพบก รวมถึงกรณีทรัพย์สินที่ได้มาจากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่สื่อ


ในช่วงหนึ่งของการประชุม กรรมาธิการส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมถึง เบญจา แสงจันทร์ ได้สอบถามถึงกรณีที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ได้เคยขอรายงานงบการเงินย้อนหลัง 5 ปีของ ททบ.5 ไป แต่กลับยังไม่ได้รับเอกสารหรือคำตอบกลับมาจนถึงเวลานี้ ซึ่งทางผู้แทนจาก ททบ.5 ได้ชี้แจงว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการอยู่


ทางด้านธนาธรระบุว่ารายงานงบการเงินเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องมีการจัดทำเป็นปกติทุกปีอยู่แล้ว ถ้า ททบ.5 มีความตั้งใจอยากจะส่งให้คณะกรรมาธิการฯ ก็สามารถนำมาถ่ายเอกสารส่ง หรือถ้ามีไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ก็สามารถส่งให้ได้ทันที ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ที่ผ่านมาในคณะกรรมาธิการฯ มีการขอรายงานงบการเงินจากหลายหน่วยงานด้วยกัน และได้รับความร่วมมือจัดส่งรายงานมาให้โดยตลอด ไม่เคยมีหน่วยงานไหนที่มีปัญหาแบบนี้ 


ธนาธรยังกล่าวต่อไป ว่าถ้าทาง ททบ.5 จะบอกว่าติดกระบวนการอยู่ยังไม่สามารถส่งมาได้ ตนก็ต้องขอย้ำเตือนว่าเอกสารคำขอลงวันที่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ไปแล้ว ทำให้ตนจำเป็นต้องถามว่าตกลงแล้ว กองทัพบกสามารถส่งงบการเงินของ ททบ.5 ให้กับคณะกรรมาธิการฯ ได้หรือไม่ได้ และถ้าได้จะได้เมื่อไหร่


ในส่วนของเบญจา ระบุว่าเรื่องของงบการเงินของ ททบ.5 นี้ มีการถามในคณะกรรมาธิการหลายรอบแล้ว เอกสารชุดนี้เป็นงบการเงินย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งย่อมต้องตรวจบัญชีเสร็จไปแล้ว ทางกองทัพบกเองจะส่งย้อนหลังมากกว่านั้นก็ได้ 


นอกจากนี้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการขอรายงานงบการเงินของ ททบ.5 ไป เพราะที่ผ่านมาในคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ หลายคณะตั้งแต่ปี 2562 ก็มีการขอไปเช่นกัน แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบกลับมา แม้กระทั่งผู้มาชี้แจงเองก็ไม่สามารถระบุได้ว่าจะสามารถส่งมาให้ได้หรือไม่ ตนจึงมีคำถามเช่นกัน ว่าทางกองทัพบกจะสามารถส่งเอกสารชุดนี้ให้คณะกรรมาธิการฯ เพื่อร่วมกันศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้หรือไม่


อย่างไรก็ดี ทางตัวแทนจากทั้ง ททบ.5 และกองทัพบก ได้ตอบคำถามโดยระบุว่าที่ผ่านมาการชี้แจงในคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ หลายครั้ง เนื่องจากผู้ชี้แจงไม่ได้รับมอบอำนาจมาว่าจะตัดสินใจส่งให้ได้หรือไม่ได้จึงไม่ได้มีการระบุให้ชัดเจน อย่างไรก็ตามทางกองทัพบกได้ดำเนินตามขั้นตอนตามที่เข้าไปชี้แจงในสภาฯ มาตลอด นอกจากนี้งบการเงินของ ททบ.5 ก็มีการส่งไปที่กองทัพบก มีกระบวนการการตรวจสอบและรายงานตามที่มติ ครม. กำหนดเสมอ


ทั้งนี้ หลังจากความพยายามชี้แจงเป็นเวลาหนึ่ง ทางตัวแทนจาก ททบ.5 ได้ขออนุญาตรวบรัดการประชุมให้จบลงตามกำหนด เนื่องจากมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการช่วยเหลืออุทกภัยที่ต้องไปดำเนินการต่อจากนี้ โดยไม่ได้มีการตอบอย่างเจาะจง ว่าจะสามารถส่งรายงานงบการเงินให้คณะกรรมาธิการฯ ได้หรือไม่


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กรรมาธิการ #ธุรกิจกองทัพ #กมธ




วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2567

แถลงจัดงาน 6 ตุลา ‘กระจกส่องสังคมไทย’ 48 ปี ที่การแก้ไขปัญหายังไม่สมเจตนารมณ์วีรชน ส่งจดหมายเชิญนายกฯ - รมว.กลาโหมร่วมงาน

 


แถลงจัดงาน 6 ตุลา ‘กระจกส่องสังคมไทย’ 48 ปี ที่การแก้ไขปัญหายังไม่สมเจตนารมณ์วีรชน ส่งจดหมายเชิญนายกฯ - รมว.กลาโหมร่วมงาน


เมื่อวันที่ 17 กันยายน เวลา 10.30 น. ที่ห้องจารุพงษ์ ทองสินธุ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ มีการแถลงข่าวจัดงานรำลึกครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ในชื่อ 6 ตุลาฯ ‘กระจกส่องสังคมไทย’ โดย เครือข่ายนักศึกษาจัดงานรำลึกครบรอบ 48 ปี 6 ตุลาฯ 2519 และ ชมรมโดมรวมใจ


นายสุเทพ สุริยะมงคล อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2517 กล่าวว่า งานนร้เป็นงานครบรอบ 48 ปี 6 ตุลา 2519 ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ในประเด็น 6 ตุลา กระจกส่องสังคมไทย สังคมไทยในช่วงบรรยากาศนี้ มองว่ามันมีอะไรแปลกๆ เรื่องที่เป็นข่าวเป็นประเด็นมามีหลายเรื่องที่ อยากจะพูดถึง


เรื่องแรกก็คือก่อนหน้านี้เคยมีข่าวว่า รองนายกฯท่านหนึ่ง ไปคุมกลาโหมโดนฟ้องว่า ไม่มีจริยธรรม เพราะหนีเข้าป่าไป แต่ไม่มีการพูดถึงว่าทำไมถึงต้องเข้าป่า และการเข้าป่า คนที่ทำให้เขาป่ามีจริยธรรมหรือเปล่า


เรื่องที่ 2 ที่เป็นประเด็นร้อน อาจารย์ท่านหนึ่งทำงานด้านวิชาการ วันดีคืนดี กอ.รมน. ก็ ออกมาบอกว่าเป็นหนังสือต้องห้าม ประมาณว่าในเชิงวิชาการทำไม่ถูกต้อง ทั้งที่หนังสือเล่มนี้ออกมาตั้งแต่ปี 64 แต่มาแปลเป็นภาษาไทยในปีนี้


อีกเรื่องหนึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกเหมือนกัน สังคมไทยเราจะอยู่กันอย่างไร ในเมื่อ พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง นำเสนอนโยบายและเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นที่เสนอนโยบายไปคุยในสภา แต่ก็ถูกข้อหาเซาะกร่อนบ่อนทำลาย นี่คือเรื่องที่แปลก


เหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา สังคมไทยได้รับความเสียหาย เกิดความแตกแยกกันมาก เพียงขอให้มีที่ยืนของคนคิดต่าง แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาคนที่คนรุ่นใหม่เห็นและก็ชื่นชม ให้รางวัล คนพวกนี้กลายเป็นผู้ต้องหา บางคนต้องลี้ภัยไปอยู่ที่อื่น นี่คือประเด็นที่สำคัญที่อยากจะให้สังคมไทยทบทวนว่า ทำไมคนรุ่นใหม่กับคนที่มีอำนาจในปัจจุบันนี้ ช่างคิดต่างกันเสียสิ้นดี วันนี้น้อง ๆ ที่มาร่วมงาน ก็มีทั้งสภานักศึกษาฯ ทางชมรมโดมรวมใจ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ร่วมเป็นเจ้าภาพ ในฐานะที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัย ที่ได้รับผลกระทบและมาร่วมในการจัดงานครั้งนี้


นายนัสรี พุ่มเกื้อ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนามเครือข่ายนักศึกษาจัดงานรำลึก 48 ปี 6 ตุลา โดยเนื้อหาหลักของงานที่เราต้องการจะถ่ายทอดซึ่งใช้ชื่อว่า 6 ตุลา กระจกส่องสังคมไทย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา นั้นรุนแรงมาก ผ่านมา 48 ปี เราอยากให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกระจกที่สะท้อนถึง ในช่วงตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา มีการต่อสู้มีความฝันอะไรบ้าง ทั้งในเรื่องของความเท่าเทียมความเสมอภาค ความยุติธรรม นี่คือสิ่งหนึ่งที่เราอยากให้เห็นว่า ช่วงเวลานั้นมีการต่อสู้อะไรเกิดขึ้นบ้าง และสะท้อนถึงปัญหาที่ดำเนินเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของปัญหาความอยุติธรรมเชิงโครงสร้าง เรื่องปัญหาปากท้อง และบางเรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาคมก็ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นยกตัวอย่างเช่นการเพิ่มโทษมาตรา 112 ถึงได้นำเรื่องราวเหตุการณ์ปัญหาใน 6 ตุลาคมมาเป็นกระจกสะท้อนผ่านการเสวนาผ่านการฉายภาพยนตร์ การจัดกิจกรรมต่างๆ


โดยในปีนี้จะมีการจัดกิจกรรม 2 วันคือ 5-6 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์


สำหรับกิจกรรมช่วงเช้า วันที่ 6 ตุลาคม 2567 ประกอบด้วยกิจกรรมรำลึกวีรชนผู้เสียชีวิต พิธีสงฆ์ และการวางพวงมาลาดอกไม้ไว้อาลัย, ปาฐกถาประจำปีในหัวข้อ "48 ปี 6 ตุลาคม 2519 ประจำปีการศึกษา 2567 : การสถาปนา 6 ตุลาคมในสังคมไทย โดย รศ.ดร. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล และการมอบรางวัล “จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย” และรางวัล “สิทธิมนุษยชนคนธรรมดา” 


โดยช่วงเที่ยงจะมีการกล่าวรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และแสดงความอาลัยต่อวีรชนที่หอประชุมศรีบูรพา รวมถึงการเสวนา"คนเดือนตุลาหลังเดือนตุลา : การเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ทางการเมืองของคนเดือนตุลาหลังทศวรรษ 2520" และวงเสวนาจาก 21 ถึง 67 แนวทางนิทรรศการประชาชน


จากนั้น 16.30-18.30 กิจกรรม Walking Tour ร่วมฟังเรื่องราวจากบุคคลจริงและสถานที่จริงในเหตุการณ์


และหลังจาก 18:00 น จะมีการปราศรัยรำลึกการต่อสู้จากรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ปราศรัยโดยรังสิมันต์ โรม, ศรีไพร นนทรี, เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์, รวมถึงการแสดงงิ้วล้อการเมือง แสดงโดยอุปกรณ์จีนล้อการเมือง และจุดเทียนรำลึก วงดนตรีโดยสามัญชนและปิดท้ายด้วยวง H3F 


ด้านทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส กล่าวเชิญชวนประชาชามาร่วมงานทั้ง 2 วัน 5-6 ตุลาคม 2567 ระบุว่าเหตุการณ์ผ่านมา 48 ปีแล้วแต่สังคมไทยยังไม่ได้นำปัญหาเหล่านั้นมาแก้ไข ผู้จัดการจึงเลือกใช้คำว่ากระจกส่องสังคมไทย ในนิทรรศการจะบอกเลยว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคมนั้นส่องสังคมไทยอย่างไร เช่นทำไมจะยกเลิก 112ไม่ได้ ว่าเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม เดิมหลังจากสังหารหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 10 กว่าวัน หัวหน้าคณะรัฐประหาร แก้ไข 112 ให้มีโทษมากขึ้น เขาแก้ได้ทำไมเราจะแก้ไม่ได้ 6 ตุลา กับ 112 เป็นเรื่องเดียวกัน


และอีกเรื่องที่จะส่งให้เห็นคือเรื่องนิรโทษกรรม หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคมที่ 10 นิสิตนักศึกษาถูกจับไป 3,000 กว่าคน 18 คนถูกดำเนินคดี 112 มีคนถูกดำเนินคดีกบฏ ก่อการร้าย สังหารคนตาย ทำไมนิรโทษกรรมได้ รวมทั้งนิรโทษกรรมคนที่สังหารนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 ก็ได้ด้วย เพราะฉะนั้นการนิรโทษกรรมคดี 112 จึงเป็นเรื่องปกติทำไมจะทำไม่ได้ นิทรรศการภายในงานที่จะจัด 48 ปี 6 ตุลาจะบอกทุกอย่างให้ทราบ 


คนไทยรวมทั้งคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา แล้วมีอำนาจ ได้นำมาแก้ไขปัญหาสมกับเจตนารมณ์วีรชน 6 ตุลา ที่เสียชีวิตแล้วหรือไม่ นายกฤษฎางค์กล่าวทิ้งท้าย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รำลึก48ปี6ตุลา #6ตุลากระจกส่องสังคมไทย #6ตุลา19




วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2567

“ภคมน” ถามกลับ “จักรภพ” เคลมเป็นรัฐบาลแนวคิดปฏิรูป 1 ปีผ่านไป ปฏิรูปอะไรสำเร็จบ้าง


ภคมน” ถามกลับ “จักรภพ” เคลมเป็นรัฐบาลแนวคิดปฏิรูป 1 ปีผ่านไป ปฏิรูปอะไรสำเร็จบ้าง


วันที่ 16 กันยายน 2567 ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณี จักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ระบุพรรคประชาชนเป็นพรรคที่มีแนวความคิดปฏิวัติ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันเป็นพรรคที่มีแนวความคิดปฏิรูป


ภคมนกล่าวว่า ฟังที่คุณจักรภพให้สัมภาษณ์ อยากถามกลับ 2 ข้อ คำถามแรก พรรคการเมืองที่เสนอการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง กลายเป็นพรรคที่มี “แนวความคิดปฏิวัติ” ไปได้อย่างไร ตอนหาเสียงเลือกตั้ง แทบทุกพรรคการเมืองก็พูดเรื่องนี้ เพราะปัญหาหลายอย่างของประเทศอยู่ที่โครงสร้างจริงๆ เช่น ปัญหารัฐราชการรวมศูนย์


คำถามที่สอง ถ้าพรรคที่มีแนวความคิดปฏิรูป “จะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องทะเลาะกันมาก” ตามที่คุณจักรภพพูด แบบนี้พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ขัดแย้งกันมาเป็น 20 ปี คืออะไร? จริงๆ แค่ท่านยอมรับว่าตอนนี้ผลประโยชน์มันลงตัวเลยต้องมารวมกัน หยุดทะเลาะกันชั่วคราว ยังจะดูตรงไปตรงมากับประชาชนมากกว่า


ที่สำคัญ ตอนนี้พวกท่านเป็นรัฐบาลมาแล้ว 1 ปี ปฏิรูปอะไรสำเร็จบ้าง เช่น ปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ลดการผูกขาดของทุนใหญ่ ลดค่าไฟอย่างยั่งยืนไม่ใช่ระยะสั้น มีผลงานการปฏิรูปเรื่องไหนที่ประชาชนจับต้องได้ถึงการเปลี่ยนแปลงบ้าง


วันนี้ไม่เรียกร้องอะไรจากคุณจักรภพเลย แค่อยากถามว่าจำได้ไหมในอดีตเคยยืนตรงและทระนงแค่ไหน หากจะเป็นพรรคปฏิรูปตามที่ว่า ผลงานต้องมี ไม่ใช่แค่คำพูด” ภคมนกล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #จักรภพเพ็ญแข

“บู้ จเด็ศ” ขึ้นรถแห่ขอบคุณทุกคะแนนเสียง หลังชนะเลือกตั้งซ่อมเขต 1 พิษณุโลก ประชาชนยืนรอโบกธงแดงร่วมยินดี ยืนยัน พร้อมทำงานทันที ประสานทุกฝ่าย “รัฐบาล-ท้องถิ่น” เดินหน้าแก้ปัญหาทันที

 


บู้ จเด็ศ” ขึ้นรถแห่ขอบคุณทุกคะแนนเสียง หลังชนะเลือกตั้งซ่อมเขต 1 พิษณุโลก ประชาชนยืนรอโบกธงแดงร่วมยินดี ยืนยัน พร้อมทำงานทันที ประสานทุกฝ่าย “รัฐบาล-ท้องถิ่น” เดินหน้าแก้ปัญหาทันที


วันที่ 16 กันยายน 2567 เมื่อเวลา 10.30 น. ที่สวนชมน่าน จังหวัดพิษณุโลก “บู้ จเด็ศ จันทรา” ว่าที่ สส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคเพื่อไทย หลังชนะการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ได้ขึ้นรถแห่ขอบคุณพี่น้องประชาชนรอบเมืองพิษณุโลก โดยเริ่มต้นที่สวนชมน่าน เคลื่อนขบวนไปตามตลาด และวนไปขอบคุณพี่น้องชาวพิษณุโลก ทุกตำบลในเขต 1 ซึ่งระหว่าง “บู้ จเด็ศ” ขึ้นรถแห่ขอบคุณทุกคะแนนเสียง ได้ต่างมีประชาชน ออกมายืนรอโบกธงสีแดง เพื่อร่วมแสดงความยินดีกันอย่างคึกคัก


โดย “บู้ จเด็ศ” กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคะแนนเสียง ที่ไว้วางใจเลือกตน ไปทำหน้าที่ สส. เขต 1 พิษณุโลก ซึ่งตนขอยืนยันว่า พร้อมทำงานทันที หลังมีการรับรองผลการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยตนจะเดินหน้าแก้ปัญหาให้กับชาวพิษณุโลก รวมถึงขับเคลื่อนการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ซึ่งตนขอเน้นย้ำว่า พร้อมเดินหน้าประสานทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล และผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อเดินหน้าสิ่งที่ตนได้นำเสนอมาโดยตลอดในการหาเสียง


ผมขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงอีกครั้ง โดยทุกความไว้วางใจที่เลือกผม ขอยืนยันว่า จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อทำให้พี่น้องชาวพิษณุโลก เห็นการเปลี่ยนแปลงของเมืองพิษณุโลก ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งผมพร้อมพัฒนาทุกพื้นที่ ทั้งที่เลือกผม หรือไม่เลือกผมก็ตาม โดยผมจะเดินหน้าแบบก้าวข้ามความขัดแย้ง และร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อทำให้ปัญหาของพี่น้องประชาชน ได้รับการแก้ไขเร็วที่สุด เพราะผมตื่นเช้ามาวันนี้ รู้สึกว่า พี่น้องประชาชนรออยู่ ซึ่งจะรีบไปผลักดันให้อย่างเต็มที่” “บู้ จเด็ศ” กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคเพื่อไทย #เลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก




รมว.กต.หารือเมียนมาหาพื้นที่รับน้ำบรรเทาน้ำเหนือ – เล็งใช้ความร่วมมือ MLC จับมือเพื่อนบ้านร่วมบริหารจัดการน้ำระยะยาว

 




รมว.กต.หารือเมียนมาหาพื้นที่รับน้ำบรรเทาน้ำเหนือ – เล็งใช้ความร่วมมือ MLC จับมือเพื่อนบ้านร่วมบริหารจัดการน้ำระยะยาว


วันนี้ (16 กันยายน 2567) นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศไทย เมียนมา สปป.ลาว และเวียดนามว่า ตนได้หารือกับสถานทูต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ตั้งแต่อาทิตย์ที่ผ่านมา เพื่อเร่งประสานงานกับฝ่ายเมียนมา เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่ไทย และเมียนมาที่ต่างประสบภัยอยู่ในขณะนี้ รวมถึงเพื่อหารือถึงความร่วมมือกัน ในการขยายพื้นที่รับน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในบริเวณตอนเหนือของประเทศไทย ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศเมียนมาก็หนักอยู่มาก เนื่องมาจากพายุ และน้ำหลากจากที่สูง ไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินเช่นกัน


นายมาริษ ยังยืนยันว่า สถานทูตไทย กำลังเร่งประสานงาน เพื่อให้หน่วยงานด้านน้ำของทั้ง 2 ประเทศ หารือกันในรายละเอียดด้านเทคนิคว่า มีพื้นที่ใดที่จะสามารถขยายให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำได้อีก เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต่อไป พร้อมยังระบุว่า สถานการณ์น้ำ เป็นวิกฤตของทุกประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งตนได้ทราบด้วยว่า สถานการณ์อุทกภัยในเมืองท่าขี้เหล็กครั้งนี้ ร้ายแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ซึ่งแม้จะขุดลอกท่อ และเก็บกวาดขยะออกไปก่อนฤดูฝนแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ที่มีฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันตามบริเวณแม่น้ำสาย ซ้ำยังมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำสาย จากทั้งฝ่ายไทย และฝ่ายเมียนมาในหลายพื้นที่ ทำให้ความกว้างของแม่น้ำสายแคบลง และเกิดการตื้นเขิน เป็นการซ้ำเติมปัญหาการระบายน้ำในแม่น้ำสายมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในระยะยาว ตนได้เตรียมเสนอความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำผ่านกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง MLC ต่อไปด้วย


นายมาริษ ยังแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งในประเทศไทย เมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม พร้อมขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และขอให้สถานการณ์คลี่คลายสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #น้ำท่วม