วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2567

กมธ. ติดตามงบฯ เปิด “ตู้ ปณ. #ประชาชนปราบโกง” ชวนประชาชนชี้เบาะแส จี้หน่วยงานชี้แจงการใช้งบประมาณ

 


กมธ. ติดตามงบฯ เปิด “ตู้ ปณ. #ประชาชนปราบโกงชวนประชาชนชี้เบาะแส จี้หน่วยงานชี้แจงการใช้งบประมาณ


คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ. ติดตามงบฯ) เปิดตัวโครงการ “ตู้ ปณ. #ประชาชนปราบโกงให้ประชาชนส่งเรื่องมายัง กมธ. ติดตามงบฯ ได้โดยตรงผ่านทาง 2 ช่องทาง ได้แก่ (1) ทางไปรษณีย์ โดยส่งจดหมายมาที่ ตู้ ปณ. 13 ปณฝ. รัฐสภา กทม. 10305 หรือ (2) ทางไลน์ “พี่ฮูก” @phuuk (มีเครื่องหมาย @ นำหน้า) โดยเมื่อ “แอดไลน์” แล้วสามารถเปิดเมนูส่งเรื่องร้องเรียน” เพื่อกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ได้อย่างสะดวก แนบไฟล์ได้หลายไฟล์ และหลังจากส่งเรื่องแล้วยังสามารถย้อนกลับมาตรวจสอบความคืบหน้าได้อีกด้วย


นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า “โดยปกติเรื่องที่ กมธ. ติดตามงบฯ บรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมในแต่ละสัปดาห์นั้น เป็นเรื่องที่กรรมาธิการแต่ละท่านติดตามอยู่แล้วเป็นทุนเดิม หรือได้รับการบอกต่อกันมา ซึ่งเราเชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ดังนั้น ‘ตู้ ปณ. #ประชาชนปราบโกงจึงเป็นช่องทางที่จะเพิ่มโอกาสให้ทาง กมธ. ได้รับเรื่องร้องเรียนโดยตรงจากประชาชนทุกพื้นที่อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น สนับสนุนให้ประชาชนรวมพลังกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐในโครงการต่าง ๆ”


ตู้ ปณ. #ประชาชนปราบโกงเปิดรับเรื่องทุกโครงการที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายน่าติดตาม อาทิ (1) ขนาดโครงการไม่สมเหตุสมผล คนใช้น้อย ดูเหมือนจะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ (2) ก่อสร้างหรือดำเนินการล่าช้าเกินปกติวิสัย (3) เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก หรือ (4) มีหลักฐานการโกงค่อนข้างแน่ชัด โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่มากกว่า 100 ล้านบาท หรือโครงการใดก็ตามที่มีความน่าเคลือบแคลง เกิดขึ้นมาแบบไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน หรือพังไปอย่างรวดเร็ว


นายสุรเชษฐ์กล่าวเสริมว่า “เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้ว กมธ. ติดตามงบฯ ไม่ได้จะไปตัดสินว่าใครถูกใครผิด ไปเร่งรัดโครงการจากช้าเป็นเร็ว หรือไประงับโครงการใด ๆ ได้ หน้าที่ของเราอยู่ที่การศึกษาและติดตามการใช้งบประมาณให้เห็นแจ้งว่าโปร่งใสและถูกต้องตามอย่างที่ควรจะเป็น โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ในการเรียกเอกสารหรือขอคำชี้แจงจากหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ ซึ่งอาจตามมาด้วยการเชิญหน่วยงานรัฐเข้าร่วมประชุมเพื่อแถลงข้อเท็จจริงและตอบข้อซักถาม และ กมธ. เราจะติดตามจนกว่าจะได้รับคำชี้แจงจนสิ้นข้อสงสัย ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม อาจมีสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมเพื่อสังเกตการณ์ด้วย ถ้าในที่สุดแล้วพบว่าประเด็นใดเป็นปัญหา กมธ. ติดตามงบฯ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ จะรวบรวมเป็นข้อสังเกตหรือรายงานส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารต่อไป”


หลังจากประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนผ่านเมนู “ส่งเรื่องร้องเรียน” ในไลน์ “พี่ฮูก” @phuuk (มีเครื่องหมาย @ นำหน้า) แล้ว สามารถย้อนกลับมาดูความคืบหน้าของเรื่องที่ตนเองส่งมาแล้วได้ ผ่านเมนู “ติดตามความคืบหน้า” โดย กมธ. ติดตามงบฯ จะมีการใส่รายละเอียดเพิ่มเติมให้เห็นว่ามีการดำเนินใดไปแล้ว กำลังจะดำเนินการอะไรในขั้นตอนต่อไป คาดว่าขั้นตอนต่อไปจะเสร็จสิ้นเมื่อใด และทาง กมธ. ติดตามงบฯ มีความเห็นใดเพิ่มเติมแก่ผู้แจ้ง เป็นต้น หากผู้แจ้งประสงค์จะส่งข้อความหรือรูปประกอบเพิ่มเติม สามารถดำเนินการได้ทันทีผ่านแบบฟอร์มท้ายเรื่อง โดยไม่จำเป็นต้องส่งเป็นเรื่องร้องเรียนเรื่องใหม่ซ้ำอีกครั้ง


หากไม่สะดวกส่งเรื่องทางไปรษณีย์หรือใช้แบบฟอร์มออนไลน์ เจ้าของเรื่องสามารถแชตกับ ‘พี่ฮูก’ ได้โดยตรงเช่นกัน เหมือนกับการคุยไลน์ตามปกติ โดย กมธ. ติดตามงบฯ ดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการรักษาความลับ และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และประกาศฉบับต่าง ๆ ของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” นายสุรเชษฐ์กล่าวปิดท้าย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชาชนปราบโกง #ตู้ปณ13รัฐสภา #พี่ฮูก